"เสถียร" ลุ้น
ศาลปกครองรับคำร้องหวังคืนเก้าอี้ "ปลัดกลาโหม" 5 ก.ย.นี้
เปิดกม.ชี้ถ้าฟันวินัยจะไม่อยู่ในอำนาจศาล ด้านกรมพระธรรมนูญมั่นใจ
"เสถียร" ผิดวินัยทหาร เชื่อศาลปกครองไม่รับคำร้อง
" ลุ้น ศาลปกครองรับคำร้องหวังคืนเก้าอี้ "ปลัดกลาโหม" 5 ก.ย.นี้ เปิดกม.ชี้ถ้าฟันวินัยจะไม่อยู่ในอำนาจศาล ด้านกรมพระธรรมนูญมั่นใจ "เสถียร" ผิดวินัยทหาร เชื่อศาลปกครองไม่รับคำร้อง
4ก.ย.2555 รายงานข่าวจากกรมพระธรรมนูญแจ้งว่า ภายหลังจากที่ศาลปกครองได้ส่งหนังสือเชิญพล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต รมว.กลาโหม ไปชี้แจงเกี่ยวกับคำสั่งย้ายพล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม นั้น วันที่ 4 ก.ย.นี้ ทางรมว.กลาโหมได้มอบหมายให้พล.ท.รัตนพันธ์ โรจนะภิรมย์ รองเจ้ากรมพระธรรมนูญ และ พ.อ.ภานุ พรหมดิเรก ผอ.กองนิติธรรม กรมพระธรรมนูญ ไปฟังคำร้องที่ศาลปกครอง โดยคำฟ้องในคำสั่งย้ายจะดูว่า คำสั่งของพล.อ.อ.สุกำพล ชอบ หรือไม่ชอบ หากศาลสั่งว่าคำสั่งไม่ชอบศาลจะสั่งไต่สวนและมีการออกระเบียบคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวให้ปลัดกระทรวงกลาโหมขอเข้าทำหน้าที่ต่อ ซึ่งจะสามารถเข้าประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารชั้นนายพลได้
รายงายข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 5 ก.ย.นี้ เวลา 09.00 น.ศาลปกครองจะมีคำสั่งนัดไต่สวนเพื่อพิจารณาคำขอทุเลาคดีที่พล.อ.เสถียรยื่นฟ้องพล.อ.อ.สุกำพลเนื่องจากมีคำสั่งกระทรวงกลาโหม(เฉพาะ) ที่ 383/55 เรื่องให้พล.อ.เสถียร ไปช่วยปฏิบัติราชการสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งขณะนี้ทางศาลปกครองยังไม่ได้มีการพิจารณาว่าจะรับพิจารณาคดีดังกล่าวหรือไม่ ส่วนหนังสือที่ส่งมายังพล.อ.อ.สุกำพลเป็นเพียงการแจ้งให้ทราบว่า พล.อ.อ.สุกำพล ถูกพล.อ.เสถียรยื่นฟ้องในคดีการโยกย้ายไม่เป็นธรรมเท่านั้น ซึ่งทางพล.อ.อ.สุกำพลสามารถส่งทนายความผู้รับมอบอำนาจไปชี้แจงแทนได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามมาตรา 9 วรรค 2 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติข้อยกเว้นคดีที่ไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง 3 ประเภทคือ 1.การดำเนินการเกี่ยวกับวินัยทหาร ไม่ว่าจะเป็นการลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหารหรือเป็นการดำเนินการทางวินัยอย่างอื่น 2.การดำเนินการของคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ซึ่งมิใช่เป็นการพิจารณาพิพากษาคดี แต่เป็นการบริหารงานบุคคลของผู้พิพากษาศาลยุติธรรม เช่น การแต่งตั้งโยกย้าย การเลื่อนตำแหน่งการลงโทษทางวินัย(ค) คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลชำนัญพิเศษต่างๆ ที่อยู่ในระบบศาลยุติธรรม ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นก่อนที่จะมีการจัดตั้งศาลปกครอง อย่างไรก็ตามในหนังสือคำสั่งย้ายปลัดกลาโหมของรมว.กลาโหมนั้น มิได้ระบุว่า พล.อ.เสถียร กระทำผิดด้านสินัยแต่อย่างใด แต่ให้เหตุผลเพียงแค่ว่า เพื่อให้การบริหารราชการในกระทรวงกลาโหมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 มาตรา 9 และมาตรา 24 แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม(พ.ร.บ.กลาโหม) พ.ศ.2551
แหล่งข่าวผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากกรมพระธรรมนูญ เปิดเผยว่า เมื่อคดีดังกล่าว เป็นเรื่องวินัยทหารแล้วทำให้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ดังนั้นสิ่งที่ รมว.กลาโหม ใช้อำนาจตามพ.ร.บ.กลาโหมสั่งการในกรณีนี้เป็นคำสั่งทางการปกครอง แต่ไม่ได้เป็นคำสั่งทางการปกครองตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางการปกครอง พ.ศ.2539 ซึ่งคำสั่งดังกล่าวเป็นคำสั่งทางวินัยทหาร โดยสั่งตามพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม และ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารชั้นนายพล ทั้งนี้การที่ พล.อ.เสถียรไปฟ้องร้องขอความเป็นธรรมกับศาลปกครองสามารถทำได้ แต่การดำเนินการของ พล.อ.อ.สุกำพล เป็นคำสั่งพิเศษทีใช้อำนาจกฎหมายทางทหาร และ ข้อบังคับกระทรวงกลาโหมว่าด้วยการสั่งการ และ การประชาสัมพันธ์ พ.ศ.2527
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีที่มีหลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะรักษาการแทนปลัดกระทรวงกลาโหม จะมีสิทธิ์ร่วมประชุมคณะกรรมการพิจารณาปรับย้ายนายทหารแทนปลัดกระทรวงกลาโหมได้หรือไม่นั้น ในพร.บ.กลาโหม 2551 หมวด 3 การจัดระเบียบราชการทั่วไป มาตราที่ 24 อำนาจในการสั่งการ กรอนุญาต การอนุมัติ การปฏิบัติราชการแทนหรือการปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกรทะรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติหรือดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับหรือคำสั่งใดๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องใด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงกลาโหม สมุหราชองครักษ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ หรือบัญชาการทหารอากาศ ทำการแทนในนามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก็ได้ และผู้รับมอบอำนาจดังกล่าวอาจมอบอำนาจให้ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นปฏิบัติราชการแทนต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อำนาจในการสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ หรือ การปฏิบัติราชการแทนประจำที่ผู้บังคับบัญชาทหารไม่ว่าจะเป็นชั้นใดที่รองลงมาจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมจะพึงปฏิบัติ หรือ ดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งใดๆ หรือมติของสภากลาโหม หรือ มติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเรื่องใด ผู้บังคับบัญชาผู้นั้นจะมอบอำนาจโดยทำเป็นหนังสือให้ผู้บังคับบัญชาทหารตำแหน่งอื่นทำการแทนในนามของผู้บังคับบัญชาทหารผู้มอบอำนาจก็ได้ ทั้งนี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กระทรวงกลาโหมกำหนด โดยให้ผู้รักษาราชการ ผู้รักษาราชการแทน หรือ ผู้ทำการแทน มีอำนาจและหน้าที่ตามตำแหน่งที่รักษาราชการ รักษาราชการแทน หรือ ทำการแทนนั้น ๆ
คม ชัด ลึก
"ติวสอบดอทคอม"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น