รมว.ศธ. กล่าวในพิธีเปิดว่า การจัดงานในวันนี้จะเป็นการแสดงให้เห็นถึงการนำเอารูปแบบการเรียนการสอนที่ประสบความสำเร็จที่เป็นแบบอย่างที่ดี ที่เกิดขึ้นจากสถานศึกษาของรัฐและเอกชนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อนำมาให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครูอาจารย์ นักเรียน ผู้ปกครอง ศึกษานิเทศก์ และผู้บริหารการศึกษา ได้ชม แลกเปลี่ยนเรียนรู้และนำไปสู่กระบวนการปฏิรูปการเรียนการสอน ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา
ประเทศไทยมีความจำเป็นที่อยู่ในโลกแห่งการแข่งขันและการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จึงต้องมีการปรับตัวและพัฒนาประเทศ ในการพัฒนาประเทศนั้น สิ่งที่สำคัญมากคือการพัฒนากำลังคน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญโดยตรงของฝ่ายจัดการศึกษา การจะพัฒนาประเทศและกำลังคนได้ จะต้องปฏิรูปการศึกษา และต้องร่วมกันทำให้เห็นว่าการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ ทาง ศธ.ได้หารือและนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี โดยมีความเห็นชอบให้ถือว่าการศึกษาเป็นวาระแห่งชาติ และได้มอบหมายให้ ศธ.คิดเรื่องการปฏิรูปการเรียนรู้และปฏิรูปการศึกษาอย่างจริงจัง
การศึกษาเป็นวาระแห่งชาตินั้น มีความหมายใน 2 ความหมาย ความหมายหนึ่ง คือถ้าจะพัฒนาประเทศ พัฒนาชาติ การศึกษาจะมีส่วนสำคัญอย่างมาก อีกความหมายหนึ่งก็คือ ในการที่จะพัฒนาการศึกษา ปฏิรูปการศึกษา คนทั้งชาติต้องร่วมมือและช่วยกัน จากแนวความคิดดังกล่าว จึงจะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา และจะต้องมีการปฏิรูปการศึกษาในหลายๆ ด้าน
การปฏิรูปการเรียนรู้ให้สัมพันธ์เชื่อมโยงกันทั้งระบบ เป็นนโยบาย 1 ใน 8 ข้อของ ศธ. ความหมายคืออะไร และจะเชื่อมโยงไปถึงงานในวันนี้อย่างไร กล่าวคือ เรามีหลักสูตรการเรียนการสอน การทดสอบวัดผลและประเมินผล ทั้งหมดนี้ยังเชื่อมโยงไปถึงการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการจัดการศึกษาและควรจะต้องสัมพันธ์กัน คือ ปฏิรูปไปด้วยกันอย่างสอดคล้องสัมพันธ์กัน เรามีหลักสูตรที่แบ่งเป็น 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ การให้เด็กเล็กๆ เรียน 8 กลุ่มสาระ เด็กจะมีเวลาเรียนภาษาไทยให้แตกฉานได้อย่างไร ก็เป็นปัญหาอยู่มากพอสมควร ในหลักสูตรเกี่ยวกับภาษาต่างประเทศ เช่น ภาษาอังกฤษ จะต้องทำให้เด็กเรียนแล้วสามารถใช้ภาษาในการสื่อสารได้ แต่ในโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศไทย จัดการเรียนเป็นสิบปีโดยไม่มีวิชาสนทนา เด็กเรียนแล้วจะสื่อสารได้อย่างไร นี่คือความสัมพันธ์ระหว่างหลักสูตรกับการเรียนการสอน จึงต้องมาค้นคว้าว่าปัญหาอยู่ที่ไหนบ้าง และจะแก้ปัญหาได้อย่างไร
เมื่อมีหลักสูตรการเรียนการสอนที่สอดคล้องกันแล้ว หากการทดสอบวัดผล ไม่สอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน ผู้สอนและผู้เรียนก็จะไม่สนใจสิ่งที่อยู่ในหลักสูตรและสิ่งที่มีการเรียนการสอนกันอยู่ในห้องเรียน เพราะต้องไปทำข้อสอบให้ได้ การทดสอบวัดผลจึงจะต้องมีการพัฒนาให้ได้มาตรฐานและสอดคล้องกับหลักสูตรการเรียนการสอน และการทดสอบวัดผลนั้น ต้องหวังที่จะทำให้เป็นเครื่องมือในการที่กระตุ้น ส่งเสริมให้เกิดการเรียนการสอนและหลักสูตรที่ดีขึ้น และทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ที่ดีขึ้น
การทดสอบวัดผลนี้เราไม่ค่อยมีกันมาใน 20-30 ปีมานี้ ไม่มีการทดสอบวัดผลกลาง แต่ใช้การทดสอบวัดผลของสถานศึกษา และการทดสอบวัดผลที่ครูกับโรงเรียนดำเนินการกันมา ทำให้หลายปีมานี้ไม่ทราบว่าผลการศึกษาของประเทศเป็นอย่างไร ผลการจัดการเรียนการสอนที่ผ่านมามีผลอย่างไรต่อเด็กทั่วประเทศ ไม่มีใครทราบชัดเจน จนกระทั่งมีการทดสอบวัดผลของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติฯ (สทศ.) และมีการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาฯ (สมศ.)ที่เกิดขึ้นในช่วงประมาณ 8-10 ปีมานี้ และจะต้องอาศัยการทดสอบวัดผลและประเมินผลจากองค์กรต่างประเทศ การทดสอบวัดผลจึงจะต้องมีการพัฒนาด้วย ในการทดสอบวัดผลนี้มี สทศ.เกิดขึ้น มี O-Net เกิดขึ้น ซึ่งก็จะต้องทำให้พัฒนาและทำให้เชื่อมโยงกับหลักสูตรการเรียนการสอน นอกจากนี้ มีการทดสอบวัดผลที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่จะต้องดูแลให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ก็คือการคัดเลือกบุคคลเข้ามหาวิทยาลัย
หากการสอบเข้ามหาวิทยาลัยใช้ข้อสอบนอกหลักสูตร ทั้งครู นักเรียนและผู้ปกครองของเด็กชั้นมัธยมปลายจะไม่สนใจการเรียนในโรงเรียนหรือจะสนใจน้อยเกินไป และการที่เราจะปฏิรูปการเรียนการสอนทั้งหมดนี้ก็จะไม่เป็นประเด็นที่ผู้เกี่ยวข้องจริงๆ ให้ความสนใจ เพราะจะสนใจแต่ว่าจะทำข้อสอบเข้ามหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นข้อสอบนอกหลักสูตรได้อย่างไร
การประเมินผลมีหลายรูปแบบและวิธีการ แต่วิธีการที่สำคัญอย่างหนึ่ง เช่น ที่ สมศ.ทำอยู่ ทำอย่างไรจะให้การประเมินผลนี้ส่งผลต่อการพัฒนาการเรียนการสอน เช่น ประเมินผลว่าเด็กไทยยังคิดวิเคราะห์ไม่ค่อยได้ จะทำอย่างไรกับผลการประเมินดังกล่าว จะส่งเสริมทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กคิดวิเคราะห์ในเรื่องที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์เชื่อมโยงกันนี้ ต้องทำพร้อมกัน แต่การทำพร้อมกัน ให้ความสำคัญเท่ากัน คนจะไม่เห็นภาพว่าปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นอย่างไร สุดท้ายแล้วการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดผลเป็นจริงเป็นจังได้ ก็ต้องอยู่ที่ห้องเรียน ใช้คำว่าสุดท้าย หมายความว่าเมื่อคิดอะไรได้แล้วก็ตาม หากจะเกิดผลและวัดกันได้ว่าปฏิรูปการศึกษาหรือไม่ ก็อยู่ที่ห้องเรียนและผู้เรียน ห้องเรียนก็คือเรื่องของการเรียนการสอน แต่จะไม่รอให้ทำทุกอย่างให้เสร็จแล้วจึงไปดูกันที่ห้องเรียน
ปฏิรูปการเรียนการสอนนี้มีคำว่า “สอน” อยู่ด้วย คำว่า “สอน” ก็คือ “ครู” เพราะฉะนั้น ทั้งหมดก็ต้องโยงไปที่การผลิตและการพัฒนาครูอย่างต่อเนื่อง การเรียนการสอนจะต้องทำให้เกิดการเรียนรู้และปรับเปลี่ยนกันอย่างจริงจัง จะต้องมีการจัดการเรียนการสอนในทุกเรื่อง แต่หากทำทุกเรื่องพร้อมกัน ก็จะเยอะแยะไปหมด และอาจจะไม่สามารถเห็นตัวอย่างชัดเจน จึงต้องเริ่มจากบางเรื่อง การปฏิรูปการเรียนการสอนที่สำคัญในเรื่องการคิดวิเคราะห์ การเรียนวิชาต่างๆ คือ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาต่างประเทศ เมื่อดำเนินการไปสักระยะหนึ่ง พบว่าภาษาต่างประเทศอย่างเดียวไม่ได้ สิ่งที่ต้องทำเร่งด่วน คือภาษาไทย นอกจากนั้นแล้ว การเรียนการสอนที่สำคัญที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนและเรียนรู้กันอย่างจริงจัง คือการเรียนการสอนในโลกยุคอินเทอร์เน็ต โลกยุคข้อมูลข่าวสารไร้พรมแดน
เวลานี้ต้องพูดกันถึงเรื่องบทบาทของครูในโลกยุคอินเทอร์เน็ต การสอนโดยตั้งคำถามว่า คำนี้คืออะไร เมืองนี้คืออะไร อยู่ที่ไหน เด็กทุกคนสามารถใช้กูเกิ้ล เว็บไซต์ หรือเครื่องมีในการค้นหาได้ภายในเวลาสั้นๆ และตอบได้เหมือนกันหมด บทบาทของครูจึงต้องเปลี่ยนไป การจะตั้งคำถาม ส่งเสริมให้เด็กคิดอย่างไร และจะสอนกันอย่างไรในโลกที่ปัจจุบันเด็กมีความสามารถที่จะหาข้อมูลได้ และคำถามใหญ่คือ จะทำให้เด็กคิดได้อย่างไร
ในการเรียนการสอน เรื่องสำคัญมากอยู่ที่เรื่องคิดวิเคราะห์ ศธ.ประกาศว่าจะเลื่อนอันดับใน Programme for International Student Assessment (PISA) ของประเทศไทยให้สูงขึ้นในการวัดผลในอีก 2 ปีข้างหน้า ก็จะมีการดำเนินการในเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง การทดสอบวัดผลของ PISA เริ่มต้นมาจากการให้นักวิทยาศาสตร์ช่วยนักการศึกษาคิดวิธีวัดผลเด็ก และที่ทำเป็นการอ่าน คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ทั้งหมดนี้ถอดออกมาได้คำเดียว คือ “คิด” เพราะฉะนั้น เรื่องคิดวิเคราะห์คือเรื่องที่ทั่วโลก องค์กรต่างๆ ที่ทำเรื่องการศึกษา เช่น สหประชาชาติ ยูเนสโก ล้วนแต่ให้ความสำคัญทั้งสิ้น
งานในวันนี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการปฏิรูปการเรียนการสอนและปฏิรูปการศึกษา.. เรานำเอาการเรียนการสอนที่ดี ทันสมัย และประสบความสำเร็จในประเทศต่างๆ และในประเทศไทย แนวความคิดใหม่ และนวัตกรรมในการสอนมาแสดง มีการนำผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญมาพูดคุย แลกเปลี่ยนและถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ให้ฟัง โดยมีความหวังว่าศึกษานิเทศก์ ครู นักเรียนและผู้เกี่ยวข้องในวงการศึกษา มาฟัง มาชม มาดู มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ที่สำคัญ จะต้องไม่ให้เรื่องนี้จบไปแค่นี้ คือมาดูงานกันในวันนี้ และได้ความคิดดีๆ กลับไป แล้วก็พอแล้ว แต่จะต้องมีงานทำนองนี้อีกในด้านอื่นๆ ที่นอกจากภาษาและการคิดวิเคราะห์ ซึ่ง ศธ.ก็เตรียมจะจัดงานลักษณะนี้ต่อไปอีก คือ การจัดงานทางด้านICT ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 และจะจัดรวมทุกด้านในระบบการปฏิรูปการศึกษาในเดือนมกราคม 2557 ซึ่งจะเป็นงานที่ยิ่งใหญ่มากในวงการศึกษาของประเทศ
การจะปฏิรูปการเรียนการสอน มีองค์ความรู้อยู่มากมายในโลกนี้ และในประเทศไทย องค์ความรู้เหล่านี้สามารถรวบรวมมาแสดงได้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ โจทย์ข้อใหญ่ของวงการศึกษาไทยที่จะต้องคิดกันต่อไปก็คือ เมื่อมีการแสดงให้ดูแล้วว่าองค์ความรู้สามารถรวบรวมมาได้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้ จะทำอย่างไรให้มีกระบวนการนี้อย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงไปสู่ระบบการผลิตและพัฒนาครู เชื่อมโยงไปสู่การที่เรากำลังจะดำเนินการเรื่องปรับหรือพัฒนาการทดสอบ การวัดผล การประเมินผล รวมทั้งการปฏิรูปหลักสูตร จึงต้องช่วยกันคิดและหากระบวนการต่อไป หากกระบวนการนี้ไม่มีความต่อเนื่อง มีแค่จุดประกายกันขึ้นมาแล้วก็เป็นไฟไหม้ฟางไปเท่านั้น ก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเท่าที่ควร แต่หากเกิดเป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องและทำกันอย่างจริงจังต่อไป ที่ต้องการจะเน้นก็คือ การปฏิรูปการศึกษาได้ ทุกส่วนต้องร่วมกัน ที่บอกว่า รวมพลังยกระดับคุณภาพการศึกษา มันมีความหมายก็คือ ทาง ศธ.มีบุคลากรมากแล้วแต่ก็ยังไม่พอ ภาคเอกชน ภาคสังคม คนทั้งสังคมต้องร่วมมือกัน เพื่อให้เกิดกระบวนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงหวังว่าการจัดงานในวันนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการรวบรวมองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนเรียนรู้แล้ว จะทำให้เกิดการที่ผู้เกี่ยวข้องทั้งหลายมามีส่วนร่วมในการปฏิรูปการศึกษา มีส่วนร่วมในการที่จะมาคิด สร้างกระบวนการปฏิรูปการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ในการพัฒนากำลังคนของประเทศร่วมกัน เพื่อให้มีบทบาท มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ
งาน “สุดยอดการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2556 โดยมีการจัดนิทรรศการต่างๆ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาญี่ปุ่น ภาษาเกาหลี ภาษาเยอรมัน ภาษามลายู ภาษาเพื่ออาชีพ การคิดวิเคราะห์ และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ รวมถึงการแสดงละครภาษาอังกฤษ (ห้องเรียนจำลองการเรียนการสอนเชิงบูรณาการ) โดยโรงเรียนสุขุมนวพันธ์อุปถัมภ์ กรุงเทพมหานคร การจัดเสวนาทางวิชาการ การประกวดสื่อการสอน อ่าน เขียน คิดวิเคราะห์ (ครู) และการประกวดสุนทรพจน์ภาษาอังกฤษ (นักเรียน) เป็นต้น
ภายหลังพิธีเปิด รมว.ศธ.ได้เยี่ยมชมนิทรรศการความก้าวหน้าในการเรียนภาษาและคิดวิเคราะห์ของสถานศึกษาและหน่วยงานชั้นนำของประเทศไทย รวมทั้งสถานเอกอัครราชทูต ตลอดจนหน่วยงานต่างๆ ที่สอนภาษาต่างประเทศในไทย เช่น เยอรมนี อังกฤษ ฝรั่งเศส จีน เกาหลี เป็นต้น