วันที่ 17 มี.ค.59 เมื่อเวลา 08.00 น. พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการให้อำนาจ ส.ว.สรรหา ว่า ตนขอยืนยันว่า ส.ว.สรรหาจะไม่มีอำนาจพิเศษใดๆ เพียงแต่ ส.ว.สรรหาอำนาจปกติในแง่กฎหมาย เพราะจะได้พูดคุยกันได้ อีกทั้งจะเน้นไปในการปฏิรูป และการปฏิบัติเป็นให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามดำริของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. และไม่มีอำนาจเลือกนายกฯ เพราะอยู่ในกรอบยุทธศาสตร์ชาติเป็นหลัก
เมื่อถามว่าข้อเสนอที่ให้ ส.ว.สรรหาสามารถอถิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล จะเป็นการเพิ่มอำนาจ หรือไม่ พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนยังไม่รู้ ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร และยังไม่อยากพูดก่อน เพราะไม่รู้ว่าทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)จะพิจารณาออกมาเป็นแบบใด ทั้งนี้ตนพูดไปหลายครั้งว่าเราจะเน้นการปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติเท่านั้น จะเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้ และก็ไม่ได้มีนัยยะอะไรเลย
เมื่อถามย้ำว่า ข้อเสนอดังกล่าวดูเหมือนว่า ส.ว.สรรหาจะมีอำนาจควบคุมอำนาจฝ่ายบริหาร มากเกินไป พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะ อำนาจฝ่ายบริหาร กับอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องแยกกันเด็ดขาด และต้องเป็นตามหลักการถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน ซึ่งต่างฝ่ายต่างตรวจสอบกัน เช่นฝ่ายนิติบัญญัติตรวจสอบฝ่ายบริหาร และฝ่ายบริหารตรวจฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นต้น
“ผมไม่กังวลว่าข้อเสนอ ส.ว.สรรหาจะเป็นสาเหตุทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ผ่านประชามติ ซึ่งผมเชื่อว่าทาง กรธ.จะไม่ถอดใจหรอก เพราะถ้าพวกเขาจะถอดใจออกไปก็ตายซิ” พล.อ.ประวิตร กล่าว
“อุเทน”รับไม่ได้“ส.ว.ลากตั้ง”มีอำนาจเหนือคน
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวถึงกรณีข้อเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ส่งถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ว่า เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนว่า คสช.และองคาพยพ ไม่สนใจที่จะรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนอื่นตามที่ได้พูดไว้ เพราะที่ผ่านได้มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่ายให้ กรธ.ปรับแก้เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในหลายๆประเด็น เพื่อให้เกิดการยอมรับมากขึ้น แต่ คสช.ที่ครั้งนี้อ้างชื่อแม่น้ำ 4 สายกลับเสนอปรับแก้ในเรื่องที่ไม่ได้รับการยอมรับให้หนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะที่มาของ ส.ว.ให้มาจากการแต่งตั้งทั้ง 250 คน แต่กลับมีอำนาจในการร่วมถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ ตรงนี้มองได้ว่า คสช.ไม่ได้คำนึงถึงข้อห่วงใยของฝ่ายต่างๆเลย ขอถามว่า มีประเทศไหนในโลกที่ให้อำนาจ ส.ว.ที่แต่งตั้งโดยคนเพียงไม่กี่คน มามีอำนาจเหนือคนที่ประชาชนทั้งประเทศเลือกมาบ้าง
นายอุเทน กล่าวต่อว่า ขณะนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าจะวิพากษ์วิจารณ์หรือคัดค้านด้วยเหตุด้วยผลอย่างไร คสช.และองคาพยพคงไม่รับฟัง เหมือนมีธงที่ตั้งไว้แล้ว โดยใช้ข้ออ้างแบบเดิมๆ อะไรที่ไม่เป็นไปตามรูปแบบประชาธิปไตยสากล คสช.ก็จะท่องคาถาว่า ทำเพื่อความมั่นคงและความสงบเรียบร้อยของประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ให้ย้อนกลับไปก่อนวันที่ 22 พ.ค.57 เหมือนกับหลายๆเรื่องที่มีเสียงคัดค้านจากสังคม ถือเป็นการสร้างมายาคติให้ประชาชนเกิดความกลัวว่า หากไม่ทำตาม คสช. ประเทศจะยุ่งเหยิงอีก ทั้งที่ข้อเสนอของ คสช.เองสร้างความขัดแย้งมากกว่าด้วยซ้ำ ตรงนี้เปรียบเสมือนการจับประชาชนเป็นตัวประกัน ตลอดจนวางยาประเทศให้เกิดวิกฤตขึ้นในอนาคต ที่สำคัญไม่ว่ามองมุมไหนก็เห็นว่าเป็นการสืบทอดอำนาจทั้งสิ้น หากต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป ก็อยากให้ คสช.บอกกับประชาชนตรงๆมากกว่าพยายามวางกลไกให้เกิดความขัดแย้งแบบนี้ หาก คสช.ไม่ฟังเสียงท้วงติง และคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญออกมาแบบนี้ดีแล้ว ก็น่าจะประกาศใช้ร่างรัฐธรรมนูญได้เลย ไม่ต้องทำประชามติให้เสียเวลา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น