โปรแกรมติวสอบครูผู้ช่วย
ปี 2556
โดย "ติวสอบดอทคอม"
สมัครติว/ เข้าห้องสอบออนไลน์ฟรี ได้ที่ "ติวสอบดอทคอม"
หรือ
(แจ้งยืนยัน)
จุด 20 จ.นครปฐม
เสาร์ 1
- อาทิตย์ 2 มิ.ย. 2556 จุด 20 จ.นครปฐม
ณ โรงแรมเวล
จุด 21 จ.อุบลราชธานี เสาร์ 8 - อาทิตย์ 9 มิ.ย.2556
ณ โรงแรมกิจตรงวิลรีสอร์ท (ทางไป ตระการฯ)
จุด 22 จ.นครราชสีมา เสาร์ 15 - อาทิตย์ 16 มิ.ย.2556
ณ โรงแรมราชพฤกษณ์แกรนด์ (แยกไฟแดง บิ๊กซี)
นายกรัฐมนตรีแถลงงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ต่อสภาผู้แทนราษฎร
วันนี้ (29 พ.ค. 56) เวลา 09.30 น. ณ อาคารรัฐสภา ถนนอู่ทองใน นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ดังนี้
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ
คณะรัฐมนตรี ขอเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โดยมีหลักการและเหตุผล ดังนี้
หลักการ
ตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เป็นจำนวนไม่เกิน 2,525,000,000,000 บาท (สองล้านห้าแสนสองหมื่นห้าพันล้านบาท) สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น เป็นจำนวน 2,511,576,321,700 บาท (สองล้านห้าแสนหนึ่งหมื่นหนึ่งพันห้าร้อยเจ็ดสิบหกล้านสามแสนสองหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยบาท) และเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เป็นจำนวน 13,423,678,300 บาท (หนึ่งหมื่นสามพันสี่ร้อยยี่สิบสามล้านหกแสนเจ็ดหมื่นแปดพันสามร้อยบาท)
เหตุผล
1. เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ได้มีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 สำหรับใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินแผ่นดิน
2. เพื่อปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลังตามที่ได้จ่ายไปแล้ว
ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เคารพ
รัฐบาลขออนุญาตเสนอคำแถลงประกอบงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ฉบับสมบูรณ์เป็นเอกสาร และขอเรียนสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่นำ เสนอต่อท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ฉบับนี้ จัดทำขึ้นบนพื้นฐานของ "ยุทธศาสตร์ประเทศ" ที่รัฐบาลมุ่งยกระดับมาตรฐานในทุกๆ ด้านของประเทศเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและตอบสนองต่อความต้องการของพี่น้องประชาชนในทุกพื้นที่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและสิ่งแวดล้อม โดยมีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก เพื่อดำเนินนโยบายและมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ ทางเศรษฐกิจและสังคมต่อเนื่องจากปีงบประมาณที่ผ่านมา โดยให้ความสำคัญกับการบูรณาการการดำเนินงานในทุกมิติและการสร้างภาคีการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน
ประการที่สอง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ และการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน รวมทั้งเสริมสร้างประสิทธิภาพและธรรมาภิบาลของระบบราชการเพื่อเป็นข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ดิฉันขอรายงานให้ทราบถึงภาวะเศรษฐกิจทั่วไป ฐานะและนโยบายการเงินการคลังของประเทศ ดังต่อไปนี้
ภาวะเศรษฐกิจทั่วไป
เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2556 ชะลอตัวลงเนื่องจากความล่าช้าในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนระดับราคาสินค้าในตลาดโลกที่ยังอยู่ในภาวะชะลอตัว ในขณะที่นโยบายการเงินของประเทศเศรษฐกิจหลักในโลกกำลังขยายปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีเงินทุนไหลสู่ภูมิภาคเอเชียและประเทศไทย และสร้างแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วกว่าหลายประเทศในภูมิภาค
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจในปี 2556 ยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีร้อยละ 4.2 – 5.2 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 2.3 - 3.3 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ เศรษฐกิจโลกที่คาดว่า น่าจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง และการฟื้นตัวของภาวะการค้าสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลก ซึ่งเริ่มมีสัญญาณที่ชัดเจนในสหรัฐอเมริกา จะช่วยสนับสนุนภาคการผลิตและส่งออกของไทย ประกอบกับการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 119.9 ในปี 2555 และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2556
นอกจากนั้นการใช้จ่ายตามแผนการกู้เงินตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ และแผนการกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ จะเริ่มเข้ามาเป็นแรงสนับสนุนเศรษฐกิจให้สามารถขยายตัวได้ดีขึ้นต่อไป
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2557 คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ4.0 – 5.0 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 2.7 - 3.7 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ประกอบกับการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐจะมีบทบาทมากขึ้นในการขับเคลื่อนการขยายตัวตามการเบิกจ่ายเงินตามแผนการกู้เงินตามพระราชกำหนดฯ และแผนการกู้เงินตามร่างพระราชบัญญัติฯ ตามที่กล่าวแล้ว ในขณะเดียวกัน ภาคต่างประเทศมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเอเชียและเศรษฐกิจโลกโดยภาพรวม ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกมีบทบาทมากขึ้นต่อการขยายตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 และต่อเนื่องจนถึงปี 2557
ด้วยภาวะที่ยังมีความผันผวนของเศรษฐกิจโลก การสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้เข้มแข็ง โดยการกระตุ้นให้ภาคการผลิตมีการลงทุนและค้าขายที่แท้จริงและเหมาะสม และเป็นการลดการพึ่งการการส่งออก ในขณะที่รัฐบาลมุ่งเน้นมาตรการเสริมสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะสั้น เพื่อเป็นพื้นฐานการเจริญเติบโตที่ยั่งยืนและสมดุลในระยะต่อไป ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้
ฐานะและนโยบายการคลัง
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 รัฐบาลประมาณการว่าจะสามารถจัดเก็บรายได้สุทธิทั้งสิ้น จำนวน 2,384,000 ล้านบาท (สองล้านสามแสนแปดหมื่นสี่พันล้านบาท) และเมื่อหักการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 จำนวน 109,000 ล้านบาท (หนึ่งแสนเก้าพันล้านบาท) แล้วคงเหลือเป็นรายได้สุทธิที่สามารถนำมาจัดสรรเป็นรายจ่ายของรัฐบาล จำนวน 2,275,000 ล้านบาท (สองล้านสองแสนเจ็ดหมื่นห้าพันล้านบาท) หรือร้อยละ 17.2 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
สำหรับการบริหารจัดการรายจ่ายภาครัฐในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 รัฐบาลได้กำหนดนโยบายงบประมาณและแนวทางการจัดทำงบประมาณ ดังนี้
ประการที่หนึ่ง ให้ความสำคัญกับการดำเนินงานของหน่วยงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์การเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ปี 2558 นโยบายสำคัญของรัฐบาล และการบูรณาการภารกิจให้สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และขยายโอกาสแก่ประชาชน
ประการที่สอง ให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณควบคู่กับการพิจารณาแหล่งเงินอื่น และการบูรณาการการทำงานในระดับพื้นที่ของแต่ละภาคส่วนเพื่อลดความซ้ำซ้อน
ประการที่สาม เสริมสร้างศักยภาพทางการคลังขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้ภารกิจการจัดบริการสาธารณะของประชาชนดียิ่งขึ้น และลดความเหลื่อมล้ำทางการคลังระหว่างท้องถิ่น ควบคู่กับการพัฒนาประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้และประสิทธิผลการใช้จ่าย
ประการที่สี่ ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุลภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังและความจำเป็นของการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและเตรียมการเข้าสู่สมดุลในอนาคตสำหรับฐานะเงินคงคลัง ณ วันที่ 20 พฤษภาคม 2556 มีจำนวนทั้งสิ้น 250,935.4 ล้านบาท (สองแสนห้าหมื่นเก้าร้อยสามสิบห้าจุดสี่ล้านบาท)
ฐานะและนโยบายการเงิน
ทางด้านการดำเนินนโยบายการเงินของทางการในปี 2555 มีลักษณะผ่อนปรนมากขึ้น เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและบูรณะเศรษฐกิจหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2555 นั้น เศรษฐกิจไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากการดำเนินนโยบายเพิ่มปริมาณเงินของสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น จากการที่เงินทุนไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดตราสารของภาครัฐมากขึ้นกว่าเกณฑ์ปกติต่อเนื่องมาถึงครึ่งแรกของปี 2556 ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว และภายใต้ความไม่แน่นอนและความเปราะบางของระบบการเงินของโลก รัฐบาลจึงได้ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ โดยคณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกรอบการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจไทยปี 2556 เพื่อใช้เป็นแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ มาตรการทางการเงิน มาตรการทางการคลัง และมาตรการเฉพาะด้านอื่น โดยให้ความสำคัญกับการสร้างความเชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบได้อย่างมีเสถียรภาพและมั่นคง
ฐานะการเงินของประเทศในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์มั่นคง จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่เกินดุล มูลค่าเงินสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2556 มีจำนวน 178,374.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (หนึ่งแสนเจ็ดหมื่นแปดพันสามร้อยเจ็ดสิบสี่จุดเก้าล้านเหรียญสหรัฐฯ) หรือคิดเป็นประมาณ 3 เท่าของหนี้ต่างประเทศระยะสั้น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของสถาบันการเงินอยู่ในระดับต่ำและมีทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ในระดับสูง ซึ่งแสดงถึงความมั่นคงของระบบการเงิน
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
ท่านประธานที่เคารพ
ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่คณะรัฐมนตรีนำเสนอต่อสมาชิกผู้ทรงเกียรติ ในวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 2,525,000 ล้านบาท (สองล้านห้าแสนสองหมื่นห้าพันล้านบาท) เป็นการดำเนินนโยบายงบประมาณแบบขาดดุลโดยกำหนดรายได้สุทธิจำนวน 2,275,000 ล้านบาท (สองล้านสองแสนเจ็ดหมื่นห้าพันล้านบาท) และเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณอีกจำนวน 250,000 ล้านบาท (สองแสนห้าหมื่นล้านบาท) วงเงินงบประมาณดังกล่าวจำแนกเป็นรายจ่ายประจำ จำนวน 2,017,244 ล้านบาท (สองล้านหนึ่งหมื่นเจ็ดพันสองร้อยสี่สิบสี่ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 79.9 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 13,423.7 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสามพันสี่ร้อยยี่สิบสามจุดเจ็ดล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.5 ของวงเงินงบประมาณ รายจ่ายลงทุนจำนวน 441,510.4 ล้านบาท (สี่แสนสี่หมื่นหนึ่งพันห้าร้อยสิบจุดสี่ล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 17.5 ของวงเงินงบประมาณ และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 52,821.9 ล้านบาท (ห้าหมื่นสองพันแปดร้อยยี่สิบเอ็ดจุดเก้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 2.1 ของวงเงินงบประมาณ
ทั้งนี้ รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ประกอบด้วย 8 ยุทธศาสตร์และรายการค่าดำเนินการภาครัฐ โดยมีรายละเอียดการดำเนินงานที่สำคัญและวงเงินงบประมาณในแต่ละยุทธศาสตร์การจัดสรร ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1 : เร่งรัดการพัฒนาประเทศและเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน รัฐบาลได้เตรียมความพร้อมของประเทศเพื่อรองรับบริบทการเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งภายในและภายนอกประเทศ รวมทั้งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 โดยจัดสรรงบประมาณไว้จำนวน 145,006.9 ล้านบาท (หนึ่งแสนสี่หมื่นห้าพันหกจุดเก้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 5.7 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
1.1 การรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำนวน 8,039.7 ล้านบาท (แปดพันสามสิบเก้าจุดเจ็ดล้านบาท) เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พัฒนาทักษะด้านภาษา ต่างประเทศและฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน พัฒนาระบบการจัดเก็บภาษี ส่งเสริมการท่องเที่ยว การเป็นศูนย์กลางการผลิตและรวบรวมเมล็ดพันธุ์พืช ส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ในภาคอุตสาหกรรม เสริมสร้างศักยภาพด้านอัญมณีและเครื่องประดับไทย สนับสนุนการเป็นเมืองศูนย์กลางบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข
1.2 การพัฒนาศิลปหัตถกรรมและผลิตภัณฑ์ชุมชน จำนวน 1,719.4 ล้านบาท (หนึ่งพันเจ็ดร้อยสิบเก้าจุดสี่ล้านบาท) เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้สามารถส่งออกและแข่งขันได้ในระดับสากล สนับสนุนการใช้ทุนทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ตลอดจนพัฒนางานศิลปหัตถกรรมของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ
1.3 การส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม จำนวน 1,797.2 ล้านบาท (หนึ่งพันเจ็ดร้อยเก้าสิบเจ็ดจุดสองล้านบาท) เพื่อให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายตามห่วงโซ่อุปทาน ให้ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ สนับสนุนแหล่งทุนและส่งเสริมการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจ
1.4 การส่งเสริมสินค้าด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร จำนวน 7,455.6 ล้านบาท (เจ็ดพันสี่ร้อยห้าสิบห้าจุดหกล้านบาท) เพื่อเพิ่มมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหารไทย โดยพัฒนาวัตถุดิบและกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ รองรับการเป็นครัวไทยครัวโลก อุตสาหกรรมอาหารฮาลาลให้เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาเกษตรพื้นที่สูงตามแนวทางโครงการหลวงและเศรษฐกิจพอเพียง
1.5 การดูแลผู้สูงอายุ เด็ก สตรี คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส จำนวน 78,502.9 ล้านบาท (เจ็ดหมื่นแปดพันห้าร้อยสองจุดเก้าล้านบาท) เพื่อให้ผู้สูงอายุ เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการและผู้ด้อยโอกาสมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น มีความเท่าเทียมกันในสังคม โดยริเริ่มการดำเนินงานศูนย์ช่วยเหลือสังคมแบบเบ็ดเสร็จด้านการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ที่ไม่มีความพร้อมของคุณแม่วัยใส และให้การคุ้มครอง ป้องกัน ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรง สนับสนุนกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี จัดสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับคนพิการเพิ่มเติม เสริมสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยแก่ผู้ยากจนและผู้ด้อยโอกาส และสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุ
1.6 การแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ จำนวน 25,921.1 ล้านบาท (สองหมื่นห้าพันเก้าร้อยยี่สิบเอ็ดจุดหนึ่งล้านบาท) เพื่อเร่งนำสันติสุข ความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ความเสมอภาค กลับสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพิ่มมูลค่าทางการค้าการลงทุน เพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับการพัฒนาด้านสังคม ที่มุ่งเน้นการเพิ่มโอกาสทางการศึกษา การบริการสาธารณสุข สนับสนุนการกีฬา นันทนาการ และกิจกรรมทางวัฒนธรรม ศาสนา เพื่อเชื่อมใจชายแดนใต้ให้เกิดสันติสุข
1.7 การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการ จำนวน 11,617 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสิบเจ็ดล้านบาท) เพื่อเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวและบริการให้มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 1.8 ล้านล้านบาท โดยเสริมสร้างภาพลักษณ์ของประเทศ การรองรับการเป็นศูนย์กลางบริการสุขภาพนานาชาติ สนับสนุนการจัดทำระบบฐานข้อมูลและแผนที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยว เพิ่มการอำนวยความสะดวกและประสิทธิภาพการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน
1.8 การยกระดับคุณภาพแรงงาน การจัดการแรงงานต่างด้าว และป้องกันการค้ามนุษย์ จำนวน 2,353.2 ล้านบาท (สองพันสามร้อยห้าสิบสามจุดสองล้านบาท) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยพัฒนาคุณภาพแรงงาน ยกระดับฝีมือเป็นแรงงานทักษะและแรงงานกึ่งทักษะ จัดระบบการทำงานของแรงงานต่างด้าว รวมทั้งปราบปรามการกระทำความผิดและขจัดกระบวนการค้ามนุษย์
1.9 การเชื่อมโยงระบบคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ จำนวน 7,600.8 ล้านบาท (เจ็ดพันหกร้อยจุดแปดล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและเทคโนโลยี พัฒนาเมืองสำคัญที่เหมาะสมและมีศักยภาพ ยกระดับมาตรฐานท่าอากาศยาน ก่อสร้าง ขยายทางหลวงและสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อเชื่อมโยงระหว่างประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพการอำนวยความปลอดภัยทางคมนาคม ให้สอดรับกับแผนการลงทุนตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 2 : ความมั่นคงแห่งรัฐ จำนวน 210,783.5 ล้านบาท (สองแสนหนึ่งหมื่นเจ็ดร้อยแปดสิบสามจุดห้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 8.4 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงาน
ที่สำคัญ ดังนี้
2.1 การเทิดทูน พิทักษ์ และรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ จำนวน 13,670.8 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสามพันหกร้อยเจ็ดสิบจุดแปดล้านบาท) เพื่อเทิดทูน พิทักษ์ และธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ให้มีผู้ใดล่วงละเมิด ส่งเสริมการสร้างจิตสำนึกให้มีความจงรักภักดี เทิดทูน และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดจนส่งเสริมและเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
2.2 การสร้างความปรองดองสมานฉันท์และฟื้นฟูประชาธิปไตย จำนวน 421.8 ล้านบาท (สี่ร้อยยี่สิบเอ็ดจุดแปดล้านบาท) โดยรณรงค์ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกิจกรรมปลูกฝังจิตสำนึกความรักสามัคคี ความปรองดองสมานฉันท์ และความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ภายใต้การปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2.3 การเสริมสร้างระบบป้องกันประเทศ จำนวน 181,006.4 ล้านบาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นหนึ่งพันหกจุดสี่ล้านบาท) เพื่อให้มีความพร้อม มีศักยภาพในการพิทักษ์รักษาเอกราช อธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ โดยมุ่งพัฒนายุทโธปกรณ์ พัฒนาทางการทหาร ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อกิจการอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ พัฒนาความร่วมมือทางทหารกับมิตรประเทศ และส่งเสริมบทบาทในการรักษาสันติภาพของโลก
2.4 การรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จำนวน 15,684.5 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นห้าพันหกร้อยแปดสิบสี่จุดห้าล้านบาท) เพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความปลอดภัย เตรียมความพร้อมและจัดการวิกฤติการณ์ที่เกิดจากอาชญากรรมข้ามชาติและภัยคุกคามทุกรูปแบบ รักษาผลประโยชน์ของชาติทั้งทางบกและทางทะเล แก้ไขปัญหาการหลบหนีเข้าเมือง พัฒนาระบบการกำหนดสถานะและสิทธิของบุคคลที่ไม่มีสถานภาพให้ชัดเจน ตลอดจนเสริมสร้างประสิทธิภาพงานด้านข่าวกรองของประเทศ
ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีเสถียรภาพและยั่งยืน จำนวน 343,746.7 ล้านบาท (สามแสนสี่หมื่นสามพันเจ็ดร้อยสี่สิบหกจุดเจ็ดล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 13.6 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
3.1 การบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคให้เกิดความยั่งยืน จำนวน 29,462.1 ล้านบาท (สองหมื่นเก้าพันสี่ร้อยหกสิบสองจุดหนึ่งล้านบาท) เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการคลังโดยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี การบริหารจัดการหนี้สาธารณะ พัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ส่งเสริมการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน รวมทั้งจัดตั้งกองทุนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของรัฐเพื่อบริหารจัดการทรัพย์สินราชการให้เกิดประโยชน์
3.2 การส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าภาคการเกษตร จำนวน 33,044.1 ล้านบาท (สามหมื่นสามพันสี่สิบสี่จุดหนึ่งล้านบาท) โดยควบคุมคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากลสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก ยกระดับความสามารถและความเข้มแข็งของเกษตรกรผ่านโครงการพัฒนาเกษตรกรปราดเปรื่อง (Smart Farmer) รวมทั้งการดูแลเกษตรกรเพื่อบรรเทาผลกระทบอันเนื่องมาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ
3.3 การเสริมสร้างเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตร จำนวน 85,276.2 ล้านบาท (แปดหมื่นห้าพันสองร้อยเจ็ดสิบหกจุดสองล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรให้มีความมั่นคง ในอาชีพและรายได้ สามารถจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้ในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรมผ่านระบบการรับจำนำสินค้าเกษตร โดยมีการตรวจสอบคุณภาพ ปริมาณ ผลผลิตสินค้าทางการเกษตรที่รับจำนำอย่างมีประสิทธิภาพ
3.4 การยกระดับรายได้และเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน จำนวน 44,327.5 ล้านบาท (สี่หมื่นสี่พันสามร้อยยี่สิบเจ็ดจุดห้าล้านบาท) เพื่อให้ประชาชนกลุ่มเป้าหมายมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยจัดสรรงบประมาณต่อเนื่องตามมาตรการรถยนต์คันแรก ส่งเสริมการจ้างงานและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพื่อยกระดับรายได้ของแรงงาน และพักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อยและผู้มีรายได้น้อย
3.5 การส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งทุน จำนวน 15,379.2 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นห้าพันสามร้อยเจ็ดสิบเก้าจุดสองล้านบาท) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของหมู่บ้านในระดับฐานราก 20,375 หมู่บ้านและชุมชน เสริมสร้างพลังชุมชนในการบริหารจัดการและแก้ไขปัญหา 4,390 หมู่บ้านและชุมชน พัฒนาทักษะอาชีพให้แก่ผู้ประกอบการ 26,000 กลุ่ม สนับสนุนการพัฒนาชุมชนเมืองในด้านต่างๆ 1,600 แห่ง เสริมสร้างองค์ความรู้เชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์
3.6 การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม จำนวน 4,369.3 ล้านบาท (สี่พันสามร้อยหกสิบเก้าจุดสามล้านบาท) เพื่อบูรณาการระบบฐานข้อมูลในการจัดทำแผนการใช้ที่ดินด้านอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการลงทุนในพื้นที่อุตสาหกรรม 14 จังหวัดและนิคมอุตสาหกรรม 5 แห่ง ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและเชื่อมโยงกับท้องถิ่นรองรับการเปิดเสรีทางการค้า พัฒนาอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
3.7 การเพิ่มประสิทธิภาพภาคการตลาด การค้า และการลงทุน จำนวน 8,036.2 ล้านบาท (แปดพันสามสิบหกจุดสองล้านบาท) เพื่อพัฒนาและยกระดับความสามารถทางการค้า การตลาด ทั้งภายในและระหว่างประเทศ ควบคุม กำกับราคาสินค้าให้เหมาะสมและเป็นธรรม พัฒนาศักยภาพเศรษฐกิจการค้าระดับจังหวัด ให้ความคุ้มครองผู้บริโภค ปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เจรจาและขยายความร่วมมือตามกรอบข้อตกลงการเปิดเสรีทางการค้า
3.8 การพัฒนาการท่องเที่ยวและบริการ จำนวน 2,624.5 ล้านบาท (สองพันหกร้อยยี่สิบสี่จุดห้าล้านบาท) เพื่อให้มีศักยภาพและได้มาตรฐาน โดยการพัฒนา บูรณะ ฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเดิมและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวใหม่ พัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก รวมทั้งสร้างบรรยากาศการลงทุนสินค้ารูปแบบใหม่ในธุรกิจบริการที่มีศักยภาพ เสริมสร้างความเข้มแข็งของท้องถิ่น ชุมชน และวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและขยายตัวไปในระดับภูมิภาค
3.9 การส่งเสริมและพัฒนาการกีฬา จำนวน 9,393.8 ล้านบาท (เก้าพัน สามร้อยเก้าสิบสามจุดแปดล้านบาท) เพื่อให้การกีฬาเป็นเครื่องมือหนึ่งในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน คนพิการและประชาชน ได้เสริมสร้างสุขภาพและสมรรถภาพทางกายด้วยการออกกำลังกายและเล่นกีฬา และร่วมกิจกรรมนันทนาการ รวมทั้ง พัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศและกีฬาอาชีพ ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางกีฬาของภูมิภาคและของโลก
3.10 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน จำนวน 102,019.1 ล้านบาท (หนึ่งแสนสองพันสิบเก้าจุดหนึ่งล้านบาท) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานสากล สามารถเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายกับแผนการลงทุนตามร่างพระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ โดยก่อสร้าง บูรณะ ปรับปรุงทางหลวง ทางหลวงชนบท และสะพาน ยกระดับความปลอดภัยบริเวณทางแยก เพิ่มศักยภาพท่าอากาศยาน ก่อสร้างท่าเรือ ขุดลอกร่องน้ำ ก่อสร้างเขื่อนกันทราย กันคลื่น และเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งและตลิ่งพัง ตลอดจนผลิตและพัฒนาบุคลากรด้านพาณิชยนาวีและด้านการบิน
3.11 การพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จำนวน 1,614.5 ล้านบาท (หนึ่งพันหกร้อยสิบสี่จุดห้าล้านบาท) เพื่อสนับสนุนแนวทางการปรับโครงสร้างราคาและการใช้พลังงานที่เหมาะสมกับกลไกตลาด จัดหาพลังงานทั้งในประเทศและต่างประเทศให้เพียงพอต่อการพัฒนาและความมั่นคงของประเทศ กำกับ ดูแลธุรกิจด้านพลังงานให้มีความปลอดภัยเป็นไปตามมาตรฐาน ตลอดจนส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนให้สามารถนำมาใช้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ
3.12 การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 8,200.2 ล้านบาท (แปดพันสองร้อยจุดสองล้านบาท) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ประโยชน์ในการสร้างมูลค่าเพิ่ม จัดหาระบบเครือข่ายไร้สายรองรับการใช้งานคอมพิวเตอร์พกพา รวมทั้งบูรณาการเครือข่ายระบบบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ให้ครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ตลอดจนบริหารจัดการข้อมูลสถิติและสารสนเทศ เพื่อใช้ในการวางแผนและตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ
ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การศึกษา คุณธรรม จริยธรรม คุณภาพชีวิต และความเท่าเทียมกันในสังคมจำนวน 849,861.9 ล้านบาท (แปดแสนสี่หมื่นเก้าพันแปดร้อยหกสิบเอ็ดจุดเก้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 33.7 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
4.1 การขยายโอกาสและพัฒนาคุณภาพการศึกษา จำนวน 395,787.3 ล้านบาท (สามแสนเก้าหมื่นห้าพันเจ็ดร้อยแปดสิบเจ็ดจุดสามล้านบาท) เพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสเข้าถึงบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงตั้งแต่ระดับปฐมวัยต่อเนื่องไปตลอดชีวิต โดยส่งเสริมการปฏิรูปการศึกษา สนับสนุนการจัดการเรียนการสอนด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์พกพา สร้างโอกาสทางการศึกษาให้กลุ่มผู้ด้อยโอกาส และคนพิการ สนับสนุนการศึกษาตามโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งทุน รวมทั้งกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา และกองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต พัฒนาระบบการประกันคุณภาพการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล
4.2 การสนับสนุนการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 91,721.5 ล้านบาท (เก้าหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยยี่สิบเอ็ดจุดห้าล้านบาท) เพื่อให้ประชากรวัยเรียนตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงมัธยมศึกษาตอนปลายทั้งสายสามัญและสายอาชีพ ตลอดจนอาชีวศึกษา ให้ได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และลดภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของผู้ปกครอง
4.3 การพัฒนาด้านสาธารณสุข จำนวน 44,832.2 ล้านบาท (สี่หมื่นสี่พันแปดร้อยสามสิบสองจุดสองล้านบาท) เพื่อลดภาระโรคและภัยคุกคามต่อสุขภาพ โดยส่งเสริมประชากรกลุ่มเป้าหมายและเครือข่ายด้านสาธารณสุขให้ได้รับบริการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคที่เป็นปัญหาสำคัญ โรคอุบัติใหม่และภัยสุขภาพ พัฒนาศักยภาพอาสาสมัครสาธารณสุขและภาคีเครือข่ายเชิงรุกในชุมชน ให้บริการเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต ตลอดจนพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
4.4 การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ จำนวน 270,916.2 ล้านบาท (สองแสนเจ็ดหมื่นเก้าร้อยสิบหกจุดสองล้านบาท) เพื่อให้ประชาชนทุกคนได้รับบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ สะดวก รวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรมและเท่าเทียมกันทุกระบบ ทั้งระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ระบบประกันสังคม ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลพนักงานส่วนท้องถิ่นและลูกจ้าง ส่งเสริมบริการปฐมภูมิในเขตเมือง บริการใกล้บ้านใกล้ใจ ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยจากโรคร้ายแรงเรื้อรัง ตลอดจนพัฒนาระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินและระบบส่งต่อให้มีคุณภาพมาตรฐาน
4.5 การสร้างโอกาสการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 845.8 ล้านบาท (แปดร้อยสี่สิบห้าจุดแปดล้านบาท) โดยพัฒนาระบบการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่เข้มแข็ง สร้างเครือข่ายยุติธรรมชุมชน ส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้สิทธิ หน้าที่ และการเข้าถึงบริการได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
4.6 การป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ จำนวน 505.5 ล้านบาท (ห้าร้อยห้าจุดห้าล้านบาท) เพื่อสร้างความโปร่งใสและธรรมาภิบาล เสริมสร้างคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลและความตระหนักรู้ในทุกภาคส่วน โดยรณรงค์และเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการต่อต้านการทุจริต เสริมสร้างกลไกการป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้มีประสิทธิภาพ
4.7 การป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด จำนวน 10,146.7 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นหนึ่งร้อยสี่สิบหกจุดเจ็ดล้านบาท) เพื่อส่งเสริมสังคมไทยให้เข้มแข็ง ลดความรุนแรงของปัญหายาเสพติด โดยป้องกันเด็กและเยาวชน 1.5 ล้านราย ในสถานศึกษา 11,490 แห่งทั่วประเทศ ใช้มาตรการทางกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นระบบปราบปรามผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้นำเข้า และเครือข่ายไม่น้อยกว่า 60,000 คดี รวมทั้งบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดให้กลับสู่สังคมและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติไม่น้อยกว่า 300,000 ราย ตลอดจนมีระบบการติดตามช่วยเหลือผู้ติดยาเสพติดภายหลังการบำบัดรักษา
4.8 การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการและคุ้มครองแรงงาน จำนวน 18,664.4 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นแปดพันหกร้อยหกสิบสี่จุดสี่ล้านบาท) เพื่อให้ประชากรวัยแรงงานและประชาชนทุกกลุ่ม ได้รับบริการและโอกาสในการทำงานและประกอบอาชีพเพิ่มขึ้น สนับสนุนให้แรงงานได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย มีหลักประกันความมั่นคง มีสวัสดิการ มีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสม รวมทั้งคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานไทยในต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติอย่างถูกต้อง เป็นธรรม
4.9 การอนุรักษ์ ส่งเสริมและพัฒนาศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม จำนวน 8,907.9 ล้านบาท (แปดพันเก้าร้อยเจ็ดจุดเก้าล้านบาท) เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีคุณธรรม จริยธรรม จิตสำนึกและค่านิยมที่ดีงาม โดยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นให้มีความเข้มแข็ง เสริมสร้างวิถีชีวิตภายใต้ธรรมะทั้งแผ่นดิน สนับสนุนให้คนไทยมีความภาคภูมิใจ เห็นคุณค่า และร่วมฟื้นฟู อนุรักษ์ สืบสานรากวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น โบราณสถาน และมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
4.10 การเสริมสร้างความมั่นคงของชีวิตและสังคม จำนวน 7,534.4 ล้านบาท (เจ็ดพันห้าร้อยสามสิบสี่จุดสี่ล้านบาท) เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยสามารถเข้าถึงบริการทางสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยจัดสวัสดิการสังคมขั้นพื้นฐานแก่เด็ก เยาวชน สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ฟื้นฟูและพัฒนาชุมชนท้องถิ่น จัดตั้งสภาองค์กรชุมชนตำบล รวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันแก่สถาบันทางสังคม และจัดที่ดินทำกินให้แก่คนยากจน
ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 112,288.5 ล้านบาท (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นสองพันสองร้อยแปดสิบแปดจุดห้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 4.4 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
5.1 การป้องกันและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศ จำนวน 1,147.8 ล้านบาท (หนึ่งพันหนึ่งร้อยสี่สิบเจ็ดจุดแปดล้านบาท) เพื่อพัฒนาต้นแบบเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ กำหนดมาตรการและระบบภาษีเพื่อพัฒนาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้มีความพร้อมในการปรับตัวและรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศโลก
5.2 การส่งเสริมการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ จำนวน 59,871.9
ล้านบาท (ห้าหมื่นเก้าพันแปดร้อยเจ็ดสิบเอ็ดจุดเก้าล้านบาท) เพื่อบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ สามารถเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายกับแผนการลงทุนตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พัฒนาและจัดหาแหล่งน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร
5.3 การอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ จำนวน 23,457.1 ล้านบาท (สองหมื่นสามพันสี่ร้อยห้าสิบเจ็ดจุดหนึ่งล้านบาท) เพื่อการคุ้มครอง ป้องกัน อนุรักษ์ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และทรัพยากรธรณี ให้มีความสมดุลและความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งเสริมการปลูกป่าเศรษฐกิจ จัดทำผังเมืองและกระจายการถือครองที่ดินให้เกิดความเป็นธรรม
5.4 การจัดการสิ่งแวดล้อม จำนวน 4,071.1 ล้านบาท (สี่พันเจ็ดสิบเอ็ดจุดหนึ่งล้านบาท) เพื่อบริหารจัดการให้เหมาะสม โดยการป้องกัน ควบคุม ลด และขจัดมลพิษทางด้านน้ำ อากาศ เสียง และสารอันตราย พัฒนาเครือข่ายด้านจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมการผลิต การบริการ และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสีย
5.5 การจัดการภัยพิบัติ ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 23,740.6 ล้านบาท (สองหมื่นสามพันเจ็ดร้อยสี่สิบจุดหกล้านบาท) เพื่อป้องกัน เตือนภัย แก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา และบรรเทาความเดือดร้อน ความเสียหายจากสาธารณภัย เฝ้าระวัง เตือนภัย และประเมินความเสี่ยงในพื้นที่ธรณีพิบัติ อำนวยการด้านจราจรเพื่อลดอุบัติภัยทางถนน ตลอดจนติดตามและรายงานพยากรณ์อากาศและแผ่นดินไหว
ยุทธศาสตร์ที่ 6 : การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม จำนวน 21,323.8 ล้านบาท (สองหมื่นหนึ่งพันสามร้อยยี่สิบสามจุดแปดล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.8 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
6.1 การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 12,202.6 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสองพันสองร้อยสองจุดหกล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการวิจัยตลอดห่วงโซ่คุณค่า ผลักดันผลงานวิจัยให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างความร่วมมือระหว่างนักวิจัยทั้งในประเทศและภูมิภาค รวมทั้งสร้างนักวิจัย
6.2 การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 9,121.2 ล้านบาท (เก้าพันหนึ่งร้อยยี่สิบเอ็ดจุดสองล้านบาท) เพื่อเสริมสร้างและพัฒนา
ให้เป็นสังคมที่อยู่บนพื้นฐานขององค์ความรู้ ส่งเสริมภาคการผลิตให้สามารถเพิ่มมูลค่ามีคุณภาพเป็นที่ยอมรับ พัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตลอดจนส่งเสริมเด็กและเยาวชนให้มีความรู้ความเข้าใจและทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ยุทธศาสตร์ที่ 7 : การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จำนวน 9,004.5 ล้านบาท (เก้าพันสี่จุดห้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 0.4 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงาน
ที่สำคัญ ดังนี้
7.1 การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและรักษาผลประโยชน์ของชาติ ได้จัดสรรงบประมาณ จำนวน 9,004.5 ล้านบาท (เก้าพันสี่จุดห้าล้านบาท) โดยให้ความสำคัญกับกรอบความร่วมมือทุกมิติกับประเทศคู่ค้าและประเทศในกรอบอนุภูมิภาค กรอบทวิภาคีและกรอบพหุภาคี การเสริมสร้างความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย คุ้มครอง ดูแลสิทธิประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศ และให้ความช่วยเหลือทางการเงินและทางวิชาการกับประเทศเพื่อนบ้าน
ยุทธศาสตร์ที่ 8 : การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี จำนวน 351,339.9 ล้านบาท (สามแสนห้าหมื่นหนึ่งพันสามร้อยสามสิบเก้าจุดเก้าล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 13.9 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
8.1 การปฏิรูปกฎหมายและพัฒนากระบวนการยุติธรรม จำนวน 81,723.3 ล้านบาท (แปดหมื่นหนึ่งพันเจ็ดร้อยยี่สิบสามจุดสามล้านบาท) เพื่อพัฒนากฎหมายที่เป็นข้อจำกัดต่อการพัฒนาประเทศให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล พัฒนากระบวนการยุติธรรมและอำนวยความยุติธรรมให้เป็นไปด้วยความโปร่งใส รวดเร็ว เสมอภาคและเป็นธรรม รักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมทั้งป้องกัน ปราบปรามอาชญากรรม
8.2 การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารราชการแผ่นดิน จำนวน 50,896.4 ล้านบาท (ห้าหมื่นแปดร้อยเก้าสิบหกจุดสี่ล้านบาท) เพื่อพัฒนาและส่งเสริมระบบการบริหารงานบุคคลภาครัฐ โดยยึดหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และวิธีปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐในการให้บริการแก่ประชาชน ตลอดจนเสริมสร้างมาตรฐานด้านคุณธรรม จริยธรรม ธรรมาภิบาลและความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน
8.3 การส่งเสริมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 160,407.8 ล้านบาท (หนึ่งแสนหกหมื่นสี่ร้อยเจ็ดจุดแปดล้านบาท) เพื่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระในการจัดบริการสาธารณะที่เหมาะสมตามความต้องการของประชาชนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพ การจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สูงขึ้น รวมทั้งให้ความสำคัญกับภารกิจถ่ายโอนที่กำหนดไว้ในแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
8.4 การส่งเสริมการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด จำนวน 18,170 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นแปดพันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการภายใต้แผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด อย่างบูรณาการร่วมกันในทุกภาคส่วนและครอบคลุมทุกมิติ โดยมุ่งเน้นให้จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อนพื้นที่เชื่อมโยงยุทธศาสตร์ประเทศ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างรายได้ ลดรายจ่ายและขยายโอกาสตามความเหมาะสมกับศักยภาพและยุทธศาสตร์ที่เป็นตำแหน่งการพัฒนาของพื้นที่
8.5 การสนับสนุนการจัดการของรัฐสภา ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญ จำนวน 40,142.4 ล้านบาท (สี่หมื่นหนึ่งร้อยสี่สิบสองจุดสี่ล้านบาท) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามภารกิจของรัฐสภา ศาล และองค์กรตามรัฐธรรมนูญให้สามารถดำเนินงานได้ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญอย่างมีประสิทธิภาพในการให้ความคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพและอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชน สนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม รวมทั้งป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ
9. รายการค่าดำเนินการภาครัฐ จำนวน 481,644.3 ล้านบาท (สี่แสนแปดหมื่นหนึ่งพันหกร้อยสี่สิบสี่จุดสามล้านบาท) หรือคิดเป็นร้อยละ 19.1 ของวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น เพื่อดำเนินงานที่สำคัญ ดังนี้
9.1 การบริหารเพื่อรองรับกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 74,175 ล้านบาท (เจ็ดหมื่นสี่พันหนึ่งร้อยเจ็ดสิบห้าล้านบาท) เพื่อสำรองไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาในสภาวะฉุกเฉินให้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานอื่น สามารถนำไปใช้ตามเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นโดยมิได้คาดหมายได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนจัดสรรเงินชดเชยค่างานก่อสร้างเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอาชีพก่อสร้าง
9.2 การบริหารบุคลากรภาครัฐ จำนวน 208,184 ล้านบาท (สองแสนแปดพันหนึ่งร้อยแปดสิบสี่ล้านบาท) เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของบุคลากรภาครัฐ ได้แก่ เงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินช่วยเหลือข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ ค่าใช้จ่ายการปรับเงินค่าตอบแทนบุคลากรภาครัฐ เงินเลื่อนเงินเดือนและเงินปรับวุฒิข้าราชการ เงินสำรอง เงินสมทบและเงินชดเชยของข้าราชการ เงินสมทบของลูกจ้างประจำ
9.3 การบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 185,861.6 ล้านบาท (หนึ่งแสนแปดหมื่นห้าพันแปดร้อยหกสิบเอ็ดจุดหกล้านบาท) ให้เกิดเสถียรภาพทางการเงินการคลังของประเทศและเป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้ผูกพันไว้
9.4 รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 13,423.7 ล้านบาท (หนึ่งหมื่นสามพันสี่ร้อยยี่สิบสามจุดเจ็ดล้านบาท) เพื่อเป็นรายจ่ายชดใช้เงินคงคลังที่ได้จ่ายไปแล้วตามพระราชบัญญัติ เงินคงคลัง พ.ศ. 2491 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งได้ดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายและสนับสนุนเสถียรภาพความมั่นคงทางการคลัง
ท่านประธานที่เคารพ และท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติ
สาระสำคัญของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ตามที่รัฐบาลได้แถลงมานั้น เป็นเพียงส่วนสำคัญที่ควรนำมาแถลงให้ทราบ สำหรับรายละเอียดปรากฏอยู่ในเอกสารงบประมาณที่ได้นำเสนอต่อท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติทุกท่านแล้ว
ดิฉันและคณะรัฐมนตรีได้ตระหนักอยู่เสมอว่าการบริหารราชการแผ่นดินภายใต้บริบทที่มีความท้าท้ายและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ประเทศที่ชัดเจน แข่งขันได้ และสร้างความผาสุกอย่างยั่งยืนให้กับประชาชน ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่นำเสนอฉบับนี้ จัดทำขึ้นเพื่อขับเคลื่อน "ยุทธศาสตร์ประเทศ" ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม จึงหวังว่าท่านประธานและท่านสมาชิกผู้ทรงเกียรติจะได้ให้การสนับสนุนและพิจารณารับหลักการของร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฉบับนี้ เพื่อรัฐบาลจะได้ยึดถือเป็นหลักในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนสืบไป
ขอขอบคุณค่ะ
รัฐบาลไทย
โดย "ติวสอบดอทคอม"
สมัครติว/ เข้าห้องสอบออนไลน์ฟรี ได้ที่ "ติวสอบดอทคอม" หรือ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น