ติวสอบออนไลน์ ชุด เศรษฐกิจพอเพียง
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 312/2556รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา สู่การปฏิบัติ
โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมปฏิบัติการ "รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา สู่การปฏิบัติ" โดยมีนายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ดร.กิตติ ลิ่มสกุล และ ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้บริหารองค์กรหลัก ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้บริหารการศึกษา กรรมการสถานศึกษา นักวิชาการ ครู นักเรียน ผู้ปกครอง และผู้แทนหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมกว่า 1,800 คน พร้อมกับมีการถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) ระหว่างเวลา 9.00-10.00 น. เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน 2556
รมว.ศธ.กล่าวในพิธีเปิดว่า การศึกษาเป็นเรื่องที่มีความซับซ้อน มีระบบ กระบวนการ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก รวมทั้งมีปัญหาในด้านต่างๆ ที่สะสมมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ขณะนี้ ศธ.มีบุคลากรทางการศึกษาและผู้รู้ที่มีความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา เพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งการประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสอันดีที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและสังคมมาร่วมกันคิดแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาร่วมกับ ศธ. ซึ่งมีความเชื่อว่าหากมีการวิเคราะห์ที่ดี เห็นปัญหาร่วมกัน ช่วยกันกำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงานตามความต้องการของประเทศ และกำหนดแนวทางด้านการศึกษาที่ชัดเจน การปฏิรูปการศึกษาก็คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
การประชุมปฏิบัติการในครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อชี้แจง เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ 8 นโยบายของ ศธ. ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และเพื่อเสนอแนวทางการขับเคลื่อนและรับฟังข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะการขับเคลื่อน 8 นโยบายสู่การปฏิบัติจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยมีการจัดกิจกรรมนิทรรศการแสดงผลการดำเนินงาน แนวทางการขับเคลื่อน 8 นโยบายไปสู่การปฏิบัติของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดแสดงตัวอย่างผลสำเร็จและแนวทางปฏิบัติในการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ ในช่วงเช้าได้จัดการเสวนาเรื่อง รวมพลังทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่เวทีโลก และการอภิปราย ขับเคลื่อน 8 นโยบาย ศธ.สู่การปฏิบัติ ส่วนในช่วงบ่ายมีการประชุมกลุ่มย่อยเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะการขับเคลื่อนทั้ง 8 นโยบาย ศธ.สู่การปฏิบัติ
รมว.ศธ.แถลงข่าวถึงผลการประชุม ดังนี้
- ความร่วมมือในการผลิตกำลังคน ขณะนี้ ศธ.ในฐานะผู้จัดการศึกษา คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งดูแลเรื่องแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ที่ดูแลภาคการผลิต เห็นปัญหาและความจำเป็นในการผลิตคนให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศที่ตรงกัน โดยฝ่ายผลิตจะเสนอความต้องการกำลังคนมายัง ศธ.เพื่อจัดการศึกษา ตามความต้องการของประเทศและรองรับโลกยุคใหม่ที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีทักษะที่จำเป็นในทศวรรษที่ 21 และมีสมรรถนะแบบใหม่ๆ รวมทั้ง ศธ.จะมีการวิจัยและพัฒนาเพื่อนำผลวิจัยมาจัดการศึกษาและพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ เช่น หลักสูตร การเรียนการสอน พร้อมทั้งจะจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนด้วย
นอกจากนี้ จะจัดให้มีคณะกรรมการดูแลการผลิตกำลังคน โดยจะขอให้สภาพัฒน์ฯ เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อระบุรายละเอียดความต้องการที่ชัดเจนมากขึ้น ในส่วนของการผลิตระยะเร่งด่วน ซึ่งทราบจำนวนกำลังคนตามความต้องการของประเทศในภาพรวมแล้ว แต่จะขอให้ภาคการผลิตเสนอรายละเอียดความต้องการที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้น เช่น อุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นใหม่ คุณลักษณะของกำลังคน สาขาวิชาที่ต้องการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกับระบบการศึกษา ซึ่งในบางจังหวัด บางวิทยาลัยในบางพื้นที่ได้ดำเนินการร่วมกับเอกชนไปบ้างแล้ว จากนั้นในระยะยาว ศธ.จะผลิตคนที่มีความพร้อมขั้นพื้นฐานนำไปต่อยอดกับความต้องการที่ชัดเจนจากภาคเอกชน เพื่อเพิ่มกำลังคนสายอาชีพอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
- เพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษา การเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวศึกษาต่อสายสามัญเป็น 51:49 สอดคล้องกับทิศทางความต้องการของภาคเอกชน และประธานสภาอุตสาหกรรมได้เสนอให้มีการผลิตคนระบบ Cluster (กลุ่มจังหวัด) หรือ Sector และให้การผลิตกำลังคนมีความครอบคลุมระดับอุดมศึกษาด้วย ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ศธ.ได้หารือกับภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้มีความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ในการกำหนดหลักสูตร การเรียนการสอน และการฝึกอบรมของผู้เรียนสายอาชีวศึกษา เพื่อให้ภาคเอกชนได้ร่วมกระบวนการผลิตคนตลอดทั้งกระบวนการ
- การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ศธ.จัดเสวนาครั้งนี้ขึ้น เพื่อหารือ รับฟังข้อเสนอแนะและความคิดเห็นกับฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศและภาคเอกชนที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจตรงกันและมีทิศทางในการตอบสนองสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ศธ.ได้จัดประชุมเพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรของ ศธ.เพื่อขับเคลื่อน 8 นโยบายไปสู่การปฏิบัติ จัดประชุมหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภาคเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ อย่างต่อเนื่องเข้มข้น จนกระทั่งเกิดเป็นแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย โดยจะนำข้อเสนอแนะจากการประชุมครั้งนี้ไปช่วยเติมเต็มในแผนปฏิบัติการด้วย
- เร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานตามนโยบาย ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2557 เป็นต้นไป จะเร่งขับเคลื่อนการดำเนินงานในหลายด้านพร้อมกัน และเชื่อว่าในบางเรื่องจะเห็นผลอย่างชัดเจนภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 เช่น การแก้ปัญหาภาษาไทย การอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะมีการวางระบบ กลไกเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่เกิดขึ้น โดยจะกำหนดตัวชี้วัดเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบขับเคลื่อนต่อไป
- การกำหนดเป้าหมายในปี 2558 เพิ่มเติม ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เป็นต้นไป จะกำหนดเป้าหมายเพิ่มเติมจากที่ได้แถลงนโยบายไว้ โดยพิจารณาจากข้อสรุปในการประชุมครั้งนี้ และผลการดำเนินงานตามแผนงานที่จะจัดขึ้นในช่วงปิดภาคเรียนนี้ เช่น การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศ การวางแผนแม่บทด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ซึ่งครอบคลุมถึงเรื่อง Content Learning Management System โดยในอนาคตจะจัดให้มีเนื้อหา การเรียนการสอนแนวใหม่ รวมทั้ง Application ในทุกระดับชั้นเรียนโดยเร็วที่สุด และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะนำมาประกอบการกำหนดเป้าหมายเพิ่มเติม อาทิ จำนวนผู้สอบ TOEFL ทั้งหมดและผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดมีจำนวนเท่าใด ผู้เรียนภาษาจีนแล้วสามารถประกอบอาชีพเป็นล่ามหรือมัคคุเทศก์ได้จำนวนเท่าใด รวมทั้งผลการจัดอันดับการทดสอบ PISA ของไทย ซึ่งต้องรอผลในช่วงเดือนธันวาคมนี้ก่อน ที่วัดผลสำหรับเด็กอายุ15 ปี อาจจะมีการขยายเป้าหมายที่กว้างขึ้น ทั้งนี้ จะต้องมีการหารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาและมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาและเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยไทยขององค์กรระหว่างประเทศด้วย
- การขยายโอกาสทางการศึกษา ขณะนี้ ศธ.ไม่ได้มีการตั้งเป้าหมายทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ ซึ่งในเชิงปริมาณเป็นเรื่องที่ไม่ยากนัก แต่ในเชิงคุณภาพเป็นความไม่เท่าเทียมทางการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ให้มีความเท่าเทียมมากขึ้น รวมทั้งผู้ที่ถูกทอดทิ้งต้องได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพด้วย ซึ่งหมายถึงการใช้ครูและเทคโนโลยีทางการศึกษาเข้าไปช่วยพัฒนาคุณภาพ จึงต้องมีการวางแผนเพื่อกระจายการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาให้ทั่วถึงมากขึ้น เพราะเทคโนโลยีทางการศึกษาเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ช่วยให้เกิดคุณภาพ
โอกาสนี้ รมว.ศธ.เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ มาตรการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ “อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต้องไม่มี” ระหว่างเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา (เฉพาะเขตที่มีสถานศึกษาระดับประถมศึกษา) และผู้อำนวยการสำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ
รมว.ศธ.กล่าวว่า จากนโยบาย ศธ.ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการพัฒนาผู้เรียนให้สามารถคิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ และมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 การอ่านออกเขียนได้จึงเป็นหัวใจสำคัญต่อการพัฒนาตนเองและการเรียนรู้ในระดับสูงขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนมีศักยภาพตามเป้าหมายดังกล่าว จึงจำเป็นต้องมีมาตรการเร่งด่วนเพื่อเร่งรัดพัฒนานักเรียนเป็นรายบุคคล รวมทั้งจัดพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือมาตรการเร่งรัดคุณภาพการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ “อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ต้องไม่มี” โดยมีมาตรการต่างๆ ดังนี้
- สพฐ. มีมาตรการเร่งรัดการอ่านการเขียนอย่างเข้มข้น จัดทำเครื่องมือตรวจสอบและคัดกรอง (Scan) วัดความสามารถการอ่านออกเสียง ความเข้าใจการอ่านของนักเรียน ป.3 และ ป.6 ทุกคน กำกับ ติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าการดำเนินงานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ด้วยระบบ Online มีการทบทวนตรวจทานเฉพาะเขต และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อ ศธ.
- เขตพื้นที่การศึกษา ตรวจสอบและคัดกรองสถานศึกษาทุกแห่งด้วยเครื่องมือคัดกรองของ สพฐ. แต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินงานตามระบบ โดยต้องตรวจสอบและคัดกรองนักเรียน ป.3 และ ป.6 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2556 รายงานผลการวิเคราะห์สภาพปัญหาของนักเรียนต่อ สพฐ.ด้วยระบบOnline และเร่งรัดพัฒนาครู จัดหาสื่อและนวัตกรรมเพื่อช่วยเหลือครู ให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2556 รวมทั้งติดตาม นิเทศ และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อ สพฐ.ทุกภาคเรียน
- สถานศึกษา จัดทำข้อมูลนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้เป็นรายบุคคล ภายในเดือนตุลาคม 2556 ประสานผู้ปกครองให้รับทราบปัญหาและร่วมดูแลเอาใจใส่บุตรหลานอย่างใกล้ชิด ดำเนินการทุกวิธีเพื่อให้นักเรียนทุกคนอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ตามมาตรฐานชั้นปีหรือช่วงอายุ มีแผนซ่อมเสริมสำหรับนักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ทุกคนที่มีปัญหาอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และดำเนินการซ่อมเสริมให้แล้วเสร็จภายในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2556 โดยต้องกำกับ ติดตาม นิเทศ และช่วยเหลือครูภาษาไทย รวมทั้งให้ครูทุกคนมีส่วนร่วมพัฒนาการอ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ของนักเรียน และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานต่อเขตพื้นที่การศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.
"ติวสอบดอทคอม" ผอ.นิกร เพ็งลี
... เน็ตเร็ว คลิ๊กที่ www.tuewsob.com
... เน็ตช้า คลิ๊กที่ http://tuewsob.blogspot.com
... ห้องวิชาเอกครู คลิ๊กที่ http://uewsob2011.blogspot.com
... (ห้องข้อสอบใหม่) ..สอบครู..สอบผู้บริหาร..สอบบุค ลากร ที่
"ติวสอบดอทคอม "
ผอ.นิกร เพ็งลี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น