กระแสตอบรับจาก “เงินทองต้องรู้” เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ใช้ชื่อตอนว่า “ถูกหวยรางวัลที่ 1” นอกจากจะมีจำนวนผู้อ่านถล่มทลายจนน่าจะมากกว่าทุกเรื่องที่เขียนมาแล้ว เมื่อนำสกู๊ปไปโพสต์ในเฟซบุ๊ก Kwanchanok Wutthikul Fanpage ก็ปรากฏว่า มีผู้แสดงความเห็นหลายคน แต่ส่วนใหญ่เป็นไปในทำนองเดียวกันว่า “ปัญหาคือไม่ถูกรางวัลเสียที” หรือ “ถ้าถูกรางวัลที่ 1 สักครั้งในชีวิต ก็ยอมมีปัญหา” แต่มีอยู่หนึ่งความเห็นที่น่าสนใจไม่น้อย นั่นคือ “จะทำอย่างไรให้ความรู้และประสบการณ์แบบนี้มีการเผยแพร่แบ่งปัน ไม่ใช่แค่ผู้ถูกหวยแต่กับผู้มีเงิน แต่ไม่มีความรู้เรื่องบริหารเงินยามที่ไม่สามารถทำงานได้แบบตอนอายุยังน้อย”
เพราะถ้าจะสรุปความคิดรวบยอดจากสัปดาห์ที่ผ่านมา เราอาจจะพบรูปแบบการจัดการการเงินส่วนบุคคลสำหรับคนที่ประสบกับ “ลาภลอย” ซึ่งไม่ใช่แค่ถูกหวยรางวัลที่ 1 แต่ยังหมายรวมถึงการถูกสลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. หรือแม้แต่ได้รับโบนัสก้อนใหญ่ๆ รูปแบบที่พบ 2 รูปแบบใหญ่ ก็คือ หนึ่ง - เงินจำนวนดังกล่าวจะถูกใช้หมดอย่างรวดเร็ว จนเจ้าของโชคลาภกลายเป็น “สามล้อถูกหวย” ที่สุดท้ายเป็นเศรษฐีได้ในช่วงเวลาสั้นๆ และต้องกลับไปถีบสามล้อเหมือนเดิม หรือ สอง - เงินจำนวนดังกล่าวจะถูกฝากธนาคาร โดยที่เจ้าของเงินไม่มีความสามารถทำให้งอกเงยหรือสร้างผลตอบแทนให้ ขณะที่หลายคนทั้งๆ ที่เปลี่ยนฐานะเป็นเศรษฐีแล้ว แต่ก็ยังทำงาน “รับจ้าง” เหมือนเดิม
เป็นเรื่องน่าเสียดายที่เงินจำนวนมากไม่สามารถเปลี่ยนชีวิตคนคนหนึ่งให้สุขสบายได้อย่างยั่งยืน
สัปดาห์ที่แล้วอีกเช่นกัน ที่ชายหนุ่มวัย 21 ปี จากเชียงราย “หนุ่ม" สมศักดิ์ รินนายรักษ์ กลายเป็นม้ามืดคว้ารางวัลเงินสด 3 ล้านบาท จากเวทีประกวดร้องเพลง “เดอะ วอยซ์ ซีซั่น 3” เป็นการเอาชนะตัวเก็งอย่างสาวน้อยวัย 16 ปี "อิมเมจ" สุธิตา ชนะชัยสุวรรณ ไปได้อย่างขาดลอย
หลังจากเป็นผู้ชนะได้รับเงินรางวัลก้อนใหญ่ไปครองแล้ว แชมป์เดอะ วอยซ์ ซีซั่น 3 บอกว่า จะนำเงินที่ได้รับส่วนหนึ่งไปมอบให้พ่อและแม่ และจะนำไปใช้หนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) พร้อมทั้งขอบคุณ กยศ. ที่ทำให้ตนมีวันนี้ ส่วนที่เหลือหลังจากนั้น เจ้าของเงินรางวัล 3 ล้านบาท บอกว่า ยังคิดไม่ออก
ถามว่า น่าชื่นใจหรือไม่ ก็ต้องตอบว่า น่าชื่นใจและชื่นชม เพราะมีเยาวชนน้อยคนนักที่พอมีเงินก้อนใหญ่หล่นใส่มือ แล้วจะนึกถึงว่า ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนี้ กยศ. และเพราะเงินกู้จาก กยศ.นี่แหละที่ทำให้เรียนจบ ซึ่งแน่นอนว่า เงินที่ “หนุ่ม" สมศักดิ์ ใช้หนี้คืนให้ กยศ.นั้น ไม่ใช่ยังประโยชน์เฉพาะเขา ทำให้เขาพ้นสภาพหนี้แต่เพียงผู้เดียว แต่จะยังประโยชน์ถึงน้องๆ ที่ต้องการเงินทุนสำหรับการศึกษาในรุ่นต่อๆ ไปอีกด้วย
ข้อคิดจากเวที เดอะ วอยซ์ ในสัปดาห์ตัดสิน ซึ่งเป็นสัปดาห์สุดท้ายของการแข่งขันนั้น ถ้าจะมองอย่าง “เงินทองต้องรู้” และนำข้อคิดจากเด็กวัย 21 ที่เป็นผู้ชนะอย่าง “หนุ่ม” กับเด็กวัย 16 ในฐานะรองแชมป์อย่าง “อิมเมจ” มาขบคิดในการบริหารเงิน ผู้ใหญ่อย่างเราก็ไม่อาจมองข้ามเรื่องที่โดดเด่นและเป็นจุดแตกต่างของทั้งสองคนนี้ นั่นคือ “เป้าหมาย”
ก่อนการแข่งขันในสัปดาห์สุดท้ายมาถึง กระแสการเชียร์ “หนุ่ม” มากขึ้นเป็นลำดับ แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่เท่ากระแสเชียร์ “อิมเมจ” ที่ดูกระหึ่มถึงขนาดมีการเขียนถึงเหตุผลที่อิมเมจควรจะเป็นแชมป์ และคว้าเงินรางวัล 3 ล้านบาท ไปครอง จนการแข่งขันเริ่มต้นขึ้นนั่นแหละ กระแสก็ตีกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือ ด้วยเหตุผลเดียว นั่นคือ การเลือกเพลงที่ใช้ในการแข่งขันรอบสุดท้าย เพราะในขณะที่หนุ่มเลือกเพลง “สักวันต้องได้ดี” ของ "พี่เต๋อ" เรวัต พุทธินันทน์ เป็นเพลงสุดท้ายบนเวทีของเขา สาวน้อยอย่าง “อิมเมจ” กลับเลือกเพลงสากลอย่าง “Stay with me” สำหรับใช้ในการแข่งขัน
หลายคนอาจจะยังงงว่า แล้วเกี่ยวอะไรกับ “เป้าหมาย” หรือเกี่ยวอะไรกับ “เงินทองต้องรู้” ลองฟังความเห็นจากศิลปินอย่าง “แสตมป์" อภิวัชร์ เอื้อถาวรสุข ซึ่งทำหน้าที่โค้ชของน้องอิมเมจ ที่พูดถึงการตัดสินใจเลือกเพลงสุดท้ายของอิมเมจว่า “ในฐานะโค้ชที่อยู่กับเขามา ผมบอกว่า ผมนับถือเขา นับถือหัวใจเขา คือเด็กตัวแค่นี้ อายุ 16 มายืนตรงนี้ เขาต้องได้รับความคาดหวังจากคนภายนอกเยอะมาก อิมเมจทำอย่างนั้นสิ จะได้ชนะ อิมเมจทำแบบนี้สิ แต่ตลอดเวลาที่เราอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะสองวีคหลังนี้ อิมเมจก็ทำให้ผมรู้สึกว่า 'โห อายเด็กมันเหมือนกัน' คือเขาแน่วแน่มากในเส้นทางที่เขาเป็น เขาอยากจะเป็นในสิ่งที่เขาเป็น เขาบอกว่า เขาอยากจะทำงานให้ดี มากกว่าจะเอาชนะ”
ชัดเจนว่า “เป้าหมาย” การเลือกเพลงและการทำโชว์ของหนุ่ม คือ การเรียกเสียงโหวตจากผู้ชมเพื่อชัยชนะ ขณะที่เป้าหมายของอิมเมจ ไม่ได้อยู่ที่ชัยชนะ แต่อยู่ที่สิ่งที่ตัวเองอยากจะเป็นและอยากจะทำ
ไม่มีใครผิดหรือถูก หรือหัวใจใครน่านับถือหรือน่ากราบกว่ากัน เพราะสิ่งที่กำหนด “เป้าหมาย” ของเด็กสองคนนี้ คือ สภาพแวดล้อมของทั้งสองคนที่แตกต่างกัน ในขณะที่หนุ่มต้องกู้ยืมเงิน กยศ. ต้องทำงานรับจ้างทั่วไป และพ่อแม่มีอาชีพทำนา สาวน้อยวัย 16 อย่าง “น้องอิมเมจ” น่าจะมีความพร้อมกว่า “พี่หนุ่ม” มาก เมื่อสภาพแวดล้อมต่างกัน ทั้งสองคนก็มีสิทธิ์ที่จะกำหนดเป้าหมายด้วยเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
เขียนเรื่องบันเทิงมายืดยาว ก็เพื่อจะมาขมวดปมตรงย่อหน้าสุดท้ายนี่แหละว่า การบริหารจัดการเงินของแต่ละคนต่างก็ต้องมี “เป้าหมาย” และการกำหนด “เป้าหมาย” ของแต่ละคนก็อยู่บนสภาพแวดล้อมและปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกัน รวมถึงความเป็นไปได้จากโอกาสที่ได้รับที่ไม่เท่ากัน
ถ้าคุณมีเป้าหมายเพื่อชัยชนะคว้าเงิน 3 ล้านบาท คุณก็ต้องเลือกเพลงให้ชีวิตและเลือกทำโชว์แบบหนึ่ง แต่ถ้าคุณมีเป้าหมายเพื่อทำให้สิ่งที่คุณคิดว่า ถึงไม่ชนะ แต่มีความสุขมากกว่า คุณก็ต้องเลือกเพลงและทำโชว์อีกแบบหนึ่งให้แก่ชีวิตตัวเอง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น