ข้อสอบออนไลน์ ชุดใหม่
ติวสอบออนไลน์ ชุด เศรษฐกิจพอเพียง
นายกรัฐมนตรีเป็นประธานแถลงข่าวโครงการ “สร้างอนาคตไทย 2020” สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ
วันนี้ (26 ก.ย.56) เวลา 13.30 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานแถลงข่าวโครงการ “สร้างอนาคตไทย 2020” สร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมของประเทศ โดยสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดการเสวนาและนิทรรศการ รวมถึงเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมใน 12 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่าง 4 ต.ค.-1 ธ.ค.56 นี้ โดยมีคณะรัฐมนตรี ผู้บริหารส่วนราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัด แขกผู้มีเกียรติ และสื่อมวลชนจำนวนมากเข้าร่วมรับฟังการแถลงข่าว
นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถึงโครงการสร้างอนาคตไทย 2020 ดังนี้
“ วันนี้ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณแขกผู้มีเกียรติทุกท่านนะคะ ที่มาร่วมงานในการแถลงข่าวของรัฐบาลในวันนี้ ต้องเรียนว่าเราใช้คำว่าโครงสร้างอนาคตประเทศไทย 2020 หลายท่านอาจจะถามว่าทำไมเรามาคุยหัวข้อนี้ จริง ๆ แล้วเราได้มีการนำเสนอในเรื่องของ พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านมาแล้ว แต่อย่างที่เรียนว่าเราเองเราก็อยากจะถือโอกาสนี้ค่ะ เนื่องจากว่าโครงสร้างพื้นฐานเป็นอนาคตของประเทศไทย เราก็อยากจะใช้โอกาสนี้ในการเชิญคนไทยด้วยกันของเรานั้นมาช่วยกันคิดว่า ในอนาคตถ้า พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านนี้ได้มีการดำเนินการไปซึ่งใช้เวลาทั้งหมด 7 ปี ถามว่าถ้า 7 ปีนี้ ถ้าเรามาร่วมกันวาดภาพอนาคตของประเทศไทยอีก 7 ปีข้างหน้าร่วมกันจะเป็นอย่างไร เราก็เชื่อว่าทุกท่าน เราเองทุกคนก็ต้องมีความหวัง และก็มีการคาดหวังที่แตกต่างกัน แต่เราจะทำอย่างไรให้การคาดหวังนี้เราเดินไปสู่จุดมุ่งหมายเดียวกัน และที่สำคัญปัจจัยสำคัญที่ถ้าเรามีการลงทุนทุกโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการที่เราจะบอกว่า สิ่งที่เราคาดหวัง สิ่งที่เราฝันหรืออนาคตนั้นจะเกิดขึ้นจริง เพื่อโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านที่รัฐบาลจะได้มีโอกาสได้นำเสนอ
เราทราบอยู่แล้วว่าในเนื้อหาของโครงสร้างพื้นฐานนี้เราจะพูดถึงระบบคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของทางน้ำ ทางบก ทางอากาศ และรวมถึงเรื่องของด่าน การเชื่อมโยงประเทศในกลุ่มประเทศภูมิภาคในกลุ่มอาเซียนเข้าด้วยกัน นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่เราจะเริ่มเห็นว่าจิ๊กซอว์อันแรกของการวางภาพในอนาคตนั้นก็คือการวางโครงสร้างพื้นฐาน เป็นเสมือนเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่เชื่อมระหว่างประเทศไทย ไปต่อเชื่อมกับเมืองต่าง ๆ นั้น การวางอย่างนี้ก็ต้องเรียนว่าจะเป็นโครงการที่เราต้องเรียกว่าเป็นสิ่ง
ที่เราอยากเห็น สิ่งที่เราอยากจะขออนุญาตเชิญชวนคนไทยได้มองภาพอีก 7 ปีข้างหน้าด้วยกัน นี่คือสิ่งที่ทำไมวันนี้เราถึงกลับมาพูดในเรื่องนี้ แต่ก่อนจะไปพูดถึงการวาดภาพข้างหน้า การวางอนาคตข้างหน้าอีก 7 ปี เรามาดูก่อนว่าจุดเริ่มต้นของการลงทุนคมนาคมในประเทศไทยเริ่มมากี่ปีแล้ว ท่านเชื่อหรือไม่ว่า 117 ปีแล้วค่ะ ตั้งแต่ครั้งเมื่อรัชกาลที่ 5 ท่านได้ทรงประกอบพิธีเปิดการเดินรถไฟสายแรกของประเทศไทยค่ะ สายแรกอยู่ที่กรุงเทพฯ – อยุธยา ค่ะ ใช้ระยะทางประมาณ 71 กิโลเมตร ถือว่าเป็นครั้งแรกที่เป็นการเสริมสร้างความมั่นคงให้กับประเทศไทย ถือว่าเป็นมิติใหม่ของประเทศไทยในการเชื่อมเศรษฐกิจ ครั้งนั้นเป็นการเชื่อมเมืองกรุงเทพฯ กับอยุธยาเข้าด้วยกัน ก็ทำให้คนอยุธยาและกรุงเทพฯ สามารถเดินทางสัญจรไปมาหาสู่กันได้รวดเร็วขึ้น หลังจากนั้นคมนาคมนั้นก็ได้เพิ่มพัฒนาขึ้นไปเรื่อย ๆ จนมีการเปลี่ยนแปลง ก็จะเห็นว่าความเจริญต่าง ๆ เริ่มกระจายจากเมืองหลวงกรุงเทพมหานครนั้นไปยังเมืองต่าง ๆ มากขึ้น สิ่งที่เราเห็นนี้ก็จะทำให้เมืองต่าง ๆ นั้นจะได้เรียกว่ามีความเสมอภาค ไม่มีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ผู้คนต่าง ๆ ก็จะเดินทางหากันได้มากขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เรามองก็คือว่า เราคิดว่าโครงการนี้ต้องเป็นโครงการของคนไทยทุกคน คนไทยทุกคนจะร่วมมือกันอย่างไรในการที่จะทำให้โครงการต่าง ๆ เหล่านี้เป็นจริง และตอบโจทย์ความต้องการของประเทศไทย
ดิฉันเรียนว่าตลอดเวลาที่ผ่านมา เราใช้เวลาในการพัฒนาระบบคมนาคมมาตลอด แต่ช่วงหลังเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลใหม่มาบ่อย ๆ เราก็ขาดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน ดังนั้นเราจึงต้องเชื่อว่าสิ่งหนึ่งที่เราควรจะต้องทำให้ประเทศของเรานั้นสามารถที่จะก้าวไปในการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันก็คือการลงทุนครั้งใหญ่ของประเทศ แต่เรียนว่าการลงทุนครั้งใหญ่นี้ใช้เวลาถึง 7 ปีกว่าที่เราจะได้เห็นภาพที่เราจะพูดด้วยกันวันนี้นะคะ ดิฉันจึงอยากเรียนว่า พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านอยากขอใช้คำว่าเป็น พ.ร.บ.เพื่อการลงทุนค่ะ เพราะเป็นการลงทุนเพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทย แล้วเราจะได้พูดกันว่าในปี 2020 อนาคตของประเทศไทยหลังจากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้วจะเป็นอย่างไร
ดิฉันขออนุญาตนำท่านผู้มีเกียรติทุกท่านไปทีละหัวข้อนะคะ อย่างแรกแน่นอนค่ะ สิ่งที่เราพบคือประเทศเราไม่ได้ลงทุนในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานมาเป็นเวลานาน ดังนั้นขีดความสามารถในการแข่งขัน เราพูดกันหลายครั้งแล้วว่าขีดความสามารถในการแข่งขัน ถ้าเราไม่ได้พัฒนา แน่นอนเราอยู่กับที่ แต่เพื่อนบ้านพัฒนา ขีดความสามารถของเราก็ลดลง จึงเป็นโจทย์แรกที่รัฐบาลนำเอาปัญหานี้มาสะท้อนและต้องการที่จะเห็นประเทศของเรานั้นยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน และการยกระดับขีดความสามารถนี้ก็จะทำให้เกิดความมั่นใจกับนักลงทุน และสิ่งที่จะได้ต่อมาก็คือเรื่องของพลังงาน การลงทุนโครงสร้างนี้เรามองในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานในการเชื่อมโยงเมืองสู่เมือง อุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ต้องการก็คือว่าเราต้องการเห็นการลดการใช้พลังงาน ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนสำคัญในการขนส่ง วันนี้ถ้าเราไม่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ที่จะมาลงทุน โดยเฉพาะสินค้าต่าง ๆ ก็มีต้นทุนในการลงทุนขนส่งที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ต้องเผชิญกับเรื่องของการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ ดังนั้นต้นทุนตรงนี้เป็นต้นทุนที่เราจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นเลย นั่นคือต้นทุนที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมในประเทศไทย หรือแม้กระทั่งคนจะมาลงทุนเขาก็ต้องวิเคราะห์ว่าจะมาลงทุนประเทศไทย ต้นทุนของไทยเป็นอย่างไรเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้าต้นทุนดีกว่า แน่นอนค่ะจุดนี้ก็เป็นจุดในการดึงดูดนักลงทุนด้วย
นอกจากนั้นก็คือเรื่องของการเชื่อมประเทศไทยเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน เราพูดถึง ASEAN เราพูดถึง AEC ว่าเราจะเชื่อมโยงในเรื่องของประชาคมอาเซียน แต่สิ่งที่จับต้องได้จริง ๆ คือการเชื่อมโยงในเรื่องของเส้นทางโลจิสติกส์หรือคมนาคมระหว่างเพื่อนบ้านมาที่เรา และการที่เราจะต้องมีในเรื่องของด่านหรือ National Single Window ที่เป็นมาตรฐาน เพราะอีกหน่อยเราจะต้องมีเพื่อนบ้านมามากมาย เราจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามามากมาย วันนี้เราจะวางระบบอย่างไร ทุกอย่างนั้นต้องมีการวางระบบที่มีโครงสร้างที่แน่นอนเพื่อให้เกิดการพัฒนาเกิดความเจริญ และที่สำคัญไม่กระทบทางด้านของความมั่นคง นี่ก็เป็นประโยชน์ทางตรงของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ถ้าเรามามองว่าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ดิฉันขอเสนอว่า เราเรียกว่าเป็นการลงทุนเพื่อสร้างอนาคตประเทศไทย เพราะว่าวันนี้รัฐบาลมองว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานนั้นไม่ได้แค่ตอบโจทย์ว่าเรามีโครงสร้างพื้นฐาน เรามีรถไฟความเร็วสูง เรามีรถไฟรางคู่ เรามีถนน เรามีทางด้านของสนามบินหรือแม้กระทั่งเรามีด่านชายแดน มีท่าเรือต่าง ๆ แต่สิ่งที่เราจะได้คือมากกว่านั้น
อย่างเรื่องแรก ยกตัวอย่างในเรื่องของการส่งเสริมสินค้าเกษตร แน่นอนว่าไปที่ไหนเราก็แน่นอนว่าเราไม่ลืมสินค้าเกษตร เราไม่ลืมสินค้าเพื่อนบ้าน ท่านจะเห็นว่าในหลาย ๆ ประเทศที่มีรถไฟความเร็วสูงหรือมีเส้นทางคมนาคมขนส่งที่เกิดขึ้น ตามสถานีต่าง ๆ ถ้าจะนึกภาพว่ามีสินค้าเกษตรต่าง ๆ ที่มีอาหาร มีโอทอป มีสินค้าพื้นบ้านมาขายตามสถานี ซึ่งเป็นสถานที่ที่อาจจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางมา แน่นอนรายได้เรานำคนซื้อมาถึงที่ คนที่อยู่ในท้องถิ่นก็นำสินค้าที่เป็นท้องถิ่นมาขาย สิ่งหนึ่งที่จะตอบก็คือว่าจะสะท้อนเอกลักษณ์ของท้องถิ่น หรืออาหารโอทอปในแต่ละที่ โอทอปที่อยุธยาย่อมไม่เหมือนโอทอปที่เชียงใหม่ โอทอปเชียงใหม่ก็ย่อมไม่เหมือนโอทอปที่หาดใหญ่ เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือสิ่งที่เราจะสะท้อนให้ผู้ที่มาใช้เส้นทางคมนาคมนั้นได้สะท้อนถึงวัฒนธรรมและเอกลักษณ์ ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่ก็จะมีรายได้ที่ดีขึ้น อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เรามองสินค้าโอทอป
จากโอทอปแล้วก็จะเห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเส้นทางคมนาคมลงไปที่ไหน ไม่เพียงแค่โอทอปจะเกิดขึ้น ร้านค้า ร้านอาหาร สถานต่าง ๆ ในเรื่องของสาธารณูปโภคก็จะเกิด โรงพยาบาล โรงเรียน สถานีตำรวจก็ต้องลงไป สถานที่ต่าง ๆ ที่เป็นบริการภาคสาธารณะก็ต้องลงไป ลงไปสิ่งที่ได้กลับมาก็คือร้านค้า ความเจริญ แน่นอนนักลงทุนก็ต้องสนใจที่จะลงทุน นี่คือสิ่งที่เรามองว่าประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นมากกว่านี้ ดังนั้นรถไฟหรือโครงสร้างพื้นฐานเป็นจุดเริ่มต้นเพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรม แล้วสิ่งต่าง ๆ นี้ก็จะเกิดขึ้น
ถ้าเรามามองว่านอกจากการที่เราลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดต้นทุน เพื่อให้บริการต่าง ๆ ในบริเวณสถานีรถไฟหรือทางผ่านต่าง ๆ นั้นได้มีการพัฒนาขึ้น ให้ชุมชนในพื้นที่มีรายได้ สิ่งอื่น ๆ หลังจากนี้ก็คือการเชื่อม ท่านรัฐมนตรีชัชชาติฯ คงพูดหลายครั้งแล้วในเรื่องของหลักในเรื่องของการเชื่อมโยง นอกจากเราจะเชื่อมโยงในส่วนของการที่จะทำให้ต้นทุนลดลงแล้ว เราก็จะเชื่อมโยงตั้งแต่เรียกว่า Supply Chain ก็คือเส้นในเรื่องของการให้บริการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ก็คือการที่เราจะเชื่อมแหล่งผลิตโดยเฉพาะภาคการเกษตรเข้ากับโรงงานที่จะต้องไปเป็นโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปและรวมไปถึงส่งออก ถ้าเรามีการเชื่อมกันตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ได้ดีขึ้น สิ่งที่เห็นแน่ ๆ คือต้นทุนที่ลดลง
สิ่งที่สองก็คือเห็นว่าระยะทางต่าง ๆ ก็เร็วขึ้น ถ้าเร็วขึ้นสิ่งที่ได้รับก็คือสินค้าต่าง ๆ ถึงมือผู้บริโภคเร็วขึ้น สดขึ้น และดึงดูดในการลงทุนมากขึ้น ถ้าสมมุติว่าเรามีโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ที่หนึ่งจะต้องขับรถไปรับสินค้าเกษตรอีกไกล แล้วระหว่างทางถนนหนทางไม่ดีแน่นอนค่ะ ต้นทุนต่าง ๆ ก็จะกลับมาเป็นต้นทุนของผู้ผลิต สุดท้ายก็กลับมาสู่มือผู้บริโภคที่จะต้องซื้อสินค้าแพงขึ้น ถ้าเรามาวางระบบนี้ให้มีความสัมพันธ์กันสิ่งที่ได้รับมาก็คือต้นทุนอีกเช่นกัน และความสะดวกรวดเร็ว
นอกเหนือจากต้นทุนกลางน้ำแล้ว หลักที่เราได้เห็นและเชื่อว่าจะเป็นอนาคตอีกอย่างหนึ่งก็คือนอกจากการเชื่อมสินค้าแล้ว เรายังจะเชื่อมในเรื่องของงานบริการ ซึ่งถือว่างานบริการ โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยว ประเทศไทยเรามีแหล่งท่องเที่ยวดี ๆ จำนวนมาก ท่านจะเห็นว่าบางสถานที่ท่องเที่ยวที่เราไปเที่ยวจะเห็นเส้นทางคมนาคม หรือการขนส่ง หรือสนามบิน หรือสิ่งที่จะเดินทางไปนั้น ใช้เวลายากลำบากมากถ้าเรามีการเชื่อมเมืองท่องเที่ยวสู่เมืองท่องเที่ยวด้วยกัน ดิฉันเชื่อว่าตรงนี้ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวอยู่กับเรานานขึ้น สมมุติว่านักท่องเที่ยวเดินทางมาลงที่สนามบินสุวรรณภูมิแล้วจะต่อไปจังหวัดอื่น ถ้าไม่มีจุด Connect หรือจุดเชื่อมโยง เขาก็ไม่สามารถที่จะไปได้ก็อยู่แค่กรุงเทพฯ แต่ถ้าเราสามารถเชื่อมเมืองท่องเที่ยวต่อเมืองท่องเที่ยวให้ตรงกับความต้องการจะทำให้นักท่องเที่ยวอยู่กับเรานานขึ้น รายได้ก็จะกลับมาเป็นรายได้ของท้องถิ่นมากขึ้น และความเจริญต่าง ๆ ก็ตามมา
อนาคตอีกอันหนึ่งที่เรามองเห็นว่า นอกเหนือจากการลงทุนแล้วนั้น สิ่งที่จะได้รับก็คือ การวางระบบของผังเมืองให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่กับอนาคตของประเทศไทยใหม่ว่า อีก 7 ปีข้างหน้า ถ้าเมื่อมีโครงสร้างพื้นฐานลงไประบบการวางโครงสร้างของเมืองจะเป็นอย่างไร และเราจะต้องสะท้อนในเรื่องของการเชื่อมโยงระบบการบริหารจัดการน้ำด้วย เรามีระบบการบริหารจัดการน้ำที่จะดูแลเรื่องของอุทกภัยและใช้เพื่อชลประทาน แต่แน่นอนการบริหารจัดการน้ำก็ต้องไม่ขัดกับระบบคมนาคม สิ่งนี้เราก็คงจะต้องเชื่อมโยงในส่วนนี้ด้วย และก็เชื่อมเมืองสู่เมือง
ฉะนั้นหลักการในการคิดของการวางโครงสร้างนี้ ก็จะเชื่อมเมืองที่มีประชากรมากสู่เมืองที่มีประชากรมาก หรือเชื่อมเมืองที่มีประชากรมากไปสู่เมืองท่องเที่ยว อย่างเช่น เชื่อมภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน แต่ขณะเดียวกันภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจจะเดินทางไปยังจังหวัดอื่น ๆ ใกล้เคียงได้เร็วขึ้น ลักษณะที่เราวางก็คือเป็นการวางในลักษณะของการเชื่อมเมืองต่อเมือง และในแต่ละภาคนั้นก็จะมีศูนย์กลางของภูมิภาคที่จะเชื่อมโยงทั้งเมือง ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าประโยชน์จะมีแก่จังหวัดที่มีสถานีรถไฟฟ้าหรือจุดต่าง ๆ ที่โครงสร้างพื้นฐานลงเท่านั้น แต่ยังกลายเป็นจุดที่จะเชื่อมดึงความเจริญของเมืองอื่น ๆ เข้ามาด้วย
ถ้าท่านมองในภาพแผนที่ประเทศไทยก็เหมือนกับเรากำลังบอกว่าโครงสร้างพื้นฐานนี้ กำลังวางโครงสร้าง Backbone หรือเส้นเลือดใหญ่เข้าไป ขณะเดียวกันจังหวัดอื่น ๆ นั้นก็จะมีเส้นเลือดฝอยที่จะเป็น ย่อย ๆ ต่อลงไปถึงสถานที่ท่องเที่ยว ต่อลงไปถึงจุดที่มีประชากรมาก ต่อลงไปถึงจุดที่มีโรงงานอุตสาหกรรม หรือต่อลงไปถึงจังหวัดที่มีต้นน้ำหรือภาคการเกษตร ดังนั้นสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ก็คืออนาคตที่เราอยากจะเห็นภาพของประเทศไทย สุดท้ายเราก็อยากจะเห็นว่าภาพนี้เป็นขีดความสามารถที่จะทำให้โครงสร้างพื้นฐานของเราดีขึ้น เราเชื่อมโยงความเจริญสู่ความเจริญ เรากระจายความเจริญไปยังเมืองต่าง ๆ ให้ทั่วถึงขึ้น แต่ที่สำคัญสิ่งที่เรามองเห็นภาพในอนาคตของปี 2020 นั้น คือความอบอุ่นของครอบครัว
วันนี้จะเห็นว่า หลาย ๆ ครอบครัว โดยเฉพาะต่างจังหวัดจะต้องเดินทางมายังเมืองใหญ่ ๆ เพื่อมาทำงาน แล้วใช้เวลากว่าจะได้กลับบ้านเป็นอาทิตย์ เป็นเดือน หรือเป็นปี แต่ถ้ามีโครงสร้างพื้นฐานนี้ก็จะทำให้คนในครอบครัวสามารถที่จะกลับไปหาครอบครัวได้เร็วขึ้น ความอบอุ่นต่าง ๆ เหล่านี้ ที่ดิฉันมองว่ามากยิ่งกว่าที่บอกว่าเรามีรายได้แต่เรามีความอบอุ่น มีพื้นฐานชีวิต และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
ดังนั้น จึงเป็นที่มาว่าทำไมเราถึงอยากจะมีโอกาสในการนำเสนอโครงสร้างพื้นฐานนี้ลงไปยังพี่น้องประชาชนในแต่ละจังหวัดทั่วประเทศ และเราอยากจะบอกว่า เราอยากให้คนไทยทุกคนรวมพลังในการวาดภาพอนาคตประเทศไทยปี 2020 ว่า เราอยากจะเห็นประเทศไทยเป็นอย่างไร เราอยากจะเห็นว่าการที่เราจะนำเอาโครงสร้างพื้นฐานนี้ไปเชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิต ไปเชื่อมโยงกับความอบอุ่นของครอบครัว ไปเชื่อมโยงกับความสุขของคนไทย และที่สำคัญคือไปเชื่อมโยงระหว่างคนรุ่นนี้ที่จะวางอนาคตให้กับลูกหลานของเราในอนาคตอีก 7 ปี ว่าลูกหลานของเรานั้น จะมีสิ่งที่ดีขึ้นมาอย่างไร สิ่งนี้ที่เราเชื่อว่า จะเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการที่เราจะพูดกันถึงอนาคต ด้วยการจับต้องได้ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานนี้ เพื่อที่จะพูดว่าเราทุกคนจะได้ร่วมกันในการสร้างประวัติศาสตร์ และสร้างอนาคตประเทศไทยของปี 2020 ขอบคุณค่ะ”
---------------------------------
กลุ่มยุทธศาสตร์และแผนการประชาสัมพันธ์ สำนักโฆษก
(สามารถดาวน์โหลดไฟล์หลักการและเหตุผล โครงการสร้างอนาคตไทย 2020 ได้ที่ด้านล่าง)
Download attachments:
โครงการ
สร้างอนาคตไทย 2020
หลักการ
และเหตุผล
ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายพัฒนาระบบโครงสร้างด้านการขนส่งของประเทศ
ทั้งทางด้านการขนส่งระบบราง ทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ และด่านศุลกากร (2557-2563) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต
และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในอนาคตทางด้านการขนส่ง (Logistics)
พร้อมกับสร้างโอกาสให้แก่ภาคเอกชนในการลงทุน
รวมทั้งเป็นการเร่งปรับโครงสร้างการบริหารจัดการระบบรางของประเทศให้มีประสิทธิภาพในระยะยาว
แก้ไขปัญหาทางด้านโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ที่ยังขาดความผสมผสาน
การเชื่อมโยงเครือข่าย การบริหารจัดการขนส่ง ความปลอดภัย และความต่อเนื่อง
ในการรองรับการพัฒนาประเทศที่เพิ่มขึ้นทั้งพื้นที่ชนบท พื้นที่เมือง
และระหว่างประเทศ
สำหรับการลงทุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ
ในด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ เชื่อมโยงในภูมิภาคทางน้ำ ทางอากาศ การสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน
และการพัฒนาระบบโทรคมนาคมให้มีความทันสมัย เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงทาง IT ในอนาคต
โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่สนับสนุนการปรับปรุงรูปแบบการขนส่งไปสู่ระบบราง
เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง และรองรับการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน
และประเทศในกลุ่มอาเซียน
สนับสนุนระบบขนส่งมวลชน เพื่อลดการใช้พลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
อาทิ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่และเส้นทางสายใหม่ โครงการรถไฟความเร็วสูง
โครงการรถไฟฟ้าชายเมืองในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง
ทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างประเทศ โครงการก่อสร้างและปรับปรุงด่านศุลกากรตามชายแดนทั่วประเทศ
โครงการก่อสร้างขยายท่าเรือ และสนามบิน จะก่อให้เกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
และโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะยาว
เนื่องจากการลงทุนดังกล่าวจะไปสนับสนุนให้ต้นทุนการขนส่งต่อ GDP ของประเทศ อยู่ในอัตราที่เหมาะสม
และสามารถแข่งขันได้ เพิ่มสัดส่วนปริมาณการขนส่งสินค้า ทางราง ทางน้ำ
และทางชายฝั่ง ลดสัดส่วนผู้เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล
ช่วยเพิ่มสัดส่วนผู้เดินทางโดยรถยนต์สาธารณะมากขึ้น ลดการสูญเสียการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง
และเพิ่มปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านเข้า-ออก ณ ด่านการค้าชายแดนที่สำคัญ
ซึ่งเชื่อมโยงโครงข่ายกับทางหลวงอาเซียน ให้มีมูลค่าโดยรวมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นต่อปี
ซึ่งประชาชนจะได้รับประโยชน์จากการลงทุนดังกล่าวโดยตรง
ท้ายที่สุดผลการดำเนินโครงการดังกล่าว
จะไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้ก้าวหน้า
และรองรับมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ภาคเอกชนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนได้ในระยะยาว
โดยในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลดีทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ
ซึ่งจะมีความพร้อมในทุกๆด้าน ที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ต่อไป
ภายใต้แผนการลงทุนดังกล่าวข้างต้น
นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
พิจารณาดำเนินการจัดนิทรรศการ การสัมมนา
และการโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่งของประเทศให้แก่สาธารณชน
และผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจ รับฟังความคิดเห็น
เปิดโอกาสให้ประชาชนพื้นที่ดังกล่าวแสดงความคิดเห็นต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
วัตถุประสงค์
-เพื่อการสื่อสารประชาสัมพันธ์
และเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
-เพื่อสร้างความรู้
ความเข้าใจ เรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตลอดจนแนวทางการพัฒนา
และยุทธศาสตร์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้กับหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ
ภาคเอกชน และประชาชน
-เพื่อประชาสัมพันธ์
และสร้างความเข้าใจในประเด็นอื่นๆ เช่น ผลของการพัฒนาทางธุรกิจ
ผลต่อชุมชนหรือพื้นที่ จากการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
หรือประเด็นอื่นใดตามที่ผู้ว่าจ้างเห็นชอบ อันจะเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน
-เพื่อรับทราบข้อคิดเห็น
และข้อเสนอแนะของสาธารณชน
รวมถึงประเมินทัศนคติของประชาชนที่มีต่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
เพื่อนำมาปรับใช้ในการสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในโอกาสต่อไป
กิจกรรมที่ดำเนินการ
-จัดนิทรรศการเพื่อให้ความรู้
และประชาสัมพันธ์ โครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล
และจัดให้มีการสัมมนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง ใน 12
จังหวัด
5 ภูมิภาคทั่งประเทศ ในระหว่างวันที่ 4 ตุลาคม – 1 ธันวาคม 2556
-เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลทางสื่อต่างๆ
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.
"ติวสอบดอทคอม" ผอ.นิกร เพ็งลี
... เน็ตเร็ว คลิ๊กที่ www.tuewsob.com
... เน็ตช้า คลิ๊กที่ http://tuewsob.blogspot.com
... ห้องวิชาเอกครู คลิ๊กที่ http://uewsob2011.blogspot.com
... (ห้องข้อสอบใหม่) ..สอบครู..สอบผู้บริหาร..สอบบุค ลากร ที่
"ติวสอบดอทคอม "
ผอ.นิกร เพ็งลี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น