เรื่องใหม่น่าสนใจ
-ครม.ประยุทธ์ 3
-เขตที่เปิดสอบ-เกณฑ์สอบ-กำหนดการสอบครูผู้ช่วย รอบ 2 / 2558
-เกณฑ์การย้ายครู พ.ศ.2558
-รัฐธรรมนูญ 2557 แก้ไข ครั้งที่ 1 พ.ศ.2558
- พรบ.เงินเดือนใหม่ข้าราชการครูฯ พ.ศ.2558
ข้อสอบออนไลน์ ( สอบครู - ผู้บริหาร - บุคลากรการศึกษา) ชุดใหม่ โดย อ.นิกร
ข้อสอบออนไลน์ ( สอบครู - ผู้บริหาร - บุคลากรการศึกษา) ชุดใหม่ โดย อ.นิกร
เตรียมสอบ บน ยูทูป ทั้งหมด ได้ที่
จับตายุทธการ!!! แปลงอำนาจ คสช.เพื่อเป้าหมายไปต่อ สู่การปฏิรูปประเทศ
เปิดออกมาให้เห็นกันชัดๆ สักที สำหรับรายละเอียด "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์" ที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทั้ง 36 อรหันต์ รวมกันเสกสรรเนรมิต 9 เดือนเศษ โดยส่งให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปเมื่อวันเสาร์ที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา
ซึ่งพิมพ์เขียวฉบับนางงามนี้ ได้ส่งถึงมือ "นายเทียนฉาย กีระนันทน์" ประธานสปช.เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เพื่อลงมติรับไม่รับ ในวันที่ 6 กันยายนนี้ ส่วนกระแสซาวด์เช็กเสียงโหวตของเหล่าบรรดากองเชียร์หนุนร่างนั้น หลายคนคาดการณ์เอาว่าน่าจะโหวตผ่านฉลุย
อย่างไรก็ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ยังมีข้อให้ต้องสะดุดคิดถึง "แรงต้าน" ของเหล่านักเลือกตั้งมืออาชีพ ที่ออกโรงสับรายวัน ว่ารัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเป็น "เผด็จการ" โดยจุดสำคัญที่ผู้สนใจรอดู คือ รายละเอียดชัดๆ ของ "มาตรา 260" ว่าด้วย "คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและปรองดองแห่งชาติ (คปป.)" ที่มี อำนาจล้นฟ้าประกาศิตล้นมือ เป็นบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่แก้ไขวิกฤติชาติ หากรัฐบาลปกติไม่สามารถบริหารงานได้ แต่สิ่งที่น่าวิตกมากกว่านั้น คือ การดึงเอาผบ.เหล่าทัพ ไปร่วมอยู่ในโครงสร้างของคณะกรรมการดังกล่าวด้วย
มองจากโครงสร้าง คปป.ชุดนี้ จะประกอบด้วย ประธาน 1 คน และกรรมการอีกไม่เกิน 22 คน รวมเป็น 23 คน กรรมการโดยตำแหน่ง 8 คน ได้แก่ ประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา, นายกรัฐมนตรี, ผู้บัญชาการกองทัพไทย (ผบ.สส.), ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.), ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.), ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.), ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) อีกทั้งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจาก ผู้เคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา, นายกรัฐมนตรี, ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองประเภทละ 1 คน รวมเป็น 3 คน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกิน 11 คน แต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้มีความเชี่ยวชาญในการปฏิรูปด้านต่างๆ และการสร้างความปรองดอง
ซึ่งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้ในห้วงเวลาปกติ จะทำงานเสริมสร้างการปฏิรูปให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยทำงานใกล้ชิดกับ "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" ที่จะตั้งขึ้นหลังจากสภาปฏิรูปแห่งชาติสิ้นสุดลง สภาใหม่นี้ จะมีสมาชิก 200 คน แต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ก็จะทำงานกำกับการสร้างความปรองดองในการลด "ความขัดแย้ง" รวมทั้งระงับเหตุที่อาจนำไปสู่ "ความรุนแรง" โดยทำงานร่วมกับ "คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง" ที่จะจัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เช่นกัน ส่วนในห้วงเวลาไม่ปกติ คือ กรณีครม.ไม่มีเสถียรภาพในการบริหารประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ จะมีอำนาจพิเศษ 2 ระดับ คือ 1) มีมติด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของกรรมการทั้งหมด สั่งใช้มาตรการที่จำเป็นสำหรับจัดการกับสถานการณ์ที่ไม่ปกตินั้น ภายใต้การปรึกษาหารือกับประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานศาลปกครองสูงสุด และ 2) ประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ มีอำนาจสั่งการระงับยับยั้งหรือให้กระทำการใดๆ ไม่ว่าการกระทำนั้น จะมีผลทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร โดยคำสั่งหรือการกระทำของประธานกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ให้ถือเป็นที่สุดและชอบด้วยกฎหมาย เมื่อแก้ไขสถานการณ์ไม่ปกติได้แล้ว ให้รายงานต่อ ประธานรัฐสภา, ประธานวุฒิสภา, ประธานศาลรัฐธรรมนูญ, ประธานศาลปกครองสูงสุด และแถลงให้ประชาชนทราบ โดยให้การกระทำดังกล่าวเทียบเท่ากับการเปิดประชุมสภา
โดยอำนาจพิเศษนี้ มีบทเฉพาะกาลระบุกรอบเวลาชัดเจนเอาไว้ 5 ปี แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ไม่ได้มีอายุ 5 ปี แต่จะมีไปตลอด เนื่องจากจะมีการยกร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยยุทธศาสตร์การปฏิรูปและปรองดอง ขึ้นมารองรับจนทำให้หลายฝ่ายกังวลและมองว่าเป็นอำนาจแบบ "รัฐซ่อนรัฐ" หรือ "โปลิตบูโร" ในระบบคอมมิวนิสต์
จากโครงสร้างดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า "ทหาร" อาจจะยังไม่เดินออกไปจากวงจร "อำนาจ" การเมืองไทย ซึ่งหลายคนมองว่า นี่คือการยึดอำนาจชนิดแบบ "ซ่อนรูป" ที่มีการเขียนไว้ในกฎหมายสูงสุดของประเทศนั่นเอง หากย้อนอดีตกลับไป จะคล้ายๆ กับยุค "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" เมื่อช่วงปี 2523-2531 เพราะยามนั้นการเมืองไทยต้องอาศัยนักการเมืองในคราบนักรบ ทั้งแบบนอกเเละในราชการ เพื่อช่วยประคับประคองเสถียรภาพ ให้เกมการเมืองไทยเดินต่อไปข้างหน้า โดยที่พรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง ต้องตกอยู่ในสถานะ "สมยอม" ให้ผู้เปี่ยมบารมีและคอนเนกชั่นในบ้านเมือง ขึ้นเป็น สร.1 คุมอำนาจบริหารแทน
นอกจากนี้ โครงสร้างของคปป. ยังถูกมองว่าเสมือนการเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายบริหาร กลายเป็น "ซุปเปอร์ ครม." เพราะเมื่อพิจารณาจากอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้แล้ว จะพบว่ามี "อำนาจ" เหนือรัฐบาลและสภาที่มาจากการ "เลือกตั้ง" เรียกได้ว่ามีอำนาจครอบคลุมเหนือ "ฝ่ายบริหาร" และ "ฝ่ายนิติบัญญัติ" หลายคนเห็นว่าโครงสร้างของคณะกรรมการชุดนี้ ที่มี ผบ.เหล่าทัพทุกเหล่าทัพ รวมทั้งผบ.ตร.เข้าร่วมด้วยนั้น มันช่างคล้ายคลึงกับโครงสร้างของ คสช.ในปัจจุบันเป็นอย่างยิ่ง จึงทำให้มีการมองกันว่านี่คือการดีไซน์กลไกการเมืองไว้รองรับการ "สืบทอดอำนาจ" ของ คสช.ใช่หรือไม่!!!
แม้จะยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า ในวันที่ 6 กันยายนนี้ ผลการลงมติของสปช.จะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หรือไม่ แต่ทว่าเนื้อหาโดยเฉพาะกับมาตราที่เกี่ยวกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ยิ่งทำให้กระแสการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญรุนแรงมากยิ่งขึ้น แถมยังเป็น ชนวนเรียกแขกอย่างดี โดยเฉพาะขาประจำ "ขั้วการเมือง" อย่างค่าย "เพื่อไทย" ที่เห็นแล้วคงอยู่นิ่งๆ ทำตัวเป็นทองไม่รู้ร้อนคงไม่ได้ ต้องออกมาถือธงส่งสัญญาณต้านกันหน่อย ให้บรรดาพรรคพวกลิ่วล้อส่งเสียงสนับสนุน ว่าคสช.เตรียมวางแผนอยู่ยาว ยึดอำนาจคุมเกมประเทศ ทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งต้องกลายเป็นง่อยโดยปริยาย
"ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างกันมาเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างยิ่ง และจะทำให้เกิดความเสียหายต่อประเทศชาติในทุกด้าน การเพิ่มเรื่องคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ขึ้นมา ยิ่งจะทำความเสียหายหนักยิ่งขึ้น ผู้ที่จะได้ประโยชน์ทั้งขึ้นทั้งล่องก็เห็นจะมีแต่คสช.กับผู้สนับสนุนเท่านั้น เพราะถ้าสปช.คว่ำร่างก็เท่ากับการต่ออายุ แต่ถ้าร่างนี้ใช้บังคับได้จริงก็เท่ากับจะสืบทอดอำนาจไปอีกนาน ดังนั้นร่างรัฐธรรมนูญนี้สุดท้ายแล้วจึงเลวร้ายกว่าที่หลายๆ คนเคยคาดคิด และที่แย่ไปกว่านั้น คือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญนี้ประกาศใช้แล้ว จะไม่มีทางแก้ไขได้อีกเลย" นี่คือคำกล่าวของ " นายจาตุรนต์ ฉายแสง"อดีตรมว.ศึกษาฯและแกนนำพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาส่งสัญญาณต่อต้านร่างรธน.ฉบับนี้ด้วยเช่นกัน
แม้ประธานกมธ.ยกร่างฯ จะออกมาปฏิเสธว่า ไม่มีการ "หมกเม็ด" ไม่ใช่การ "สืบทอดอำนาจ" แค่ต้องการทำให้บ้านเมืองสงบเท่านั้น แต่หากมองเรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ ที่กมธ.ยกร่างฯ มีแนวคิดจะนำไปถามในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พ่วงด้วยนั้น โดยหลังจากรัฐธรรมนูญประกาศใช้ บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีการจัดตั้งรัฐบาลปรองดองแห่งชาติขึ้น โดยใช้เสียง ส.ส.360 คน สนับสนุน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีโครงสร้างให้แต่ละพรรคการเมืองเข้าร่วม โดยรัฐบาลชุดดังกล่าวจะมีวาระการทำงาน 4 ปี หลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ และแน่นอนว่าเมื่อมีรัฐบาลผสมระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ แล้ว อาจมีการเปิดทางให้ตำแหน่ง "นายกฯ คนกลาง" เข้ามาทำหน้าที่ เพราะมีการเปิดทางไว้แล้วในร่างรัฐธรรมนูญที่ให้มีนายกฯคนนอกได้
หากย้อนมองก่อนหน้านี้ที่มีการเคลื่อนไหวของ 22 สปช. ที่จะให้มีคำถามปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง ในการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญด้วยนั้น ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันอย่างไม่ต้องสงสัย เพราะเป็นเหมือนการ "โยนหินถามทาง" ก่อนขยับหมากเดินเกมตามยุทธศาสตร์ที่วางเอาไว้อย่างแยบยล
นอกจากนั้นยังโยงไปถึงการที่ กมธ.ยกร่างฯ กำหนดให้ครม.มีอำนาจสรรหา ส.ว.สรรหา จำนวน 123 คน จาก ส.ว.ทั้งหมด 200 คน โดยผ่านกรรมการเป็นผู้คัดเลือก เพื่อสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการปฏิรูปประเทศ ร่วมกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการ "ตอบแทน" กมธ.ยกร่างฯ-สนช.-สปช.ในการคัดเลือกให้เข้าไปนั่งเป็นส.ว. ดังนั้นเมื่อมองทั้งเรื่องกรรมการยุทธศาสตร์ฯ, เรื่องรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ, เรื่องปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง, หรือเรื่องที่ให้อำนาจ ครม.สรรหา 123 ส.ว.
ขณะที่ค่ายสีฟ้าอย่าง "พรรคประชาธิปัตย์" ถึงจะยังดูอ้ำอึ้ง ตอบไม่เต็มปากเต็มคำ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าจะตอบโจทย์แก้วิกฤติชาติได้หรือไม่อย่างไร เท่าที่ซาวด์เสียงดู ท้ายที่สุด 2 พรรคการเมืองขั้วอำนาจใหญ่ ก็คงจะร่วมกัน "บอยคอตการเลือกตั้ง" เพื่อตั้งธงขู่รัฐบาลอำนาจพิเศษ ซื้อเวลาเตรียมกระชับพื้นที่ ในการตลบหลังขั้วการเมืองอีกครั้งหนึ่ง
ด้าน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ออกมาแสดงท่าทีไม่ปลาบปลื้มร่าง รธน.ดังกล่าวด้วยเช่นกัน โดยระบุว่า มีเนื้อหาที่จะพาประเทศไปสู่ทิศทางที่น่าเป็นห่วง เพราะกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญก็ดูเหมือนจะดำเนินไปแบบ "ปกปิด" จนทำให้รู้สึกเสมือนการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องส่วนตัวของ กมธ.ยกร่างฯ คนอื่นที่ไม่เกี่ยวทั้งที่รัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของคนไทยทุกคนและเกี่ยวข้องกับทุกสถาบัน ทุกคนจึงควรมีสิทธิ์มีส่วนรับรู้ แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์ได้ตั้งแต่ต้น โดยผ่านกระบวนการยกร่างที่โปร่งใสเปิดเผย และกมธ.ยกร่างฯ ก็มีหน้าที่ต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแค่เป็นพิธีกรรม ดังนั้นเมื่อได้ติดตามกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาตั้งแต่ต้นจนถึงวันนี้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่า มีความพยายามที่จะผลักดันให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปตามเป้าหมาย "ซ่อนเร้น"
"สุดท้ายก็มีการมุบมิบนำเนื้อหาในเป้าหมายซ่อนเร้นเดิม มาแปลงรูปแล้วใส่กลับเข้ามาใหม่ในช่วงปลาย โดยไม่เปิดโอกาสให้ฝ่ายใดแสดงความเห็น และล่วงรู้เนื้อหาที่แท้จริงได้แม้แต่สื่อมวลชน แล้วรีบปิดประตูตีแมวสรุปนำเสนอสปช.พิจารณาให้การรับรองทันที การใช้เงินงบประมาณจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น และจัดทำผลสำรวจความเห็นของประชาชนก่อนหน้านี้ จึงเป็นแค่ละครซึ่งทำให้ตนเป็นห่วงกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะจะเป็นตราบาปตั้งแต่นับหนึ่งให้กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และอาจมีผลให้เกิดการไม่ยอมรับ"
ทั้งหมดทั้งมวลคือบทวิเคราะห์มติในการ "หนุน" หรือ "คว่ำ" ร่างรัฐธรรมนูญ ท่ามกลางกระแสข่าวเตรียมยืดอายุไขให้รัฐบาล "บิ๊กตู่" ทั้งนี้ หากสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โรดแม็ปที่ทำกันมาก็จะต้องเปลี่ยนแปลงใหม่ทั้งหมด คสช. ก็จะต้องตั้งสภาขับเคลื่อนฯ ขึ้นมา และตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ขึ้นมาใหม่ จำนวน 21 ราย และดำเนินการร่างใหม่ในอีก 180 วัน หลังจากนั้นจึงส่งทำประชามติอีกครั้งจนกว่าจะผ่าน
โดยหลังจากนี้ต้องจับตามองกันว่า รัฐบาล - คสช.จะยืนหยัดที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์บริหารประเทศ ต่อไปอย่างไร เชื่อว่าอีกไม่นานคงได้เห็นกัน ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองที่ต้องร่วมกันจับตาอย่างใกล้ชิด!!!
ที่มา ; เว็บ นสพ.ไทยรัฐ
ที่มา ; เว็บ นสพ.ไทยรัฐ
( คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้
เตรียมสอบผู้บริหารสถาน+การศึกษา
เตรียมสอบครูผู้ช่วย
ฟรี... ห้องเตรียมสอบ-ครูผู้ช่วย
-ผู้บริหาร-บุคลากรการศึกษา ที่
( คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้
เตรียมสอบผู้บริหารสถาน+การศึกษา
เตรียมสอบครูผู้ช่วย
ฟรี... ห้องเตรียมสอบ-ครูผู้ช่วย
-ผู้บริหาร-บุคลากรการศึกษา ที่
" ติวสอบดอทคอม " โดย อ.นิกร
เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์
(เตรียมสอบครู-ผู้บริหาร-บุคลากร การศึกษา)
" ติวสอบดอทคอม " โดย อ.นิกร
เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์
(เตรียมสอบครู-ผู้บริหาร-บุคลากร การศึกษา)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น