24ธ.ค.2557 การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ฯ เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาถึงรายละเอียดสำคัญของกระบวนการเลือกตั้ง ที่จะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้ที่ประชุมได้เปิดให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ อภิปรายในประเด็นที่ได้เตรียมนำเสนอและรูปแบบที่นำเสนอโดยสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.), สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.), พรรคและนักการเมือง แต่ยังไม่สามารถหาข้อสรุปและตกผลึกร่วมกันได้ โดยเฉพาะประเด็นการนับคะแนนเสียงของประชาชนที่ต้องคำนึงถึงทุกเสียงที่ลงคะแนน และไม่ให้มีเสียงใดเสียเปล่าหรือเรียกว่าระบบนับคะแนนแบบประเทศเยอรมนี ที่ประชุมจึงได้เชิญนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นผู้ที่ศึกษาเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนีมาชี้แจงและอธิบายพร้อมตอบข้อซักถามของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้กมธ. ได้สอบถามนายปริญญา อาทิ การกำหนดจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ หากไม่กำหนดให้มีจำนวนเท่ากันจะมีปัญหาใดหรือไม่ โดยนายปริญญา ตอบว่า สามารถออกแบบให้การเลือกตั้ง ส.ส.ทั้ง 2 แบบมีจำนวนไม่เท่ากันได้ แต่ในระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี ที่ออกแบบให้จำนวน ส.ส. ทั้ง 2 แบบที่มีจำนวนส.ส.เท่ากัน จะทำให้การคิดคะแนนทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ, กรณีที่เปิดโอกาสให้ มีการเลือกตั้ง ส.ส. แบบไม่สังกัดพรรคการเมืองจะทำได้หรือไม่ โดยนายปริญญา ตอบว่า สามารถทำได้ แต่ประสบการณ์ที่ผ่านมา ส.ส.ที่ลงสมัครแบบอิสระไม่เคยได้รับการเลือกเข้ามาเป็น ส.ส. ในสภาเลย
ผู้สื่อข่าวรางานว่า ล่าสุดมีรายงานว่าได้ข้อสรุปโดยเห็นชอบกับการเลือกตั้งระบบเยอรมันจำนวน 450 คนแบ่งเป็น ส.ส.เขต 250 คน และบัญชีรายชื่อ 200 คน
กมธ.ยกร่างรธน.เคาะจำนวนส.ส.มี450คน
ทั้งนี้เมื่อเวลา 15.00 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุม ซึ่งพิจารณาถึงระบบการเลือกตั้งและระบบผู้นำทางการเมืองที่ดี ว่ามีมติเห็นชอบให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม (Mixed-Member Proportional หรือ MMP) เพื่อให้เสียงลงคะแนนของประชาชนได้ตอบสนองความต้องการของผู้มาลงคะแนนอย่างแท้จริง ทุกคะแนนเสียงถูกนับไปในการกำหนดผู้ที่จะมาเป็นผู้แทน โดยไม่สูญเปล่าแม้แต่คะแนนเดียว และตัวแทนของพรรคการเมืองขนาดเล็ก หรือตัวแทนภาคประชาสังคมมีตัวแทนนั่งในสภา และมีบทบาทมากขึ้น โดยให้สภาผู้แทนราษฎรทั้งหมด 450 คน มาจากการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แบบเขตเดียวคนเดียว จำนวน 250 คน โดยส.ส. 1 คนจะใช้จำนวนประชากร จำนวน 2.5 แสนคน และแบบระบบสัดส่วนจำนวน 200 คน โดยในส่วนของระบบสัดส่วนนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการพิจารณาในเบื้องต้นว่าจะกำหนดให้มีการแบ่งบัญชีสัดส่วนเป็นรายภาค จำนวน 8 ภาคที่แบ่งตามภูมิศาสตร์ และความใกล้กันของจังหวัด โดยไม่จำเป็นที่แต่ละภาคนั้นมีจำนวนประชากรเท่ากันหรือไม่ และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งสามารถลงเลือกตั้งได้อย่างอิสระ ไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง เพื่อให้ส.ส.สามารถมีสิทธิและอิสระในการตัดสินใจ
พล.อ.เลิศรัตน์ แถลงด้วยว่าสำหรับการลงคะแนนนั้นจะใช้บัตรเลือกตั้งจำนวน 2 ใบ คือ ลงคะแนนเลือกส.ส.แบบแบ่งเขต และ ลงคะแนนเลือกส.ส.แบบสัดส่วนตามบัญชีรายภาค สำหรับการคิดคะแนนว่าพรรคไหนจะได้จำนวน ส.ส.ทั้งหมดเท่าไรนั้น จะคิดตามคะแนนจริงที่ประชาชนลงให้กับแต่ละพรรคการเมืองในส่วนของส.ส.แบบสัดส่วนตามบัญชีรายภาค โดยวิธีดังกล่าวนั้นจะไม่มีการตัดสัดส่วนขั้นต่ำเหมือนที่ผ่านมา หากพรรคใดได้คะแนนนิยมจากส.ส.สัดส่วนบัญชีภาคเพียงร้อยละ 1 จะทำให้พรรคนั้นได้ส.ส. จำนวน 4 คน ทั้งนี้ประเมินด้วยว่าจะมีพรรคการเมืองที่ลงเลือกตั้งไม่เกิน 10 พรรคเท่านั้น
“วิธีคำนวนส.ส. เช่น มีจำนวน ส.ส.ทั้งหมด 450 คน คือ แบบแบ่งเขต 250 และ แบบสัดส่วน 250 หากพรรคได้คะแนนร้อยละ 10 ซึ่งมาจากคะแนนของส.ส.สัดส่วนที่แบ่งเป็นภาค จะทำให้มีส.ส. 45 คน จากนั้นไปดูจำนวนส.ส.ที่จากแบ่งเขตเลือกตั้ง หากได้เพียง 40 คน ให้นับเพิ่มจากบัญชีรายภาคอีก 5 คนเพื่อให้ให้ครบจำนวน 45 คน แต่หากส.ส.เขตได้เกิน 45 คนจะไม่คิดส.ส.ในแบบบัญชีรายภาคเพิ่มให้ ดังนั้นกรณีนี้บางครั้งอาจมียอดรวมส.ส. เกิน 450 คน เพราะเขาได้ส.ส.แบบแบ่งเขตเกินกว่าร้อยละ ของส.ส.แบบสัดส่วน โดยส่วนเกินดังกล่าวจะถือว่านับเป็นส.ส. ดังนั้นส่วนที่เกินมาได้พิจารณาแล้วว่าจะไม่เกิน 20 -30 คน หรือเกินร้อยละ 5 จะทำให้จะได้จำนวน ส.ส.ในความเป็นจริง เท่ากับ 450 คนเป็นอย่างน้อย และมีส่วนเกินเพิ่มเข้ามา 20 -30 คน” พล.อ.เลิศรัตน์ แถลง
พล.อ.เลิศรัตน์ แถลงต่อว่ารูปแบบการเลือกตั้งดังกล่าวไม่ได้ทำให้การเมืองอ่อนแอ แต่มีเจตนาไม่ทำให้รัฐบาลเข้มแข็งมากเกินไปจนยากแก่การตรวจสอบ และเพิ่มการตรวจสอบของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยวิธีดังกล่าวอาจทำให้ได้รัฐบาลผสม ประมาณ 2 - 3 พรรค โดยรัฐบาลที่ผ่านมาก็เป็นแบบผสมอยู่แล้ว เพราะรัฐบาลต้องมาจากเสียงข้างมากในสภาเพื่อให้เกิดเสถียรภาพของการพิจารณาร่างกฎหมายในสภา แม้จะมีพรรคเล็กในสภา และได้จำนวน ส.ส.พรรคละ 3 - 4 คน ไม่ได้ทำให้รัฐบาลอ่อนแอ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่อยู่ภาคประชาสังคม หรือพรรคเล็กที่ตั้งขึ้นเพื่อพิทักษ์ป่า เป็นต้น มีเสียงในสภามากขึ้น ดังนั้นเจตนารมณ์ของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อประเด็นนี้ คือ ต้องการให้ทุกคนมาอยู่ในสภา ดีกว่าอยู่บนถนน สำหรับการลงสมัครรับเลือกตั้งอย่างอิสระ ที่ประชุมเห็นว่าจะให้กลุ่มภาคพลเมือง ภาคประชาชน หรือกลุ่มทางการเมือง เช่น กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.), กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย, กลุ่ม กปปช. ที่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายลูกกำหนดได้ส่งบุคคลลงสมัครรับเลือกตั้ง ส่วนปัญหาที่เคยเกิดขึ้นเช่น ส.ส.ขายตัวในสภา ที่ประชุมได้หารือแล้วเห็นว่ามีทางออกโดยเตรียมพิจารณาในการประชุมครั้งหน้า
ผู้สื่อข่าวถามสอบถามถึงคุณสมบัติของ ส.ส. พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่าที่ประชุมยังไม่ได้หารือในประเด็นดังกล่าว แต่มีข้อพิจารณาให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 35 (4) ที่ระบุให้มีมาตรการป้องกันและตรวจสอบไม่ให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่าด้วยการกระทำทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม เข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด ส่วนจะพิจารณาห้ามไม่ให้นักการเมืองที่เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองหรือไม่นั้น เบื้องต้นต้องพิจารณาพฤติกรรมที่นักการเมืองผู้นั้นถูกตัดสิทธิทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 237 นั้นต้องนำคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญประกอบด้วย ดังนั้นประเด็นดังกล่าวต้องไปพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้ง
เพื่อไทยค้านชี้ยังไม่เหมาะกับสังคมไทย
นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบล พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ระบดังกล่าวไม่น่าเหมาะกับสังคมการเมืองประเทศไทย โดยเฉพาะจำนวนส.ส.เขตจำนวน 250 คน นั้น ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะไม่สอดคล้องกับการทำงานของส.ส.ไทย เนื่องจากหากประชาชนมีเรื่องเดือดร้อนว่าจะหันหน้ามาพึ่งส.ส. ซึ่งหากมีจำนวน 300 คน ยังพอรับได้ เรื่องนี้ตนไม่อยากให้นักวิชาการฝันไปมาก อยากให้ฝันกันน้อยๆหน่อย ส่วนส.ส.ปาร์ตี้ลิสจำนวน 200 คน ตนก็ไม่เห็นด้วยเช่นกัน หากเปลี่ยนเป็นปาร์ตี้ลิส 100 คน และส.ส.เขต 300 คน ยังพอรับได้มากกว่า อย่างไรก็ตามตนเห็นว่าเราอย่าไปคิดเรื่องระบบให้มันยาก ยึดเอามาตรฐานให้มากที่สุด คือ 1 เสียง 1 สิทธิ์ก็พอแล้ว
สั่ง"กต."สอบปม"โฆษกกต.สหรัฐฯ"เรื่องเลือกตั้ง
นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับรายงานที่ว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐได้ตำหนิประเทศไทย กรณีที่เลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นต้นปี 2559 ว่า เป็นเรื่องไม่ฉลาด ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างตรวจสอบข่าวว่า ฝ่ายสหรัฐมีการให้สัมภาษณ์ตามที่ปรากฎเป็นข่าวเช่นนั้นจริงหรือไม่ อย่างไรก็ดีในหลักการแล้ว ตนเห็นว่าใครก็ตามที่พูดคำว่าไม่ฉลาดก็เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดเช่นกัน
กกต.แจงกมธ.การเมืองฟันนักการเมือง
นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) และประธานกรรมาธิ(กมธ.)การเมือง สนช. กล่าวภายหลังการหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่า เป็นการมาแลกเปลี่ยนความเห็นว่าจะทำอย่างไรให้การทำงานขององค์กรมีประสิทธิภาพ ซึ่งถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความร่วมมือในการที่จะทำงานอย่างรัดกุม รอบครอบ โดยมีเป้าหมายให้การปฏิรูปประเทศเกิดความสำเร็จ และได้รัฐธรรมนูญที่มีผลนำไปสู่การแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง เพราะกมธ.การเมือง รับผิดชอบในด้านระบบการเมือง ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ไปพบปะมาแล้ว 4 องค์กรตามรับธรรมนูญ ซึ่งจะนำความเห็นที่ได้ รวบรวมเสนอต่อสนช. ก่อนที่จะเสนอกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ(กมธ.ยกร่างฯ)ต่อไป
ด้านนายศุภชัย สมเจริญ ประธานกกต. กล่าวว่า กกต.ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อกมธ.ว่า ในการเลือกตั้งถ้าไม่ให้อำนาจกกต.สั่งเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง(ใบเหลือง-แดง) ก่อนประกาศผลเลือกตั้ง กกต.ก็เหมือนยักษ์ที่ไม่มีกระบอง เป็นกรรมการที่ไม่สามารถไล่ผู้เล่นที่เกเรออกจากสนามได้ รวมทั้งได้เสนอความคิดเห็นว่าควรขยายเวลาการสืบสวนสอบสวนก่อนการประกาศผลเป็น 60 วันด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องที่มากกต. หรือวาระการดำรงตำแหน่งนั้น เราจะไม่เสนอ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่เรามีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง หรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่กกต.ได้เสนอเฉพาะเรื่องที่เป็นประโยชน์ เช่น เมื่อเลือกตั้ง 2 ก.พ.ที่ผ่านมา มีอุปสรรคอะไรที่ทำให้เราไม่สามารถจัดเลือกตั้งได้ ก็ได้เสนอแก้กฎหมายไป ซึ่งกมธ.การเมืองก็รับฟังเหตุผล
ผู้สื่อข่าวถามว่า เมื่อถึงเวลาที่มีการพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ กกต.จะเข้าไปชี้แจงโดยตรงหรือไม่ นายศุภชัย กล่าวว่า หากสนช. อยากรับฟังความคิดเห็น กกต.ก็ยินดีที่จะไปเสนอ แต่ขณะนี้ต้องรอดูรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อนว่าจะมีการออกแบบมาอย่างไร เพราะเราเป็นผู้ปฏิบัติ
เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯ จะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบเยอรมัน นายศุภชัย กล่าวว่า เชื่อว่า หากมีการเปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้ง สำนักงานกกต.ก็พร้อมปฏิบัติได้หมด เพราะพนักงานกกต.ล้วนมีประสบการณ์การทำงาน แต่อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการศึกษาทำความเข้าใจกับระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันอีกครั้ง เพราะประเทศเราไม่เคยใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้มาก่อน ส่วนระบบเลือกตั้งดังกล่าวจะแก้ปัญหาได้หรือไม่นั้น ตนเข้าใจว่าผู้ที่ออกแบบผ่านการเปลี่ยนแปลงแก้ไขรัฐธรรมนูญมาแล้วครั้ง จึงคิดว่าการปฏิรูปคงต้องทำให้ดีขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศุภชัย ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับกรณีที่สำนักงานกกต.เตรียมรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหายจำนวน 3,000 ล้านบาท กับบุคคลที่ทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ โดยระบุเพียงสั้นว่า เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนของคณะทำงานของสำนักงานกกต. ซึ่งกกต.ยังไม่มีมติ และไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นประเด็นขึ้นมา ทั้งนี้ นายศุภชัย ยังได้แจ้งอีกว่า เดิมในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ มีกำหนดการที่กกต.ทั้ง 5 คน จะแถลงผลงานกกต.ในรอบ 1 ปีนั้น คงไม่มีการแถลงข่าวของกกต.แล้ว เพราะมีกกต.บางท่านติดภารกิจ แต่อาจจะมอบหมายให้นายภุชงค์ นุตตราวงศ์ เลขาธิการกกต. เป็นผู้ชี้แจงแทน
โยนสปช.- กมธ.ยกร่างฯชี้ขาดยุบอปท.
นายวัลลภ พริ้งพงษ์ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ในฐานะสมาชิกสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกระแสข่าวปรากฏในสิ่งพิมพ์และในอินเตอร์เน็ตว่า จะมีการยุบเลิกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อาทิ การยุบองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือยุบองค์การบริหารส่วนตำบลทั้งหมด แล้วให้จัดตั้งเป็นเทศบาล ทำให้เกิดความวิตกกังวลและสับสนต่อสมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น ตลอดจนข้าราชการและลูกจ้างของ อปท. และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่น ของประชาชนต่อการปกครองท้องถิ่น
นายวัลลภ กล่าวต่อว่า เรื่องดังกล่าวขณะนี้อยู่ในห้วงเวลารวบรวมข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ ให้คณะกรรมาธิการด้านการปกครองท้องถิ่นในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ ข่าวสารที่ปรากฏในห้วงระยะเวลานี้ จึงเป็นเพียงข้อเสนอของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่เสนอความคิดเท่านั้น เมื่อคณะกรรมาธิการฯ ได้พิจารณาแล้วมีข้อสรุปประการใด ยังต้องเสนอให้ สปช. พิจารณาและส่งให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอต่อสปช.พิจารณา หากเห็นชอบจึงจะเป็นข้อสรุปที่ชัดเจน
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น