เมื่อเวลา 16.00 น. 15 ก.ค. 57 มีการแถลงข่าวผลการประชุมคสช.ของทีมโฆษกคสช. ที่ศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล โดยมีประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสนใจคือความคืบหน้าของรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยพ.อ.วินธัย สุวารี และร้อยเอกน.พ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคสช. ยืนยันว่า ไม่มีการหารือหรือพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญชั่วคราวในที่ประชุมคสช.แต่อย่างใด
ขณะที่พ.อ.ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. เปิดเผยว่า ในการประชุมคสช.ครั้งใหญ่วันเดียวกันนี้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. มีความห่วงใยการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นทางด้านเศรษฐกิจเนื่องขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจของไทยกำลังไปได้ดี โดยให้หน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ เรื่องการจัดการรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมการกำหนดนโยบายและบริหารจัดน้ำเข้าชี้แจงความคืบหน้าในการบริหารราชการแผ่นดินตามที่คสช.ได้มอบหมายไปในครั้งก่อนโดยในสัปดาห์นี้จะมีการพิจารณาความคืบหน้าการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) โดยจะประชุมหารือความคืบหน้าในวันพรุ่งนี้ (16ก.ค.)
พร้อมนำร่างกฎหมาย4ฉบับเสนอ'สนช.'จาก80ฉบับ
เมื่อเวลา 16.00 น. นายดิสทัต โหตระกิตย์ รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รักษาราชการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา แถลงหลังการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณากฎหมาย โดยแบ่งเป็นเรื่องเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารับหลักการแล้วส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการพิจารณาตรวจสอบก่อนเสนอเรื่องไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ต่อไป โดยมี 2 เรื่อง คือ
1.ร่างพ.ร.บ.แรงงานทางทะเล พ.ศ.... ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ฝ่ายเศรษฐกิจคสช.ได้เสนอผ่านฝ่ายกฎหมายกระบวนการยุติธรรมให้หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการออกกฎหมายฉบับนี้เพื่ออนุวัตตามอนุสัญญาแรงงานทางทะเลที่จะก่อให้เกิดสิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบการเดินเรือทางทะเลที่ใช้ธงชาติไทย เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้จะสร้างมาตรฐานในการคุ้มครองแรงงานที่ใช้อยู่ในการประกอบกิจการทางทะเลให้มีมาตรฐานไม่น้อยกว่าการคุ้มครองแรงงานในภาคอื่นๆ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้สอดคล้องกับนโยบายของคสช.ที่ต้องการสร้างมาตรฐานในการคุ้มครองแรงงานให้มีประสิทธิภาพ โดยเมื่อเดินเรือทางทะเลที่ใช้ธงชาติไทยเมื่อไปจอดที่ท่าเรือใดก็จะได้รับการยอมรับและไม่ต้องถูกตรวจสอบหากไม่มีหนังสือรับรอง
เรื่องที่ 2. คือ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานฉบับที่ พ.ศ.... เสนอโดยฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม โดยร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อสร้างและพัฒนาแรงงานที่ใช้เกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆที่อาจจะเป็นอันตรายต่อสาธารณะให้มีการสร้างและลดระดับฝีมือแรงงาน เพื่อเพิ่มความปลอดภัยแก่สังคม โดยกำหนดให้มีศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงาน และมีคำรับรอง ซึ่งผู้ประกอบการใดที่ใช้แรงงานที่มีฝีมือที่ได้รับการพัฒนาก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามที่กฎหมายกำหนด อาทิ ด้านภาษี และการส่งเสริมต่างๆจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายดิสทัต กล่าวว่า ส่วน ร่างพ.ร.บ.อีก 4 ฉบับ เป็นเรื่องที่สืบเนื่องมาจากที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มอบหมายให้ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมดำเนินการจัดทำบัญชีกฎหมายโดยตรวจสอบทั้งหมดที่ค้างการพิจารณาอยู่ในกระบวนการนิติบัญญัติที่ค้างการพิจารณาอยู่ในขั้นตอนต่างๆ จำนวนกว่า 80 ฉบับ เพื่อจัดทำและจัดเตรียมร่างพ.ร.บ.เหล่านั้นให้พร้อมที่จะเสนอสนช.เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวและจะมีการตั้งสนช.ทางฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกานับจำนวน 80 ฉบับนั้นเพื่อมาดูว่าร่างฉบับใดควรมาจัดลำดับความจำเป็นเร่งด่วนให้สอดคล้องกับนโยบายของคสช.ที่ต้องการเร่งให้มีการเตรียมความพร้อมที่จำเป็นต้องออกเป็นประกาศคสช. หรือจัดทำเป็นร่างพ.ร.บ.ในขั้นตอนที่มีการจัดตั้งสนช. หรือนำเสนอในชั้นที่มีการประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับถาวรหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาดำเนินการที่กล่าวมาแล้วลุล่วงไปแล้วว่า 80 เปอร์เซ็นต์ และจะได้จัดทำบัญชีรายชื่อกฎหมายต่างๆที่เห็นควรนำเสนอในขั้นตอนต่างๆมานำเรียนต่อคสช.ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน
นายดิสทัต กล่าวว่า โดยร่างพ.ร.บ.อีก 4 ฉบับดังกล่าว ในที่ประชุมวันเดียวกันนี้ สำนักงานกฤษฎีกาได้รายงานกฎหมายส่วนแรก ที่เป็นกฎหมายจำเป็นเร่งด่วนสมควรได้รับการพิจารณา และเป็นกฎหมายที่สอดคล้องต่อนโยบายคสช. คือ 1.ร่างพ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีสาระสำคัญในการคุ้มครองผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจคือลูกหนี้ให้ได้รับการคุ้มครองสิทธิจากการทวงถามหนี้ที่ไม่เหมาะสม ที่ไม่มีหลักเกณฑ์ เพราะปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่ามีการประกอบกิจการในลักษณะในการติดตามทวงถามหนี้ที่เป็นลักษณะที่ไม่ให้เกียรติ และบริษัทเหล่านี้ไม่มีกฎหมายควบคุม ใช้วิธีการสอบถามที่ไม่รักษาสิทธิของคนที่เป็นลูกหนี้ เพราะเป็นผู้ด้อยโอกาสทางเศรษฐกิจ และกำหนดให้ผู้จะติดตามทวงถามหนี้ต้องมาจดทะเบียนประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงการคลังกำหนดและดูแล กฎหมายฉบับนี้จะเป็นการห้ามกระทำหรือคุกคามสิทธิของลูกหนี้ หรือไม่ให้เกียรติเช่นเปิดเผยรายชื่อ ลงประกาศชื่อเผยตัวตนทำให้เสียชื่อเสียงของลูกหนี้
2. ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์(ฉบับที่ 1) พ.ศ....ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งมีหลักการเพื่อจัดระบบการค้ำประกันและการจำนอง เพราะในปัจจุบันมีผู้ที่ได้เปรียบทางด้านการเงินหรือเจ้าหนี้ ที่ใช้ความได้เปรียบ บังคับทำสัญญาให้ผู้คำประกันหรือจำนองต้องรับผิดในลักษณะลูกหนี้ชั้นต้นเช่นเดียวกับลูกหนี้ ทั้งที่ฐานะทางกฎหมายของผู้ค้ำประกันกับผู้จำนองต้องเป็นลูกหนี้ลำดับรอง ดังนั้นเจ้าหนี้ต้องบังคับหนี้กับลูกหนี้ก่อน แต่ในทางปฏิบัติจริงในปัจจุบันปรากฏว่าเจ้าหนี้ใช้วิธีนั้นเพราะถือว่าจะดวกกว่า ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ต้องการจัดระบบการบังคับหลักประกันให้เป็นไปตามระบบ
3. ร่างพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.... ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการควบคุมให้ภาคเอกชนต้องมาขอใบอนุญาต ดังนั้นจะเป็นการแก้ปัญหาการขออนุญาตที่อาจจะขออย่างไม่ถูกต้อง ปัญหาเรื่องการส่งเอกสารที่ประกอบไม่ครบถ้วน หน่วยงานต้องพิจารณาคำขออนุญาตอาจจะไม่ชี้แจงและผลักภาระหน้าที่ให้ผู้ขอไปแสวงหาเอกสาร ดังนั้นจะเป็นการปรับเปลี่ยนอำนาจหน้าที่ของผู้ให้อนุญาตที่ต้องช่วยเอกชนเรื่องการขอเอกสารเหล่านั้นในการประสานงาน เพื่อลดภาระและค่าใช้จ่ายประชาชนที่ต้องติดต่อหน่วยงานราชการ และมีการกำหนดระยะเวลาในการขออนุญาต และเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาต และที่สำคัญคือกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้ต้องตั้งศูนย์รับคำขออนุญาต เพื่ออำนวยความสะดวกแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One stop service ขึ้นทั้งในกทม.และต่างจังหวัดโดยหัวหน้าคสช.สั่งให้เริ่มต้นในทันที ส่วนต่างจังหวัดให้อยู่ภายใต้ความดูแลของผู้ว่าราชการจังหวัด รวมทั้งจัดทำคู่มือประชาชนเพื่อให้ทราบขั้นตอนการขออนุญาตดังกล่าว
และ 4.ร่างพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง(ฉบับที่..) พ.ศ.... ที่รองรับเรื่องต่างๆ เมื่อมีคำขอตามร่างพ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.... ผู้มีอำนาจจะต้องพิจารณาตามคำขออย่างรวดเร็ว
ทั้งนี้พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มีอำนาจเต็มในการพิจารณาคัดเลือกโดยหลักสำคัญ คือ ต้องเป็นกฎหมายที่สอดกับนโยบายคสช. จากนั้นจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจทาน และนำเสนอคสช.พิจาณาต่อไปในการประชุมทุกสัปดาห์
ตั้งกก.สรรหาเลือกขรก.ระดับ8นั่งอปท.
เมื่อเวลา 20.30 น.คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ออกประกาศฉบับที่ 85/2557 เรื่อง การได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นเป็นการชั่วคราว
เนื่องจากในปัจจุบันมีสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นหลายแห่งได้ครบวาระหรือว่างลง หรือมีกรณีสิ้นสุดสมาชิกภาพ แต่โดยที่สถานการณ์ปัจจุบันยังไม่อาจจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นได้โดยเรียบร้อย คสช.จึงมีประกาศดังนี้ 1.ในกรณีสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นดำรงตำแหน่งครบวาระ หรือพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุอื่นใดนอกจากครบวาระ ให้งดการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นไปก่อน จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลง โดยระหว่างนี้ให้ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ตามที่กำหนดไว้ในประกาศนี้
สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด ที่มีสมาชิกสภาเหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาทั้งหมด ให้ถือว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาที่เหลืออยู่นั้น เป็นอันสิ้นสุดลง นับแต่วันที่จำนวนสมาชิกสภาเหลือไม่ถึงกึ่งหนึ่ง
คำสั่งดังกล่าวระบุอีกว่า เพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาท้องถิ่นในระหว่างที่ยังไม่มีผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้ใช้วิธีการคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถด้านการบริหารงานท้องถิ่น การคลังท้องถิ่น การศึกษาท้องถิ่น การอนามัยและสาธารณสุข กฏหมาย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น โยธาธิการ ผังเมือง หรือโครงสร้างพื้นฐาน หรือด้านอื่น ตามที่คณะกรรมการสรรหาเห็นสมควร โดยอย่างน้อย 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมด ต้องเป็นข้าราชการ หรือเคยเป็นข้าราชการ ตั้งแต่ระดับชำนาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป ทั้งนี้ ให้คำนึงถึงพฤติกรรม คุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และความเป็นกลางทางการเมืองเป็นที่ประจักษ์ของผู้ที่จะได้รับการคัดเลือกด้วย
ขณะเดียวกันให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภท ประกอบด้วยจำนวนสมาชิกสภาท้องถิ่น ดังต่อไปนี้ (1) องค์การบริหารส่วนตำบล มีสมาชิกสภาจำนวน 10 คน (2) เทศบาลทุกประเภทมีสมาชิกสภาจำนวน 12 คน (3) องค์การบริหารส่วนจังหวัดแต่ละแห่งมีจำนวนสมาชิกสภากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้งหมด ที่มีอยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้มีผลบังคับใช้
คำสั่งระบุอีกว่า กรณีที่ต้องเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้มีคณะกรรมการสรรหาคณะหนึ่งที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ทำหน้าที่คัดเลือก โดยให้ดำเนินการคัดเลือกให้แล้วเสร็จภายในกำหนด 15 วัน นับแต่วันที่มีเหตุให้มีการเลือกสมาชิกสภาท้องถิ่น ในการนี้กรรมการสรรหาจะเสนอชื่อตนเองเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นมิได้ และในกรณีที่ผู้บริหารท้องถิ่นครบวาระหรือว่างลง ให้ปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปฎิบัติหน้าที่นายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น