หลายคนสงสัยว่า ตำรวจกลุ่มหนึ่งทำไมถึงมีทรัพย์สินมากมายระดับหมื่นล้าน มีเงินสดอยู่ในบ้านหลักพันล้านบาท ตามที่เป็นข่าวจาก "ชุดจับกุม"
แน่นอนว่า การพิสูจน์ความถูกผิด ทั้งฝ่ายที่กล่าวหาว่าตำรวจกลุ่มนี้กระทำผิดจริงหรือไม่ และฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาว่าตนเองบริสุทธิ์หรือเปล่า เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรม สื่อมวลชนไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินล่วงหน้า
แต่เรื่องนี้ต้องบอกว่า สังคมเชื่อกันไปครึ่งค่อนประเทศ แม้จะยังเห็นหลักฐานไม่ชัดเจนจากภาพนิ่งที่ทีมงานนำมาแสดงระหว่าง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.นั่งแถลงข่าวด้วยตัวเอง เมื่อวานนี้ก็ตาม
เพราะพูดถึงตำรวจกับสินบน หลายคนบอกว่า "เป็นของคู่กัน" แต่ประเด็นที่น่าตกใจหากข้อกล่าวหาที่มีต่อ พล.ต.ท.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ และพวก เป็นความจริงก็คือ ทำไมสินบนและผลประโยชน์อันมิควรได้ จึงมากมายขนาดนี้
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่า สินบนที่ตำรวจเรียกและประชาชนคนเดินดินคุ้นชินกันนั้น คือ "สินบนจราจร" ที่ชาวบ้านร้านตลาดยอมควักจ่ายเพื่อแลกกับการไม่ต้องออกใบสั่ง ไม่ยึดใบขับขี่ ไม่ต้องลำบากเดินทางไปเสียค่าปรับถึงโรงพัก
นั่นมันถือว่า จิ๊บๆ หากเทียบกับกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) ซึ่งเรียกได้ว่า เป็น "กรมตำรวจน้อย" ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติดีๆ นี่เอง เพราะ "อาณาจักร บช.ก." นั้น มีหน้างานรับผิดชอบมากมาย และอำนาจการสืบสวนจับกุมก็แผ่ขยายไปทั่วประเทศ
โครงสร้าง บช.ก.หากเทียบให้เห็นภาพก็คือ "เอฟบีไอ" ของสหรัฐนั่นเอง เป็นตำรวจที่สืบจับได้โดยไม่ติดข้อจำกัดของท้องที่ ผิดกับตำรวจโรงพัก ตำรวจนครบาล หรือตำรวจภูธรภาค ซึ่งไม่ว่าจะใหญ่แค่ไหน รับผิดชอบทำเลทองอย่างไร แต่ก็ยังมีขอบเขตด้านพื้นที่อยู่ดี
แต่ บช.ก.เขาผงาดทั่วประเทศ!
ลองไล่ดูหน่วยงานในสังกัดของ บช.ก.แล้วจะทราบดี เพราะมีหน่วยงานระดับกองบังคับการ (บก.) ถึง 11 บก. (ไม่นับ บก.อำนวยการ) ประกอบด้วย
1. กองบังคับปราบปราม (บก.ป.) ที่รู้จักกันในนามกองปราบ หน่วยนี้มีอำนาจสืบจับคดีสำคัญทั่วไทย โดยแบ่งพื้นที่ตามกองกำกับการ 6 กองกำกับ (กก.) และยังมีหน่วยคอมมานโดอยู่ในบังคับบัญชาพร้อมเคลื่อนกำลัง 24 ชั่วโมงด้วย
2. กองบังคับการตํารวจทางหลวง (บก.ทล.) หลายคนอาจรู้จักในนาม "ฉลามบก" มีอำนาจสืบสวนจับกุมบนทางหลวงทุกสายทั่วประเทศ
3. กองบังคับการตํารวจรถไฟ (บก.รฟ.) มีอำนาจสืบสวนจับกุมบนรถไฟทุกสาย ทุกขบวน
4. กองบังคับการตํารวจท่องเที่ยว (บก.ทท.) มีหน่วยและกำลังพลกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ
5. กองบังคับการตํารวจน้ำ (บก.รน.) มีอำนาจป้องกันปราบปรามในน่านน้ำไทย เชื่อมโยงไปถึง เรือ ท่าเรือ อู่เรือ ทรัพยากรธรรมชาติในน้ำ และผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องทางน้ำ
6. กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) คือตำรวจป่าไม้เดิม มีอำนาจสืบสวนจับกุมพวกบุกรุกทำลายป่าทั่วราชอาณาจักร
7. กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) เป็นหน้างานใหม่ที่แยกออกมาจากกองปราบ เพื่อเน้นหนักการปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ที่ไทยตกเป็นเป้าโจมตีของนานาชาติ
8. กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ในอดีตคือ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (สศก.) แม้จะลดบทบาทลงไปมากหลังจากมีดีเอสไอ แต่ก็ยังมีอำนาจสืบสวนจับกุมคดีเศรษฐกิจทั่วประเทศ
9. กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (บก.ปปป.) เรียกว่าเป็น ป.ป.ช.ของวงการตำรวจก็คงไม่ผิด
10. กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) เล่นงานพวกหลอกลวง เอาเปรียบผู้บริโภคได้ทุกประเภท
11. กองบังคับการปราบปรามการกระทําความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) มีอำนาจจัดการพวกโจรออนไลน์ ตั้งแต่ตู้เอทีเอ็มยันอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ มือถือ ปีที่แล้วสร้างกระแสเรื่องตรวจสอบข้อมูลในแอพพลิเคชั่นไลน์ให้เป็นที่ฮือฮามาแล้ว
เมื่อหน้างานกว้าง อำนาจสืบจับทั่วประเทศ จึงง่ายต่อการเรียกรับผลประโยชน์ ส่งทีมพิเศษเข้าไปปฏิบัติการแทรกแซงตำรวจท้องที่ ดังที่เรียกกันว่า "ตีเมืองขึ้น"
พฤติการณ์แบบนี้ไม่ได้มีแต่ บช.ก.เท่านั้น แต่ตำรวจหน่วยพิเศษอื่นๆ ก็มีเช่นกัน และตำรวจท้องที่แต่ละท้องที่ก็ไม่เบา...
อุทาหรณ์ของเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้น ต้องปฏิรูปตำรวจกันเสียที!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น