ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 353/2559บรรยายพิเศษในการประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง - นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ บรรยายพิเศษ เรื่อง "นโยบายและแนวทางในการดำเนินงานด้านอุดมศึกษาของไทย" ในการประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4/2559 เมื่อวันเสาร์ที่ 27 สิงหาคม2559 ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ 1 คณะวิทยาศาสตร์
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวตอนหนึ่งว่า ขณะนี้รัฐบาลกำลังผลักดันประเทศให้ก้าวไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน หรือ "Thailand 4.0" เพื่อให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง เปลี่ยนจากการพึ่งพาการลงทุนของต่างประเทศ มาเป็นการลงทุนวิจัยและพัฒนาตัวเอง โดยมุ่งเน้นการพัฒนาการศึกษาคน สร้างการวิจัยและพัฒนา โครงสร้างเศรษฐกิจ ให้ไทยสามารถอยู่ได้ในศตวรรษที่ 21 ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยการขับเคลื่อนการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ การปฏิรูปการวิจัยและพัฒนา การปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องดำเนินการไปพร้อม ๆ กัน ของทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิด "ประชารัฐ" คือ ความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ในส่วนของการอุดมศึกษานั้น ต้องมีทิศทางการพัฒนาที่จะต้องสอดรับกับนโยบายดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 ด้วยการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้าง "นวัตกรรม" ซึ่งความสำเร็จของการสร้างนวัตกรรม จะต้องมีผลในทางการค้า (Commerce) ด้วย แม้ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยหลายแห่งได้พัฒนางานวิจัยต่างๆ ออกมา หรือวงการแพทย์ไทยที่มีชื่อเสียง ก็ยังคงผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ออกมาได้ไม่มากนัก ต่างจากสาธารณรัฐเกาหลีที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศจนก้าวไปสู่ระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมากลับพบปัญหาของการอุดมศึกษาไทย โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาลในสถาบันอุดมศึกษา ส่วนใหญ่เกิดจากผู้บริหาร กรรมการสภามหาวิทยาลัย และการจัดหลักสูตร แต่ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัยเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังคงทำดี ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงไม่จำเป็นต้องสร้างกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ มากมาย เพื่อลงไปกำกับดูแลมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ที่ดีๆ แต่ควรลงไปตรวจสอบและแก้ไขปัญหาให้กับมหาวิทยาลัยที่สงสัยว่าทำไม่ดี หรือเมื่อมีปัญหาที่เกิดขึ้น
รมช.ศึกษาธิการ อธิบายเพิ่มเติมถึงประเด็น Leadership ของผู้บริหารด้วยว่า หากเปรียบเทียบกับบางประเทศ เช่น นายลี กวน ยู ซึ่งเป็นผู้นำของสิงคโปร์ที่มีภาวะผู้นำสูงมากและมีผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศในปัจจุบัน แต่หากตั้งคำถามว่าหากส่งนักการเมืองไทยไปพัฒนาสิงคโปร์ จะทำให้สิงคโปร์พัฒนาก้าวหน้าขนาดนี้ได้ไหม สิ่งสำคัญจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึง "Institute Level" ตัวอย่างเช่น หากเราเป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่สอนผู้อื่นไม่ให้โกง แต่ตัวเรากลับโกงเสียเอง หรือเป็นครูสอนเด็กนักเรียนให้ตรงต่อเวลา แต่ผู้บริหารโรงเรียนหรือครูกลับไม่ตรงต่อเวลาเสียเอง สิ่งเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้เด็กๆ
ในการปลูกฝังสิ่งที่ดีงามให้เด็กและเยาวชน จึงเป็นเรื่องสำคัญมากต่ออนาคตประเทศ โดย รมช.ศึกษาธิการ กล่าวในประเด็นนี้ว่า ตนเองได้มีส่วนผลักดันและก่อสร้างมหาวิทยาลัยแห่งใหม่ของไทย ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งมุ่งหวังจะให้เป็น The Best University ของประเทศ คาดว่าจะเสร็จในปีหน้า คือ "สถาบันภูมิราชธรรม" ซึ่งจะเน้นสอนทศพิธราชธรรม และเป็นมหาวิทยาลัยประเภท "เรียนกินนอน" ให้เรียนฟรี จะเปิดสอนใน 2 หลักสูตรก่อนในลำดับแรก คือ ภาษาอังกฤษและศึกษาศาสตร์ โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ร่วมกับมูลนิธิและสถาบันต่างๆ ให้การสนับสนุนด้านงบประมาณร่วมกัน
รมช.ศึกษาธิการ กล่าวย้ำด้วยว่า การปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ นอกจากจะต้องมีการกำหนดนโยบายที่ผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนก่อนแล้วว่าจะต้องสอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศแล้ว สิ่งสำคัญอย่างมากคือ ผู้บริหารและองค์คณะบุคคลต่างๆ เพราะข้อเท็จจริงในปัจจุบันยืนยันได้ว่าบอร์ดที่ประสบความสำเร็จในโลก มีการคัดสรร CEO เป็นอย่างดี เช่นเดียวกับการศึกษาหรือมหาวิทยาลัย ต้องมีวิธีการเลือกสรรผู้บริหารที่ดี โดยบอร์ดเพียงแต่ทำหน้าที่ดูแลเชิงนโยบายเท่านั้น ไม่ใช่เป็นเสมือนสหภาพที่จะคอยไปกำกับหรือกำหนดกฎเกณฑ์กติกาต่างๆ ให้เกิดปัญหาต่อการจัดการศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น