ข้อสอบออนไลน์ ชุดใหม่
ติวสอบออนไลน์ ชุด นโยบายรัฐบาล
ติวสอบออนไลน์ ชุด นโยบายรัฐบาล
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 374/2556ศธ.จัดงานสุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์
เซ็นทรัลเวิลด์ – นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดงาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์” (Language Learning and Thinking Showcase) เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2556 ที่ห้องบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์และบางกอกคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กรุงเทพฯ
ดร.สุทธศรี วงษ์สมาน ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวรายงานถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า เป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่รัฐบาลได้ประกาศให้การศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และ รมว.ศธ.ได้กำหนดให้ปีนี้เป็นปีแห่งการรวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยต้องการให้ทุกภาคส่วนของสังคมได้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา ขับเคลื่อนนโยบายการศึกษาสู่การปฏิบัติ และพัฒนาไปสู่อนาคตตามเป้าหมายที่กำหนดอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะนโยบายเร่งด่วนประการแรก คือ การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งระบบให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทั้งการปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปการเรียนการสอน การทดสอบ/วัดและประเมินผลผู้เรียน การรับบุคคลเข้าศึกษาต่อมหาวิทยาลัย การประเมินวิทยฐานะและความก้าวหน้าในวิชาชีพครู และการประเมินสถานศึกษาที่จะต้องเชื่อมโยงไปที่คุณภาพและผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน
เพื่อเป็นการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ศธ.จึงได้จัดงาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์” ขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2556 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีเกี่ยวกับการปฏิรูปการเรียนการสอน โดยเฉพาะเรื่องภาษา การอ่านและการคิดวิเคราะห์ โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนภาษาต่างๆ และการนำเสนอตัวอย่างการเรียนการสอนแนวใหม่ที่ส่งเสริมการคิดวิเคราะห์และการเรียนรู้ด้วยตนเอง กิจกรรมสำคัญภายในงานจะครอบคลุมถึงการเสวนาทางวิชาการของผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษา การสื่อสาร และการคิดวิเคราะห์ การสาธิตการเรียนการสอนภาษาและการคิดวิเคราะห์จากสถานศึกษาที่มีแนวปฏิบัติที่โดดเด่น ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับครูอาจารย์ สามารถนำไปเป็นแบบอย่างเพื่อปรับใช้ได้อย่างเหมาะสมภายในงานได้มีการจัดห้องเรียนจำลองในการสอนภาษาและการคิดวิเคราะห์ การแสดงแอพลิเคชั่นและการใช้สื่อเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอนหลายรูปแบบ การเปิดเวทีให้เยาวชนและครูได้มีโอกาสในการแสดงความสามารถและศักยภาพด้านต่างๆ การแสดงและการประกวดสุนทรพจน์ของนักเรียน การจัดนิทรรศการและการแสดงของสถานเอกอัครราชทูตฯ และหน่วยงานภาคเอกชน เพื่อส่งเสริมทักษะความรู้ด้านภาษาและการคิดวิเคราะห์ ตลอดจนการจัดทดสอบเพื่อวัดระดับความสามารถทางภาษา การประกวดการจัดทำสื่อการเรียนการสอนของครู โดยคาดว่าจะมีผู้บริหาร ครู นักเรียน ผู้ปกครอง บุคลากรที่เกี่ยวข้องและผู้สนใจเข้าชมงานทั้ง 2 วัน จำนวนกว่า 15,000 คน ที่จะได้นำความรู้ แนวคิดและประสบการณ์ที่ได้รับไปพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาความรู้และคุณภาพของเยาวชนต่อไป![]()
![]()
![]()
รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า การจัดงานในวันนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการนำเอารูปแบบการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่เกิดขึ้นจากสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครูอาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษา ได้ชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่กระบวนการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา
ประเทศไทยมีความจำเป็นที่อยู่ในโลกแห่งการแข่งขันและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาประเทศ ในการพัฒนาประเทศนั้น สิ่งที่สำคัญมากคือการพัฒนากำลังคน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญโดยตรงของฝ่ายจัดการศึกษา การจะพัฒนาประเทศและกำลังคนได้ จะต้องปฏิรูปการศึกษา และต้องร่วมกันทำให้เห็นว่าการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ทาง ศธ.ได้หารือและนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีความเห็นชอบให้ถือว่าการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และได้มอบหมายให้ ศธ.คิดเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้และปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง
การศึกษาเป็นวาระแห่งชาตินั้น มีความหมายใน 2 ความหมาย ความหมายหนึ่ง คือถ้าจะพัฒนาประเทศ พัฒนาชาติ การศึกษาจะมีส่วนสำคัญอย่างมาก อีกความหมายหนึ่งก็คือ ในการที่จะพัฒนาการศึกษา ปฏิรูปการศึกษา คนทั้งชาติต้องร่วมมือและช่วยกัน จากแนวความคิดดังกล่าว จึงจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา และจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในหลายๆ ด้าน
![]()
เมื่อมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกันแล้ว หากการทดสอบวัดผล ไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน ผู้สอนและผู้เรียนก็จะไม่สนใจสิ่งที่อยู่ในหลักสูตรและสิ่งที่มีการเรียนการสอนกันอยู่ในห้องเรียน เพราะต้องไปทำข้อสอบให้ได้ การทดสอบวัดผลจึงจะต้องมีการพัฒนาให้ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน และการทดสอบวัดผลนั้น ต้องหวังที่จะทำให้เป็นเครื่องมือในการที่กระตุ้น ส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนและหลักสูตรที่ดีขึ้น และทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น
การทดสอบวัดผลนี้เราไม่ค่อยมีกันมาใน 20-30 ปีมานี้ ไม่มีการทดสอบวัดผลกลาง แต่ใช้การทดสอบวัดผลของสถานศึกษา และการทดสอบวัดผลที่ครูกับโรงเรียนดำเนินการกันมา ทำให้หลายปีมานี้ไม่ทราบว่าผลการศึกษาของประเทศเป็นอย่างไร ผลการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมามีผลอย่างไรต่อเด็กทั่วประเทศ ไม่มีใครทราบชัดเจน จนกระทั่งมีการทดสอบวัดผลของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) และมีการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.)ที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 8-10 ปีมานี้ และจะต้องอาศัยการทดสอบวัดผลและประเมินผลจากองค์กรต่างประเทศ การทดสอบวัดผลจึงจะต้องมีการพัฒนาด้วย ในการทดสอบวัดผลนี้มี สทศ.เกิดขึ้น มี O-Net เกิดขึ้น ซึ่งก็จะต้องทำให้พัฒนาและทำให้เชื่อมโยงกับหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากนี้ มีการทดสอบวัดผลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องดูแลให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ก็คือการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย
หากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใช้ข้อสอบนอกหลักสูตร ทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครองของเด็กชั้นมัธยมปลายจะไม่สนใจการเรียนในโรงเรียนหรือจะสนใจน้อยเกินไป และการที่เราจะปฏิรูปการเรียนการสอนทั้งหมดนี้ก็จะไม่เป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องจริงๆ ให้ความสนใจ เพราะจะสนใจแต่ว่าจะทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อสอบนอกหลักสูตรได้อย่างไร
![]()
ปฏิรูปการเรียนการสอนนี้มีคำว่า “สอน” อยู่ด้วย คำว่า “สอน” ก็คือ “ครู” เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็ต้องโยงไปที่การผลิตและการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง การเรียนการสอนจะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง จะต้องมีการจัดการเรียนการสอนในทุกเรื่อง แต่หากทำทุกเรื่องพร้อมกัน ก็จะเยอะแยะไปหมด และอาจจะไม่สามารถเห็นตัวอย่างชัดเจน จึงต้องเริ่มจากบางเรื่อง การปฏิรูปการเรียนการสอนที่สำคัญในเรื่องการคิดวิเคราะห์ การเรียนวิชาต่างๆ คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ เมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง พบว่าภาษาต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน คือภาษาไทย นอกจากนั้นแล้ว การเรียนการสอนที่สำคัญที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนและเรียนรู้กันอย่างจริงจัง คือการเรียนการสอนในโลกยุคอินเทอร์เน็ต โลกยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน
เวลานี้ต้องพูดกันถึงเรื่องบทบาทของครูในโลกยุคอินเทอร์เน็ต การสอนโดยตั้งคำถามว่า คำนี้คืออะไร เมืองนี้คืออะไร อยู่ที่ไหน เด็กทุกคนสามารถใช้กูเกิ้ล เว็บไซต์ หรือเครื่องมีในการค้นหาได้ภายในเวลาสั้นๆ และตอบได้เหมือนกันหมด บทบาทของครูจึงต้องเปลี่ยนไป การจะตั้งคำถาม ส่งเสริมให้เด็กคิดอย่างไร และจะสอนกันอย่างไรในโลกที่ปัจจุบันเด็กมีความสามารถที่จะหาข้อมูลได้ และคำถามใหญ่คือ จะทำให้เด็กคิดได้อย่างไร
ในการเรียนการสอน เรื่องสำคัญมากอยู่ที่เรื่องคิดวิเคราะห์ ศธ.ประกาศว่าจะเลื่อนอันดับใน Programme for International Student Assessment (PISA) ของประเทศไทยให้สูงขึ้นในการวัดผลในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะมีการดำเนินการในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง การทดสอบวัดผลของ PISA เริ่มต้นมาจากการให้นักวิทยาศาสตร์ช่วยนักการศึกษาคิดวิธีวัดผลเด็ก และที่ทำเป็นการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทั้งหมดนี้ถอดออกมาได้คำเดียว คือ “คิด” เพราะฉะนั้น เรื่องคิดวิเคราะห์คือเรื่องที่ทั่วโลก องค์กรต่างๆ ที่ทำเรื่องการศึกษา เช่น สหประชาชาติ ยูเนสโก ล้วนแต่ให้ความสำคัญทั้งสิ้น
![]()
การจะปฏิรูปการเรียนการสอน มีองค์ความรู้อยู่มากมายในโลกนี้ และในประเทศไทย องค์ความรู้เหล่านี้สามารถรวบรวมมาแสดงได้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ โจทย์ข้อใหญ่ของวงการศึกษาไทยที่จะต้องคิดกันต่อไปก็คือ เมื่อมีการแสดงให้ดูแล้วว่าองค์ความรู้สามารถรวบรวมมาได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ จะทำอย่างไรให้มีกระบวนการนี้อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงไปสู่ระบบการผลิตและพัฒนาครู เชื่อมโยงไปสู่การที่เรากำลังจะดำเนินการเรื่องปรับหรือพัฒนาการทดสอบ การวัดผล การประเมินผล รวมทั้งการปฏิรูปหลักสูตร จึงต้องช่วยกันคิดและหากระบวนการต่อไป หากกระบวนการนี้ไม่มีความต่อเนื่อง มีแค่จุดประกายกันขึ้นมาแล้วก็เป็นไฟไหม้ฟางไปเท่านั้น ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเท่าที่ควร แต่หากเกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและทำกันอย่างจริงจังต่อไป ที่ต้องการจะเน้นก็คือ การปฏิรูปการศึกษาได้ ทุกส่วนต้องร่วมกัน ที่บอกว่า รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา มันมีความหมายก็คือ ทาง ศธ.มีบุคลากรมากแล้วแต่ก็ยังไม่พอ ภาคเอกชน ภาคสังคม คนทั้งสังคมต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงหวังว่าการจัดงานในวันนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการรวบรวมองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว จะทำให้เกิดการที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายมามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา มีส่วนร่วมในการที่จะมาคิด สร้างกระบวนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนากำลังคนของประเทศร่วมกัน เพื่อให้มีบทบาท มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
งาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2556 โดยมีการจัดนิทรรศการต่างๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาเยอรมัน ภาษามลายู ภาษาเพื่ออาชีพ การคิดวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ รวมถึงการแสดงละครภาษาอังกฤษ (ห้องเรียนจำลองการเรียนการสอนเชิงบูรณาการ) โดยโรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร การจัดเสวนาทางวิชาการ การประกวดสื่อการสอน อ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ (ครู) และการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ (นักเรียน) เป็นต้น
ภายหลังพิธีเปิด รมว.ศธ.ได้เยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าในการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์ของสถานศึกษาและหน่วยงานชั้นนำของประเทศไทย รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่สอนภาษาต่างประเทศในไทย เช่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน เกาหลี เป็นต้น
| ||
![]() ภาพ สถาพร ถาวรสุข |
จากนั้น รมว.ศธ.ได้รับฟังความคิดเห็นจากในการประชุมพิจารณา (ร่าง) กรอบยุทธศาสตร์การปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ พ.ศ.2556-2561 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดงานรมว.ศธ.กล่าวว่า เชื่อว่าเราทุกคนมีความเข้าใจโจทย์ของการปฏิรูปการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ตรงกันอยู่แล้ว แต่ขอให้ช่วยคิดว่า มีอะไรที่จะส่งเสริมให้การดำเนินงานสอดคล้องกับความเป็นจริงมากขึ้น ซึ่ง ศธ.เป็นฝ่ายจัดการศึกษาให้กับเด็กทั่วประเทศที่มีขีดความสามารถและสภาพการเรียนการสอนที่แตกต่างกัน ดังนั้น เราจะจัดการศึกษาโดยมุ่งเป้าหมายให้ได้ผลเช่นเดียวกันคงจะเป็นไปไม่ได้ แต่จะมีวิธีการเรียนการสอนและกำหนดเป้าหมายในแต่ละส่วนได้อย่างไร และหากเห็นว่าหากจะมีการทดสอบ Proficiency Test ต้องคำนึงว่าจะมีจุดเน้นด้านใด วัดอย่างไร เพื่อให้เป็นการวัดสำหรับเด็กทั้งประเทศซึ่งมีความแตกต่างกันปัญหาใหญ่คือ วิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษของเราที่มุ่งเรียนเรื่องกฎเกณฑ์และไวยากรณ์ เป็นการเรียนเพื่อใช้ประโยชน์ในการหาความรู้ต่อ เช่นReading Comprehension ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนที่ไม่ต่อเนื่องและเป็นอุปสรรคต่อการเรียนภาษา แต่หากจะเปลี่ยนเป็นการเรียนที่เริ่มจากการฟัง การพูด ในชั้นเด็กเล็ก และเพิ่มการอ่านและเขียนในเด็กโต โดยอาจจะต้องพัฒนาวิธีการเรียนการสอนควบคู่ไปกับการเรียน
ภาพ บัลลังก์ โรหิตเสถียร by iPhone5ทั้งนี้ เราจะยึดความต้องการของประเทศว่า ประเทศนี้ต้องการให้คนมีความสามารถทางภาษาอังกฤษอย่างไร แบบใด และด้านใดบ้าง โดยมีการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะต้องสำรวจความต้องการคนในแต่ละอาชีพก่อน ทั้งในแง่จำนวน สาขา และระดับความสามารถ เพื่อเป็นเป้าหมายในการจัดการเรียนการสอนภาษาให้ตรงกับความต้องการและมีความสามารถที่จะทำงานได้จริง ไม่ใช่ปล่อยให้เรียนเป็นแสนคน แต่จบแล้วก็ไม่ได้คนที่ตรงตามความต้องการ และไม่สามารถทำงานได้ในทันที
ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ศธ.
... เน็ตเร็ว คลิ๊กที่ www.tuewsob.com
... เน็ตช้า คลิ๊กที่ http://tuewsob.blogspot.com
... ห้องวิชาเอกครู คลิ๊กที่ http://uewsob2011.blogspot.com
... (ห้องข้อสอบใหม่) ..สอบครู..สอบผู้บริหาร..สอบบุคลากร ที่
"ติวสอบดอทคอม "
ผอ.นิกร เพ็งลี
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น