ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 216/2560การประชุมรายงานความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรม ภาคเหนือ ประจำปี 2560
มูลนิธิยุวสถิรคุณ (มยส.) จัดการประชุมรายงานความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรม ภาคเหนือ ประจำปี 2560 ระหว่างวันที่ 28-29 เมษายน 2560 เพื่อนำเสนอผลงานของโรงเรียนคุณธรรมในโครงการกองทุนการศึกษาและศูนย์โรงเรียนคุณธรรมของ มยส. จำนวน 493 โรงเรียน พร้อมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมการพัฒนาคุณธรรม กลไกขับเคลื่อน และบูรณาการคุณธรรมจริยธรรมในชั้นเรียนให้เป็นรูปธรรม อันจะส่งเสริมถึงความร่วมมือเพื่อสร้างโรงเรียนคุณธรรมให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดย ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี ในฐานะประธานมูลนิธิยุวสถิรคุณ เป็นประธานเปิดการประชุม และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้รับเกียรติให้บรรยายพิเศษเรื่อง "ศาสตร์พระราชาสู่การขับเคลื่อนโรงเรียนคุณธรรม" โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 500 คน อาทิ นายปราโมทย์ โชติมงคล ผู้อำนวยการศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวสถิรคุณ ครู ตลอดจนนักเรียนนักศึกษาทุกสังกัดในจังหวัดภาคเหนือ เมื่อวันเสาร์ที่ 29 เมษายน 2560 ณ โรงแรมคุ้มภูคำ จังหวัดเชียงใหม่
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวว่า มูลนิธิยุวสถิรคุณ จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชให้จัดตั้ง “กองทุนการศึกษา” โดยการสนับสนุนจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ เพื่อให้โรงเรียนสร้างคนดีให้บ้านเมือง ส่งเสริมการสร้างคุณความดีในโรงเรียน และขยายผลโรงเรียนคุณธรรมให้มากขึ้น พร้อมพระราชทานหลักการทำงาน 3 ประการ คือ
- ให้ครูรักเด็ก และเด็กรักครู
- ให้ครูสอนเด็ก ให้เด็กมีน้ำใจต่อเพื่อน ไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งขันกับตัวเอง
- ให้เด็กที่เรียนเก่งช่วยสอนเพื่อที่เรียนช้ากว่า ให้ครูจัดกิจกรรมให้นักเรียนทำร่วมกัน เพื่อให้เห็นคุณค่าของความสามัคคี
ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2557-2559) มูลนิธิยุวสถิรคุณได้จัดกิจกรรมพัฒนากระบวนการ เพื่อใช้ในการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมจากโครงการต่าง ๆ โดยได้สร้างความรู้ความเข้าใจให้ผู้บริหารทุกระดับ จัดทำสื่อ พัฒนาครูและนักเรียนแกนนำ นิเทศติดตาม และประเมินผล ตลอดจนถอดบทเรียนความสำเร็จเพื่อขยายผลและให้โรงเรียนต่าง ๆ ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป โดยมีรายงานความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรม ประจำปี 2560 ดังนี้
ความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรมภาพรวม
- สามารถพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมผ่านศูนย์โรงเรียนคุณธรรม จำนวน 493 แห่ง อาทิ โรงเรียนโครงการกองทุนการศึกษา 144 แห่ง, โรงเรียนในความดูแลของมูลนิธิสถิรคุณ 184 แห่ง, โรงเรียนจริยธรรมสี่ภาค 5 แห่ง, โรงเรียนโครงการประชารัฐ 100 แห่ง, สถาบันการศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 60 แห่ง)
- มีการนำกระบวนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมไปใช้ในสถานศึกษาสังกัดต่าง ๆ จำนวน 5,321 แห่ง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3,342 แห่ง, กรุงเทพมหานคร 437 แห่ง, สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา 442 แห่ง, สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน 100 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,000 แห่ง
- ผลงานความสำเร็จที่สร้างความเปลี่ยนแปลง แบ่งเป็น 4 ประเด็นคือ
1) นวัตกรรมการพัฒนาคุณธรรม ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ที่โรงเรียนริเริ่มจัดทำ ได้แก่ กระบวนการ PAOR (Planning: ร่วมกันวางแผน Action: ร่วมกันปฏิบัติ Observation: ร่วมกันสังเกตการณ์ Reflection: ร่วมกันสะท้อนผล) ของ รร.บ้านหมากตูมดอนยาง อุดรธานี, กระบวนการ 5 ส.สู่ความดีที่ยั่งยืน (สื่อสาร:ส่วนร่วม: สอบถามติดตาม: เสริมแรง:สร้างเครือข่าย) ของ รร.ตะเครียะวิทยาคม สงขลา, กระบวนการสมานฉันท์ (มีน้ำใจ: ใฝ่ศึกษา:หาเพื่อนดี) ของ รร.บ้านป่าเด็ง เพชรบุรี, อัฏฐออม (ออมบุญ: ออมความดี: ออมสติ: ออมทรัพย์: ออมสุขภาพ: ออมป่า: ออมน้ำ: ออมสิ่งแวดล้อม) ของ รร.วัดถ้ำองจุ กาญจนบุรี, บะนกทาโมเดล (พัฒนา 3 ระยะ ตัวอย่างที่ดีมีค่ากว่าคำสอน: ฝึกซ้ำย้ำทำ: ทำดีมีรางวัล) ของ รร.บ้านบะนกทา สกลนคร, 1 ชั้น 1 อาชีพ ของ รร.บ้านเขาขวาง ลพบุรี
2) กลไกการขับเคลื่อนการพัฒนาโรงเรียนคุณธรรม 8 ประการ ได้แก่ แผน (แผนพัฒนาโรงเรียนและแผนปฏิบัติการ) ครูและนักเรียนแกนนำ การส่งเสริม สนับสนุน และเสริมแรง, การมีส่วนร่วมของโรงเรียน ครอบครัว ชุมชน, การนิเทศ, การแลกเปลี่ยนเรียนรู้, การติดตามประเมินผล, การประชาสัมพันธ์
3) การบูรณาการคุณธรรมจริยธรรมในการสอน มีการบูรณาการที่โรงเรียนนิยมใช้ 3 รูปแบบ คือ การบูรณาการแบบคู่ขนาน ซึ่งครูต่างวิชา 2 คนขึ้นไปจะวางแผนและจัดแผนการเรียนร่วมกัน, การบูรณาการแบบสอดแทรก ครูเพียงคนเดียว แต่สอดแทรกเนื้อหาวิชาต่าง ๆ ไว้ในแผนการสอนของตนเอง และการบูรณาการระหว่างสิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียนกับชีวิตประจำวัน ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตผ่านการปฏิบัติจริง
4) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของนักเรียน พบว่าโรงเรียนมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านกายภาพ สภาพแวดล้อม และพฤติกรรมของนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครอง ได้แก่ สภาพแวดล้อมในโรงเรียนสะอาด ร่มรื่น เป็นระเบียบเรียบร้อย, ผู้บริหารและครูเป็นแบบอย่างที่ดี ตรงต่อเวลา การแต่งกาย ความรับผิดชอบต่อหน้าที่, ครูและนักเรียนมีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกมากขึ้น, นักเรียนมีพฤติกรรมพึงประสงค์มากขึ้น ตรงต่อเวลา มีสัมมาคารวะ มีความรับผิดชอบ มีความสุจริต มีจิตอาสา ในขณะเดียวกันก็มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ลดลง เช่น มาสาย หนีเรียน ลอกการบ้าน ลักขโมย เล่นพนัน ฟุ่มเฟือย เป็นต้น นอกจากนี้นักเรียนยังตระหนักในคุณค่าตัวเอง กล้าแสดงออก มีทักษะการคิด การแก้ปัญหา ตลอดจนทำงานเป็นทีมด้วย
ความสำเร็จของโรงเรียนคุณธรรม ภาคเหนือ
- สามารถพัฒนาโรงเรียนคุณธรรมในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือ จำนวน 90 แห่ง
- ผลงานความสำเร็จที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อาทิ
1) โครงงานยิ้มใสไหว้สวยด้วยใจ รร.บ้านน้อย “ปรึกอุทิศ” พิจิตร โดยนักเรียนส่วนใหญ่มีความสนใจตั้งใจในการจัดกิจกรรม สามารถไหว้พ่อแม่ได้อย่างถูกต้องเหมาะสม และจะนำความรู้ไปเผยแพร่ให้แก่ผู้อื่น
2) โครงงานจิตอาสาเพื่อพัฒนาท้องถิ่น ผ่านกิจกรรมพี่สอนน้อง นันทนาการ เยี่ยมผู้สูงอายุในชุมชน และภูมิปัญญาท้องถิ่น ของ รร.ภูซางวิทยาคม พะเยา ส่งผลให้นักเรียนชั้น ม.6 ที่จัดทำโครงงานสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ทุกคน สอบได้นักธรรมตรี 32 คน-นักธรรมโท 2 คน-นักธรรมเอก 3 คน ส่วนผู้สูงอายุมีความสุขเมื่อนักเรียนไปเยี่ยม และความพึงพอใจภาพรวมของโครงงานอยู่ในระดับคุณภาพดีมากทุกด้าน
3) โครงงานโรงเรียนต้นแบบด้านคุณธรรม จริยธรรม รร.บางมูลนากภูมิวิทยาคม พิจิตร โดยใช้หลักคิด 3-6-3 กล่าวคือ 3 ยุทธศาสตร์ (พัฒนาครู พัฒนานักเรียน พัฒนาสิ่งแวดล้อม) 6 กิจกรรมวงล้อ (สร้างระเบียบวินัย สร้างความดี สร้างความกตัญญูกตเวที พัฒนาจริยธรรม ส่งเสริมจิตอาสา พัฒนาโรงเรียนสีขาว) และเป้าหมายคุณธรรม 3 ประการ (ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ ความพอเพียง) ซึ่งมีการดำเนินการสร้างความรู้ความเข้าใจ พัฒนาต้นแบบ นิเทศอย่างกัลยาณมิตร และประเมินผล ทำให้นักเรียนมีคุณธรรมตามเป้าหมาย คือมีความรับผิดชอบ แต่งกายถูกระเบียบ มีจิตสาธารณะ กตัญญู และใช้ชีวิตอย่างพอเพียง
4) โครงงานรองเท้าเข้าแถว รร.บ้านห้วยคอม อุตรดิตถ์ เพื่อแก้ปัญหาการวางรองเท้าไม่เป็นระเบียบ ไม่ถูกที่ และเหยียบส้นรองเท้า โดยใช้กระบวนการพัฒนาคุณธรรมทั้งโรงเรียน ใช้การมีส่วนร่วมระหว่างครู นักเรียน ชุมชน และผู้เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีระบบนิเทศและการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบว่าผู้บริหาร ครู นักเรียน ครอบครัวของนักเรียน ชุมชน มีนิสัยติดตัวในเรื่องของการวางรองเท้าอย่างเป็นระเบียบ มีวินัย และวางเรียงแบบส้นชนตึกได้ในทุกที่ ทั้งยังดูแลรักษารองเท้านักเรียนให้ใช้งานได้นานมากขึ้น
5) โครงงานการนำหนังสั้นคุณธรรม บูรณาการในการจัดการเรียนการสอน เพื่อใช้หนังสั้นเป็นสื่อในการสอน ที่จะช่วยสร้างความตระหนักและปลูกฝังจิตสำนึกด้านคุณธรรม นำไปสู่การเรียนรู้ทักษะในการดำเนินชีวิตจากประสบการณ์ตรง โดยจัดให้มีทีมงานผลิตหนังสั้นร่วมกับนักเรียนตามโจทย์ที่กำหนดร่วมกัน เมื่อผลิตเสร็จแล้วครูนำไปใช้เป็นสื่อในการสอน และใช้สำหรับจัดกิจกรรมในโอกาสสำคัญ ซึ่งพบว่าหนังสั้นเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ช่วยสร้างองค์ความรู้ในการปลูกฝังคุณธรรมและลักษณะที่พึงประสงค์ เกิดกิจกรรมวิพากษ์ แสดงความรู้สึกนึกคิดจากการดูหนังสั้น และนำไปเป็นสื่อช่วยสอนในแต่ละระดับชั้นต่อไป
ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล กล่าวย้ำถึงการดำเนินงานโครงการโรงเรียนคุณธรรม ปีการศึกษา 2560 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้เน้นตัวชี้วัดหลัก 5 ด้าน ได้แก่ 1) ความพอเพียง 2) ความกตัญญู 3) ความซื่อสัตย์สุจริต 4) ความรับผิดชอบ 5) อุดมการณ์คุณธรรมจริยธรรม จึงฝากให้ผู้บริหาร ครูอาจารย์ ช่วยกันทำงานระดับพื้นที่ให้เชื่อมโยงสอดประสานกัน ด้วยความรักความสามัคคี โดยครูและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพยายามทำให้มีมาตรฐานการศึกษา วิทยาการแตกฉาน ในขณะเดียวกันก็สอดแทรกคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปในการเรียนการสอนที่จะช่วยกันทำให้ลูกหลานเติบโตไปเป็นคนดีของประเทศใน 10-20 ปีข้างหน้า พร้อมฝากไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วยว่าขอให้ช่วยครู ร่วมมือกับโรงเรียน ร่วมผลักดันโรงเรียนคุณธรรม เพราะลำพังครูหรือโรงเรียนจะดำเนินการเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ พ่อแม่ผู้ปกครองต้องช่วยปลูกฝัง กล่าวย้ำซ้ำ ๆ ให้เด็กได้ซึมซับคุณความดีอย่างเป็นธรรมชาติทั้งในครอบครัว โรงเรียน ชุมชน ตลอดจนสังคมรอบตัวเด็กด้วย
ในส่วนของศาสตร์พระราชานั้น เป็นศาสตร์ที่ครอบคลุมถึงเรื่องเอกลักษณ์ของชนชาติไทย ทั้งความอ่อนน้อมถ่อมตน การเป็นสุภาพชน ความขยันหมั่นเพียร ล้วนเป็นคุณงามความดีที่บรรพชนไทยปฏิบัติสืบทอดต่อกันมา
รวมถึงขอให้มีความกตัญญูรู้คุณต่อบิดามารดา ผู้มีพระคุณประเทศชาติและพระมหากษัตริย์ หากทุกคนปฏิบัติตามศาสตร์ของพระราชาแล้ว ก็จะเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ เมื่อประเทศมีแต่คนดี ก็จะสร้างเจริญก้าวหน้าได้เป็นอย่างมาก
ดังนั้น จึงควรดำรงเอกลักษณ์ของเราที่มีอยู่ให้ได้ และสอนลูกสอนหลานให้ได้รับรู้มากยิ่งขึ้น พร้อมกับน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อมุ่งให้เกิดภูมิคุ้มกันและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างเหมาะสมเกิดความสมดุลและยั่งยืน