การประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สอศ. ครั้งที่ 3/2558
จังหวัดปทุมธานี – พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 เรื่อง "การพัฒนาคุณภาพการจัดการอาชีวศึกษาสู่โลกอาชีพ" และบรรยายพิเศษ “นโยบายทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ” โดยมี ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ผู้บริหาร สอศ. และผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สอศ.เข้าร่วมกว่า 600 คน เมื่อวันพุธที่ 27 พฤษภาคม 2558 ที่วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การประชุมในวันนี้มีความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สอศ.เป็นอย่างมาก นโยบายรัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจและระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่ (Mega Projects)เช่น ระบบขนส่งทางรางที่อยู่ระหว่างดำเนินการ และระบบบริหารจัดการน้ำ้ ระบบกำจัดขยะ เศรษฐกิจดิจิทัล ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งในช่วงปลายปี 2558 ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบ เมื่อเปิดประชาคมอาเซียนแล้ว เรื่องของการเคลื่อนย้ายแรงงาน เศรษฐกิจ และการค้าจะกระจายตัวไปทั่วภูมิภาคอย่างแน่นอน ทุกเรื่องที่กล่าวมาจำเป็นจะต้องใช้บุคลากรหรือแรงงานที่มีฝีมือ จึงต้องมีการเตรียมกำลังคนเพื่อรองรับงาน รวมทั้งการผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ มีทักษะที่เหมาะสมกับความต้องการของตลาดแรงงาน เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ
หัวใจสำคัญของการอาชีวศึกษาคือ การมองถึงความต้องการบุคลากรหรือแรงงานระดับฝีมือด้านต่างๆ และส่วนสนับสนุน โดยผ่านกระบวนการจัดหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่น มีความหลากหลาย เนื่องจากสถานศึกษาสังกัด สอศ. มีจำนวนมาก และมุ่งเน้นการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ ด้วยการขยายความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ให้ภาคเอกชนและสถานประกอบการเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ตั้งแต่การกำหนดความต้องการ การออกแบบหลักสูตร การสนับสนุนบุคลากร การฝึกงาน การพัฒนาระบบแรงจูงใจ ค่าตอบแทน โดย สอศ.มีฐานะเป็นผู้ผลิตบุคลากรป้อนสู่ตลาดแรงงาน และผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงคือภาคเอกชน ภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการ หากสถานประกอบการได้แรงงานที่มีความสามารถและมีคุณภาพตรงกับความต้องการก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
ในการพัฒนาการจัดการอาชีวศึกษา การเพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีวศึกษา การปรับภาพลักษณ์ การขยายความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการสร้างโอกาสใหม่ให้กับการอาชีวศึกษาของไทย บุคลากรในสังกัด สอศ.จะต้องร่วมกันคิดและดำเนินการอย่างทุ่มเท ซึ่งที่ผ่านมาได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากทุกหน่วยงานจนมีผลงานตามปรากฎและมีความก้าวหน้า ทำชื่อเสียงให้สังคมได้รับรู้ถึงการดำเนินการดังกล่าว
สำหรับช่วงเวลาต่อจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปทั้งระบบ รวมถึงเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับ สอศ. ได้แก่ โครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ (Technician & Technologist Scholarship : 2TS) เดิมเป็นทุนของโครงการ 1 อำเภอ 1 ทุน (One District One Scholarship : ODOS) ซึ่งเป็นทุนการศึกษาสำหรับผู้เรียนสายอาชีพ เป็นโครงการระยะยาว 15 ปี (พ.ศ. 2558-2572) รวมทั้งสิ้น 11,500 ทุน จำแนกเป็นทุนในประเทศ จำนวน 3,500 ทุน และทุนต่างประเทศ จำนวน 8,000 ทุน โดยใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 30,300 ล้านบาท เมื่อผู้เรียนสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้กลับมาทำงานที่ตรงกับสาขาที่เรียนให้กับรัฐบาล และส่วนหนึ่งจะกลับมาเป็นครูช่างในสายอาชีวศึกษา เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ได้รับมาไปสู่ผู้เรียนต่อไป
โครงการคุรุทายาท เป็นโครงการผลิตครูของกระทรวงศึกษาธิการที่เคยดำเนินการมาในอดีตเพื่อตอบสนองการผลิตครูในพื้นที่ทุรกันดารและพื้นที่ที่ขาดแคลนครูได้ดี แต่ถูกยกเลิกไปในภายหลัง เมื่อครูในระบบการศึกษาของรัฐจะเกษียณออกไปเป็นจำนวนมาก การจะหาครูมาทดแทนจะต้องมีระบบเพื่อให้ได้ครูที่มีคุณภาพ มีจรรยาบรรณ มีใจรักการเป็นครู โครงการดังกล่าวจะเป็นการคัดเลือกเด็กที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารและขาดแคลนครูในสาขาวิชาหลักที่มีความรู้และความตั้งใจที่จะเป็นครู โดยเป็นโครงการระยะยาว 15 ปีเช่นเดียวกับโครงการทุนช่างเทคนิคและบัณฑิตนักปฏิบัติ ทั้งนี้ มีการคาดหมายว่าจะสามารถผลิตครูสายอาชีพได้มากกว่า 14,000 คน
การขออนุมัติกรอบอัตรากำลังพนักงานราชการ สังกัด สอศ. เพื่อลดปัญหาการขาดแคลนอัตรากำลังผู้ทำหน้าที่สอนและผู้สนับสนุน ในเบื้องต้นจะพิจารณาเฉพาะสถานศึกษาที่ขาดแคลนอัตรากำลังในส่วนของผู้ทำหน้าที่สอน จำนวน 5,677 อัตรา และผู้สนับสนุน จำนวน 1,778 อัตรา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการบริหารพนักงานราชการ (คพร.)
โครงการเรียนร่วมหลักสูตรอาชีวศึกษาและมัธยมศึกษาตอนปลาย หรือ “ทวิศึกษา” สำหรับนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระัดับมัธยมศึกษาตอนปลายและต้องการเรียนสายอาชีพควบคู่ไปด้วย โครงการดังกล่าวมีที่มาจากการสำรวจทางสถิติว่า มีนักเรียนสายสามัญ โดยเฉพาะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 ออกจากระบบการศึกษามากกว่าร้อยละ 50 เมื่อนักเรียนกลุ่มดังกล่าวไปทำงานก็กลายเป็นแรงงานที่ไม่มีความรู้หรือทักษะทางวิชาชีพ ทำให้ได้รับค่าตอบแทนต่ำ รายได้น้อย ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการจึงต้องการติดอาวุธความรู้ทางสายอาชีพให้กับนักเรียนสายสามัญ ด้วยการให้โรงเรียนสายสามัญจับมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษา จับคู่สนับสนุนการเรียนการสอนกัน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ด้านอาชีพควบคู่กับความรู้ในสายสามัญ และจะได้รับประกาศนียบัตรทั้งสองสาย
ปัจจุบันได้มีการดำเนินโครงการทวิศึกษาอยู่แล้วแต่จะขยายโครงการให้มากขึ้น เนื่องจากมีนักเรียนสนใจสมัครโครงการดังกล่าวมากเกินความคาดหมาย ถือว่าประสบความสำเร็จในเบื้องต้น เพราะนักเรียนเห็นความสำคัญและความจำเป็นของการมีอาชีพติดตัวเพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพในตัวเอง
การสนับสนุนอุปกรณ์การเรียนของนักเรียนอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับค่าใช้จ่ายจริงและเป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครอง โดย ครม.ได้อนุมัติการจัดสรรงบประมาณในการจัดหาเครื่องมือประจำตัวต่อคนให้แก่ผู้เรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2557 และได้มอบหมายให้สถานศึกษาเป็นผู้จัดซื้ออุปกรณ์ดังกล่าวให้นักเรียนตามระเบียบพัสดุตลอด 3 ปีในระดับ ปวช.
การฝึกอบรมหลักสูตรเตรียมความพร้อมอาชีวศึกษา (Pre.Voc.Ed) ได้ดำเนินการมาแล้ว 2 รุ่น ได้แก่ รุ่นที่ 1 ระหว่างเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2557 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากสถานศึกษา สังกัด สอศ.จำนวน 3 แห่ง รวมทั้งสิ้น 79 คน และรุ่นที่ 2 ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2558 มีผู้เข้ารับการฝึกอบรมจากสถานศึกษา สังกัด สอศ. จำนวน 9 แห่ง และสังกัด สช. จำนวน 1 แห่ง รวมทั้งสิ้น 482 คน
โครงการดังกล่าวมีผลตอบรับที่ดีมาก ทั้งผู้เข้ารับการอบรมและผู้บริหารสถานศึกษาที่ส่งนักศึกษาเข้ารับการอบรม เนื่องจากเห็นว่านักศึกษามีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นภายหลังเข้ารับการอบรม เช่น มีระเบียบวินัย มีความรักความสามัคคี และการปฏิบัติตัวดี หากดำเนินการได้ผลดีอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะช่วยลดปัญหาความรุนแรง การทะเลาะเบาะแว้ง นอกจากนี้ มีเป้าประสงค์ของการจัดโครงการฯ คือ ต้องการนำนักเรียนนักศึกษาจากสถานศึกษาที่มีปัญหากันอยู่แล้วมาเข้ารับการอบรมตั้งแต่ก่อนเข้าศึกษา เพื่อให้มาทำความรู้จัก มาเป็นเพื่อนกันก่อนเข้าสู่สถานศึกษา โดยเชื่อว่าหากมีการขยายผลในปีต่อๆ ไป เป้าประสงค์ดังกล่าวก็จะประสบความสำเร็จได้
โครงการอาชีวะอาสา เป็นการนำนักเรียนนักศึกษามาเป็นอาสาสมัครช่วยเหลือประชาชนตามเทศกาล เช่น ปีใหม่ และสงกรานต์ เป็นต้น มีการตั้งเต็นท์ตามถนนสายหลักทั่วประเทศ 250 จุดบริการ โดยได้รับความร่วมมือจากภาคเอกชนในการสนับสนุนอุปกรณ์ต่างๆ
สำหรับโครงการอาชีวะพัฒนา ซึ่งเริ่มดำเนินการเดือนเมษายน เป็นการนำคณะนักเรียนนักศึกษาไปซ่อมสร้างอาคารที่เกี่ยวกับการศึกษาในพื้นที่ต่างๆ เช่น โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน และโรงเรียนขยายโอกาส เป็นต้น โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ดีเพราะเป็นการนำนักเรียนนักศึกษาที่มีความรู้ออกไปหาประสบการณ์ในสถานที่จริง มีการปฏิบัติงานจริง ฝึกจิตใจให้เป็นจิตอาสา และมีความต้องการช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม
ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน “Fix it Center” สอศ.ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาหลายปีแล้ว โดยเป็นนำนักเรียนนักศึกษาด้านอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ตั้งจุดบริการซ่อมอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ จะมีการขอรับบริจาคอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่ใช้แล้วให้นักเรียนนักศึกษานำไปซ่อมแซมให้สามารถใช้งานได้ และจะนำไปบริจาคคืนให้กับประชาชนที่มีความต้องการใช้
โครงการขยายความร่วมมือกับภาคเอกชน เพื่อให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดอาชีวศึกษาร่วมกันกับ สอศ. โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาตามกลุ่มอาชีพ เพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการภาครัฐและเอกชน (กรอ.อศ.) จำนวน 25 กลุ่มอาชีพ รวมทั้งมีการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคี การจัดทำกรอบมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแห่งชาติและมาตรฐานคุณวุฒิอาชีวศึกษาแต่ละระดับ การหารือกับภาคเอกชนเกี่ยวกับการผลิตบุคลากรสายอาชีพ
โครงการที่กล่าวมาล้วนมีความสำคัญต่อการผลิตบุคลากรทั้งสิ้น เพื่อให้เยาวชนของชาติเป็นผู้มีศักยภาพ เป็นการติดอาวุธด้านความรู้และด้านอาชีพ เมื่อสำเร็จการศึกษาจะสามารถเอาตัวรอดในสังคมได้ มีงานทำ สามารถเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี ไม่เป็นภาระให้กับสังคม เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมให้มีความมั่นคง มั่งคั่้ง ยั่งยืน และเป็นบุคลากรที่มีคุณค่าตามที่ต้องการ
ในการนี้ ขอฝากให้ผู้บริหารสถานศึกษาช่วยกันดูแลและหาทางแก้ไขปัญหาที่ค้างคาอยู่ เช่น การรับนักเรียนนักศึกษาให้เปิดกว้างมากที่สุด การแสวงหาโอกาสร่วมมือกับภาคธุรกิจ ภาคเอกชนในพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดทำหลักสูตรให้ตรงกับความต้องการ เพราะแต่ละพื้นที่มีธุรกิจหรืออุตสาหกรรมแตกต่างกัน ความต้องการบุคลากรก็จะแตกต่างกัน การดูแลและหามาตรการช่วยเหลือนักเรียนนักศึกษาที่ประสบปัญหาต้องออกจากระบบการศึกษากลางคัน การดูแลและแก้ไขปัญหาการใช้ความรุนแรงในสถานศึกษาและการรับน้อง ปัญหาการทะเลาะวิวาท ปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา และการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางไปเรียนของนักเรียนนักศึกษา เป็นต้น
เชื่อว่าทุกฝ่ายมีความพยายามแก้ไขปัญหาข้างต้น ก็ขอให้กำลังใจและฝากให้ช่วยกันคิดวิธีหรือโครงการที่จะลดปัญหาดังกล่าว เพราะเมื่อเกิดปัญหาแล้วก็จะมีผลกระทบมาก หากมีความรุนแรงหรือการบาดเจ็บล้มตายเกิดขึ้นก็จะทำให้เสียภาพลักษณ์ ผู้ปกครองจะไม่ต้องการให้ลูกหลานเข้าศึกษาต่อในสายอาชีพ ตัวนักเรียนนักศึกษาก็กลัวโดนทำร้าย การเพิ่มจำนวนผู้เรียนสายอาชีพก็จะเกิดอุปสรรค ดังนั้นจะต้องแก้ไขปัญหาและปรับภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของการศึกษาในสายอาชีพให้ได้
ในส่วนของการบริหารจัดการอาชีวศึกษา ขอฝากให้ผู้บริหารเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามเป้าหมายด้วยความโปร่งใส และเป็นไปตามระเบียบแบบแผนที่ถูกต้องด้วย ในฐานะผู้บริหารสถานศึกษา ต้องพึงระลึกเสมอว่าท่านเป็นผู้นำ ผู้บริหารที่ราชการให้ความไว้วางใจ จึงต้องดำรงตนให้เป็นต้นแบบ เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับครู อาจารย์ บุคลากรในสถานศึกษา นักเรียนนักศึกษา และสังคม เพราะถือว่าเป็นผู้บริหารของสถาบันที่มีหน้าที่ผลิตคน หากเป็นแบบอย่างที่ไม่ดี ก็จะไม่มีความน่าเชื่อถือ หากเป็นผู้นำที่ดี มีความคิดกว้างไกล มีความทุ่มเทในการทำงาน เชื่อได้ว่าสถานศึกษาในความรับผิดชอบของท่านก็จะเจริญรุ่งเรือง ได้รับความไว้วางใจและความเชื่อมั่นจากผู้ปกครองในการส่งลูกหลานเข้ารับการศึกษา
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า การประชุมผู้บริหารสถานศึกษา สังกัด สอศ. ครั้งที่ 3 ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมร่วมกันวิเคราะห์แนวทางในการพัฒนาคุณภาพการจัดอาชีวศึกษาสู่โลกอาชีพ สร้างความตระหนักถึงคุณธรรมและจริยธรรมในการบริหารจัดการ และให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรงสมบูรณ์พร้อมสำหรับการปฏิบัติงาน โดยมีกำหนดจัดประชุมระหว่างวันที่27-29 พฤษภาคม 2558 สำหรับกิจกรรมสำคัญในการประชุมครั้งนี้ประกอบด้วย การบรรยายโดยวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน การฝึกปฏิบัติและการอภิปรายกลุ่มย่อยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น