ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 29/2557
ความก้าวหน้าการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ร่วมประชุมคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2557 ที่ห้องประชุมจันทร์ประภัสสร์ ชั้น 5 อาคารสำนักงานอธิการบดี
รมว.ศธ. กล่าวในที่ประชุมว่า ขณะนี้การปฏิรูปหลักสูตรมีความคืบหน้าไปมากพอสมควร ซึ่งคณะกรรมการก็จะต้องดำเนินงานเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าต่อไป โดยมีสิ่งที่ควรจะต้องช่วยคิดและหาข้อสรุปให้ชัดเจน คือ กระบวนการ ขั้นตอน วิธีการ และระยะเวลาในการดำเนินงานที่จะนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติต่อไป เช่น
- การส่งต่อหรือการมอบหลักสูตรให้หน่วยงานที่รับผิดชอบตามกฎหมาย หรือตามหลักการบริหารความรับผิดชอบของหน่วยงานจะทำอย่างไร รวมทั้งควรจะต้องการรับฟังความเห็นเพิ่มเติมจากฝ่ายต่างๆ อีกหรือไม่ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปรับปรุงหลักสูตรให้สอดคล้องตรงกันมากที่สุด
- การนำร่องใช้หลักสูตร จะจัดทำเป็นโครงการเริ่มต้นหรือนำร่องอย่างไร จะขยายวงออกไปให้กว้างขึ้นด้วยวิธีการและขั้นตอนอย่างไร ใช้เวลาเท่าใด ในประเด็นเหล่านี้จำเป็นต้องให้ผู้เกี่ยวข้องมาร่วมหารือกับคณะกรรมการด้วย รวมทั้งความจำเป็นที่จะต้องเชิญใครมาร่วมให้ความเห็นหรือไม่ หรือหากเห็นว่าดีอยู่แล้วก็หารือกันต่อไป แต่อาจมีบางส่วนที่จะต้องไปรับฟังความเห็นก็ต้องไป ทั้งหมดนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนและผู้ที่เกี่ยวข้องจะได้วางแผนได้ต่อไป เช่น ในปีการศึกษาหน้าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ กระบวนการ ขั้นตอนใช้เวลาไปถึงต้นปีการศึกษาต่อไปจะเกิดอะไรขึ้น สำหรับ สพฐ. ซึ่งตามกฎหมายจะต้องเสนอคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ความเห็นชอบ และออกประกาศต่อไป ในส่วนนี้จะมี Transition อย่างไร ทั้งระหว่างรับฟังและระหว่างทำงานของคณะกรรมการนี้ เพื่อให้การส่งต่อและเชื่อมโยงเป็นไปอย่างดี
- การหารือกับคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ซึ่งมีหน้าที่ผลิตและพัฒนาครู ถือว่าเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปหลักสูตรอย่างมาก จึงจำเป็นต้องเชิญให้เข้ามาร่วมปฏิรูปหลักสูตรตั้งแต่ต้น เพื่อเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นในวงประชุมของคณะกรรมการ ส่วนในกรณีผู้บริหารสายการศึกษาบางกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปหลักสูตร ควรจะต้องจัดเวทีแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้หรือไม่ โดยอาจจะตั้งประเด็นการหารือว่า “ควรเปลี่ยนหลักสูตรแล้วหรือยัง”
- การหารือผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เนื่องจากเรื่องของหลักสูตรใหม่กำลังเป็นที่สนใจของผู้เกี่ยวข้องและคนทั่วไป ว่า จะเกิดอะไรขึ้น จะเริ่มเมื่อใดและเริ่มอย่างไร ซึ่งหากเราสามารถแสดงให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อผู้เกี่ยวข้องจะวางแผนการดำเนินงานและเข้ามามีส่วนร่วมได้ ทั้งนี้ จากการฟังความเห็นของหลายฝ่าย ก็เห็นตรงกันว่า การปฏิรูปหลักสูตรเป็นเรื่องจำเป็น กรรมการได้หารือและดำเนินการจนการปฏิรูปมีความก้าวหน้าและได้ข้อสรุปในเรื่องต่างๆ แต่องค์กรที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่เกี่ยวข้องในหลายขั้นตอนยังมีการรับรู้ที่ไม่เท่ากัน ซึ่งมีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือที่เห็นด้วยก็ยังเห็นแตกต่างกันมาก ทั้งในเรื่องหลักสูตรและขั้นตอนดำเนินงาน ดังนั้น แม้การปฏิรูปหลักสูตรจะมีความก้าวหน้าไปมาก แต่การจะนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ก็จะต้องมีกระบวนการและขั้นตอนที่หลายฝ่ายเห็นพ้องต้องกันด้วย
รมว.ศธ.ฝากให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ ไปหารือกับผู้เกี่ยวข้องดังกล่าว เพื่อให้ได้ข้อสรุปและขั้นตอนดำเนินการที่มีความเหมาะสมต่อไป เพราะการปฏิรูปหลักสูตรจะรอให้มีการปฏิรูปประเทศคงไม่ได้ เพราะยังไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ในขณะที่ล่าสุด Education First ได้แสดงผลการจัดอันดับภาษาอังกฤษของเวียดนาม พบว่าอยู่ในอันดับที่ 28 จาก 60 ประเทศ แต่ไทยอยู่อันดับที่ 55 ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็จะมีเข้าโดยตลอด ศธ.จึงจะดำเนินการด้วยความใจเย็นไม่ได้ สิ่งใดที่สามารถปฏิรูปได้ ก็จะต้องเร่งดำเนินการ และจะให้เกิดประโยชน์มากๆ ควรจะดำเนินการให้ได้ข้อสรุปก่อนที่รัฐมนตรีใหม่จะเข้ามารับหน้าที่
โอกาสนี้ คณะกรรมการส่วนหนึ่งได้เสนอแนะในที่ประชุมเกี่ยวกับการปฏิรูปหลักสูตรในประเด็นต่างๆ อาทิ
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ ได้รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานปฏิรูปหลักสูตรว่า มีความก้าวหน้าไปกว่า 90 เปอร์เซ็นต์แล้ว โดยได้จัดทำประชาพิจารณ์ไปแล้วในบางพื้นที่ และใช้เว็บไซต์เป็นช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลการปฏิรูปหลักสูตรด้วย
ดร.อ่องจิต เมธยะประภาส กล่าวว่า สิ่งแรกที่จะต้องหารือร่วมกันก็คือ แผนปฏิบัติการเพื่อนำหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติ ที่จะต้องประกอบด้วยขั้นตอนและกรอบเวลาการดำเนินงานที่ชัดเจน โดยจะต้องดำเนินการก่อนที่หลักสูตรจะแล้วเสร็จ ก่อนนำเสนอต่อคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณา รวมทั้งจะต้องมีการสื่อสารและถ่ายทอดให้ผู้ปฏิบัติหรือหน่วยงานหลัก คือ สพฐ.ในฐานะผู้ที่จะลงไปดำเนินการ ได้รับรู้และเข้าใจตรงกันว่า หลักสูตรคืออะไร เป็นอย่างไร เพื่อจะได้นำไปถ่ายทอดในวงของผู้ปฏิบัติและเพื่อวางแผนดำเนินงานต่อไป
ดร.พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา กล่าวว่า ต้องการให้หลักสูตรใหม่เอื้ออำนวยให้มีการจัดการศึกษาทางเลือกควบคู่ไปด้วย เนื่องจากในการประชุมใหญ่ปรมาจารย์จากทั่วโลกกว่า 800 คน ที่เมืองชิคาโก้ สหรัฐอเมริกา เมื่อ 2 ปีก่อน พบว่ามีโรงเรียนในโลกนี้ถึง 60 เปอร์เซ็นต์ที่ยังยืนสอนหน้ากระดานดำ และพบว่า 30-40 เปอร์เซ็นต์ของโรงเรียนที่ยืนสอนนั้น เป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาทางเลือก จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า โลกยุคใหม่มีแนวโน้มจัดการศึกษาทางเลือกเพิ่มขึ้น
รศ.ดร.คุณหญิงสุมณฑา พรหมบุญ ได้เสนอแนวทางในการถ่ายทอดข้อมูลการปฏิรูปหลักสูตรไปสู่การปฏิบัติในแต่ละขั้นตอน ใน 3 แนวทาง คือ 1)เมื่อเห็นแล้วต้องการเปลี่ยน คือ มีการนำเสนอที่น่าสนใจ เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องเกิดความสนใจ เกิดความต้องการที่จะเปลี่ยน 2) เมื่อเปลี่ยนแล้วจะดี คือ การที่จะทำให้เห็นเป้าหมายว่าเปลี่ยนหลักสูตรแล้วดีอย่างไร 3) การเปลี่ยนไม่ใช่เรื่องยาก เป็นการสื่อสารด้วยแนวคิดเชิงบวก (Positive Thinking) ว่า การใช้หลักสูตรใหม่ไม่ใช่เรื่องยาก ใครๆ ก็สามารถทำได้ซึ่งหลักการดังกล่าวจะต้องมีการแสดงตัวอย่าง มีสื่อ/คู่มือ พร้อมทั้งมีพี่เลี้ยง/ผู้ช่วยรองรับการดำเนินงาน และเมื่อประกาศใช้หลักสูตรไปแล้ว ก็ควรจะปฏิรูปการจัดการโดย Identify Unit of Change ไปที่จังหวัด คือ ผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งจะมีส่วนช่วยระดมผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายในจังหวัดให้เข้ามามีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษา
นอกจากนี้ ได้เสนอหลักการจัดการศึกษา 4 ด้าน ได้แก่ พุทธศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา โดยจะต้องดำเนินการและจัดทำทุกอย่างให้เป็นรูปธรรม คือ เป็นเอกสารที่มีข้อสรุปและแนวคิดที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อไปได้
ดร.วินัย ฤาชัยพาณิชย์ เว็บมาสเตอร์ Eduzones กล่าวว่า การจัดการศึกษาของไทยเป็นการบอกเล่ามากกว่าการสอนให้เกิดทักษะ (Skills) และคุณลักษณะ (Attitude) ซึ่งในเป็นจริงจะต้องจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดทั้งความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะ โดยได้ยกตัวอย่างทักษะที่มีความจำเป็นต่อโลกยุคปัจจุบัน 4 ด้าน คือ
- Learning Skills ซึ่งผู้เรียนไทยจะเรียนและอ่านหนังสือเฉพาะในเวลาเรียนเท่านั้น เมื่อเรียนจบก็จะไม่กลับมาอ่านหนังสืออีก
- Working Skills ที่จะต้องเน้นทักษะด้านการสื่อสาร ความร่วมมือ และมีพื้นฐานความเชื่อที่ว่า การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาคน
- Thinking Skills ที่จะต้องเน้นการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์
- Life Skills ที่จะต้องเน้นตั้งแต่ระดับครอบครัวไปจนถึงสังคม ในการปลูกฝังความคิด การใช้ชีวิต และคุณธรรม จริยธรรม
ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ อธิการบดี มศว กล่าวว่า เชื่อว่าขณะนี้ทุกคนมีความเห็นตรงกันในเรื่องของเป้าหมายและเนื้อหาของการปฏิรูปหลักสูตร แต่ยังมีความแตกต่างกันตรงวิธีการนำหลักสูตรใหม่ไปสู่การปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม การรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องควรนำเสนอโครงร่างที่มีรายละเอียดไม่มากนัก เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เกี่ยวข้องได้แสดงความคิดเห็นอย่างอิสระต่อประเด็นต่างๆ จากนั้นจึงนำความคิดเห็นกลับมาปรับปรุงต่อไป
ในการประชุมครั้งนี้ รมว.ศธ.และคณะกรรมการฯ ได้ร่วมให้ความเห็นในการจัดทำเว็บไซต์ www.curriculumreform.in.th ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อเผยแพร่โครงการ “การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานแห่งชาติ 2556” ประกอบด้วยข้อมูลด้านนโยบาย ข้อมูลโครงการ ข่าวสารการปฏิรูปหลักสูตร ข้อมูลหลักสูตรและตำรา ผลต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นกับนักเรียนในแต่ละช่วงชั้น ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหาร และเขตพื้นที่การศึกษา รวมทั้งสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านกระดานสนทนาถาม-ตอบ ฯลฯ ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้เสนอแนะให้ปรับปรุงการนำเสนอเนื้อหา โดยจัดแบ่งข้อมูลออกเป็นประเด็น/หัวข้อ เพื่อให้ง่ายต่อการอ่าน ปรับรูปแบบเว็บไซต์ให้น่าสนใจ สีสันสดใส และใช้เทคนิคจากงานโฆษณาเข้ามาช่วยในการสื่อสาร รวมทั้งการนำ Social Media มาใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น