เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 3 พ.ย.2557 นายโทนี่ แบลร์ อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร(อังกฤษ) ได้เข้าเยี่ยมคาราวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) โดยใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง
จากนั้นร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า หลังการกล่าวต้อนรับนายกรัฐมนตรีได้ใช้โอกาสการพบปะครั้งนี้อธิบายถึงสถานการณ์ของประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมาว่าปัญหาในขณะนี้คือเรื่องของการปฏิรูป และการสร้างความปรองดองในประเทศ เป็นสิ่งที่อยู่ระหว่างการดำเนินการของรัฐบาล ซึ่งปัญหาความขัดแย้งของไทยกินระยะเวลานานกว่าสิบปี และเป็นปัญหาที่สลับซับซ้อนและนายกรัฐมนตรีได้กล่าวชื่นชมนายโทนี่ แบลร์ ในความสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เหนือ โดยใช้แนวทางการใช้ปัญหาที่สร้างสรรค์ รวมทั้งได้เคยให้ข้อคิดกับประเทศไทย ในช่วงที่ผ่านมา
โดยพล.อ.ประยุทธ์ ได้ยืนยันว่ารัฐบาลไทยพร้อมส่งเสริมประชาธิปไตยที่มีความยั่งยืน ไม่ได้มองข้ามหลักการสำคัญของประชาธิปไตย เพียงแต่ขณะนี้เราแก้ไขปัญหาที่ทำให้ประเทศติดขัด ที้งทางเศรษฐกิจ การบริหารราชการแผ่นดิน ความขัดแย้งของประชาชน รวมทั้งข้อติดขัดทางด้านกฎหมายและกติกาต่าง ๆ ซึ่งคสช.และรัฐบาล จำเป็นต้องเข้ามาดำเนินการแก้ไข ซึ่งขณะนี้ระบบบริหารราชแผ่นดินก็เป็นปกติตามระบบบริหารงาน สามารถผลักดันกลไกราชการให้ทำงานได้อย่างเต็มที่ ในช่วงที่เกิดปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมาทำให้ การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินติดขัด ขณะนี้ก็สามารถผลักดันให้การใช้จ่ายงบประมาณเดินหน้าต่อไปได้ โดยแผนงบประมาณการใช้จ่ายปี 2558 มีความเรียบร้อย
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวอีกว่า พล.อ.ประยุทธธ์ ยังชี้แจงถึงการพบปะนักธุรกิจประเทศต่าง ๆ โดยได้อธิบายถึงแนวทางของรัฐบาล ซึ่งไม่เป็นประโยชน์สำหรับประเทศเท่านั้น แต่เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงาน และส่งเสริมการค้าการลงทุนของมิตรประเทศให้เป็นไปตามพันธะสัญญาต่าง ๆ สำหรับแนวทางการปฏิรูป 11 ด้าน รัฐบาลได้เร่งดำเนินการแม้มีเวลาจำกัด โดยเน้นเรื่องของการรักษาความสงบไม่ให้มีการใช้อาวุธสงคราม ระหว่างมวลชนสองฝ่าย เน้นในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน และการปฏิรูปโดยรวมของประเทศ ซึ่งรัฐบาลไทยยินดีรับฟังความคิดเห็น คำแนะนำจากนายโทนี่ แบลร์ และมิตรประเทศ
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นายโทนี่ แบลร์ ได้กล่าวขอบคุณในการต้อนรับที่อบอุ่น พร้อมระบุว่าเข้าใจปัญหาของประเทศไทยที่กำลังเผชิญอยู่ ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องติดชะงักในการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน รวมทั้งปัญหาด้านเศรษฐกิจ มีประชาชนออกมาประท้วงบนท้องถนน เกิดปัญหาในเรื่องความไม่มั่นคง โดยระบุว่า การเมืองของประเทศไทยไม่เหมือนกับประเทศอื่น ๆ ซึ่งเคยศึกษาปัญหาของประเทศไทยมาพบว่ามีความแตกแยกภายในประเทศ ซึ่งประชาคมโลกเองก็ต้องการให้ประเทศไทยเดินหน้าในเรื่องของการเลือกตั้งในปี 2015 และยึดมั่นในเรื่องของสิทธิมนุษยชน โดยนายโทนี่ แบลร์ ฝากว่า อยากจะให้ประเทศไทยแก้ไขในสิ่งที่เป็นอุปสรรคทางด้านเศรษฐกิจ เพื่อให้ประเทศเดินหน้า พยายามคืนสู่กระบวนการประชาธิปไตยโดยเร็ว
“นายโทนี่ แบลร์ เข้าใจดีว่าปัญหาของประเทศไทยมีความสลับซับซ้อนมาก อยากให้รัฐบาลไทยได้อธิบาย ให้ประเทศอื่นๆได้เข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และมองปัญหาที่เกิดขึ้นของประเทศไทยออกเป็นสองด้าน ด้านหนึ่งคือปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมกับปัญหาในเชิงการเมือง และกระบวนการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายโทนี่ แบลร์มองว่าปัญหาเศรษฐกิจและสังคม เป็นสิ่งสำคัญที่ประเทศไทย ควรเร่งผลักดันคือการเดินหน้าเศรษฐกิจซึ่งรัฐบาลปัจจุบันมีศักยภาพ ที่จะผลักดันเรื่องนี้ได้ ทั้งเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องธุรกิจ การศึกษา การสาธารณะสุข เกษตร ซึ่งนายโทนี่ แบลร์ สนับสนุนให้รัฐบาลไทยทำงานอย่างเต็มที่ เพราะมีศักยภาพในด้านนี้อยู่แล้ว ส่วนปัญหาด้านการเมือง และกระบวนการทางกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้น นายโทนี่ แบลร์ ต้องการให้รัฐบาลไทย ชี้แจงกับนานาประเทศถึงขั้นตอนในการดำเนินการที่กำลังเดินหน้าอยู่ และเน้นย้ำว่าต้องให้ทราบว่าสถานการณ์มีความสลับซับซ้อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจ ในเวทีสากล และนำไปสู่ขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งนายโทนี่ แบลร์ ก็เข้าใจปัญหาในจุดดังกล่าว” ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าว
ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ในช่วงท้ายพล.อ.ประยุทธ์ ได้พูดคุยกับนายโทนี่ แบลร์ว่าต้องการที่จะมีช่องทางในการประสานติดต่อกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายโทนี่ แบลร์ โดยผ่านพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ซึ่งอาจจะมีคำแนะนำต่าง ๆ เพิ่มเติม จากประสบการณ์
กกต. เผย5พรรคการเมืองยอดสมาชิกตก เพื่อไทยร่วงอันดับ 1
นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. เปิดเผยถึงการดำเนินการของพรรคการเมือง ว่า ปัจจุบันพรรคการเมืองที่ยังดำเนินการอยู่ มี 74 พรรค โดยไตรมาสที่ 3 ระหว่างเดือนก.ค. - ก.ย. 2557 ที่ผ่านมา มีพรรคการเมือง แจ้งจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองที่ลดลง จำนวน 31 พรรค รวม 253 ราย โดยพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกลดลง 5 ลำดับแรก ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ลดลง 52 ราย พรรคมหาชนลดลง 48 ราย พรรคประชาธิปัตย์ ลดลง 43 ราย พรรคภูมิใจไทยลดลง 22 ราย และพรรคชาติพัฒนา ลดลง 11 ราย ส่งผลให้พรรคการเมืองทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวน 5,141,553 ราย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น