ถึงนาทีนี้ก็น่าจะใกล้จบระยะแรก จากแผนงานสามระยะของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อคาดการณ์กันว่า สัปดาห์นี้หากไม่มีข้อผิดพลาดน่าจะมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญชั่วคราว"
คำถามคือ "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" มีความสำคัญอย่างไร? เราต้องย้อนไปที่โรดแม็พ "การทำงานสามระยะของ คสช." ระยะแรกคือ การปกครองการบริหารโดย คสช. ไม่มีรูปแบบปกติที่เราคุ้นเคย อำนาจสูงสุดตกเป็นของหัวหน้า คสช. หรือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการบริหาร และการออกกฎหมายต่างๆ ดังที่เราได้เห็นการออกทั้ง "ประกาศ" และ "คำสั่ง" ของ คสช.
ส่วนคนที่ควบคุมส่วนต่างๆ ในระดับรองๆ ลงมาก็ล้วนแต่เป็นคนที่อยู่ใน คสช.ทั้งสิ้น แน่นอนว่าระยะนี้ย่อมถูกตั้งแง่จากชาติต่างๆ โดยเฉพาะที่ต้องการให้ประเทศของเราบริหารในรูปแบบประชาธิปไตย หรือย่างน้อยก็ต้องมีกำหนดการชัดเจนว่า จะมีการคืนอำนาจให้ประชาชนเมื่อไหร่ หรือจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นเมื่อไหร่
ส่วนระยะที่สองคือ การมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว และมีรูปแบบของรัฐบาลปกติคือ มีนายกรัฐมนตรี มีรัฐมนตรี รวมถึงมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่ทำหน้าที่แทนรัฐสภา มีผู้ที่จะมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และระยะที่สามคือการเลือกตั้งในระบบปกติ
นี่จึงเป็นความสำคัญของ "รัฐธรรมนูญชั่วคราว" เพราะนอกจะเป็นการวางโครงสร้างอำนาจระหว่างนี้ไปจนถึงการเลือกตั้ง ยังจะเป็นตัวแบบของการปกครองและการปฏิรูปนับจากนาทีนี้เป็นต้นไป และที่สำคัญคือเป็นโรดแม็พที่ชัดเจนถึงการคืนอำนาจ รวมไปถึงการเลือกตั้ง
ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีกำหนดระยะเวลาชัดเจนในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และวันเลือกตั้ง ย่อมเป็นการคลายความกดดันจากต่างชาติ เพราะอย่างน้อยก็จะมีแผนการที่ชัดเจนว่า คสช.จะไม่ยึดอำนาจตลอดไป และน่าจะทำให้มั่นใจขึ้นได้ว่าเราจะไม่ถูกมาตรการลงโทษใดๆ จากต่างชาติเพิ่มขึ้นอีก
ความสำคัญประการต่อมาของรัฐธรรมนูญชั่วคราวคือ จะเป็นการจัดสรรความสัมพันธ์ทางโครงสร้างทางอำนาจ
ถึงนาทีนี้มีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีการบรรจุมาตราที่กำหนดให้ "คสช." มีอำนาจเทียบเท่าหรือเหนือกว่า "รัฐบาล" เช่น คงอำนาจการบริหาร การออกกฎระเบียบ ประกาศ กฎหมาย ในกรณีที่กระทบความมั่นคง
ที่ผ่านมาหากเราไปดูหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 ครั้งนั้นจะไม่ได้เป็นแบบนี้ กล่าวคือ แม้จะมี "คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ" แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2579 ระบุเพียง "ในกรณีที่เห็นสมควร ประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือนายกรัฐมนตรี อาจขอให้มีการประชุมร่วมกันของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เพื่อร่วมพิจารณาและแก้ไขปัญหาใดๆ อันเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงแห่งชาติ รวมตลอดทั้งการปรึกษาหารือเป็นครั้งคราวในเรื่องอื่นใดก็ได้"
ซึ่งหมายความว่า สถานะของ คมช.ไม่ได้เหนือกว่ารัฐบาลทำได้เพียงเทียบเท่า และปรึกษาหารือร่วมกันเท่านั้น หรือแปลให้ง่ายกว่านั้นคือ อำนาจหลุดจาก คมช.ไปแล้ว ทำให้ถูกมองว่าไม่มีอำนาจที่จะสานต่องานบางอย่างให้สำเร็จได้
หาก คสช.อยากจะอุดช่องดังกล่าว จึงมีความเป็นไปได้ที่จะตรารัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ลอกแบบมาจากธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรปี 2534 ที่ให้อำนาจประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อบแห่งชาติ (รสช.) หรือนายกฯ มีอำนาจสั่งการหรือกระทำการใดๆ ได้ ในกรณีเพื่อความมั่นคง
แปลได้ว่า หัวหน้า รสช.มีอำนาจเทียบเท่าหรือเหนือกว่านายกรัฐมนตรี และนี่อาจเป็นตัวแบบที่ คสช.กำลังเอาอย่าง เพื่อเดินหน้าภารกิจให้ลุล่วง ไม่ปล่อยทิ้งกลางทาง
อย่างไรก็ตาม การเขียนกฎหมายเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจมีสิทธิเขียนอย่างไรก็ได้ นี่คือครึ่งแรก แต่ครี่งหลังก็ขึ้นกับผู้ที่ถูกบังคับใช้ว่าจะยอมรับหรือไม่ ซึ่งสำคัญไม่แพ้ครึ่งแรก
--------------------------------
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น