านชัด-อ่านครบ กด ดูเวอร์ชั่นสำหรับเว็บ (ด้านล่าง)
เรื่องใหม่น่าสนใจ (ทั้งหมด ที่ )
(เนื้อหา-ข้อสอบ 1,000 ชุุด หมื่นข้อ ภาค กข
+ 40 วิชาเอก) ที่ ห้องสอบด้านขวา หรือ
เว็บฟรีข้อสอบ 1,000 ชุด ที่ ติวสอบดอทคอม คลิ๊ก www.tuewsob.com
-กำหนดการสอบครูผู้ช่วย กรณีพิเศษ และ ปกติ ปี 2560
-คู่มือ 4 ชุด นโยบาย บริบริหาร ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
( คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้
( คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้
ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2560
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
กล่าวในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย
วันศุกร์ที่ 17 มีนาคม 2560 เวลา 20.15 น.
สวัสดีครับ
พ่อแม่พี่น้องชาวไทยที่รักทุกท่าน
ช่วงนี้ ประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว อุณหภูมิสูงขึ้นทุกวัน
เมื่อวานก็ประมาณ 36 องศา ถึงแม้ว่าอากาศจะร้อน ผมก็อยากให้ทุกคนใจเย็น ๆ ไม่ใช้อารมณ์ฉุนเฉียวในการแก้ปัญหา ผมเองก็ด้วย ก็ต้องแก้ไขตัวเอง
ปรับปรุงตัวเอง เพราะว่าวันนี้ในท้องถนน ในการทำงาน หรือแม้กระทั้งที่บ้านย่อมมีเรื่องที่ไม่ค่อยได้ดั่งใจ
อาจจะมีการกระทบกระทั่งกันอยู่บ้าง ด้วยคำพูด ด้วยการกระทำ ขอให้ทุกคนได้มีสติ
รู้จักให้อภัยกัน อย่าใช้ความรุนแรงตัดสินปัญหา
บางอย่างก็เกิดจากความไม่เข้าใจ หรืออาจจะเกิดจากความหวังดี ไม่เข้าใจเจตนา
ก็ขอให้อดทนฟังกันให้มาก แล้วร่วมกันคิดว่าเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร
ถ้าหากตัวเราตั้งแง่ใส่กัน ค้านทุกอย่าง เปิดใจให้กว้างขึ้นน่าจะดีกว่า
สิ่งที่เกิดเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูร้อนก็คือ
การลืมเด็กไว้ในรถจนเสียชีวิต หรือการจมน้ำตายของลูกหลาน ที่ลงไปเล่นน้ำเหล่านี้ ผมยกเป็นตัวอย่างขึ้นมาเตือนไว้ก่อน อยากให้ทุกคน
ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถตู้รับส่งนักเรียน ผู้ปกครอง พ่อแม่ ผู้คนรอบข้าง ได้สังเกตและดูแลซึ่งกันและกัน ให้เด็กๆ
ของเรานั้นอยู่ในสายตา โดยผู้ใหญ่ก็ต้องไม่เผลอเลอ ไม่ประมาท
ในภาพรวมของประเทศ สิ่งที่มากับฤดูร้อนนี้คือภัยแล้ง ก็คู่กับประเทศไทยมายาวนานโดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่นอกเขตชลประทาน
หรือแม้กระทั่งในเขตชลประทานที่ดูเหมือนจะมีน้ำมากเก็บกักน้ำไว้ได้ แต่ก็ไม่มากนัก
ระบบส่งกระจายน้ำที่ยังไม่สมบูรณ์ มีทั้งสร้างไม่เสร็จ สร้างไม่ได้
หรือประชาชนไม่ยินยอมให้ทางผ่าน และอีกเรื่องคือปัญหาหมอกควัน
ในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ และจากประเทศเพื่อนบ้าน
ซึ่งเราได้มีการหารือร่วมกันว่าจะแก้ปัญหาโดยรวมอย่างไรในภูมิภาค
เหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาที่แก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการสั่งการครั้งเดียว วันเดียว เดือนเดียว
ปีเดียว เพราะว่าประกอบไปด้วยคนหลายส่วน แล้วหลายพื้นที่
มีปัญหาทั้งทางด้านการปฏิบัติ ทางด้านกฎหมาย
เพราะฉะนั้นเราต้องหาวิธีการร่วมมือกันให้ได้ในพื้นที่
แล้วต่างพื้นที่ไปด้วยกัน นอกประเทศก็หารือกันเรื่องหมอกควัน
เรื่องน้ำเราได้มีการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านเรา
ทำอย่างไรเราจะมีน้ำเพิ่มขึ้นช่วยกัน ซึ่งเป็นเรื่องของการพูดคุยกับประเทศเพื่อนบ้านที่เขาเป็นเจ้าของแม่น้ำระหว่างประเทศ
บางพื้นที่ด้วย ภัยพิบัติเหล่านี้เราสามารถจะป้องกันหรือให้ทุเลาเบาบางลงได้
ทั้งนี้ก็ด้วยมาตรการต่าง ๆ ของรัฐ ที่เราได้พยายามวางรากฐานไว้ให้แล้ว
ก็ขอแต่เพียงช่วยเชื่อฟังคำแนะนำของเจ้าหน้า ที่ ของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่
และในส่วนกลาง แล้วร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปัญหาต่าง ๆ
เหล่านี้จะไม่ลุกลามใหญ่โต
ในการทำงานเพื่อบรรเทาสาธารณภัยนั้น มีพลังมวลชนกลุ่มหนึ่ง
ที่ถูกจัดตั้งโดยใช้กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี เป็นกลไกในการสร้างพลังเยาวชน เป็นหน่วยลูกเสือราชประชานุเคราะห์ ในโรงเรียนราชประชานุเคราะห์
58 แห่ง ทั่วประเทศ ซึ่งผมเห็นว่าศาสตร์พระราชา นี้
นอกจากจะช่วยให้เด็กนักเรียน ทำตัวไม่เป็นภาระของพ่อแม่แล้ว
ก็ยังทำให้มีความสามารถในการช่วยเหลือตัวเองและผู้อื่น ในสถานการณ์ต่าง ๆ
ได้อีกด้วย อาทิเช่น ที่ผ่านมาช่วงปลายปีที่แล้วก็เกิดอุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้
หน่วยลูกเสือราชประชานุเคราะห์ก็ได้ปฏิบัติหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย
โดยเป็นกำลังสำคัญในการจัดอาหารประกอบเลี้ยงและแจกจ่ายให้แก่ผู้ประสบภัย
รวมถึงขนย้ายสิ่งของ และทำความสะอาดบ้านเรือนของผู้ประสบภัยหลังน้ำลด
ก็ขอให้ระมัดระวังด้วย อย่าเอาคนส่วนนี้ไปอยู่ในพื้นที่ที่มีอันตราย
ทั้งนี้ผมอยากให้พวกเราช่วยกันสร้างจิตสำนึก อุดมการณ์ เผื่อแผ่ แบ่งปัน
จิตสาธารณะด้วย
สำหรับคุณสมบัติของหน่วยลูกเสือราชประชานุเคราะห์ ได้แก่
การเป็นคนดีมีคุณธรรม มีระเบียบวินัย มีความสามัคคีและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ที่สำคัญคือมีจิตอาสา
มีจิตสาธารณะ พร้อมที่จะทำประโยชน์หรือบรรเทาสาธารณภัยให้แก่ส่วนรวม
ผมเห็นว่าเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับเยาวชนรุ่นใหม่
อยากให้เป็นแบบอย่างให้กับเยาวชนและกลุ่มพลังอื่น ๆ อาทิเช่น นักศึกษาอาชีวะ
ที่ผมก็ถือหรือเชื่อว่ามีศักยภาพอยู่แล้วมากมาย หากได้รับการสนับสนุนเพิ่มเติม
ให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ อีกด้วย ที่สร้างสรรค์ เพื่อสังคม เพื่อส่วนรวม
ในช่วงปิดภาคเรียน เราก็จะลดปัญหาต่าง ๆ ไปได้อีกมากมาย อาทิ เช่น งานจราจร
งานรักษาความสะอาด งานมัคคุเทศก์ งานซ่อมแซมรถยนต์ รถจักรยานยนต์
งานซ่อมแซมบ้านเรือน จากพายุฤดูร้อน หรืองานจิตอาสาอื่น ๆ เป็นต้น
ก็จะช่วยให้ประเทศไทยของเรานั้นมีพลเมืองดี มีพลังบริสุทธิ์ที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่
และพร้อมที่จะช่วยกันพัฒนาประเทศ ก็ขอให้ทั้งภาครัฐ
ภาคเอกชนช่วยกันดูแลเยาวชนเหล่านี้ด้วย เอาไปร่วมงานกันในช่วงปิดเทอมเพื่อสังคม
พี่น้องประชาชนทุกท่านครับ
บันได 3 ขั้นสู่ความสำเร็จ เราทราบดีอยู่แล้วก็คือ คิด พูด แล้วก็ทำ เราต้องทำอย่างไรให้ครบวงจร
ปัญหาใหญ่ปัญหาเล็ก เราจะแก้ไปพร้อม ๆ กันได้หรือไม่
เพราะเป็นส่วนประกอบซึ่งกันและกัน แล้วจึงพูด แล้วปฏิบัติ คือ คิด พูด แล้วก็ทำ
ในสิ่งที่คิดไว้อย่างรอบคอบแล้วก็รัดกุม ถ้าต่างคนต่างคิด
ไม่รับฟังความคิดเห็นต่างเลยไม่คิดหาทางให้เกิดขึ้น ไม่ยอมกันอย่างเดียว
ถ้าไม่ตรงกับของตัวเองก็ไม่ยอม ไม่สามารถจะลงมือทำ
แล้วก็นำไปสู่ความสำเร็จได้อีกเลย ส่วนการพูด นั้น
ประเทศชาติของเราวันนี้ ต้องการการพูดที่สร้างสรรค์ เพื่อให้เกิดความรู้
ให้เข้าใจกัน จะได้ร่วมกันพัฒนาประเทศ ด้วยปัญญา ด้วยเหตุผล
ดังนั้น การพูด การนำเสนอในสิ่งดี ๆ
เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะการเสพสื่อทุกชนิด หรือเสพข้อมูลข่าวสาร
ก็เหมือนกับคนเรานั้นกินอาหาร เพราะปกติอาหารก็คือสิ่งที่เป็นประโยชน์
บำรุงร่างกาย มีพลังงานไปทำงาน แต่ถ้ากินแต่อาหารไม่ดี อาจจะอร่อยถูกปาก
แทนที่จะให้คุณ ก็อาจจะกลับกลายเป็นโทษ
ทำลายสุขภาพด้วยและถ้าหากเปรียบประเทศของเราคือร่างกาย
ประชาชนต่างสาขาอาชีพก็คงเป็นอวัยวะ ที่ต่างคนต่างมีหน้าที่ และต้องทำงานประสานสอดคล้องกัน
สื่อมวลชนก็เหมือนกัน ก็เป็นส่วนหนึ่งของอวัยวะเหล่านี้ด้วย มีความ สำคัญ
ในการให้ความจริงที่เป็นความรู้ แต่ถ้าเราให้โดยไม่รู้ เป็นความเท็จ ก็เป็นอวิชชา นอกจากไม่สร้างการรับรู้ความรู้ที่ดีแล้ว ก็ยังนำไปสู่ความเข้าใจผิด
และความขัดแย้งในที่สุด
ที่ผ่านมานั้นเราคงโทษใครไม่ได้ แต่อยากให้สติทุกคน
แล้วขอร้องสื่อว่าควรเสนอข่าวด้วยความระมัดระวัง ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริงเท่านั้น
อย่าสร้างประเด็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้ง
ไม่เช่นนั้นการที่เราส่งเสริมให้ประชาชนช่วยกันร่วมมือกันไม่เกิด ถ้าทุกคนร่วมมือกัน
ช่วยกัน ช่วยตัวเองบ้าง ก็จะลดภาระของรัฐบาลลงแล้วก็จะเร็วขึ้นด้วย
เราจะได้ใช้งบประมาณอย่างทั่วถึง สร้างสภาวะแวดล้อมของการลงทุน
ความไว้เนื้อเชื่อใจ เพื่อจะเพิ่มอาชีพรายได้ให้กับประชาชนให้มากยิ่งขึ้น
ทุกกลุ่มทำให้ถูกวิธี บางอย่างอาจค่อยเป็นค่อยไป อย่าสร้างความคิดที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านของประเทศไทยติดขัด
เป็นอุปสรรคเพราะความไม่รู้ ความไม่เข้าใจหรือจะด้วยเจตนา หรือไม่เจตนาก็ตาม
เพราะสิ่งที่เราทุกคนรวมทั้งรัฐบาลและ คสช. คาดหวังก็คือ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”
ผมขอร้องอีกครั้งบรรดาบุคคล กลุ่มบุคคล ที่พยายามหรือเจตนาจะบิดเบือนการทำงานของรัฐบาลและ
คสช. โดยจับเอาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือบางเรื่อง เรื่องส่วนตัว มาทำให้สังคมสับสน
อลหม่านไปหมด ทั้งนี้ก็เพื่อประโยชน์ของตน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต
คนกลุ่มเหล่านี้ยังมีอยู่ ก็ขอร้องให้ยุติได้แล้ว ประชาชนช่วยกันตัดสินใจว่าเราจะให้คนเหล่านี้อยู่สร้างความเดือดร้อน
ให้กับประเทศชาติต่อไปหรือไม่ ทั้งนี้
ผมอยากให้ทุกคนแสดงความคิดเห็นอันเป็นประโยชน์ ผมรับฟังทุกคน ทุกฝ่าย
โดยไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย จะทำให้ก่อเกิดความเสียหายต่อส่วนรวมกับประเทศชาติในที่สุด สื่อโซเชียลมีเดียก็ขอให้พยายามเข้าใจรัฐบาลและ คสช. ด้วย
ทุกคนก็อยากให้ประเทศไทยดีขึ้น ผมไม่ต้องการให้ทุกคนมาช่วยเชียร์ผม อะไรต่าง ๆ ผมไม่ต้องการก็ขอให้ข่าว หรือเสนอข่าวโดยใช้ข้อเท็จจริง
แล้วอะไรที่จำเป็นต้องให้ประชาชนเรียนรู้ ก็ขอให้ข้อมูลเขาด้วย
อะไรที่เป็นเรื่องจริงที่ต้องชี้แจงในการปฏิบัติ อะไรกำลังทำอยู่
อะไรที่ยังไม่ได้ทำ เพราะอะไร
เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เราต้องสร้างหลักคิดให้กับประชาชนนะครับ
ปูพื้นฐานให้เขา ให้เขาคิดเป็นทำเป็น พูดเป็น หลายอย่างจำเป็นต้องทำ วันนี้
เช่นน้ำ เช่นเกษตร หลายอย่างก็ทำไม่ได้ ติดขัดทั้งหมด หลาย ๆ อย่างติดขัดเรื่องที่จำเป็นต้องทำก่อน
ก็ทำไม่ได้ ไม่ต่อเนื่อง เพราะว่าถ้าเราทำไม่ได้ประโยชน์ก็ไม่เกิดกับใครทั้งสิ้น
ส่วนรวมไม่ได้ ส่วนน้อยก็ไม่ได้ ตัวเองก็ไม่ได้ เพราะคัดค้านกันไปซะหมด
การกระทำใด ๆ ต่างๆ ก็ตามที่ดี รัฐบาลพร้อมจะสนับสนุนอย่างเต็มที่ แต่ถ้าเป็นการทำผิดกฎหมาย
ไม่ว่าจะในอดีต หรือปัจจุบัน รัฐบาลและ คสช. พยายามใช้กฎหมายปกติ
อำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระ กระบวนการยุติธรรม เป็นผู้ดำเนินการ
เราไม่ได้มุ่งหวังจะใช้มาตรา 44 ไปใช้ด้วยเจตนาร้าย บางอย่างจำเป็น
บางอย่างไม่จำเป็น ก็ขอให้ทุกคนได้เข้าใจว่าเราทำเพื่อให้เกิดการบูรณาการ
แล้วก็นำเข้าทุกอย่างเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมใช้กฎหมายปกติเท่านั้น
เช่นกรณีธรรมกาย รัฐบาลและ คสช.
ก็ได้พยายามดำเนินการทุกมาตรการ ด้วยความระมัดระวัง รอบคอบ เพื่อยุติปัญหา
และรักษากระบวนการยุติธรรมของประเทศ ไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรง ไม่ได้ทำตามอำเภอใจ
หรือทำตามความรู้สึก เพราะว่าสถาบันศาสนา นั้นเป็นหนึ่งในสถาบันหลักของชาติ
การใช้มาตรา 44 นั้นมีความจำเป็นทั้งนี้เนื่องจากกฎหมายปกติถูกละเมิด
แล้วก็มีการใช้ “กฎหมู่” กฎหมายอื่น ๆ ก็มีเช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน กฎอัยการศึก
ก็จะรุนแรงเกินไป เพราะใช้แล้วก็ต้องใช้อย่างเต็มที่ อาจจะเกินกว่าเหตุไปเกินไป
เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ หรือเรื่องใหญ่ก็กลายเป็นใหญ่มาก
เพราะความมุ่งหมายก็เพื่อจะตรวจค้น นำตัวผู้กระทำความผิดและก็มี “หมายจับ” ของศาลมาดำเนินคดีตามกฎหมายนะครับ ถ้าไม่ผิดก็คงไม่มีหมายศาลไปจับ
ไปย้อนดูตรงโน้น ไม่ใช่รังแกใครทั้งสิ้น
สำหรับ การใช้ พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ และกฎ มส. นั้น
ก็เพื่อจะให้ผู้ปกครองคณะสงฆ์ และหน่วยงานด้านความมั่นคงได้ทำงานร่วมกัน
และให้การดำเนินการต่าง ๆ ในวัดพระธรรมกายเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สุดท้ายการใช้พระธรรมวินัย ที่เรียกว่าวินัยของพระ เราก็จะต้อง
มาพิจารณาความถูกผิด ในเรืองของคำสอน ในเรื่องของพิธีกรรม พิธีการ การบริจาคเงิน การบริหารกิจการของวัด
รวมทั้งการปฏิบัติตนของพระสงฆ์ในวัดพระธรรมกาย ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร
และที่ถูกต้องคืออะไร เราจะได้ตอบข้อสงสัยของประชาชนไปด้วย
โดยเฉพาะพุทธศาสนิกชนอื่น ๆ อีกด้วย ที่นับถือพุทธศาสนาเป็นจำนวนมากเกิน 90
กว่าเปอร์เซ็นต์ เกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ในประเทศไทย ผมเข้าใจว่าทุกคนก็มีความเชื่อ
มีความศรัทธาที่ไม่เหมือนกันเปอร์เซ็นต์ แต่หลักธรรมคำสอนอยู่ตรงไหน ตรงนั้นเป็นสิ่งสำคัญ
แล้วก็ไม่อยากให้ทุกอย่างนั้นบิดเบือนไปสู่ในเรื่องของการแสวงหาผลประโยชน์เราต้องทำให้เกิดความชัดเจน
เรื่องอื่นก็มีที่วัดอื่น พระอื่น ๆ ก็มีที่ทำผิดวินัยจำนวนมาก
ก็ขอให้ทุกคนได้ช่วยกันสอดส่อง แล้วแจ้งหน่วยราชการหรือแจ้งเจ้าคณะ ให้มีการสอบสวนลงโทษ
เอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ว่า อันอื่นก็มี ทำไมจะต้องมาทำที่วัดธรรมกาย
ผมว่าพูดแบบนี้ไม่ได้ เราต้องการทำทุกที่ เพราะฉะนั้น
ตรงไหนมีความรุนแรงก็อาจจะต้องทำก่อน แต่ที่อื่นก็มีความจำเป็นต้องทำ
ขอฝากให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ได้ติดตาม แล้วทำให้เป็นที่เคารพและศรัทธา
เชื่อมั่นของประชาชนที่เป็นพุทธศาสนิกชนให้มากที่สุด
อีกประเด็นที่สังคมให้ความสนใจคือ
กรณีการประเมินภาษี จากการขายหุ้นกลุ่มชินคอร์ป ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกฎหมาย
เพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับประชาชนและประเทศชาติ ก็ไปดูกันว่าหลักการคืออะไร
หลักการที่ฝ่ายกฎหมายเขาประชุมร่วมกันมาก็สรุปว่าต้องดูก่อนว่าเป็นการโอนและซื้อขายหุ้น
ที่กระทำโดยสุจริตหรือไม่ เพราะที่ผ่านมานั้นศาลฎีกาเคยตัดสินแล้วว่า
มีการโอนกันหลายทอดมีเจตนาที่แยบยล แสวงประโยชน์จากช่องว่างของกฎหมาย
จนมีผลกำไรทุกแล้วก็วันนี้สังคมเองก็เชื่อว่าไม่สุจริต เพราะเป็นการเลี่ยงภาษี
อีกประเด็นคือ
การใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ส่วนตัว ทำให้ประเทศชาติเสียรายได้
ในขณะที่อยู่ในตำแหน่ง มีอำนาจ มีหน้าที่ต้องรักษากฎหมาย
รักษาผลประโยชน์ของชาติโดยรวมนั้น จึงต้องมีคุณธรรม จริยธรรมมากกว่าบุคคลทั่วไป
ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นสมควรแล้วหรือไม่ก็ไปพิจารณากันมา เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม
ต่อสู้กันให้ถูกต้อง
เรื่องที่ 2 ถ้าหากว่า เราพบว่าไม่สุจริตแล้ว ก็ต้องสร้างมาตรฐานเดียวคือ
การบังคับใช้กฎหมายตามปกติ เหมือนกับนิติบุคคลอื่น ๆ ที่มีการซื้อขายหุ้น
แล้วต้องเสียภาษี ตามกฎหมาย โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้ง
สตง. ปปช. ปปง. ปปท.
และกรมสรรพากร กระทรวงการคลังไปหารือกัน และศึกษาข้อเท็จจริงโดยรายละเอียด
เรื่องที่ 3 การดำเนินการในเรื่องนี้มีความอ่อนไหว จะต้องมีความโปร่งใส
เป็นธรรม ไม่ขัดหลักนิติธรรม และผมไม่ให้ใช้มาตรา 44 ในการที่จะขยายเวลา
ขยายอายุความแต่ประการใด ยังคงเป็นกระบวนการยุติธรรมตามปกติ ในการประเมินภาษีจากเจ้าของหุ้นที่แท้จริง โดยตรง
ซึ่งถือว่าเป็นตัวการที่ย่อมต้องมีความผูกพันต่อการกระทำของตัวแทนด้วย
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังนั้นสิ่งที่เกิดตามมา คือ
(1) กรมสรรพากร
ต้องดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ตามกฎหมายต่อไป ได้แก่
การประเมินภาษีก่อนสิ้นเดือนมีนาคมนี้
(2) กระทรวงการคลัง
ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทุกขั้นตอน เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีให้กับหน่วยงานราชการอื่น
ๆ ต่อไป
(3) ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการของศาล
โดยผู้ถูกประเมินภาษี ก็ยังมีสิทธิ์อุทธรณ์ ภายใน 30 วัน เป็นวิธีการปกติ แล้วไปต่อสู้ในศาล
สุดท้ายการที่จะเรียกเก็บภาษีได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับศาล
ทุกอย่างต้องเกิดชัดเจนขึ้น รัฐบาลไม่สามารถจะช่วยใคร เข้าข้างใครได้ทั้งสิ้น
เพราะเป็นเรื่องของของกระบวนการยุติธรรมนะครับ แต่เมื่อได้ข้อยุติ มาแล้ว
ตัดสินออกมาแล้ว ทุกคนต้องเชื่อถือ เชื่อมั่น เคารพการตัดสินของศาล
จากทั้ง 2 กรณี รวมทั้งกรณีสินบนโรลสรอยซ์ นั้น
ผมไม่ได้มองเพียงว่า เราจะแก้ปัญหา หาคนมาลงโทษได้อย่างไรเท่านั้น
เราต้องสร้างความชัดเจนให้กับสังคมในปัจจุบันด้วย สิ่งที่ผมเป็นห่วงคือว่า
เหตุการณ์อย่างนี้จะทำอย่างไรวันข้างหน้าจะไม่เกิดขึ้นอีก
สิ่งเลวร้ายเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นอีกในสังคมไทย ไม่ตามมาหลอกหลอนพวกเรา
หรือรัฐบาลต่อ ๆ ไป บั่นทอนการพัฒนาประเทศของเรา อย่างน้อย
ผมอยากให้สังคมได้รับรู้ เข้าใจ และตระหนักดีในเรื่องของประเด็นปัญหาต่าง ๆ
เหล่านี้ เพื่อจะร่วมมือกัน ป้องกันที่ต้นเหตุ เหมือนกับอุบัติเหตุทุกอย่าง
แม้ว่าจะเกิดจากเหตุสุดวิสัย แต่เราก็สามารถป้องกันได้ถ้าไม่ประมาท
มีการเตรียมตัวให้พร้อมล่วงหน้า ดังนั้น ผมเชื่อว่าทุกปัญหามีทางออก
หากใช้ประชารัฐ ร่วมมือ ร่วมใจกัน
อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องการที่มีการกล่าวอ้างว่า
มีการแอบอ้างผลประโยชน์จากผมบ้าง จากรองนายกรัฐมนตรีบ้าง จากรัฐมนตรีบ้าง
แจ้งมาเลย ผมยินดี ผมยืนยันว่าผมไม่ได้ไปเรียกร้องอะไรกับใครทั้งสิ้น
เพราะฉะนั้นใครไปแอบอ้าง ไม่ว่าจะเรื่องส่วนตัว เรื่องผลประโยชน์ เรื่องใดก็ตาม
อย่าไปเชื่อเขา ผมยืนยันแทนท่านรองนายกรัฐมนตรี แทนรัฐมนตรีอื่น ๆ ด้วย แต่ถ้ามีส่งมาผมจะสอบสวนให้ อย่าเกรงใจผม ไม่ต้องเกรงใจ
ไม่อย่างนั้นทุกคนก็ไปกล่าวอ้างกันต่าง ๆ ไปหมด
จะเสียหาย เพราะผมเข้ามาเพื่อจะทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข
เรียบร้อย แล้วทำให้เกิดการบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม
ผมมีตัวอย่างความร่วมมือดี ๆ มาเล่าให้ฟัง ไม่ว่าพวกเราทุกคน รัฐบาลทุกรัฐบาล จะพยายามแก้ไขเพียงไหนนะครับ
ในการที่จะนำพาประเทศไปสู่วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน
แต่ถ้าเราไม่สามารถเอาชนะ ภัยเงียบจากการทุจริตคอร์รัปชั่นได้
ประเทศชาติก็ไม่อาจบรรลุเป้าหมายได้ วันนี้ ผมถือว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดี
ที่ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญ และร่วมมือกับภาครัฐ ประกอบด้วย
องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ประเทศไทย มูลนิธิเพื่อคนไทย
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เช้นจ์ เวนเจอร์
สภาธุรกิจตลาดทุนไทยและบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน 15 บริษัท ในการจัดตั้ง “กองทุนรวมธรรมาภิบาลไทย” สำหรับหาแหล่งทุน
เพื่อสนับสนุนการดำเนินของภาคประชาชนที่เกี่ยวกับธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชั่น
อันได้แก่
(1)
การรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญและเข้ามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของประเทศ
(2)
การรณรงค์ให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างรับผิดชอบต่อสังคม
ทำให้เกิดค่านิยมและวัฒนธรรมการทำการค้าที่ซื่อสัตย์
ไม่ร่วมมือกับคนโกงและไม่ยอมให้ใครโกงด้วย
(3) การแก้ปัญหาธรรมาภิบาลและการคอร์รัปชั่นในธุรกิจตลาดทุน
เพื่อจูงใจให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีการบริหารจัดการและดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส
เป็นต้น
ซึ่งเป็นครั้งแรกของประเทศ
และน่าจะเป็นครั้งแรกของโลก ที่ทุกภาคส่วนมีการลงขัน สร้างกลไก
กำหนดวิธีการในทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อป้องกันและเอาชนะการโกง
การทุจริตตั้งแต่ต้นเหตุ ต้องช่วยกัน
เริ่มกันตั้งแต่วันนี้ ประเทศชาติจะได้พัฒนา อย่างเต็มศักยภาพ
พี่น้องประชาชนที่รัก ครับ
เมื่อต้นสัปดาห์นี้
ธนาคารโลกได้รายงานเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาประเทศของไทย
โดยมีมุมมองว่าไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูง ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี
โดยระหว่างปี พ.ศ. 2503 ถึง พ.ศ. 2539 เศรษฐกิจไทยเจริญเติบโตดีต่อเนื่อง
เฉลี่ยที่ร้อยละ 7.5 แต่ในช่วงปี 2548 เป็นต้นมา ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจการเงินโลก
จนมาถึงปัจจุบัน อัตราการเติบโตลดลงเหลือเฉลี่ยประมาณร้อยละ 3.3 หลัก ๆ ก็เป็นผลมาจากความสามารถในการแข่งขันของประเทศที่ลดลง
อีกด้านหนึ่งคือไทยยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ เป็นปัญหาที่ยังคงแก้ไขได้ยาก
แล้วยังมีผู้มีรายได้น้อยอยู่อีกมาก
ปัญหาหลัก ๆ เหล่านี้ รัฐบาลปัจจุบัน คสช.
ได้เล็งเห็นแล้วก็พยายามเร่งแก้ไขอย่างเร่งด่วนเต็มความสามารถ ไม่ได้ทำมาตั้งแต่ปี
2548 ตามที่เขาวิเคราะห์มา หลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ในระยะสั้น
เราต้องพยายามวางรากฐานและมีการดำเนินการอย่างเต็มที่ ในรายงานของธนาคารโลกนี้
ได้เสนอแนะให้ประเทศไทยให้ความสำคัญกับการพัฒนา 4 ด้าน
เพื่อให้สามารถลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ เพิ่มความกินดีอยู่ดีของประชากร
ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศ ที่เรากำลังจัดทำอยู่ขณะนี้ ยุทธศาสตร์
20 ปี ที่รัฐบาล และ คสช. ได้เร่งดำเนินการในโครงการต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง
อันนี้ตรงกัน แสดงว่าเราเดินถูกเส้นทางแล้ว ตรงกับที่เขาคิดวิเคราะห์ แนะนำมา
ผมอยากจะมาเล่าสู่กันฟังให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่า
การดำเนินงานของภาครัฐ ได้สอดคล้องกับ 4 แนวทาง ที่ธนาคารโลกเสนอแนะ มีอะไรบ้าง
ผมพอจะเล่าให้เห็นเป็นตัวอย่าง การแก้ปัญหาหลายอย่างต้องใช้เวลา มากบ้าง น้อยบ้าง
หรือทำได้โดยทันที ในการปฏิรูปนั้นเราจำเป็นต้องมี Roadmap ทุกกิจกรรม
เพราะว่าเวลาเป็นตัวจำกัด งบประมาณด้วย เหล่านี้อยู่ในยุทธศาสตร์ทั้งหมด
ด้านแรก
คือประเทศไทยต้องเร่งสร้างงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้นธนาคารโลกแนะนำให้ปรับปรุงการเชื่อมโยงของโครงสร้างพื้นฐาน
เช่น ถนน ระบบราง ในภูมิภาคให้ดียิ่งขึ้น มีการส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน
ผ่านการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิต ด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ
และมีการสร้างนวัตกรรมเพื่อต่อยอดการใช้งาน และสร้างมูลค่าเพิ่ม
ซึ่งเป็นแนวทางที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนะครับ อันได้แก่
(1) การลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐาน เร่งการสร้างถนนโดยเฉพาะที่เป็นสายหลัก ที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ
รวมทั้งการเร่งสร้างระบบราง เช่น รถไฟรางคู่ หรือรถไฟความเร็วสูงที่จำเป็น
ให้เกิดขึ้นโดยเร็วอย่างเป็นรูปธรรมและโปร่งใส
นอกจากนั้นได้มีการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาท่าเรือ ท่าอากาศยาน เน้นให้สามารถเชื่อมต่อกันได้ง่ายนะครับ
แล้วเชื่อมโยงกับแหล่งผลิตอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุนการขนส่ง เพิ่มกำไร
เพิ่มรายได้ให้กับภาคธุรกิจด้วย
ในการทำในเรื่องนี้ จำเป็นต้องทำให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องด้วย
ไม่ใช่ว่าทำเฉพาะถนน หรือไม่ก็ทำเฉพาะท่าเรือแล้วจบแค่นั้น ไม่ใช่ ต้องสร้างธุรกิจต่อเนื่องเป็นพื้นที่
ถึงจะเกิดการสร้างงาน สร้างห่วงโซ่รายได้ ประชาชนมีรายได้น้อย
ก็มีงานทำได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านั้นด้วย
วันนี้ก็ติดอยู่หลายโครงการเหมือนกัน ต้องเข้าใจ ไม่เช่นนั้นไปไม่ได้
อยู่แบบเดิม โดยไม่แก้ไข ไม่ปรับปรุง ไม่เปลี่ยน แปลงเลยไปไม่ได้ทั้งหมด
ประเทศไทยเราเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านการเกษตร ก็ต้องทำทั้งเกษตรอุตสาหกรรม
และอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูง จะเสริมกันทั้งคู่ เลือกอันใดอันหนึ่งไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิ่งที่เรามีศักยภาพมีมากมาย
(2) การเร่งดำเนินการให้เกิดระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) หรือเขตเศรษฐกิจพิเศษให้เกิดขึ้นได้โดยเร็วนั้น
ก็เพื่อจะเสริมสร้างความเข้มแข็งของการผลิต
เพิ่มความเชื่อมโยงอย่างที่กล่าวไปแล้วระหว่างการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมขั้นต่าง ๆ
เรามีการเพิ่มการพิจารณาให้สิทธิประโยชน์ เพื่อจะช่วยดึงดูดการลงทุน วันนี้หลายประเทศแย่งกันเพื่อจะให้มีการลงทุนให้มากขึ้นในประเทศของตน
เราก็ต้องทำเหมือนกัน ทั้งนี้เพื่อจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
สร้างงานที่มีคุณภาพให้กับประเทศ เพื่อให้เกิดการพัฒนา
(3) สำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ทั้ง SMEs และ Startups ภาครัฐก็เร่งให้การสนับสนุน
ทั้งด้านสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ความช่วยเหลือด้านการเข้าถึงแหล่งเงินทุน
ที่มีหลายประเภทด้วยกัน
จากทั้งภาครัฐแล้วก็ในส่วนของแหล่งเงินทุนภายนอกหรือกองทุนชุมชนต่าง ๆ
ในพื้นที่ทั้งหมดก็เอามาขับเคลื่อน SMEs ด้วย อันนี้อาจจะต้องกล่าวถึงในเรื่องของการลดหนี้นอกระบบด้วย
ยกตัวอย่าง
มีพื้นที่ที่เป็นโครงการนำร่องได้ ที่ผมเห็นประธานกองทุนประจำพื้นที่
ของหนองสาหร่ายได้ใช้โครงการที่รัฐบาลได้นำไปสู่การแก้หนี้นอกระบบ
นำไปสู่การทำอย่างไรให้มีกองทุนของชาวบ้านในพื้นที่ของตัวเองที่หนองสาหร่าย
เพราะทุกคนมีหลักประกันก็คือความดีของทุกคนต้องทำเอาไว้ และถ้าทำความดีมาก ๆ
เขาก็ได้รับการพิจารณานะครับ อันนี้ผมอยากให้เป็นโมเดล
ในเรื่องของการดูแลตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง การลดหนี้นอกระบบ
อยากให้ทุกส่วนราชการไปติดตามดู เอาอันนี้เป็นโมเดลขับเคลื่อน
ได้โมเดลหนึ่งในการแก้หนี้นอกระบบ เชื่อมโยงกันทั้งหมด
วันนี้ความช่วยเหลือต่าง ๆ
ก็กำลังเข้ามาทั้งหมดในเรื่องของแหล่งเงินทุนทั้งบริษัท ห้างร้าน
ภาคธุรกิจขนาดใหญ่มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือ อาทิเช่น การจัดตั้งบริษัท
ประชารัฐรักสามัคคีทุกจังหวัด เพื่อสนับสนุนให้บริษัทเหล่านี้สร้างนวัตกรรม
นำไปใช้ในการเพิ่มผลผลิตอุตสาหกรรม และบริการใหม่ ๆ เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับประชาชน
ธุรกิจ และประเทศชาติโดยรวม
ด้านที่สอง คือไทยควรสนับสนุนผู้มีรายได้ต่ำสุด ร้อยละ 40 ของประชากร
ด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและเพิ่มทักษะให้กับกำลังแรงงานทั้งระบบ
การเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตร และการสร้างระบบคุ้มครองทางสังคมที่เข้มแข็งกว่าเดิม ซึ่งเป็นอีกด้านที่รัฐบาลและ คสช. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยได้มีการ
(1)
วางยุทธศาสตร์ในการจัดทำแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี ก็เปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์
โดยได้รับการอนุมัติจาก ครม. ไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ก็มุ่งสนับสนุนให้คนไทยมีโอกาสแสวงหาความรู้ในทุกช่วงวัยอย่างเต็มศักยภาพ
และสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดชีวิต เพิ่มทักษะ
มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้สามารถปรับตัวเข้ากับภาวะแวดล้อมใหม่ๆ ได้
ไปดูรายละเอียดมีมากมาย มีหลายกิจกรรม
(2) การสนับสนุนการทำเกษตรแปลงใหญ่
ทั้งนี้เพื่อจะลดต้นทุนการเพาะปลูก นำเทคโนโลยีใหม่
ๆ มาปรับใช้ เช่น ใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการวางแผนการผลิต รวมทั้งโครงการประชารัฐ สนับสนุนให้มีการเพิ่มผลิตภาพ
เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเกษตร เพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้
(3)
การยกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนผู้มีรายได้น้อย
รัฐพยายามที่จะจัดให้มีโครงการที่หลากหลาย
ตั้งแต่เรื่องการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย การปฏิรูปสาธารณสุขที่ดำเนินการในทุกมิติ
ทั้งในเรื่องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกวัย โดยมีการเตรียมการ
เพิ่มมาตรการการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เพื่อรองรับสังคมผู้สูงวัย
ผมบอกแล้วว่ามีความสำคัญในระยะต่อไปนี้เราสูงเป็นอันดับ
2 ในอาเซียน
และยังต้องดำเนินการเรื่องสวัสดิการของรัฐอีกมากมาย
เรายังมีปัญหาเรื่องการหาเงินมาทำให้ดีขึ้น วันนี้เพิ่มภาระไปอีกอันคือสังคมสูงวัย
เป็นภาระรับผิดชอบของรัฐบาล ที่ต้องเตรียมการเสียแต่วันนี้
ก่อนที่จะช้าไปเพราะเราไม่ได้เริ่มมาก่อน
การพัฒนาสุขภาพเด็กเล็กเช่นกัน
ก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เข้มแข็งเราต้องดูแลตั้งแต่เล็ก ๆ
รวมทั้งมีการปรับปรุงระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน
อย่าไปฟังคำบิดเบือนภายนอกที่ไม่ใช่ ถามเจ้าหน้าที่
ถามหน่วยงานภาครัฐว่าเป็นอย่างไร ประกันสังคมของแต่ละคน แต่ละพวก
แต่ละกลุ่มเป็นอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็ไปฟังคำบิดเบือน เสียหายอีก ก็มีการต่อต้าน
มีการประท้วงกันมากมายอย่างเช่นที่ผ่านมา
อีกด้านคือการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ลดความเปราะบางต่อภัยธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานหมุนเวียน
พลังงานทดแทน ซึ่งถือว่าเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ 20
ปีของเรา ที่ภาครัฐให้ความสำคัญอย่างมาก และเรายังขับเคลื่อนอยู่
รัฐบาลสนับสนุนให้การสร้างแหล่งน้ำ แก้มลิงเพิ่มเติมเท่าที่ทำได้
เพื่อจะให้ท้องถิ่นต่าง ๆ สามารถบริหารจัดการน้ำด้วยตัวเองได้ดีขึ้น
สามารถรับมือกับทั้งภัยแล้ง และอุทกภัยได้ ผลผลิตเกิดความเสียหายน้อยที่สุด
นอกจากนี้ เรายังให้ความสำคัญกับการจัดสรรที่ดิน
ซึ่งกำลังเร่งทำให้ครบทุกจังหวัด
ทั้งในส่วนของที่ดินทำกินเพื่อให้ประชาชนที่เดือดร้อน มีพื้นที่ทำกินให้ถูกกฎหมาย
แต่ขณะเดียวกัน ต้องดูแล ป้องกันการรุกป่าด้วย ช่วยกันปลูกป่าไปด้วย ป่า 3 อย่าง
ประโยชน์ 4 อย่าง อย่าลืม
เรื่องพลังงาน ภาครัฐได้จัดทำแผนพลังงานระยะยาว
เพื่อรองรับความต้องการใช้พลังงานที่จะเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
หรือประชากรที่เพิ่มขึ้นทุกวัน
โดยพยายามเพิ่มความสมดุลในการใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ
ให้ได้มากขึ้นในระยะยาวคงต้องดูรายละเอียดกันว่าอย่างไร ดีกว่าอย่างไร
บางอย่างดีเท่า ๆ กัน เพียงแต่ว่าจะใช้อย่างไรตามสัดส่วน
มีหลายอย่างเข้ามาเกี่ยวกับต้นทุน กับเรื่องราคาการใช้พลังงานอยู่ด้วย การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน ให้ความสำคัญ และก็พยายามลดการพึ่งพาประเทศอื่น
ๆ เพื่อให้ประเทศของเรามีความมั่นคงทางพลังงานไว้ให้ลูกหลานของเรา
ก็ต้องฟังข้อมูลทางวิชาการด้วย ของส่วนราชการต่าง ๆ
เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเอามาพิจารณาไม่ใช่ทุกคนใช้ความรู้สึกอย่างเดียว
คิดเอามันไม่ใช่ พยายามช่วยกันสร้างให้ได้ ทำให้ได้ อะไรก็แล้วแต่
ผมไม่ชี้ชัดว่าจะเป็นอะไรตอนนี้ ท่านไปตัดสินกันให้ได้
และท้ายสุดถ้าไม่ได้ก็ไม่มีไฟฟ้าใช้ ไม่มีพลังงานใช้ แล้วจะไปโทษใคร
ด้านสุดท้าย
ที่ธนาคารโลกแนะนำคือสนับสนุนให้ไทยเสริมสร้างขีดความสามารถด้านสถาบันให้กับภาครัฐ
เพื่อให้การดำเนินการปฏิรูปประเทศในเรื่องที่สำคัญให้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งรัฐบาลพยายามจะทำให้เกิดขึ้นในทุกมิติ
มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานของภาครัฐให้มีประสิทธิภาพ
อันนี้อยู่ในยุทธศาสตร์หนึ่งในยี่สิบปีด้วยเหมือนกันการบริหารราชการ
การทำงานของภาครัฐ
เรื่องการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาระบบ และนำข้อมูลมาใช้แบบบูรณาการ
เพื่อวิเคราะห์และวางนโยบายมากขึ้น มีการเร่งสร้าง
และพัฒนาบุคลากร
โดยเฉพาะในกลุ่มที่จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
เพื่อให้เข้าใจ มีวิสัยทัศร่วมกัน ตระหนักถึงความสำคัญ และความเร่งด่วน
ในการแก้ปัญหา ขณะเดียวกันก็มีการปรับระบบการทำงานภาครัฐไปด้วย ทั้งนี้
เพื่อป้องกันการทุจริต โดยเฉพาะเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง
ที่วันนี้เราได้แก้ไขดำเนินการคืบหน้าไปมากแล้ว
นอกจากนั้น
รัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการเร่งปรับปรุงกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทั้งนี้เพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ได้ทำเพื่อไปรังแกใคร
ทั้งนี้เพื่อป้องกัน กฎหมายผมอยากให้ใช้ในเชิงป้องกันมากกว่าให้คนเกรงกลัว
ให้คนเข็ดหลาบไม่อยากทำ เพราะถ้าไม่มีกฎหมาย หรือมีแล้วใช้ไม่ได้
ก็ไม่เกิดประโยชน์ คนก็ยังฝ่าฝืนกันทุกวันนี่
หลายคนมากล่าวอ้างในสิ่งที่ทุกคนทราบดีอยู่ คงได้ยินกัน ออกมาพูด ๆ กัน
เพราะฉะนั้นถ้าหากเรามีการปรับกระบวนการทำงานของภาครัฐให้โปร่งใสมากยิ่งขึ้น
เราก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน
และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของของประเทศต่อไปอีกด้วย
เป็นตัวอย่างสำคัญในอีกหลาย ๆ อย่าง ของโครงการอีกหลายโครงการที่ภาครัฐและ
คสช. กำลังดำเนินการอยู่ ผมเชื่อว่าเรายังมีอีกหลาย ๆ โครงการ เป็นร้อย
ที่จะตอบโจทย์การแก้ไขปัญหาประเทศ และยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน หลายเรื่องเราต้องใช้เวลา ต้องใช้งบประมาณที่จำกัด
และสิ่งสำคัญคือเราต้องการความเข้าใจ และความร่วมมือจากพวกเราทุกคน ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในช่วงต่อจากนี้
พวกเราจะช่วยกันวางรากฐานการปฏิรูปประเทศให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม
เป็นแนวทางที่ให้ภาครัฐ นำไปดำเนินการต่อให้เกิดผลสำเร็จ ทีทำมาร่างมาทั้งหมด
แล้วต้องไปสร้างงานเรื่องศาสตร์เรื่องปฏิรูปต่าง ๆ ต้องไปฟังความคิดเห็นด้วย
ไม่ใช่รัฐบาลคิดแล้วก็สั่ง ๆ ก็ไปไม่ได้อีก
ขั้นตอนต่อไปนี้
หลังจากทำเรียบร้อยแล้วจะส่งให้ประชาชน ไปสร้างการรับรู้ ทำความเข้าใจ
อาจจะเสริมเพิ่มมา ผมยินดีรับ เพื่อทำให้เกิดความสำเร็จในระยะยาว
แล้วจะถือเป็นความร่วมมือ เป็นความสำเร็จของประชาชนทุกคนร่วมกัน หลายกิจกรรมที่ผมพูดมาทั้งหมด
เกี่ยวข้องกันทั้งหมดเชื่อมโยงหลายอย่าง อย่าคิดสั้น ๆ คิดแคบ ๆ
หรือคิดไม่เป็นระบบ ก็ไม่เข้าใจกัน คิดให้ยาวอีกสักนิดหนึ่ง
มีความตั้งใจ มีสมาธิในการฟัง ในการคิด ในการพูด ก็จะทำให้เรามีการพัฒนาตัวเอง
แล้วเราก็ไม่ถูกใครเข้ามาชักจูงไปทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องถึงจะสำเร็จ
สำหรับนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลนี้
ได้กำหนดเป้าหมายปลายทาง คือ เกษตรกรไทยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น มีหนี้สินลดลง มีฐานะทางสังคมที่ดี
และมีความภาคภูมิใจในอาชีพกสิกร โดยสิ่งที่รัฐบาลและกระทรวงเกษตรฯ
กำลังดำเนินการอยู่ คือ
(1) การทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง
(2)
การเพิ่มมูลค่าและคุณภาพของสินค้าเกษตร ด้วยการแปรรูปและสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ
(3) การสร้างเครือข่าย เชื่อมโยง หาตลาดรองรับ ที่สมดุลกันระหว่าง Demand Supply โดยขับเคลื่อนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง การบูรณาการงาน ทั้ง Agenda + Function และ Area
Base พื้นที่ท้องถิ่นด้วย ตามศักยภาพด้วย
รวมทั้งการส่งเสริมทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และองค์ความรู้
เป็นที่มาของการกำหนดนโยบาย มาตรการ โครงการและกิจกรรมด้านเกษตรกรรมต่าง ๆ
ที่สำคัญ อาทิเช่น
(1)
โครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.)
(2) การส่งเสริมการเกษตรแบบแปลงใหญ่
(3) การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม
อย่างที่เราคุ้นเคยกัน คือ Agri-map
(4) การส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์
เพื่อการรักษาสุขภาพและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
(5) การเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามแนวทาง 5
ประสาน ลักษณะเดียวกับกลไกประชารัฐ คือ ความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา ประชาสังคม และเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย
(6) ธนาคารสินค้าเกษตร ได้แก่ ธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน ธนาคารข้าว ธนาคารปุ๋ยอินทรีย์ ธนาคารโค-กระบือ ธนาคารผลผลิตด้านการประมง และธนาคารปัจจัยการผลิตหม่อนไหม เป็นต้น
(7) การพัฒนาความเข้มแข็งของสหกรณ์
โดยจัดให้มีระบบควบคุมภายใน กลไกการมีส่วนร่วมของสมาชิกในการดำเนินธุรกิจ
และการสร้างเสถียรภาพทางการเงิน
ให้กับสหกรณ์ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับคุณภาพสหกรณ์ ให้มีมาตรฐานยิ่งขึ้น
(8) การจัดสรรแผนงาน หรือ แผนการผลิตข้าวครบวงจร ประกอบไปด้วยการ กำหนดอุปสงค์ อุปทาน
หรือคือ Demand Supply ดีมาน ซับพาล
การกำหนดพื้นที่ส่งเสริมการปลูกข้าว ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำและการตลาด รวมทั้งการส่งเสริมเกษตรทางเลือก เป็นต้น
(9) การจัดสรรที่ดินทำกิน
ตามแนวทางคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ให้ชุมชนดำเนินการในรูปแบบสหกรณ์
ปัจจุบันก็สามารถที่จะนำพื้นที่ที่ถูกบุกรุกคืนมาได้ ที่ผิดกฎหมายได้แล้ว กว่า 3
แสนไร่
(10) การพัฒนาระบบส่งน้ำและกระจายน้ำ
ที่ผ่านมาสามารถเพิ่มปริมาณน้ำเก็บกักได้ ราว 1,800
ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน กว่า 1
ล้าน 3 แสนไร่ เป็นต้น ยังไม่พอ เพียงทำให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งน้ำได้มากขึ้น
ทำเกษตรได้ผลดีมากขึ้นในพื้นที่ที่สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้มากเพียงพอหรือส่งน้ำได้
ที่ทำได้แล้วจะเพิ่มรายได้กว่า 2,500 บาทต่อไร่ต่อปี
สิ่งที่กล่าวมานั้น เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการปฏิรูปด้านเกษตรกรรมของไทย อย่าไปฟังใครที่บอกว่ารัฐบาลนี้จะไปเอื้อประโยชน์ให้กับคนรวย
เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจอุตสาหกรรม ไม่ดูแลเกษตรกร
นี้เฉพาะกิจกรรมเกษตรกรรมก็มากมาย เราต้องดูทั้งเศรษฐกิจฐานราก
เกษตรกรผู้มีรายได้น้อย ขณะเดียวกันก็ต้องไปดูแลผู้มีรายได้ปานกลาง
รายได้สูงหรือข้ามชาติด้วย เพราะเอื้อกันทั้งหมด เราจะทำอย่างไรเพื่อจะให้มันมาต่อยอดกันให้ได้
ในเรื่องของรายได้ สำหรับด้านการปฏิรูปด้านเกษตรกรรมของไทยนั้น วางรากฐานไว้มากมาย
เมื่อสักครู่ลืมไปเรื่องหนึ่งคือเรื่องของการปรับเปลี่ยนการปลูกพืช หลาย ๆ
พื้นที่อาจจะต้องปรับเปลี่ยนให้ได้โดยเร็วเพราะว่ามันจะเสียหายอย่างเช่นในกรณีภัยแล้ง
นาข้าวนาปรังประมาณ 2.2
ล้านไร่ที่ปลูกเกินมานี้เสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายทั้งสิ้น
รัฐบาลก็เคยเตือนไปแล้วล่ะ คราวนี้หลายคนยังไม่เข้าใจ หลายคนยังไม่เปลี่ยนแปลง
ทั้ง ๆ ที่เรามีวิธีการแก้ปัญหาให้ว่า เราไม่ได้ห้าม
เพียงแต่ว่าช่วงนี้อย่าเพิ่งปลูกเลย เปลี่ยนไปปลูกอย่างอื่นได้หรือไม่
ถ้าไม่เชื่อฟังก็เสียหาย
แล้วเสียหายแทนที่รัฐบาลจะเอาเงินเหล่านี้มาปรับปรุงในเรื่องอื่น ๆ
มาเสียค่าชดเชยในเรื่องที่เสียหายโดยไม่จำเป็น
แต่เราเข้าใจว่ายังไงชาวนาต้องมีเงินใช้ ต้องหาวิธีการอื่น
ไม่ใช่ว่าห้ามไม่ให้ปลูกข้าวแล้วไม่มาบอกว่าจะให้ทำอะไร อันนี้ไม่ใช่เลย
เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อฟังคนบิดเบือน มีแต่ว่าต้องไปหาเจ้าหน้าที่เขา
มีทุกอำเภอทุกจังหวัด
ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้รับผิดชอบที่จะต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้
เรื่องการทำเกษตรแปลงใหญ่ เรื่องการรับการสนับสนุนต่าง ๆ จากรัฐบาล มีหลายโครงการลงไปแล้ว
หลายคนหลายท่านก็ไม่ทราบ
รัฐบาลมีงานอีกมากที่ต้องดำเนินการ
โดยเฉพาะทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืนให้แก่เกษตรหรือเกษตรกร
เราจะต้องสร้างเกษตรกรไทยยุดใหม่ ที่เรียกว่า “Smart Farmer” ในขณะที่ข้าราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องได้รับการพัฒนาศักยภาพ
ให้เป็น “Smart Officer” ทุกกระทรวงต้องไปด้วยกันทั้งประชาชนแล้วก็ข้าราชการต้องเป็น “Smart
Farmer” ประชาชนก็เป็น “Smart Prople” ควบคู่ไปกับการยกระดับสถาบันเกษตรให้เข้มแข็ง และที่ต้องไม่ลืม คือ
การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัย กฎกระทรวงต่าง ๆ
ที่ล้าสมัยบางอย่างก็หลายสิบปีมาแล้วต้องแก้ไข้ทั้งหมด
เพื่อจะให้เกิดการพัฒนาและปฏิรูปทางการเกษตรกรรมของไทยด้วย ทั้งนี้
ขอความร่วมมือจากกลไกประชารัฐทั้งหมด
พี่น้องประชาชนครับ
วันนี้รัฐบาลและ คสช.
คำนึงถึงการปกครองประเทศ ตามระบอบประชาธิปไตย
ซึ่งเราต้องการกำลังก้าวไปสู่เป็นประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
แล้วก็สิทธิมนุษยชน อันเป็นหลักการสากล ต้องเคารพ ต้องปฏิบัติ แต่วันนี้
สถานการณ์ของประเทศปัญหาของประเทศ ผมต้องขอบอกก่อนว่า เราต้องมองปัญหาประเทศของเรา
ด้วยความเข้าใจ ไม่ลำเอียงไม่เอาคนอื่นเขามามองตัวเรา
เพราะเป็นกลไกภายนอกประเทศแต่เราก็ทำตามไม่ได้ฝ่าฝืน
เว้นแต่บางอย่างเราต้องปรับให้เข้ากับสถานการณ์ของเราในวันนี้
คือในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เป็นข้อพิจารณาในการบริหารราชการแผ่นดินในปัจจุบัน
ทั้งนี้เรากำลังเตรียมการไปสู่การปฏิรูปประเทศ แล้วมียุทธศาสตร์ชาติด้วย
ฉะนั้นช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ เราอาจมีปัญหาในมุมมองของต่างประเทศ
แต่เราต้องยอมรับว่าเรากำลังปฏิรูปประเทศ
แล้วเราจำเป็นต้องทำเพื่อคนไทยก่อนแล้วก็มิตรประเทศด้วยเพื่อให้รับประโยชน์ร่วมกันด้วยจากสิ่งที่ทำมาทั้งหมด
ขอให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง
ผมเสียใจเหมือนกันที่มีคนไทยบางคนบางกลุ่มที่ไม่เข้าใจ
บางคนไม่เข้าใจแล้วหลายส่วนหลายกลุ่มหลายคนสร้างความเสียหายเหล่านี้ไว้ให้ผมแก้วันนี้ เราก็กำลังพยายามแก้ไขอยู่
แต่เอาเรื่องเหล่านี้ไปประจานที่ต่างประเทศโดยไม่พูดถึงปัญหาที่ตัวเองทำไว้แล้วก็โยนคำผิดต่าง
ๆ เหล่านี้ให้กับรัฐบาล ไม่มีความรักประเทศตัวเองเลย เป็นคนไทยหรือเปล่า
ผมอยากให้พวกเราพยายามหาวิธีการสร้างสิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นให้จงได้
วางรากฐานประเทศ ในอนาคต วิธีการเหล่านี้ จำเป็นต้องใช้ “วิสัยทัศน์” ในการการทำงาน มีกระบวนการ
มีกฎหมาย มาสนับสนุน มารองรับการทำงานต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นประเทศเราก็จะหยุดอยู่ที่เดิม ไม่มีการพัฒนา แข่งขันใครไม่ได้
รายได้ก็ตกต่ำ เกษตรกรก็เดือดร้อน ผู้มีรายได้น้อยก็ลำบาก
นี้คือสิ่งที่รัฐบาลคิดตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือประชาชนทุกคน
ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันให้มากที่สุด มีความคิด เห็นอะไรก็ส่งมาผมก็จะดูให้
เท่าที่จะมากได้ ก็เหมือนกับคอมพิวเตอร์ วันนี้เราใช้กันมากมาย
ถ้าเรามีคอมพิวเตอร์แล้วไม่เชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต ไม่เกิดเครือข่าย
ถ้าเกิดเครือ ข่ายได้ ก็เกิดประโยชน์สูงสุด ใช้ประโยชน์ได้เต็มที่
ถ้าเราคิดแบบเดิม ไม่เปลี่ยนแปลงตนเอง ไม่ขวนขวายหาความรู้ใหม่
ไม่สร้างนวัตกรรมอะไรใหม่ ๆ ก็เสียโอกาส ตกยุค ตกขบวน หรือหากเราเชื่อฟังคำบิดเบือน
ข้อโต้แย้งโดยไม่ตั้งสติให้ดี ไม่มีหลักคิดไม่ใช้สติปัญญา คิดใคร่ครวญให้ดี การคิดการตัดสินใจก็จะผิดเพี้ยน
บิดเบี้ยว ถูกชี้นำในทางที่ไม่ถูกต้อง
สิ่งใหม่ ๆ ที่ทุกคนต้องการดีกว่าก็ไม่เกิด ความพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำก็ไม่สำเร็จ เศรษฐกิจของประเทศก็ไม่ดีขึ้น วันนี้ก็มีแต่พูดกัน
แล้วก็ไม่เคยทำ วันนี้เราพยายามทำทุกอย่างที่ท่านพูดมาแล้วไม่ทำหลายคนนะ เพราะฉะนั้นคุณภาพชีวิตของพี่น้องประชาชนเราต้องการให้ได้รับการยกระดับ รัฐบาลก็ต้องหารายได้ให้เพียงพอ ในการจัดสวัสดิการ
รัฐสวัสดิการให้กับทุกคน ทุกกลุ่ม
ทั้งกลุ่มผู้สูงอายุด้วย หากว่าเราฟังคำบิดเบือนมากมาย โดยไม่พิจารณาให้ถ่องแท้
ก็เหมือนการกินยาพิษ กินยาแทนที่จะรักษา ก็จะเป็นการกินยาผิดขนานเข้าไป
กินยาผิดซอง นอกจากจะไม่รักษาโรค แล้วก็เกิดโรคตามมา โรคเก่าก็แก้ไม่ได้
โรคใหม่ตามมาอีก เหมือนกับไม่ให้รัฐบาล คสช. แก้ปัญหาเก่า ๆ
แต่ก็อยากให้ทุกอย่างดีขึ้น เร็วขึ้น อยากให้อยู่อย่างสบายที่สุด
ในปัจจุบันเป็นไปไม่ได้
ต้องลำบากกันบ้างในช่วงการเปลี่ยนแปลงอย่างนี้แต่จะให้เดือดร้อนน้อยที่สุดก็แล้วกัน
เพราะฉะนั้น การกล่าวอ้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนที่ไร้ขอบเขต แต่กลับไปละเมิดสิทธิผู้อื่น และละเมิดกฎหมายบ้านเมือง
บ้านเมืองพัฒนาไม่ได้ อันนี้ไม่ใช่ตรรกะที่ถูกต้อง
เราต้องส่งคนไปชี้แจ้งที่องค์กรระหว่างประเทศด้วย ผมทราบว่ามีผลออกมาในทางที่ดี
แต่เรายอมรับ หลาย ๆ อย่างเราก็ต้องแก้ไข้กันต่อไป
ขอขอบคุณคณะที่ไปทำงานต่างประเทศ ไปทำงานแทนคนไทยทั้งประเทศในการชี้แจ้ง
แต่มีคนบางคนบางประเภทเอาไปประจาน ผมไม่รู้ว่าคนเหล่านั้นเป็นคนไทยหรือไม่
สุดท้ายนี้ ผมขอยกย่องและชื่นชมศาสตราจารย์ ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รองศาสตราจารย์นพ.กีรติ เจริญชลวานิช
ประธานคณะกรรมการดำเนินงานคณะกรรมการทีมงาน รวมทั้งคณะนักศึกษาแพทย์ศิริราชทุกคน
ที่ได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “1 ล้าน 5 แสนก้าว
วิ่งเพื่อชีวิต เชียงใหม่-ศิริราช”เป็นระยะทางประมาณ 750 กิโลเมตร ที่เริ่มตั้งวันที่ 11 มีนาคม
2560 มาจนถึงวันนี้ เพื่อหารายได้สร้างอาคาร “นวมินทรบพิตร
84 พรรษา” ซึ่งเป็นอาคารหลังสุดท้ายของโรงพยาบาลศิริราช
ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 พระราชทานนาม เพื่อผู้ป่วยด้อยโอกาส
ต้องขอบคุณสื่อมวลชนทุกแขนงที่ได้ให้ความสำคัญ ช่วยกันส่งเสริมสนับสนุนกิจกรรมดี ๆ
สร้างสรรค์แบบนี้
ผมได้ติดตามข่าวมาตลอด
ดีใจที่เห็นความรัก ความสามัคคี ของพี่น้องคนไทยทุกคน รวมถึงเหล่าศิลปิน ดารา
นักร้อง นักแสดง ไม่ว่าจะเป็น เคน-ธีรเดช หน่อย-บุษกร ตูน บอดี้สแลม แอ๊ด-คาราบาว อ๊อฟ-
พงษ์พัฒน์ และอีกหลาย ๆ ท่านที่ไม่ได้กล่าวนาม
ที่ตลอดเส้นทางได้ร่วมมาออกวิ่งอย่างต่อเนื่องทุกวัน ยอดบริจาคเมื่อวานนี้ทราบว่า 63 ล้านแล้ว แม้จะจบกิจกรรมการวิ่งแล้ว
พี่น้องประชาชนยังคงร่วมบริจาคต่อไปได้ ผ่านช่องทางตามหน้าจอข้างล่าง ขอให้ช่วยกัน
เพื่อเป็นการสานต่อพระราชปณิธานของในหลวงรัชกาลที่ 9
ที่ต้องการให้คนไทยมีสุขภาพดีถ้วนหน้า และเป็นการแสดงความจงรักภักดีต่อ
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร อีกด้วย
ขอบคุณครับ
ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
- See more at:
http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/2453#sthash.4O6u39xL.dpuf
ขอบคุณครับ ขอให้ทุกคนมีความสุขในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ สวัสดีครับ
ที่มา ; เว็บ รัฐบาลไทย
ที่มา ; เว็บ รัฐบาลไทย
โหลด - อ่าน - เรื่องเด่น
โหลด - อ่าน - เรื่องเด่น
เกณฑ์และกำหนดการสอบครูผู้ช่วย กรณีปกติและพิเศษ ปี 2560
เกณฑ์สอบผู้บริหารการศึกษา ปี 2560
เกณฑ์และกำหนดการสอบครูผู้ช่วย กรณีปกติและพิเศษ ปี 2560
เกณฑ์สอบผู้บริหารการศึกษา ปี 2560
( คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้
เตรียมสอบติวสอบครูผู้ช่วย
เตรียมติวสอบผู้บริหารสถาน+การศึกษา
( คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้
เตรียมสอบติวสอบครูผู้ช่วย
เตรียมติวสอบผู้บริหารสถาน+การศึกษา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น