หลังจากที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ดำเนินการยกร่างบทบัญญัติเป็นรายมาตราจำนวนทั้งสิ้น 315 มาตราเสร็จสิ้นเรียบร้อย ขณะนี้อยู่ในขั้นเตรียมจัดส่งรัฐธรรมนูญร่างแรกให้แก่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ภายในวันที่ 17 เมษายนนี้
หลังจากนั้นคงต้องติดตามการอภิปรายเพื่อแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ของ สปช.ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 เมษายน โดยเฉพาะการอภิปรายใน "4 ประเด็นร้อน" ที่มีสมาชิกจองกฐินกันไว้มาก นั่นคือ
1.การเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลภายนอก
2.ระบบเลือกตั้งสัดส่วนผสมแบบเยอรมนี
3.การให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง
และ 4.การได้มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม
นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิก สปช. ในฐานะรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง และอดีต ส.ว.นนทบุรี เป็นคนหนึ่งที่เตรียมแสดงความเห็นคัดค้าน และจะขอให้มีการแก้ไขใน 4 ประเด็นหลักดังกล่าว
ประเด็น "เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีมาจากบุคคลภายนอกได้" นายดิเรก เห็นว่า ผิดหลักการ และระบบการเมืองทั้งโลกที่มีอยู่ 3 ระบบคือ 1.ระบบควบอำนาจ 2.ระบบแบ่งแยกอำนาจ และ 3.ระบบผสม ซึ่งทุกระบบให้ความสำคัญกับพี่น้องประชาชน เพราะประชาชนมีหน้าที่ที่ต้องเลือกผู้ปกครองของเขาเอง
เมื่อคนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ประชาชนไม่ได้เลือกมาเอง แล้วเราไปบอกว่าเราให้อำนาจประชาชนนั้นเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ เพราะรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ทุกฉบับในมาตรา 2 ว่า ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 3 บัญญัติว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล
ฉะนั้นทุกคนพูดถึงอำนาจของประชาชน แต่กลับไม่ให้ประชาชนมีอำนาจในการเลือกผู้ปกครองของเขาเองจึงเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ เพราะอำนาจในกระบวนการปกครองในระบอบประชาธิปไตยมี 2 อย่างคือ 1.เลือกผู้ปกครองเอง และ 2.เมื่อเลือกแล้วมีสิทธิถอดถอน
ส่วนเหตุผลที่ว่าการเขียนบทบัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อป้องกันหากเกิดสถานการณ์ไปไม่ปกติ เช่น สถานการณ์ทางการเมือง เห็นว่าควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการตามเดิมคือมาจากการเลือกตั้ง แต่อาจจะไปเพิ่มในมาตราใดมาตราหนึ่ง อาทิ ในมาตรา 7 ที่เราอ้างมาตลอด เช่นเพิ่มว่า ในกรณีที่บ้านเมืองไม่ปกติ ไม่มีนายกรัฐมนตรี หรือมีนายกรัฐมนตรีแต่ไม่สามารถบริหารประเทศได้ ให้รัฐสภาเป็นผู้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะทาง
ดังนั้น ในประเด็นนี้ตนจึงไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เราต้องการให้ระบบรัฐสภามีความเข้มแข็ง ถ้าระบบรัฐสภาเข้มแข็งเราก็จะสามารถบริหารบ้านเมืองไปได้ แต่ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาตามที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้เขียนไว้ สิ่งที่เรากลัวอย่างยิ่งคือ "ความขัดแย้งจะเริ่มต้นใหม่" เหมือนดังเช่นที่มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 เกิดขึ้นมาจนกระทั่งนำไปสู่การรัฐประหาร ซึ่งเราไม่อยากเห็นอีก เพราะถ้าออกมาเป็นเช่นนี้ เมื่อเลือกตั้งเสร็จเรียบร้อยก็ต้องมีการแก้ไข และมีผู้ออกมาขัดขวางอีก
ประเด็นถัดมาคือ "ระบบเลือกตั้งที่ให้ใช้สัดส่วนผสมแบบประเทศเยอรมนี" นายดิเรก ตั้งคำถามว่าระบบเลือกตั้งที่ใช้อยู่ในปัจจุบันมีปัญหาอะไร มีการพูดกันว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม มีการซื้อสิทธิขายเสียง ถ้าเป็นเช่นนี้แสดงว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขาดคุณภาพ
“การแก้ระบบซื้อสิทธิขายเสียง ไม่ได้แก้ที่การมาสร้างระบบนั้นระบบนี้ เพราะแก้ไม่ได้ เรื่องนี้เกิดจากตัวคน ดังนั้น จึงต้องแก้ที่คน เมื่อเราไม่พัฒนาคน ไม่สร้างองค์กรหลักที่จะให้คนเป็นไปในกรอบที่ถูกต้องได้ เราจะเอาระบบอะไรมาใช้ก็แก้การทุจริตขายเสียงไม่ได้”
การที่เรานำระบบเยอรมนีมาใช้เราต้องการแก้ปัญหาอะไร ถ้าเราต้องการแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียง ระบบนี้คงแก้การซื้อสิทธิขายเสียงไม่ได้เพราะปัญหาไม่ได้เกิดจากระบบ แต่เกิดจากตัวคน ฉะนั้น ต้องแก้ที่คน ยิ่งเอาระบบเยอรมนีมาใช้ยิ่งไปกันใหญ่
ขอถามว่ามีคนรู้เรื่องนี้กี่คน ใน สปช.มีคนรู้เรื่องนี้กี่คน และอะไรที่เป็นระบบที่ยุ่งยากคนไทยก็จะไม่รับ ดังนั้น วิธีการเลือกตั้งต้องทำให้เป็นเรื่องที่ง่าย ชัดเจน ไม่ต้องคลุมเครือ ดังนั้น การแก้ปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงจะต้องแก้ที่คน
การที่ให้มีรัฐบาลผสมจะทำให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง ซึ่งถือว่าผิดหลักการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะหลักการร่างรัฐธรรมนูญในข้อที่ 3 ระบุว่า ต้องสร้างเสถียรภาพและประสิทธิภาพทางการเมืองให้แก่รัฐบาล ที่ผ่านมาเราเคยมีรัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสม แต่ก็ไปไม่รอด
ในประเด็นนี้เมื่อบวกกับประเด็นที่ "ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรค" หรือไม่ต้องปฏิบัติตามมติพรรคจะยิ่งไปกันใหญ่ พัฒนาการของพรรคการเมืองนั้น เกิดจากกลุ่มคนกลุ่มเล็กๆ หรือกลุ่มที่ไปรวมตัวกันทางการเมือง มารวมกันเป็นพรรคการเมือง
แต่ขณะนี้กลับร่างขึ้นมาเพื่อให้มีกลุ่มคนที่สามารถมาลงสมัครรับเลือกตั้งได้ ทำให้ย้อนถอยหลังกลับไป ซึ่งทำให้ระบบพรรคการเมืองเสีย ดังนั้น จึงควรจะปล่อยให้พรรคการเมืองเดินไปด้วยความเข้มแข็ง ขอถามว่าการให้ ส.ส.ไม่ต้องสังกัดพรรคจะสามารถแก้ปัญหาการซื้อเสียงได้หรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้นกลับจะยิ่งทำให้มีการซื้อเสียงมากขึ้น
สำหรับประเด็น "ที่มา ส.ว.ที่ให้มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม" หรือสรรหา นายดิเรก ระบุว่า ตามที่เคยยืนยันมาโดยตลอด อำนาจของประชาชนคืออะไร ฉะนั้น เมื่ออำนาจของประชาชนคืออำนาจในการเลือกผู้ปกครอง ก็มีอำนาจในการถอดถอน ดังนั้น ถ้าวุฒิสมาชิกมีอำนาจในการถอดถอนรัฐบาล หรือบุคคลอื่นๆ ทั้งที่มาจากการสรรหาของคนไม่กี่คน ถามว่าถูกหรือไม่
การใช้คำว่า "เลือกตั้งทางอ้อม" เห็นว่าการเลือกตั้งก็ต้องให้ประชาชนเป็นผู้คัดเลือก การใช้อำนาจเหล่านี้ไปถอดถอนคนที่ประชาชนเลือก เป็นเรื่องที่ถูกหรือไม่ ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะมี ส.ว.สรรหาไม่ได้ แต่เมื่อมีแล้วก็ไม่ควรให้ใช้อำนาจไปถอดถอนใครเช่นนี้ แต่การมี ส.ว.สรรหาก็ควรให้ดูเรื่องกฎหมาย หรือเป็นที่ปรึกษาเพียงอย่างเดียว ดังนั้น จึงไม่เห็นด้วยในเรื่องนี้มาโดยตลอด
“เวลานี้ประเด็นหลักๆ ตามที่พูดมา เป็นประเด็นที่สังคมมอง และเสนอแนวคิดไม่เห็นด้วย ก็อยากให้รับฟังบ้าง เพราะทุกอย่างเราอ้างประชาชน ฉะนั้นก็ต้องรับฟัง ไม่ใช่รับฟังและปล่อยไปเฉยๆ แบบนั้นก็ไม่ถูก ดังนั้น ต้องฟังแล้วแก้ไขกันไป ถ้าออกรัฐธรรมนูญแล้วไม่เป็นที่ยอมรับในเบื้องต้นสังคมก็จะเดินไปไม่ได้ รัฐธรรมนูญคือสัญญาประชาคม”
รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง ยังกล่าวถึงที่มีการพูดเรื่องสืบทอดอำนาจ ซึ่งเห็นได้จากการให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยมีคณะกรรมการในสัดส่วนมาจาก สปช.และ สนช.รวมอยู่ด้วย ขอออกตัวไม่วิจารณ์ในเรื่องการสืบทอดหรือไม่สืบทอดอำนาจ แต่เห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญที่ออกไปในกรอบของความไม่ถูกต้อง จะเพิ่มความขัดแย้งขึ้นมา และจะไม่ได้ประโยชน์อะไร ไม่อยากให้เกิดวัฏจักรแห่งการปฏิวัติรัฐประหารอีก
"ร่างรัฐธรรมนูญผมเห็นว่ายังมีประเด็นที่ต้องแก้ไขอีกหลายประเด็นโดยเฉพาะประเด็นเรื่องที่มาของอำนาจทั้งหลาย ซึ่งถือเป็นงานหลักของการเมืองการปกครองประเทศ อย่างไรก็ดีหลังจากการพิจาณาของ สปช. ร่างรัฐธรรมนูญก็จะเข้าสู่การรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ซึ่งเราก็ต้องรับฟังความเห็นเขาบ้าง ไม่ใช่เราบอกว่าเราจะให้อำนาจประชาชน แต่ในประเด็นหลักๆ เรากลับไม่ให้อำนาจเขา"
ส่วนข้อถกเถียงการ "ทำ-ไม่ทำ" ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายดิเรก เห็นว่า เรื่องทำประชามติเราเห็นด้วยมาแต่ต้นแล้วว่า ถ้าจะให้สมบูรณ์เมื่อร่างแล้วควรให้ประชาชนลงประชามติ แต่ก็มีผู้ออกมาให้เหตุผลว่า ต้องดำเนินการตามโรดแม็พ โดยจะต้องเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ซึ่งถ้าเราต้องการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด และไม่ทำประชามติก็ควรทำประชาพิจารณ์โดยเฉพาะในประเด็นหลักๆ ซึ่งต้องทำให้ชัดเจน และฟังเสียงประชาชน
"ฉะนั้นเวลานี้ผมก็ยังยืนยันว่า ถ้าไม่ได้รับฟังความเห็นประชาชน ไม่ได้ทำประชาพิจารณ์ ก็ควรจะต้องทำประชามติเพื่อถามความเห็นว่า คนทั้งประเทศมีความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างไร"
----------------------
โฟกัสเจตนารมณ์ "4 ปมร้อน"
เป็นที่แน่นอนแล้วว่า การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่ออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้มีขึ้นระหว่างวันที่ 20-26 เมษายนนี้ และขณะมีสมาชิก สปช.หลายคน โดยเฉพาะ "กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง" ที่จัด "เวิร์กช็อป" เตรียม "ชำแหละ" ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะ 4 ประเด็นร้อนที่ไม่เห็นด้วยกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ประเด็นแรก คือ การเปิดโอกาสให้มี "นายรัฐมนตรีคนนอก" โดยเจตนารมณ์ของ กมธ.ยกร่างฯ คือ ต้องการแก้ปัญหาในอดีตที่ผ่านมาเช่น สถานการณ์การเมืองครั้งล่าสุดที่รัฐบาลประกาศยุบสภา แต่ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ จนมีการเรียกร้องให้มีการนำ "มาตรา 7" ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ระบุว่า “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” มาใช้
ทั้งนี้ หากมีนายกฯ มาจากคนนอก จะต้องเกิดสถานการณ์พิเศษ หรือวิกฤติที่หาทางออกไม่ได้ แต่กระนั้นยังมีอีกหนึ่งประเด็นที่ยังคงต้องหาข้อสรุปที่ชัดเจนนั่นคือ การกำหนดนิยามคำว่า “วิกฤติที่หาทางออกไม่ได้” ว่าจะต้องเป็นสถานการณ์ใด
นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ บอกว่า หากจะมีการเปลี่ยนแปลงในส่วนนี้ อาจใช้วิธีกำหนดให้นายกฯ คนนอก มีวาระสั้นกว่าปกติ คือ 2 หรือ 3 ปี
ประเด็นที่สอง การใช้ระบบเลือกตั้งแบบ “เยอรมันโมเดล” หรือ ระบบสัดส่วนผสม คือ การให้ประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคแล้วคิดคะแนนทั้งประเทศเป็นเปอร์เซ็นต์ ก่อนนำมาคำนวณสัดส่วนจำนวน ส.ส.ที่พรรคจะได้รับ กมธ.ยกร่างให้เหตุผลว่า หากใช้ระบบนี้จะได้รัฐบาลผสมที่มาจากหลากหลายพรรคการเมือง และจะเป็นการเปิดโอกาสให้พรรคเล็กและขนาดกลางมีโอกาสมากขึ้นต่างจากเดิมคือ ให้สิทธิพรรคที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาล
กมธ.ยกร่างฯ บอกว่า ข้อดีของระบบนี้ทำให้พรรคการเมืองได้ ส.ส.ตามความนิยมของประชาชาชน อีกทั้งระบบนี้จะเป็นการป้องกันไม่ให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากเกินไป จนไม่สามารถตรวจสอบได้
ส่วนประเด็นถัดมาคือ การเปิดช่องให้ ส.ส.ไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรคการเมือง ซึ่งต่างจากเดิมที่ก่อนจะสมัคร ส.ส.ได้ต้องสังกัดพรรคเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 30 วัน ถึงลงเลือกตั้งได้
กมธ.ยกร่างฯ ให้เหตุผลว่า การที่ ส.ส.ไม่สังกัดพรรคจะทำให้ส.ส.มีความเป็นอิสระในการทำหน้าที่ และการออกเสียงในสภา หรือเสนอกฎหมายโดยปราศจากการควบคุมหรือรอมติจากพรรค
ขณะที่มุมมองทางฝั่งที่ไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้นั้น หากย้อนกลับไปดูเมื่อครั้งที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองทุกพรรคเข้าให้ความเห็น ทุกพรรคต่างเห็นไปในแนวทางเดียวกันว่า การที่ ส.ส.ไม่สังกัดพรรคจะส่งผลให้เกิดการซื้อตัว ส.ส.ในลงมติในประเด็นต่างๆ ได้ ซึ่งหากต้องการแก้ปัญหา ส.ส.ถูกบังคับโดยมติพรรค ก็ควรมีการกำหนดให้ ส.ส.แสดงสิทธิอิสระในการลงมติ หรือเสนอกฎหมายโดยไม่ต้องรอมติพรรค
ประเด็นที่สี่ "ส.ว.ทางอ้อม" จำนวน 200 คน โดยมีที่มาจากคณะบุคคล อาทิ อดีตนายกรัฐมนตรี ประธานรัฐสภา ประธานศาลฎีกา ข้าราชการ ผู้แทนองค์กรวิชาชีพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ปราชญ์ชาวบ้าน โดยใช้วิธีเลือกกันเอง
การได้มาซึ่ง ส.ว.เช่นนี้ถูกขนานนามว่าเป็น “ส.ว.ลากตั้ง” จนทำให้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ต้องออกมาชี้แจงว่า การคัดเลือก ส.ว.ประเภทนี้ไม่ใช่ ส.ว.ลากตั้ง เพราะจะมาจากบุคคลที่มีความหลากหลาย โดยเฉพาะในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิและคุณธรรมด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมาย กระบวนการยุติธรรม รวมไปถึงด้านสังคม ชาติพันธุ์ ปราชญ์ชาวบ้าน และจะต้องผ่านการสรรหาของคณะกรรมการสรรหา ก่อนที่จะนำเสนอบัญชีรายชื่อให้สมัชชาพลเมืองพิจารณาคัดเลือก
ขณะที่ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เคยออกมาแถลงถึงประเด็น ส.ว.ทางอ้อมว่า การเลือกตั้งโดยตรงไม่จำเป็นต้องเป็นฐานของประชาธิปไตยเสมอไป การเลือกตั้งทางอ้อมโดยวิธีอื่นอย่างของอังกฤษ หรือแคนาดา ก็ใช้วิธีการสรรหาหรือแต่งตั้ง แต่เราคำนึงถึงหลักการมีส่วนร่วมทางการเมืองของทุกฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ในความเห็นอีกมุมหนึ่งกลับมองว่า การได้มาซึ่ง ส.ว.เช่นนี้จะไม่ยึดโยงกับประชาชน เพราะแม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะนำรายชื่อให้สมัชชาพลเมืองพิจารณา แต่ที่มาของ ส.ว.ประเภทนี้ก็ยังมาจากการคัดเลือกของบุคคลเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น นอกจากนี้การได้มาซึ่ง ส.ว.เช่นนี้จะเป็นการลดอำนาจประชาชน เพิ่มอำนาจอดีตข้าราชการของรัฐเข้ามาในสัดส่วนของ ส.ว.สรรหา
นอกจากนี้ ยังมีคำถามตามมาเกี่ยวกับอำนาจในการถอดถอนว่า การให้ ส.ว.ที่มีจากการสรรหาของคณะบุคคลบางกลุ่มมีอำนาจในการถอดถอน ส.ส. ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือไม่
จากนี้ไปคงต้องรอติดตามการอภิปรายของสมาชิก สปช. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 เมษายน และจับตาดูว่าหลังจากนั้น กมธ.ยกร่างฯ จะมีการปรับเปลี่ยนแก้ไขในประเด็นใดบ้างหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น