ติวสอบออนไลน์ ชุด เศรษฐกิจพอเพียง
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 309/2556 รับฟังความคิดเห็นระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา
จังหวัดเชียงใหม่ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานการเสวนารับฟังความคิดเห็นของนักเรียน ครูแนะแนว และผู้บริหารสถานศึกษา เกี่ยวกับระบบการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 ที่โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ โดยมีนายอภิชาต จีระวุฒิ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา และผู้บริหาร ศธ. เข้าร่วมประชุม โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
การรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา มีการปรับเปลี่ยนระบบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการปรับเปลี่ยนแต่ละครั้งก็ก่อให้เกิดปัญหา อย่างไรก็ตามทุกระบบก็ต้องมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งระบบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาก็เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ นโยบายการศึกษาของรัฐบาลปัจจุบัน ให้ความสำคัญกับระบบการคัดเลือกบุคลากรเพื่อเข้าศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา และเมื่อผมมารับตำแหน่งก็ได้ประกาศว่าจะพัฒนาระบบการคัดเลือกศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบ ที่จะต้องเชื่อมโยงและการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางการศึกษา ในส่วนของความเชื่อมโยงคือหลักสูตร การเรียนการสอน การทดสอบ การวัดผลประเมินผล ต้องมีความเชื่อมโยงกัน รวมทั้งการนำคุณลักษณะพึงประสงค์ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 ต่อไป
การคิดวิเคราะห์ ครูมีวิธีสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์อย่างไร ใช้ตำราอะไร สอนอย่างไรในแต่ละวิชา หรือมีวิชาที่สอนให้เด็กคิดวิเคราะห์หรือไม่ โดยเฉพาะการเรียนในยุคที่ใช้ระบบเทคโนโลยีทางการศึกษา ที่จะต้องสอนให้เด็กตั้งคำถามและวิจารณ์ได้อย่างไร เพื่อให้เด็กได้ฝึกคิดวิเคราะห์ เช่น ตั้งคำถามว่ากรุงปารีสอยู่ที่ไหน มีประชากรเท่าใด ให้เป็นการบ้านเด็กค้นคว้าทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งเป็นประโยชน์ในการหาข้อมูล เป็นการวัดความสามารถในการค้นหา ในขณะเดียวกันครูจะต้องสอนให้เด็กคิดวิเคราะห์ จากการตั้งคำถามและวิจารณ์การบ้านของตนเอง เช่น เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อมูลเหล่านี้ เพราะอะไร อย่างไร ซึ่งครูอาจจะไม่คุ้นเคยกับการสอนด้วยสื่ออินเทอร์เน็ต แต่ขณะนี้ทั่วโลกใช้วิธีสอน Flip the Classroom กลับการสอนระหว่างห้องเรียนกับบ้าน แทนการที่ครูพูดสอนเพียงฝ่ายเดียวทั้งชั่วโมง เด็กก็อาจจะจดได้บ้างไม่ได้บ้าง ให้การบ้านไปค้นหาต่อ และนำมาส่งครู โดยกลับวิธีการสอนให้ไปอยู่ที่บ้าน คือ ให้เด็กกลับไปดูวีดิโอและหนังสือที่บ้าน เมื่อเข้าห้องเรียนให้ตอบคำถามเหมือนที่เคยทำการบ้านที่บ้าน ซึ่งเป็นการสอนที่ได้ผลมาก ทำให้เด็กได้คิด ได้ตอบคำถาม ได้ช่วยกันหาคำตอบ พ่อแม่ก็ไม่ต้องสอนการบ้านลูก ไม่ต้องกลัวว่าลูกจะทำการบ้านไม่ได้ เพราะเป็นเพียงการอ่าน ทำความเข้าใจ แม้จะยังไม่เข้าใจก็นำกลับมาคุยในห้องเรียน ซึ่งจะทำเช่นนี้ได้ต้องปฏิรูปการเรียนการสอนและพัฒนาครู● การทดสอบ ขณะนี้การสอนในห้องเรียนสอนให้คิดวิเคราะห์ วิจารณ์ แต่ออกข้อสอบเป็นการวัดความจำเช่นเดิม ซึ่งการเรียนแบบหนึ่งแต่วัดอีกแบบไม่ก่อให้เกิดผลเท่าใดนัก ดังนั้นการทดสอบวัดผล การประเมินต้องโยงกับหลักสูตรการเรียนการสอน คือการปฏิรูปการเรียนรู้โดยทุกอย่างเชื่อมโยงกัน อย่างไรก็ตามการทดสอบต้องพัฒนาอย่างแน่นอน ทั้งนี้ กติกาห้ามตกก็ยังคงอยู่ ซึ่งครูก็ไม่สามารถให้ 0 กับนักเรียนได้ ทำให้เราไม่รู้ว่าการเรียนการสอนของทั้งประเทศเป็นอย่างไร จนกระทั่งเกิดระบบทดสอบ O-Net ซึ่งขณะนี้ยังมีปัญหาว่าตรงกับหลักสูตรหรือไม่ ก็ต้องพัฒนาต่อไป ทั้งหมดนี้เรากำลังปฏิรูปการเรียนการสอนที่มุ่งไปยังผลสัมฤทธิ์ และวัดกับการวัดของต่างประเทศ เช่น PISA ที่ไทยอยู่อันดับ 50 จาก 60 ประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องค่อนข้างแย่ เราก็ต้องยกระดับนักเรียนของเรา โดยดูว่า PISA ออกข้อสอบอย่างไร วัดผลแบบไหน เด็กต้องเรียนอะไรถึงจะทำข้อสอบ PISA ได้ทั้งประเทศ จึงต้องเริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 13 ปี ● การทดสอบวัดผลของมหาวิทยาลัยเพื่อรับเด็กเข้าเรียนต่อต้องเชื่อมโยงกัน เมื่อมีการจัดสอบ รุ่นพี่อาจจะบอกรุ่นน้องว่า เนื้อหาจากการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวอาจจะทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เพราะมีการออกข้อสอบที่ไม่ได้เรียนในห้องเรียน ออกข้อสอบนอกหลักสูตร เด็กก็ต้องไปกวดวิชา พ่อแม่ต้องคอยรับส่ง ครูและนักเรียนก็ไม่สนใจการเรียนการสอนในห้องเรียน การปฏิรูปการเรียนการสอนไม่ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่างไร ก็จะไม่มีใครสนใจ เช่น นักเรียนที่อยู่ชั้น ม.5 จะไม่สนใจเรื่องการปฏิรูป แต่จะสนใจว่าลูกจะเข้าเรียนมหาวิทยาลัยได้อย่างไร ซึ่งจะเรียนได้ก็ต้องผ่านกระบวนการสอบคัดเลือกของมหาวิทยาลัยนั้น ผลกระทบของการสอบเข้ามหาวิทยาลัย มีผลต่อการเรียนการสอนในระบบโรงเรียนและการปฏิรูปการเรียนรู้ใน 2 ประเด็น คือ การสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ดำเนินการอยู่ มีผลกระทบต่อการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน ทำให้คนสนใจน้อย และไม่มีความเป็นธรรม ขาดโอกาสและเกิดความไม่เท่าเทียม เช่น การที่มหาวิทยาลัยสอบรับตรงตั้งแต่ต้นปี มีการทยอยสอบกันไปเรื่อยๆ บางคนเดินทางไปสอบต่างจังหวัด เสียค่าใช้จ่ายหลายพันบาทต่อครอบครัว และบางแห่งรับเพียง 40 คน แต่มีคนสมัครสอบถึง 12,000 คน เกิดความเดือดร้อน ต้องเสียจ่ายค่าเทอมเพื่อรักษาชื่อไว้ในบัญชีสอบ และในท้ายที่ท้ายเมื่อได้ที่ที่ดีกว่า ถูกใจมากกว่า ก็ต้องเลือกสละสิทธิ์ เป็นการสูญเสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งนี้ ในระยะหลังนักเรียนไม่สนใจการเรียนในระบบ เพราะต้องกวดวิชา ซึ่งเป็นความจำเป็นเพราะการเรียนในระบบจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้ เกิดการสอบบ่อยมากจนกระทบต่อการเรียน และมีผลต่อความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาด้วย รมว.ศธ.กล่าวว่า ขอให้ผู้ปกครอง นักเรียน ม.ปลาย เข้าใจด้วยว่าการเปลี่ยนแปลงระบบการรับเด็กเข้ามหาวิทยาลัยคำนึงถึงเรื่องสำคัญอย่างมากเรื่องหนึ่ง คือ จะต้องไม่กระทบต่อการเตรียมตัวของนักเรียนที่ได้เตรียมตัวกันอยู่แล้วเป็นหลัก เมื่อเราสร้างระบบหนึ่งอย่างที่ดำเนินการอยู่ มีปัญหาทั้งผลกระทบต่อการเรียนการสอนในโรงเรียน ปัญหาความไม่เท่าเทียม เป็นภาระต่อผู้ปกครอง แต่การจะเปลี่ยนแปลง จะเปลี่ยนแปลงทันทีแล้วให้มีผลกระทบอีกแบบหนึ่ง ก็ไม่ยุติธรรมเหมือนกัน การเปลี่ยนจึงจะให้เวลากับระบบและผู้ที่เกี่ยวข้องดังนั้น จึงขอเสนอให้มหาวิทยาลัยลดการสอบตรง หรือเปลี่ยนเวลาการสอบตรงเป็นในช่วงปิดภาคเรียน ซึ่งในอนาคตจะมีการเลื่อนเปิดภาคเรียนของมหาวิทยาลัย ทำให้มีเวลาช่วงปิดเทอมมากขึ้น ขอให้สอบในช่วงนั้น ซึ่งปัจจุบันมีการจัดสอบหลังเปิดภาคเรียนเพียง 2-3 สัปดาห์ และมีการสอบอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี จึงต้องการให้เลื่อนไปสอบหลังปิดภาคเรียนที่ 2 มิฉะนั้นจะเกิดกรณีที่เด็กบางคนสอบได้ ก็จะไม่เรียนหนังสือ ศธ.ต้องการจัดการศึกษาในด้านต่างๆ มิใช่มีความสามารถเฉพาะการคิดวิธีตอบคำถามเร็วๆ ที่สุด เพื่อจะได้สอบเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยได้ แต่ก็ลืมเรียนในเรื่องอื่นๆ
ภาพ นวรัตน์ รามสูต
ความคิดเห็นของนักเรียนและครู ต่อการเตรียมความพร้อม
เพื่อสอบคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัยในระบบรับตรง
- นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ กล่าวแสดงความเห็นด้วยต่อการเลื่อนสอบตรงในช่วงปิดภาคเรียน เพื่อให้นักเรียนได้มีเวลาในการเตรียมตัวสอบอย่างเพียงพอ และขอให้มีระยะห่างระหว่างการสอบตรงกับการสอบ Admissions พอสมควร เพื่อให้เด็กที่พลาดจากการสอบตรงสามารถไปสอบ Admissions ได้ เป็นการลดความกังวลและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเรียนกวดวิชาด้วย
- นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนเชียงใหม่มัธยม กล่าวแสดงความเห็นด้วยกับการปฏิรูปหลักสูตรการเรียนการสอนให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้มากขึ้น เพราะขณะนี้เด็กไทยคิดวิเคราะห์ไม่เป็น โดยขอให้ปรับปรุงตัวนักเรียนมากกว่า ไม่ว่าหลักสูตรจะดีเพียงใดแต่หากนักเรียนไม่ใส่ใจก็ไม่เกิดประโยชน์ ในส่วนของระบบคัดเลือกเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย ทั้งการสอบตรงและสอบ Admissions เป็นระบบที่ดีอยู่แล้ว แต่ข้อสอบที่ใช้สอบมีความยากมาก เช่น GAT PAT ซึ่งออกข้อสอบโดยอาจารย์มหาวิทยาลัย
- ครูวิชาภาษาอังกฤษ โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ เสนอให้มีการสอบตรงพร้อมกันทุกมหาวิทยาลัย โดยมหาวิทยาลัยเป็นผู้จัดสอบเอง ทำให้เด็กไม่ต้องวิ่งสอบ และเด็กสามารถตัดสินใจเลือกเรียนได้ดียิ่งขึ้น โดยขอให้มีการกำหนดเป็นโควต้าสำหรับนักเรียนในพื้นที่ตั้งของมหาวิทยาลัย เช่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีโควตาสำหรับเด็กภาคเหนือ นอกจากนี้ ได้เสนอให้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยในวิชาภาษาอังกฤษวัดทักษะทั้ง 4ด้าน คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาสามารถสื่อสารได้ และรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งขณะนี้ข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัยยังเป็นการทดสอบเรื่องไวยากรณ์และการอ่าน ครูผู้สอนจึงจำเป็นต้องยึดนักเรียนเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้สามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้
- ครูแนะแนว โรงเรียนวัฒโนทัยพายัพ กล่าวว่า เด็กทุกคนจะต้องนำความรู้จากในห้องเรียนไปใช้ในชีวิตจริง นั่นคือ การประกอบอาชีพ ซึ่งได้รับเสียงสะท้อนจากผู้ประกอบการว่า เด็กไม่สามารถทำงานได้ เพราะการศึกษาวัดคนจากความรู้เพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วองค์ประกอบของเด็กซึ่งเราจะต้องพัฒนาเขาเพื่อให้เขาไปพัฒนาชาติต่อไปนั้น ได้แก่ ทักษะการคิดวิเคราะห์ คุณธรรม แรงบันดาลใจ และความรู้ เปรียบเสมือนรถยนต์ ซึ่งได้รับการพัฒนาเพียงล้อเดียว ไม่ได้พัฒนาทั้ง 4 องค์ประกอบหรือ 4 ล้อ เพื่อให้รถสามารถวิ่งไปได้ คือ ทำงานได้
ขอฝากทุกระดับทั้งระดับมัธยมศึกษา ระดับสถาบันอุดมศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขอให้หน่วยงานบอกความต้องการด้านคน เพื่อแจ้งไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้ผลิตคนได้ตามความต้องการ โดยมีโรงเรียนมัธยมทำหน้าที่ปูพื้นฐาน
- ครูแนะแนว โรงเรียนสันกำแพง แสดงความเห็นด้วยในการฝึกทักษะทั้งด้านวิชาการ วิชาชีพ และทักษะชีวิตของนักเรียน โดยบูรณาการในการเรียนการสอนทุกกลุ่มวิชาสาระ ฝากให้ทุกคนร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเด็กของชาติให้มีความรู้ความสามารถ
รมว.ศธ.กล่าวย้ำว่า ไม่ได้ต้องการให้มหาวิทยาลัยเลิกระบบรับตรง เพราะมหาวิทยาลัยในต่างประเทศก็รับตรงแต่ไม่สอบเอง ซึ่งจะใช้ผลการวัดผลกลาง ร่วมกับการสอบสัมภาษณ์และเขียนเรียงความเพื่อแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกับประเทศไทยที่มีการวัดผลกลาง O-Net ซึ่งได้มอบหมายให้ สทศ.จัดทำข้อสอบให้มีมาตรฐานและสอดคล้องกับหลักสูตร ไม่ใช่การเน้นความยากหรือออกข้อสอบนอกหลักสูตรเพื่อจะได้เห็นความแตกต่างของเด็ก อย่างไรก็ตามการวัดผลของ สทศ. รวมทั้งข้อสอบก็ต้องมีการปรับปรุงอย่างแน่นอน
|
"ติวสอบดอทคอม" ผอ.นิกร เพ็งลี
... เน็ตเร็ว คลิ๊กที่ www.tuewsob.com
... เน็ตช้า คลิ๊กที่ http://tuewsob.blogspot.com
... ห้องวิชาเอกครู คลิ๊กที่ http://uewsob2011.blogspot.com
... (ห้องข้อสอบใหม่) ..สอบครู..สอบผู้บริหาร..สอบบุค ลากร ที่
"ติวสอบดอทคอม "
ผอ.นิกร เพ็งลี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น