วันที่ 3 มกราคม 2559 นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รักษาการปลัดกระทรวงยุติธรรม กรรมการนโยบายการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ ประธานแถลงข่าวสรุปผลการดำเนินงานลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 เปิดเผยว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและความร่วมมือของหน่วยงานภาคีเครือข่ายได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 2 มกราคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ห้าของการรณรงค์ “สุขกาย สุขใจ ขับขี่ปลอดภัย รับปีใหม่ 2559” เกิดอุบัติเหตุ 415 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 39 ราย ผู้บาดเจ็บ 443 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา ร้อยละ 23.08 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 15.89 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.41 ส่วนใหญ่เกิดในเส้นทางตรง ร้อยละ 65.78 บนถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 37.35 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 32.29 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลา 16.01 - 20.00 น. ร้อยละ 27.71 ผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มวัยแรงงาน ร้อยละ 49.26 ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 2,096 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 65,402 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 630,857 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 103,500 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 29,473 ราย ไม่มีใบขับขี่ 28,712 ราย โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 17 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ นครสวรรค์ 4 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 17 คน
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม 5 วัน (29 ธันวาคม 58 - 2 มกราคม 59) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,753 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 292 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,855 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด ได้แก่ ตรัง พังงา แพร่ ระนอง สมุทรปราการ สิงห์บุรี และสุโขทัย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 108 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ นครราชสีมา 12 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ เชียงใหม่ 108 คน
นายชาญเชาวน์ กล่าวต่อว่า วันนี้เป็นวันสุดท้ายของวันหยุดช่วงเทศกาลปีใหม่ 2559 ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่เริ่มทยอยเดินทางกลับ ทำให้การจราจรในบางเส้นทางเริ่มติดขัด ประกอบกับความอ่อนล้าจากการเฉลิมฉลองและการขับรถทางไกลเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงได้สั่งกำชับจังหวัดให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการจราจรของเส้นทางสายหลัก โดยเฉพาะเส้นทางขาล่องเข้าสู่กรุงเทพฯ โดยเน้นการเปิดและขยายระยะเวลาสัญญาณไฟจราจรในเส้นทางตรงให้มากขึ้น พร้อมจัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกตลอดเส้นทาง หากสภาพการจราจรยังวิกฤตให้เปิดช่องทางพิเศษชั่วคราว อีกทั้งให้จังหวัดที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงประสาน การปฏิบัติการอย่างเข้มข้น และเชื่อมโยงการรายงานข้อมูลสภาพการจราจร เพื่อระบายการจราจรให้คล่องตัว และลดปริมาณการสะสมของรถยนต์ ที่สำคัญ ยังคงให้จุดตรวจ ด่านตรวจเข้มงวดวินัยจราจรและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการขับรถเร็ว การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ เน้นการเพิ่มความถี่ในการเรียกตรวจ เพื่อให้ผู้ขับขี่เกิดความตื่นตัวจะช่วยลดการหลับในที่เป็นสาเหตุของอุบัติเหตุได้ พร้อมให้ถือปฏิบัติตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติในการดำเนินมาตรการยึดรถผู้ขับขี่ที่เมาแล้วขับและอยู่ในสภาพไม่พร้อมขับรถอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง เพื่อสร้างความปลอดภัยสูงสุดแก่ประชาชนในทุกเส้นทาง
ด้านนายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วง 5 วันที่ผ่านมา สถานการณ์อุบัติเหตุยังน่าเป็นห่วง จำนวนอุบัติเหตุและผู้เสียชีวิตยังอยู่ในระดับสูง นายกรัฐมนตรีห่วงใยความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน จึงได้สั่งการให้ ศปถ.ประสานจังหวัดและทุกภาคส่วนยังคงดำเนินมาตรการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่อง เน้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาในมิติเชิงพื้นที่ โดยให้ร่วมกันกำหนดมาตรการและวางกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนภารกิจด้านการสร้างความปลอดภัยทางถนนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและปัจจัยเสี่ยงในพื้นที่
นอกจากนี้ วันนี้ประชาชนต่างเร่งทยอยเดินทางกลับ โดยส่วนใหญ่มักขับรถด้วยความเร็วสูง แต่ด้วยปริมาณการจราจรที่ติดขัด ทำให้ผู้ขับขี่มักมีพฤติกรรมการแซงในระยะกระชั้นชิด ขับบนไหล่ทาง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุได้ ศปถ.จึงได้ประสานจังหวัดกวดขันผู้ขับขี่ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ เพิ่มจุดตรวจ จุดพักรถ บนเส้นทางขาล่องเข้าสู่กรุงเทพฯ กำชับจุดตรวจเข้มงวดการตรวจสอบความพร้อมของผู้ขับขี่ พนักงานขับรถโดยสารสาธารณะ รถตู้โดยสาร รถทัวร์ท่องเที่ยว เพื่อป้องกันการหลับใน
ฝากเตือนผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการขับรถ โดยเฉพาะเส้นทางที่มีร้านค้าริมทาง พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว หากมีอาการง่วงนอน ห้ามฝืนขับรถโดยเด็ดขาด ควรให้ผู้อื่นผลัดเปลี่ยนขับรถแทน หรือจอดพักรถตามจุดบริการ สถานีบริการน้ำมันเป็นระยะทุก 2 ชั่วโมง รวมถึงมีน้ำใจต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อให้ทุกการเดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น