ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 349/2559 มอบนโยบายการพัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นราธิว่าส
จังหวัดนราธิวาส - พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยนายอดินันท์ ปากบารา เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม 2559 เพื่อมอบนโยบายในการประชุมเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จัดโดยสำนักงานการศึกษาเอกชนจังหวัดนราธิวาส โดยมีผู้บริหารการศึกษา ผู้รับใบอนุญาต โต๊ะครู ครูและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนเอกชน 88 แห่งในพื้นที่ ตลอดจนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ส่วนภูมิภาคในจังหวัดนราธิวาส เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
เผยถึงวัตถุประสงค์ของการจัดประชุมเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจงนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล ในการส่งเสริมให้ภาคเอกชนสามารถจัดการศึกษาได้อย่างคล่องตัว ต่อเนื่อง ประสบผลสำเร็จทั้งตัวนักเรียน ผู้ปกครอง และโรงเรียน ตามนโยบายการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ 7 ด้าน คือ 1) หลักสูตรและกระบวนการเรียนรู้ 2) การผลิตและพัฒนาครู 3) การทดสอบ/การประเมิน/การประกันคุณภาพ/การพัฒนามาตรฐานการศึกษา 4) การผลิตพัฒนากำลังคนและงานวิจัยที่สอดคล้องกับความต้องการของการพัฒนาประเทศ 5) ICT เพื่อการศึกษา 6) การบริหารจัดการ 7) การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยเฉพาะประเด็นสุดท้าย คือ "การพัฒนาการศึกษาจังหวัดชายแดนภาคใต้" เป็นประเด็นเพิ่มเติมที่ได้มีการหารือร่วมกับ รมว.ศึกษาธิการแล้ว เพราะกระทรวงศึกษาธิการเล็งเห็นความสำคัญของการจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะต้องจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ ตามความต้องการของคนในพื้นที่ อัตลักษณ์ วัฒนธรรมท้องถิ่น และตามหลักศาสนา ลดการออกกลางคันของผู้เรียน การใช้งบประมาณ และทรัพยากรที่ได้รับอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเน้นการจัดการศึกษาเพื่อการมีงานทำ การสร้างรายได้และอาชีพ ให้แก่ผู้เรียนในพื้นที่
เปิดโอกาสให้โรงเรียนเอกชนในพื้นที่นำเสนอสภาพปัญหาความต้องการ
การประชุมครั้งนี้ ได้เปิดโอกาสให้ผู้บริหาร 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงเรียนเอกชนสอนศาสนา กลุ่มสถาบันศึกษาปอเนาะ และกลุ่มการศึกษาอิสลามประจํามัสยิด (ตาดีกา) ได้นำเสนอปัญหาและข้อเรียกร้องต่างๆ เพื่อกระทรวงศึกษาธิการได้รับไปพิจารณาให้ความช่วยเหลือต่อไป โดยภาพรวมมีการกล่าวถึงสภาพปัญหาความต้องการในการพัฒนาผู้บริหาร ครู และผู้เรียน รวมทั้งการจัดหลักสูตร การขาดแคลนงบประมาณ การพิจารณาค่าตอบแทนครูเอกชนให้สอดคล้องกับค่าครองชีพในปัจจุบัน
พร้อมจะนำข้อคิดเห็นต่างๆ ไปดำเนินการทั้งระดับจังหวัด ระดับกระทรวง และระดับรัฐบาล
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการจะนำข้อคิดเห็นและผลสรุปการประชุมเพื่อพัฒนาการศึกษาเอกชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ครั้งนี้ รวมทั้งการประชุมที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 20-22 สิงหาคม 2559 ที่จังหวัดปัตตานี ยะลา สตูล ตามลำดับ ไปพิจารณาดำเนินการใน 3 ระดับ คือ
ระดับจังหวัด ได้มอบหมายให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ได้รวบรวมข้อคิดเห็นเพื่อนำไปพิจารณาปรับปรุงเพิ่มเติมในกรอบงาน เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
ระดับกระทรวง ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) รวบรวมข้อคิดเห็นและข้อสรุปจากการประชุมทั้ง 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อนำไปพิจารณาว่า สิ่งใดที่เกินขีดความสามารถของจังหวัดที่จะดำเนินการได้ เพื่อเสนอพิจารณาดำเนินการในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการ
ระดับรัฐบาล จะประสานกับผู้เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงต่างๆ สถาบันอุดมศึกษา หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาดำเนินการทั้งระยะเร่งด่วนและระยะยาว
รมช.ศึกษาธิการ ได้กล่าวยกตัวอย่างถึงผลการดำเนินงานแก้ปัญหาสำหรับโรงเรียนเอกชนด้วยว่า กระทรวงศึกษาธิการได้เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการกำหนดมาตรการช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชนเป็นเงินอุดหนุนรายบุคคล โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมระเบียบเดิม เพื่อให้มีการปรับเงินอุดหนุนรายบุคคลในส่วนของเงินอุดหนุนสมทบเงินเดือนครู ในอัตราเดียวกันทุกครั้งที่มีการปรับเพิ่มเงินเดือนข้าราชการ คือ เพิ่มเงินอุดหนุนสมทบเงินเดือนครูเอกชน ร้อยละ 4 โดยในระดับก่อนประถมศึกษาและประถมศึกษา เพิ่มขึ้น 264 บาท/คน/ปี และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น/ตอนปลาย/ปวช. เพิ่มขึ้น 330 บาท/คน/ปี มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2557
ย้ำถึงการดำเนินงานปีงบประมาณ 2560 จะเน้นบูรณาการแผนงานจัดการศึกษาให้มากขึ้น
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำถึงการดำเนินงานในห้วงระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้รับผิดชอบดูแลการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งการก้าวเข้าสู่ปีงบประมาณ 2560 จะเน้นบูรณาการแผนงานการจัดการศึกษาทุกองค์กรหลักและทุกภาคส่วน รวมทั้งการศึกษาเอกชนให้เชื่อมโยงกันมากขึ้น เพราะในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีสถานศึกษาเอกชนซึ่งผู้เรียนส่วนใหญ่ในพื้นที่เข้าเรียนจำนวนมาก คือ โรงเรียนสามัญและโรงเรียนนอกระบบ โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาควบคู่วิชาสามัญ สถาบันศึกษาปอเนาะ และตาดีกา ซึ่งอยู่ในการกำกับของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เพื่อส่งเสริมให้สามารถจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และผู้เรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ คือ สุขภาพดี เป็นคนเก่ง เป็นคนดี มีจิตอาสา ได้รับการพัฒนาผู้เรียนไปสู่อาชีพในอนาคต ได้รับการเสริมสร้างความเข้าใจในพหุวัฒนธรรม สามารถที่จะอยู่ร่วมในสังคมนานาชาติได้ และได้รับความปลอดภัยทั้งผู้เรียน/ครู/บุคลากรทางการศึกษา/สถานศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น