13 พ.ค. 57 เมื่อเวลา 14.45 น. ในการประชุมวุฒิสภานอกรอบ เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาทางการเมือง ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ฐานะปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา เป็นประธานการประชุม ได้เริ่มขึ้น โดยได้เข้าสู่การอภิปรายเสนอแนะความเห็นของ ส.ว. โดยที่ประชุมเสียงส่วนใหญ่ ได้ย้ำถึงการเสนอแนวทางให้วุฒิสภา เป็นองค์กรทางนิติบัญญัติ เสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
โดยนายตวง อันทะไชย ส.ว.สรรหา เสนอแนะ และย้ำว่า วุฒิสภาไม่สามารถแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อนได้ และไม่อาจให้วุฒิสภา เสนอนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ได้ แต่หากการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ระบุถึง ได้รับการยอมรับจากคนในชาติ ถือเป็นความจำเป็นที่วุฒิสภาต้องเป็นเวทีเพื่อหาทางออกร่วมกัน โดยใช้ห้องประชุมรัฐสภาเป็นเวทีพูดคุย หากได้รับการยินยอม วุฒิสภาจะเป็นผู้นำความกราบบังคมทูลฯ ชื่อนายกฯ อย่างไรก็ตาม วุฒิสภาจะเป็นสะพานที่เดินไปสู่แนวทางดังกล่าว ทั้งนี้ตนขอเรียกร้องให้ ศอ.รส. ยุติบทบาท เพราะถือว่าเป็นหน่วยงานที่สร้างความขัดแย้งที่กระทบต่อความมั่นคง
ต่อจากนั้นที่ประชุมได้เสนอรายชื่อของคณะบุคคล และหน่วยงาน รวมถึงเครือข่ายทางการเมืองอื่นๆ ให้มาร่วมประชุมกับวุฒิสภา เพื่อหาทางออกของปัญหา โดยนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา เสนอให้วุฒิสภา เข้าพบคณะองคมนตรี เพื่อให้ข้อเสนอต่อแนวทางการแก้ไขปัญหา และให้นายสุรชัย ไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ถือว่าเป็นบุคคลที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งภายในประเทศ เพื่อหารือถึงข้อยุติปัญหา ขณะที่นายสุรชัย กล่าวว่า จะรับข้อเสนอที่ให้ไปหารือกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ไว้พิจารณา
เมื่อเวลา 15.42 น. หลังจากที่ ส.ว.ได้ใช้สิทธิ์อภิปรายครบถ้วนตามลำดับแล้ว นายสุรชัย ได้ขอให้ที่ประชุมพักการประชุมในห้องประชุมรัฐสภา และย้ายไปประชุมแบบลับในห้องกรรมาธิการ หมายเลข 306-308 และคาดว่า จะกลับมาประชุมในห้องประชุมรัฐสภาอีกครั้ง ในเวลา 18.00 น. ที่เป็นเวลาที่ได้นัดหมายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้เข้าชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา
'ส.ว.สรรหา' เหน็บประชุมนอกรอบ แก้โจทย์ให้ปท. หรือ กปปส.
นายวิชาญ ศิริชัยเอกวัฒน์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงการหยิบยกเรื่องการแต่งตั้งนายกฯ มาตรา 7 มาพูดคุยในที่ประชุมวุฒิสภานอกรอบนัดพิเศษ ว่า การทำงานของวุฒิสภาวันนี้ จะตอบโจทย์ประเทศ หรือตอบโจทย์ กปปส. ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า กปปส.ต้องการให้ได้นายกฯ มาตรา 7 ขณะที่สังคมโดยเฉพาะคนเสื้อแดง ไม่ยอมรับ ขณะเดียวกันหากใช้ช่องทางมาตรา 7 สามารถทำได้ แต่อาจจะเป็นปัญหาต่อไปว่าเป็นการดึงสถานบันพระมหากษัตริย์เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ทำให้กลุ่ม ส.ว.ที่เห็นต่างลุกขึ้นอภิปรายโต้แย้ง ยืนยันว่า เรื่องมาตรา 7 วุฒิสภามีอำนาจดำเนินการได้ เพราะถือว่าเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย
'สภาทนายความ' หนุน 'วุฒิสภา' ทำหน้าที่ตาม รธน.ม.132 (2) แต่งตั้งนายกฯ
ภายหลังจากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีบางส่วน ถูกวินิจฉัยให้สิ้นสภาพไปโดยศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งขณะนี้คงมีเพียง ครม.รักษาการ ที่มีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรีรักษาการนั้น เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 57 ที่ผ่านมา นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ ได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 10/2557 เรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กรณีประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ในการกราบบังคมทูลให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ภายใต้สถานการณ์ที่ราชอาณาจักรไทย ไม่มีนายกรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่า
ตามที่สภาทนายความได้ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 9/2557 เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมายให้แก่ประชาชนเป็นการทั่วไป เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 57 นั้น เนื่องจากสถานการณ์ที่เกิดจากปัญหาของการหมดอำนาจการบริหารของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คือ รักษาการนายกรัฐมนตรี และรักษาการรัฐมนตรีทั้งคณะ ที่ต้องยุติอำนาจหน้าที่ของตนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไปแล้ว
กับกรณีที่สภาผู้แทนราษฎรโดยอดีตนายกรัฐมนตรี มีพระราชกฤษฎีกายุบสภาไปแล้ว เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 56 จึงปรากฏความจริงแน่นอน ว่าการใช้อำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ ของสภาผู้แทนราษฎรได้ยุติลงแล้วโดยสิ้นเชิง วุฒิสภา จึงมีหน้าที่อย่างสำคัญในการสร้างสมดุลของอำนาจนิติบัญญัติ กับอำนาจบริหาร ที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญฯ เพื่อให้เกิดความมั่นคงของชาติอย่างต่อเนื่องตลอดไป
โดยอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา ได้ถูกกำหนดไว้ชัดเจน ในรัฐธรรมนูญฯ ปี 2550 ม.132 (2) ซึ่งประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภา ผู้ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่พิจารณาผู้มาดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งทั้งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตำแหน่งอื่น ก็เป็นตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงชอบที่จะนำมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญมาวินิจฉัยกรณีนี้ได้ เพราะทางนิติศาสตร์นั้น การใช้รัฐธรรมนูญและกฎหมายต้องให้มีผลบังคับ ตามหลักนิติธรรม และหลักเกณฑ์สากล เหตุผลดังกล่าวข้างต้นแล้ว จึงไม่มีกรณีใดที่จะให้ประเทศชาติตกอยู่ในสภาวะไร้ฝ่ายบริหาร และสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา จึงต้องปฏิบัติดังนี้
1. ขณะที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และไม่มีนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ซึ่งมีหน้าที่ ตาม ม.132 (2) ประกอบกับ ม.7 ของรัฐธรรมนูญ ต้องกราบบังคมทูลฯ ขอพระราชทาน แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือการแต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร
2. รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ซึ่งทำหน้าที่ประธานวุฒิสภา ตามข้อ 11 ของข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. 2551 ต้องรีบหารือประธานองคมนตรี เพื่อขอให้แต่งตั้ง นายกรัฐมนตรี และขอพระราชทานให้เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเพื่อคัดสรรและแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายอำนาจบริหาร และอำนาจนิติบัญญัติ ก่อนจะมีการเลือกตั้ง
3. สถาบันพระมหากษัตริย์ นั้นอยู่เหนือความขัดแย้งทางการเมืองตลอดเวลา เพราะกลไกของการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ที่จะเป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ และประเพณีการปกครอง ตาม ม.7 ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้มีส่วนร่วม และไม่ได้ทรงเข้ามาวินิจฉัยในข้อเท็จจริง หรือข้อกฎหมายใด แต่เป็นหน้าที่ของประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภา ในขณะนี้ ที่ต้องกระทำเพื่อเติมเต็มสุญญากาศของการไม่มีนายกรัฐมนตรี และสภาผู้แทนราษฎร ประกอบกับภารกิจที่ต้องสร้างความมั่นคงของชาติ และความเชื่อมั่นในทางเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง และการลงทุนของภาคธุรกิจทั้งประเทศ รวมทั้งการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่น รวมถึงการได้มาซึ่งสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรี ตามรัฐธรรมนูญฯ ในโอกาสต่อไปให้สอดคล้อง กับวิธีการเลือกตั้ง การได้มาซึ่ง ส.ส. และรัฐบาล ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยในโอกาสต่อไป ให้สอดคล้องกับวิธีการเลือกตั้ง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลในระบบรัฐสภาที่สมบูรณ์ สอดคล้องกับมาตรฐานของนานาอารยประเทศ ป้องกันระบบการซื้อเสียง และดำเนินการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยความโปร่งใส และเป็นธรรมอย่างสมบูรณ์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น