วันที่ 22 พ.ย.58 เมื่อวันที่ เวลา 10.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น ที่ ห้อง Ballroom 1 ชั้น 3 ศูนย์การประชุม KLCC พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เข้าร่วมพิธีลงนามปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2015 (2015 Kuala Lumpur Declaration on the Establishment of the ASEAN Community) และ ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ. 2025: มุ่งหน้าไปด้วยกัน (Kuala Lumpur Declaration on the ASEAN 2025: Forging Ahead Together) ซึ่งภายหลังจากที่ผู้นำอาเซียนลงนามในเอกสาร ทั้ง 2 ฉบับ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียได้ส่งมอบเอกสารที่ลงนามแล้วให้แก่เลขาธิการอาเซียน
โดยพลตรี วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังว่าทั้งนี้ ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2015 (2015 Kuala Lumpur Declaration on the Establishment of the ASEAN Community) มีเป้าหมายสำคัญเพื่อประกาศการจัดตั้งประชาคมอาเซียนอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยกล่าวถึงพันธกรณีที่ระบุไว้ในเอกสารสำคัญต่าง ๆ อาทิ วิสัยทัศน์อาเซียน ค.ศ. 2020, ปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมือในอาเซียน ฉบับที่ 2, กฎบัตรอาเซียน, ปฏิญญาหัวหิน-ชะอำว่าด้วยแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ค.ศ. 2009-2015) ฯลฯ ปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยการจัดตั้งประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2015 ได้เน้นย้ำความมุ่งมั่นที่จะสร้างประชาคมอาเซียนที่ยึดมั่นในกฎกติกา เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยรวม มุ่งเน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง และทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมและได้รับผลประโยชน์อย่างทั่วถึง
สำหรับปฏิญญากรุงกัวลาลัมเปอร์ว่าด้วยอาเซียน ค.ศ. 2025: มุ่งหน้าไปด้วยกัน (Kuala Lumpur Declaration on the ASEAN 2025: Forging Ahead Together)มีสาระสำคัญระบุว่า ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนได้รับรองวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 และแผนงานประชาคมอาเซียนทั้ง 3 เสา ได้แก่ การเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน ค.ศ. 2025 ได้ระบุภาพรวมของอาเซียนในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะต้องมีการรวมตัวกันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ทั้งในด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมและวัฒนธรรม โดยประชาคมอาเซียนจะต้องเป็นประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา มองไปข้างหน้า และภาคส่วนต่าง ๆ มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนประชาคมและได้รับผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม อีกทั้งความพยายามในการสร้างประชาคมอาเซียนจะต้องสอดคล้องกับวาระด้านการพัฒนาของสหประชาชาติ ตามเอกสาร “2030 Agenda for Sustainable Development”ของสหประชาชาติ
สำหรับแผนงานประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน มีองค์ประกอบหลัก 4 ประการ ได้แก่ (1) การเป็นประชาคมที่อยู่บนพื้นฐานของกฎกติกา ยึดมั่นในบรรทัดฐานร่วมและกฎหมายระหว่างประเทศ และมุ่งเน้นให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง (2) การเป็นประชาคมที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาความมั่นคงทั้งในรูปแบบเดิมและรูปแบบใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การขยายตัวของแนวคิดหัวรุนแรงสุดโต่ง และปัญหาความมั่นคงทางทะเล เป็นต้น โดยยึดหลักการของความมั่นคงที่ครอบคลุมในทุกมิติ (comprehensive security) (3) การรักษาความเป็นแกนกลางของอาเซียนในโครงสร้างสถาปัตยกรรมของภูมิภาคและในการดำเนินความสัมพันธ์กับภาคีภายนอก รวมทั้งส่งเสริมบทบาทของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศ (4) การมีสถาบันและกลไกอาเซียน รวมถึงสำนักงานเลขาธิการอาเซียนที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นและการส่งเสริมให้อาเซียนเป็นที่รู้จักมากขึ้น
สำหรับแผนงานประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีองค์ประกอบหลัก 5 ประการ ได้แก่ (1) รวมตัวและเชื่อมโยงในระดับสูง ได้แก่ การเปิดเสรีสินค้า การค้าบริการ การเงิน และพัฒนาและรวมตัวตลาดทุนและการอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีฝีมือและนักธุรกิจ (2) สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน นวัตกรรม และพลวัต เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (3) สร้างความเชื่อมโยงด้านเศรษฐกิจ และขยายความร่วมมือและการรวมตัวรายสาขา ได้แก่ เกษตรและ ป่าไม้ การท่องเที่ยว สุขภาพ เหมืองแร่ โดยเน้นการบูรณาการด้านการขนส่งในภูมิภาค ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ (4) ครอบคลุมทุกภาคส่วนและมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง มุ่งสร้างความเข้มเข็งแก่ SMEs เพิ่มบทบาทของภาคเอกชน และลดช่องว่างด้านการพัฒนา (5) เป็นส่วนสำคัญของประชาคมโลก เน้นการดำเนินความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับภายนอกภูมิภาค และการมีส่วนร่วมในเชิงรุกในเวทีระดับภูมิภาค
แผนงานประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน มีองค์ประกอบหลัก 5 ประการ ได้แก่ (1) เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ มุ่งเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความรับผิดชอบทางสังคมของประชาชนอาเซียน (2) มีความครอบคลุม มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสอย่างเท่าเทียม และส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (3) มีความยั่งยืน มุ่งส่งเสริมการพัฒนาสังคมที่สมดุลและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการทั้งในปัจจุบันและอนาคตของประชาชนอาเซียน (4) มีภูมิคุ้มกันมุ่งยกระดับความสามารถในการปรับตัวและตอบสนองต่อความเสี่ยงทางสังคมและเศรษฐกิจ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (5) มีพลวัต มุ่งสร้างสรรค์ นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง และเป็นสมาชิกประชาคมโลกที่มีบทบาทสูง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น