กลายเป็นระเบิดเวลาลูกใหม่ ภายหลังมีการจัดตั้ง "นิคมอุตสาหกรรมฮาลาล" บนพื้นที่กว่า 800 ไร่ ที่บ้านห้วยโจ้ ต.ดอยหล่อ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ชาวบ้าน ต่างออกมารวมตัวกับนับพันคนเพื่อแสดงพลังคัดค้านขอให้ยุติโครงการ เนื่องจากเกรงจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและพื้นที่ทำมาหากินของชาวบ้านที่ได้ยึดอาชีพเกษตรกรรมเลี้ยงชีพมายาวนาน
ยิ่งที่ผ่านมาการทำงานของภาครัฐที่ไม่มีการชี้แจงถึงกระบวนการทำงานให้ได้รับทราบ เสมือนการปิดหูปิดตาชาวบ้าน ทำให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านกว่า 100 ราย คืนบัตรประจำตัวข้าราชการเพื่อแสดงจุดยืน ขอหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการชั่วคราว จนกว่าจะได้รับการตัดสินว่าจะยกเลิกการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล
นายสุทิน สุรินต๊ะ กำนันตำบลดอยหล่อ กล่าวว่า พื้นที่ อ.ดอยหล่อ 4 ตำบล 56 หมู่บ้าน เป็นพื้นที่ทำการเกษตรมาโดยตลอด ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาภายหน้าเมื่อมีการตั้งนิคมอุตสาหกรรม แน่นอนต้องมีการแย่งการใช้น้ำจากพื้นที่เกษตกรรมของชาวบ้านและผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ทำให้ชาวบ้านได้ร้องเรียนความเดือดร้อนมายังชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อจะขอคัดค้านการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล รวมถึงอุตสาหกรรมททุกชนิดด้วย
"ชาวบ้านได้รับบทเรียนความเดือดร้อนจากโรงงานอุตสาหกรรมลำไยที่มีอยู่ก่อนหน้านี้ เพราะอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่ได้ช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่แต่อย่างใด โดยรับซื้อลำไยจากพื้นที่จังหวัดอื่น ทำให้บรรดาชาวบ้านเกรงว่านิคมอุตสาหกรรมฮาลาลก็จะมาสร้างผลกระทบขึ้นอีก" กำนันตำบลดอยหล่อ เล่าถึงบทเรียนเมื่อครั้งอดีตของชาวบ้าน
ที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ได้ลงพื้นที่สำรวจการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล แต่กลับไม่มีการชี้แจงต่อชาวบ้านที่อยู่อาศัยในพื้นที่แต่อย่างใด ทำให้ชาวบ้านและกำนันผู้ใหญ่บ้าน เปรียบเสมือนถูกปิดหูปิดตาเพื่อไม่ให้รับรู้รายละเอียดของโครงการ การรวมตัวเพื่อให้ยุติการก่อสร้างในครั้งนี้ ทางบรรดากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ในพื้นที่ อ.ดอยหล่อ กว่า 100 คน ได้คืนบัตรประจำตัวข้าราชการแก่นายชนะ แพ่งพิบูลย์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อขอหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทางราชการชั่วคราว โดยจะไม่ช่วยเหลืองานราชการใดๆ จนกว่าจะได้รับการตัดสินว่าจะยกเลิกการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล อย่างไรก็ตาม จะปฏิบัติหน้าที่เพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ต่อไป และหากไม่ได้ข้อยุติประชาชน อ.ดอยหล่อ จะแสดงจุดยืนคัดค้านด้วยการคืนบัตรประจำตัวประชาชนด้วย
นายแสงจันทร์ พรหมมะเสน ชาวบ้านอำเภอดอยหล่อ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยที่จะก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล บนพื้นที่กว่า 800 ไร่นี้ เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ตนและชาวบ้านในพื้นที่ได้เก็บเห็ด เก็บผัก ตลอดปีเพื่อทำมาหากินเลี้ยงชีพมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษแล้ว อีกทั้งรู้สึกเสียใจที่บรรดาผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทางภาครัฐละเลย ไม่ใส่ใจความเป็นอยู่ของประชาชนที่จะมีความเดือดร้อนทุกข์ยากจากการก่อสร้างดังกล่าว
เช่นเดียวกับ นายสมบูรณ์ ใจอารี ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 7 ต.ดอยหล่อ กล่าวว่า พื้นที่ก่อสร้างมีลักษณะเป็นพื้นที่สูงที่น้ำจะไหลลงสู่บริเวณพื้นที่ต่ำ ทำให้บริเวณโดยรอบที่เป็นเขตชุมชนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวทางชมรมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ได้ดำเนินการกับกรมธนารักษ์เพื่อขอเช่าพื้นที่นี้ให้เกษตรกรใช้เป็นพื้นที่ทำมาหากินแต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ แต่กลับจะให้ก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลแทน ซึ่งจะมีปัญหาตามมาในอนาคตอย่างแน่นอน ทำให้บรรดาชาวบ้านจะขอต่อสู้ให้ถึงที่สุดเพื่อขอยุติการก่อสร้าง
ขณะที่ นายสุข คำหมื่นยอง ชาวบ้านอำเภอดอยหล่ออีกราย กล่าวว่า ชาวบ้านอำเภอดอยหล่อ ไม่พอใจที่ไม่มีการแจ้งเรื่องให้ประชาชนในพื้นที่ได้ทราบล่วงหน้าว่าจะสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ไม่ได้สอบถามถึงความต้องการของชาวบ้านว่าต้องการหรือไม่ ซึ่งแน่นอนชาวบ้านทุกคนไม่มีความต้องการที่จะให้เกิดโรงงานอุตสาหกรรมขึ้น หากเกิดขึ้นจริงรับรองได้ว่าส่งผลกระทบต่อคนในพื้นที่ และหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการบอกกล่าวชาวบ้านว่าจะทำประชาพิจารณ์ก่อน เหตุการณ์รวมตัวกันคัดค้านของชาวบ้านในครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น
ด้าน นายสุริยะ ประสาทบัณฑิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงการรวมตัวคัดค้านนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลของชาวดอยหล่อ โดยยอมรับผิดในข้อบกพร่องเรื่องการประสานงานของทางอำเภอที่ไม่ได้แจ้งให้ชาวบ้านในพื้นที่ทราบล่วงหน้า จึงทำให้เกิดการเข้าใจผิดกัน แต่ความจริงแล้วการลงพื้นที่เป็นเพียงการตรวจสอบเพื่อเตรียมการในด้านกฎหมายที่ดินของกรมธนารักษ์ ที่ทางสำนักงานอิสลามจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีการขอเช่าพื้นที่เท่านั้น
ตอนนี้ได้ชี้แจงกับตัวแทนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้รับทราบถึงกระบวนการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบเท่านั้น และยังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบผังเมืองเดิมที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมหรือพื้นที่สีเขียวให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหรือพื้นที่สีม่วง หากผ่านการตรวจสอบปรับเปลี่ยนผังเมืองแล้วก็จะอยู่ในขั้นตอนการประกาศผังเมืองภายในเดือนเมษายน ซึ่งขั้นตอนนี้ชาวบ้านจะได้แสดงความคิดเห็น ถ้าประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่สามารถที่จะปรับเปลี่ยนผังเมืองได้ รวมถึงได้ชี้แจงถึงประโยชน์ของนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลว่าจะมีประโยชน์หรือผลเสียมากน้อยเพียงใด ซึ่งตัวแทนชาวบ้านก็ได้รับทราบและเข้าใจแล้ว
"การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล ที่ต้องใช้เงินทุนหลายร้อยล้านบาท ซึ่งจะเป็นโครงการที่ค่อนข้างใหญ่ จำเป็นจะต้องทำประชาคมเพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ เพราะหากคนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ก็จะไม่มีการก่อสร้างเกิดขึ้นและก็เป็นไปไม่ได้ที่จะใช้อำนาจรัฐเพื่อบังคับประชาชนให้ยอมรับเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมจะต้องอยู่กับชาวบ้านในพื้นที่ไปอีกยาวนาน" ผู้ว่าฯ เชียงใหม่ กล่าว
ส่วนความเห็นจากภาคธุรกิจ นางวิภาวัลย์ วรพุฒิพงษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า การสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาลที่ภาคเหนือ เป็นแนวคิดจากทางสำนักจุฬาราชมนตรี ศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ ในเบื้องต้นได้ปรึกษาพูดคุยกันในเรื่องสินค้าฮาลาล เนื่องจากเป็นสินค้าที่อยู่ในความต้องการของผู้บริโภคเกือบทั่วทุกมุมโลก ทำให้หน่วยงานดังกล่าวได้มีการผลักดันขับเคลื่อนในเรื่องของสินค้าฮาลาลอยู่ตลอด โดยระยะเวลาที่ผ่านมาพบว่าความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการสินค้าฮาลาลมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
ทั้งนี้ สำนักจุฬาราชมนตรีได้มอบหมายให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้แทนดำเนินการขอเช่าพื้นที่ของกรมธนารักษ์ ที่เป็นพื้นที่ราชพัสดุประมาณ 800 ไร่ ที่ อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ ขณะนี้อยู่ในช่วงการพิจารณาของกรมธนารักษ์ว่าจะสามารถให้คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดเชียงใหม่ได้เช่าพื้นที่หรือไม่ โดยหลังจากที่กรมธนารักษ์พิจารณาเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นขั้นตอนที่กรมธนารักษ์จะต้องประสานงานกับทางคณะทำงานให้ลงพื้นที่เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ โดยจะทำประชาพิจารณ์
อย่างไรก็ดี ถ้าการทำประชาพิจารณ์ผ่าน ก็จะต้องดำเนินการอีกหลายขั้นตอน ตั้งแต่การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) พร้อมทั้งมีการนำเสนอรูปแบบแปลนการก่อสร้างที่ถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงอุตสาหกรรมที่จะต้องมีการบำบัดน้ำเสียทำให้เป็นโรงงานสีเขียว โดยโรงงานที่จะเกิดขึ้นจะเป็นโรงงานขนาดเล็กสำหรับบรรจุอาหารและแปรรูปอาหาร ซึ่งจะไม่มีโรงงานที่เป็นมลพิษอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และในส่วนของพื้นที่โรงงานจะเป็นเฉพาะโรงงานขนาดเล็กเท่านั้น ขนาดประมาณอาคารพาณิชย์หนึ่งคูหา อีกทั้งภายในบริเวณโรงงานจะไม่มีที่พักอาศัย ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่เดินทางเข้ามาทำงาน แล้วเมื่อเลิกงานก็กลับไปยังที่พักอาศัย ทำให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ยังคงดำเนินไปตามเดิม
สำหรับสินค้าฮาลาล ไม่ได้มีเฉพาะในส่วนของสินค้าอาหาร แต่จะรวมถึงสินค้าทางด้านสุขภาพและการท่องเที่ยวอีกด้วย หากโครงการนี้เกิดขึ้นจริง คาดว่าจะเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และ จ.เชียงใหม่ เป็นจำนวนมาก เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคสินค้าฮาลาลไม่ได้มีเพียงกลุ่มเดียวแต่อยู่ในกลุ่มของผู้บริโภคทั่วไปที่มีจำนวนมากทั่วโลก
"ขอให้ชาวบ้านอำเภอดอยหล่อ อย่าเพิ่งตระหนกตกใจ สาเหตุที่ยังไม่ได้เข้าไปทำประชาพิจารณ์ เพราะว่ายังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการของกรมธนารักษ์ ซึ่งยังไม่ได้อนุมัติให้เข้าไปในพื้นที่ แต่หากเมื่อผ่านขั้นตอนตรวจสอบของกรมธนารักษ์ ทางคณะทำงานก็จะเข้าไปยังพื้นที่เพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้เข้าใจและรับทราบโดยทั่วกัน" นางวิภาวัลย์ กล่าว
เสียงคัดค้านของบรรดาชาวบ้านในพื้นที่ต่อการสร้างนิคมอุตสาหกรรมฮาลาล และความไม่พอใจกับการทำงานของภาครัฐ คาดว่าจะไม่ยุติลงเพียงเท่านี้ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงแล้วก็ตาม
ความหวั่นกังวลของบรรดาชาวบ้านที่มีต่อผลกระทบสิ่งแวดล้อม-วิถีชีวิต รวมถึงวิตกต่ออาชีพเกษตรกรรมที่ใช้เลี้ยงชีพและครอบครัวมาโดยตลอด จึงพร้อมใจกันต่อสู้ให้ถึงที่สุด และต้องรอดูบทสรุปต่อไปว่า อ.ดอยหล่อ บนทางสองแพร่งจะก้าวไปในทิศทางไหน !
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น