ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 415/2558
ให้นโยบายอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การพบปะครั้งนี้เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังปัญหาความต้องการของอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศทั้ง 38 แห่ง พร้อมทั้งได้ให้นโยบายและแนวทางการจัดการอุดมศึกษาใน 6 ประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
การให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีความเป็นเลิศ เพื่อต้องการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏในแต่ละพื้นที่มีความโดดเด่นในสาขาวิชาที่ผลิตแตกต่างกันไป บางแห่งอาจจะเด่น 1-2 เรื่องก็ได้ และจะมีผลโดยตรงกับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน
การพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษแก่ผู้เรียน ภายใน 4 ปีนี้จะมีการประกาศกรอบมาตรฐานคุณวุฒิวิชาภาษาอังกฤษ ซึ่งนักศึกษาในระดับปริญญาตรีทุกคนจะต้องทำการทดสอบภาษาอังกฤษ เพื่อกำหนดผลสอบไว้ในใบรับรองผลการศึกษา (Transcript) แต่ไม่มีผลกับเกรดที่จะจบการศึกษา โดยรูปแบบการทดสอบภาษาอังกฤษจะเน้นการสอบใน 4 ทักษะ คือ ฟัง พูด อ่าน เขียน ซึ่งเทียบเคียงกับเกณฑ์ของ ก.พ.ที่ใช้ในปัจจุบัน เช่น TOEIC, IELTS, CU-TEP, TU-GET คือต้องได้คะแนนเท่ากับหรือมากกว่า 50% ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏทุกคนได้เข้ารับการทดสอบ โดยจะจัดงบประมาณสนับสนุน และขอให้อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เพื่อตั้งคณะทำงานพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์การทดสอบภาษาอังกฤษที่จะเริ่มประกาศใช้ในปีหน้าด้วย
การผลิตกำลังคนให้ตรงกับความต้องการ โดยขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏวางแผนผลิตผู้เรียนให้ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและทิศทางการพัฒนาประเทศ ทั้งตลาดในประเทศ พื้นที่ ท้องถิ่น และชุมชน รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านเมื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนด้วย
การปรับโครงสร้างการผลิต ทั้งในแง่การผลิตครูสายครุศาสตร์ รวมทั้งสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการผลิตผู้เรียนในสายทักษะวิชาชีพ ที่มีความแตกต่างกันในแต่ละแห่ง เช่น อุตสาหกรรมบริการ เทคโนโลยีอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การโรงแรม ฯลฯ
การส่งเสริมพัฒนาเทคนิคการสอน ขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏจัดทำคู่มือ/เทคนิค/ยุทธศาสตร์การสอน สำหรับครูผู้สอนในแต่ละวิชา เพื่อให้ครูผู้สอนในโรงเรียนประถม-มัธยมศึกษาใช้เป็นคู่มือแนวทาง (Manual) จัดการเรียนการสอนในชั้นเรียนได้ เช่น การเรียนการสอนในชั้นเรียนผ่าน DLTV ครูผู้สอนควรคุมห้องอย่างไร หรือมีเทคนิคการสอนเพิ่มเติมอย่างไร, การรู้จักจิตวิทยาของเด็กในแต่ละช่วงวัย เป็นต้น
นโยบายอื่นๆ ขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏมีส่วนร่วมต่อนโยบายอื่นๆ ของกระทรวงศึกษาธิการ เช่น
- การจัดการศึกษาตามพระราชกระแสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาว่า ให้ครูรักเด็ก เด็กรักครู, ให้ครูสอนเด็กให้มีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่แข่งกับตัวเอง, ให้เด็กที่เก่งกว่าสอนเพื่อนที่ช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี
- ให้นักศึกษาที่จะจบสาขาวิชาครุศาสตร์ มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ส่งเสริมนักศึกษาให้มีความสนใจติดตามข้อมูลข่าวสารด้านการศึกษา เช่น นโยบายลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้, การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV), ทวิศึกษา, สะเต็มศึกษา, BBL (Brain-based Learning), การจัดการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของสมองแต่ละช่วงวัย ฯลฯ เพื่อสร้างความพร้อมก่อนที่จะออกไปเป็นครูผู้สอน
- สร้างนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏให้มีความประพฤติเรียบร้อย มีกิริยามารยาทที่ดี ไหว้สวย
ภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวเพิ่มเติมในฐานะที่รับผิดชอบกำกับดูแลการอุดมศึกษาด้วยว่า จะให้ความสำคัญด้านธรรมาภิบาล ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏควรเป็นต้นแบบในเรื่องนี้ รวมทั้งจะพิจารณาหลักเกณฑ์การควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษานอกสถานที่ตั้งของสถาบันอุดมศึกษา ไม่ให้เกิดปัญหาเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งต่อไปหากพบปัญหาว่ามีการเปิดสอนโดยยังไม่ได้รับอนุญาต จะถือเป็นคดีอาญาด้วย นอกจากนี้ขอให้มหาวิทยาลัยราชภัฏปรับตัวให้ก้าวทันโลก ผลิตผู้เรียนให้สอดคล้องตลาดแรงงาน มีจุดเน้นที่จะเป็นผู้นำของท้องถิ่นและชุมชนได้อย่างแท้จริง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น