28ส.ค.2557 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 17.00 น.กลุ่มงานสื่อมวลชน สำนักประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้แจ้งว่า พล.ท.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ สนช.และรองเสนาธิการทหารบก มีหนังสือขอลาออกจากสมาชิกสนช.โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.เป็นต้นไป ทำให้ขณะนี้มีจำนวนสนช.192 คน ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวได้โทรศัพท์ไปยังพล.ท.สุรเชษฐ์ เพื่อสอบถามถึงเหตุผลการลาออก แต่พล.ท.สุรเชษฐ์ ไม่รับสาย อย่างไรก็ตามตลอดทั้งวันนี้มีสนช.ลาออกไปแล้ว 5 คน
เลขาธิการสภาพัฒน์ไขก๊อกด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ความเคลื่อนไหวของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ในวันนี้ภายหลังมีการแจ้งที่ประชุมสนข.ทราบว่า สนช.จำนวน 3 คนได้ลาออกแล้วนั้น ล่าสุดนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ สนช.เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ได้ทำหนังสือลาออกจากการเป็นสมาชิกสนช.แล้ว ซึ่งถือเป็นสนช.คนที่ 4 ลาออกในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่แล้ว แต่ถือเป็นคนที่ 7 จากจำนวนสนช.ที่ลาออก ทำให้ขณะนี้สนช.คงเหลือ 193 คน
สนช.รับหลักการร่างก.ม.ของคสช.5ชั่วโมง5ฉบับ
ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช) ครั้งที่ 4/2557 มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธาน โดยที่ประชุมได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..)โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ การค้ำประกันหนี้ในอนาคตหรือหนี้มีเงื่อนไขต้องกำหนดรายละเอียดของหนี้และขอบเขตความรับผิดของผู้ค้ำประกันรวมทั้งจำกัดความรับผิดของผู้ค้ำประกันไว้เฉพาะหนี้ตามสัญญานั้น กำหนดให้ผู้ค้ำประกันได้รับประโยชน์จากการที่เจ้าหนี้กระทำการใดๆอันเป็นผลให้ลดจำนวนหนี้ให้กับลูกหนี้ และให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในหนี้อันมีกำหนดเวลาแน่นอน โดยสมาชิกตั้งข้อสังเกตถึงการทำสัญญาการค้ำประกัน ซึ่งปัจจุบันมีหลายรูปแบบ ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้จะครอบคลุมหรือไม่ เช่น ถ้าเป็นกรณีที่ผู้กู้เงินกลายเป็นบุคคลไร้ความสามารถขึ้นมาจะมีผลให้ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดชอบหนี้ดังกล่าวต่อไปหรือไม่ หรือในกรณีการค้ำประกันการเข้าทำงานให้กับบุคคล ผู้ค้ำประกันยังจะต้องค้ำประกันบุคคลนั้นต่อไปจนกว่าบุคคลดังกล่าวจะพ้นสภาพการทำงานหรือไม่ ทั้งนี้ที่ประชุมรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนน 170 เสียง พร้อมกับตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 15 คน
ต่อมาที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการวาระแรก ร่างพ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่...) พ.ศ.… ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 157 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจาณารายละเอียดจำนวน 15 คน และ มีมติเห็นชอบในหลักการวาระแรก ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก. กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 (ฉบับที่ …) พ.ศ.… ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 158 เสียงงดออกเสียง 1 เสียง และเห็นชอบให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ศุลกากร พิจารณากฎหมายฉบับนี้พร้อมกันเนื่องจากมีเนื้อหาใกล้เคียงกัน
สำหรับ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ศุลกากรนั้น เนื่องจากศุลกากรยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์ การนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักร ทำให้การศุลกากรของประเทศไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล และยังไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากร เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการในการประเมินค่าภาษีและการเสียภาษี ดังนั้นสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การนำของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลำออกนอกราชอาณาจักร และยื่นคำร้องขอต่ออธิบดีกรมศุลกากร เพื่อพิจารณากำหนดราคาของนำเข้า กำหนดถิ่นกำเนิดของที่จะนำเข้าและตีความพิกัดอัตราศุลกากรเพื่อจำแนกประเภทของในพิกัดอัตราศุลกากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรเป็นการล่วงหน้า ก่อนที่จะนำของเข้ามาในราชอาณาจักร ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการนำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากรได้
ส่วน ร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 มีสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.นี้ เนื่องจากประเทศไทยได้ผูกพันตามสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ ที่กำหนดให้ประเทศภาคีสมาชิก ต้องลดหรือเพิ่มอัตราศุลกากรตามสภาพ แต่พิกัดอัตราศุลกากร ตามพ.ร.ก.พิกดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 กำหนดให้จัดเก็บอากรศุลกากรในบางกรณี โดยถือตามราคาหรือตามสภาพอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้นทำให้ไม่อาจดำเนินการลดหรือเพิ่มอัตราศุลกากรให้แตกต่างจากพิกัดอัตราศุลกากร เพื่อเป็นไปตามพันธกรณี ดังนั้นเพื่อให้รัฐมีเครื่องมือส่งเสริมขีดความสามารถแข่งขันด้านอุตสาหกรรม พาณิชยกรรมกับต่างประเทศ และให้การยกเว้นอากรศุลกากรครอบคลุมไปถึงของที่ได้รับเอกสิทธิ์ตามความตกลงที่ประเทศไทยมีกับองค์การต่างประเทศเป็นการเฉพาะ ตลอดจนก่อให้เกิดความเป็นธรรมและมีความยืดหยุ่นมากขึ้นในการจัดเก็บอากรศุลกากรสำหรับของที่มีมูลค่าเล็กน้อย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.กำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530 เพื่อกำหนดให้ รมว. คลัง โดยความเห็นชอบของครม. มีอำนาจประกาศ กำหนดอัตราศุลกากร ตามราคาหรือสภาพได้ และกำหนดให้อธิบดีกรมศุลกากร มีอำนาจพิจารณากำหนดถิ่นกำเนิดของของที่จะเข้ามาในราชอาณาจักรตามที่ระบุไว้ในสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ
จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบหลักการวาระแรก ร่างพ.ร.บ.การกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ด้วยคะแนนเสียงเอกฉันท์ 172 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณารายละเอียด 15 คน ทั้งนี้หลักการและเหตุผลควรให้ข้าราชการซึ่งเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการและผู้รับบำนาญ และทหารกองหนุนมีเบี้ยหวัดซึ่งเคยเป็นสมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการที่รับราชการ อยู่ในวันก่อนวันที่บทบัญญัติ หมวด 3 สมาชิก และสิทธิประโยชน์ของสมาชิกแห่งพ.ร.บ.กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ สามารถกลับไปใช้สิทธิในบำเหน็จบำนาญตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ได้
ทั้งนี้ที่ประชุมสนช.ได้ ใช้เวลา 5 ชั่วโมงในการพิจารณากฎหมายวาระแรกทั้ง 5 ฉบับ ทั้งนี้ก่อนปิดการประชุม นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ ได้ลาออกจากสมาชิก สนช.แล้ว ทำให้จำนวนสมาชิก สนช.เหลือ 193 คน และองค์ประชุม 97 คน จากนั้นได้สั่งปิดการประชุมในเวลา 15.30 น.
กทม.สานโครงการ"โตแล้วอย่าโกง-โตแล้วไม่โกง"
นางผุสดี ตามไทรองผู้ว่าฯกทม. เป็นประธานแถลงข่าวโครงการส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตสำหรับข้าราชการกรุงเทพมหานครหลักสูตร "โตแล้วอย่าโกง..โตแล้วไม่โกง" ว่า กทม.เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นจึงได้ร่วมมือกับสถาบันพัฒนาข้าราชการกทม.ศูนย์สาธารณประโยชน์และประชาคมสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์จัดหลักสูตรการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยปลูกฝังให้เด็กนักเรียนของกทม. มีจิตสำนึกตั้งแต่เด็กซึ่งหลักสูตรดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก
นางผุสดี กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ กทม.จึงได้จัดทำโครงการต่อเนื่องเพื่อให้ข้าราชการของกทม.ได้มีจิตสำนึกและสนับสนุนพฤติกรรมอันดีในหลักสูตร"โตแล้วอย่าโกงโตแล้วไม่โกง"เพื่อให้ข้าราชการประพฤติตนอย่างสุจริตซึ่งข้าราชการที่ดีต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรีรวมทั้งสร้างความภูมิใจในตนเองโดยยึดถือคุณธรรม 5 ข้อ ได้แก่ ซื่อสัตย์ รับผิดชอบ รักในความเป็นธรรม พอเพียง และทำเพื่อส่วนรวม
"โดยกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมหลักสูตรเป็นข้าราชการกทม.สามัญประเภทวิชาการระดับชำนาญการชำนาญการพิเศษ และประเภททั่วไประดับอาวุโสที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายหัวหน้ากลุ่มงาน หรือหัวหน้าทีมจำนวน 400 คน ซึ่งจะร่วมเข้าฝึกอบรมระหว่างวันที่ 2-5 ก.ย.นี้ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมสามารถสะท้อนมุมมองของตนถึงปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย"นางผุสดี กล่าว
ด้านนางนินนาท ชลิตานนท์ ปลัดกทม. กล่าวว่า จากที่กทม.ได้มีหลักสูตร"โตไปไม่โกง"ปลูกฝังให้เด็กนักเรียนได้มีจิตสำนึกตั้งแต่เด็กซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเด็กไปในทางที่ดีขึ้นได้ ดังนั้นโครงการต่อเนื่องในหลักสูตร"โตแล้วอย่าโกง..โตแล้วไม่โกง"เพื่อให้ข้าราชการของกทม.ได้มีจิตสำนึกถือเป็นการสร้างจริยธรรมข้าราชการและเพื่อปฏิรูปกทม.ให้เป็นเมืองแห่งความสุจริตต่อไปได้แน่นอน
อีสานโพลเผยคนอีสานเสนอปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ
นายสุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยว่า ผลสำรวจเรื่อง “คนอีสานประเมินสถานการณ์คอร์รัปชั่น” ซึ่งทำการสำรวจระหว่างวันที่ 22-24 สิงหาคม จากกลุ่มตัวอย่าง 1,060 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด
เมื่อสอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่าง ว่า ปี 2556 ภาพลักษณ์ความโปร่งใส ไม่ทุจริตของประเทศไทยเป็นอันดับที่ 102 ของโลก และเป็นอันดับ 5 ของอาเซียน เห็นว่าอย่างไร พบว่าอันดับหนึ่ง ร้อยละ 39.9 เห็นว่าเป็นภาพลักษณ์ที่แย่ รองลงมา ร้อยละ 34.2 เห็นว่าเป็นภาพลักษณ์ที่อยู่ในระดับพอใช้ ร้อยละ 19.6 เห็นว่าเป็นภาพลักษณ์ที่แย่มาก และอีกร้อยละ 6.3 เห็นว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดี ทั้งนี้ไม่มีใครตอบว่าเป็นภาพลักษณ์ที่ดีมาก
ด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างเกินครึ่งหรือร้อยละ 57.1 เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยเป็นเรื่องน่ารังเกียจแต่ต้องจำยอม รองลงมาร้อยละ 28.7 เห็นว่าเป็นเรื่องน่ารังเกียจและไม่จำยอม และอีกร้อยละ 14.2 เห็นว่าเป็นเรื่องปกติและรับได้
เมื่อสอบถามคิดเห็นเกี่ยวกับงบประมาณที่จะรั่วไหล เพราะการทุจริตคอร์รัปชั่น โดยถามว่าท่านคิดว่าโดยเฉลี่ยงบลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ 100 บาทจะรั่วไหลเพราะการทุจริตคอร์รัปชันประมาณกี่บาท กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 32.7 เห็นว่าจะรั่วไหลประมาณ 11-20 บาท รองลงมาร้อยละ 23.7 เห็นว่ามากกว่า 40 บาท ร้อยละ 21.0 เห็นว่าจะรั่วไหลประมาณ 21-30 บาท ร้อยละ 17.6 เห็นว่าจะรั่วไหลประมาณ 31-40 บาท และอีกร้อยละ 5.0 เห็นว่าจะรั่วไหลน้อยกว่า 10 บาท นั่นคือ กลุ่มตัวอย่างคนอีสานร้อยละ 62.3 เชื่อว่างบลงทุนและการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐจะมีการรั่วไหลมากกว่า 20%
ส่วนความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นควรเป็นวาระแห่งชาติหรือไม่ ผลการสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 77.1 เห็นว่าควรเป็นวาระแห่งชาติ ส่วนอีกร้อยละ 22.9 เห็นว่าไม่ควรเพราะมีปัญหาอื่นที่ต้องแก้ก่อน ส่วนการประเมินว่าประเทศไทยจะปฏิรูปแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นให้เบาบางลงได้หรือไม่
กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 37.5 เห็นว่าไม่ได้แน่นอน รองลงมาร้อยละ 35.7 เห็นว่าได้แต่ต้องใช้เวลานานกว่า 10 ปี ร้อยละ 20.6 เห็นว่าได้แต่ต้องใช้เวลานาน 5-10 ปี และอีกร้อยละ 6.1 เห็นว่าได้และใช้เวลาภายใน 5 ปี .
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น