ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 392/2556
เสวนากลยุทธ์การเร่งรัดคุณภาพผู้เรียนสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทย
โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค กรุงเทพฯ - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดการประชุมเสวนา "กลยุทธ์การเร่งรัดคุณภาพผู้เรียนสู่การยกระดับคุณภาพการศึกษาไทยตามนโยบาย" เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2556 ณ ที่ห้องปริ๊นซ์บอลรูม 1 ชั้น 11 จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมี ศ.พิเศษ ภาวิช ทองโรจน์ และ ดร.พวงเพ็ชร ชุนละเอียด ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ ผู้ทรงคุณวุฒิ อาจารย์จากคณะศึกษาศาสตร์/ครุศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ผู้บริหาร ศธ. ผู้แทนสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา และครูผู้สอน เข้าร่วมกว่า 50 คน
ภาพ กิตติพงษ์ ราชเกษร, by iPhone
รมว.ศธ.กล่าวว่า การประชุมเสวนาครั้งนี้เป็นความก้าวหน้าของการยกระดับคุณภาพผู้เรียน ที่จะนำไปสู่กระบวนการ แผนงาน และมีขั้นตอนการดำเนินงานที่มีความชัดเจนมากขึ้น ที่สำคัญคือการนำไปสู่การกำหนดยุทธศาสตร์ แผนงาน และมาตรการ ที่จะทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนว่า การปฏิรูปการศึกษาจะมีความเปลี่ยนแปลงต่อการเรียนการสอนอย่างไร และเพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งระบบสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ที่ประชุมได้นำเสนอแผนยุทธศาสตร์เพื่อเร่งรัดคุณภาพผู้เรียนใน 5 ประเด็นหลัก ดังนี้
● แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์การประเมินผลนานาชาติ (PISA) โดยนำองค์ความรู้จากการเข้าร่วมโครงการ PISA มาใช้ในการยกระดับคุณภาพการจัดการเรียนการสอนและการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ PISA ในปี 2558 และ 2561 ซึ่งมีมาตรการดำเนินงานในปี 2557 รวม 5 มาตรการ ได้แก่
- มาตรการที่ 1 การสร้างความตระหนักของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
- มาตรการที่ 2 การสร้างบุคลากรและจัดหาทรัพยากรเพื่อการเรียนรู้อย่างเพียงพอและมีคุณภาพ
- มาตรการที่ 3 การพัฒนาสื่อหรือแบบฝึกหัด เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการคิดวิเคราะห์ของนักเรียน ป.5 - ม.3
- มาตรการที่ 4 การสร้างและใช้ข้อสอบระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อวัดความสามารถในการอ่านรู้เรื่องและเขียนเพื่อสื่อสารได้
- มาตรการที่ 5 การสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างเครื่องมือวัดผลระดับเขตพื้นที่การศึกษาและสร้างข้อสอบตามแนว PISA
- มาตรการที่ 6 สร้างความเข้มแข็งของระบบการกำกับติดตามและประเมินผล
ในเรื่องของการทดสอบ PISA นั้น ได้มีการรวบรวมองค์ความรู้ ข้อมูลพื้นฐาน และเสวนาหารือเพื่อยกระดับคะแนน PISA ให้ดีขึ้นบ้างแล้ว แต่การประชุมครั้งนี้ต้องการที่จะให้ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญช่วยคิด แลกเปลี่ยน เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางในการขับเคลื่อนทั้งระบบว่า จะมีกลไก วิธีการ และกระบวนการที่ชัดเจน รวมทั้งแผนงานที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อนำไปสู่การกำหนดเป็นนโยบาย ตั้งเป้าหมาย และรณรงค์ส่งเสริมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
ดังนั้น สิ่งที่สามารถดำเนินการได้เพื่อให้ทันต่อการทดสอบ PISA ครั้งต่อไป ก็ควรจะต้องเร่งดำเนินการ เพื่อให้เกิดการถอดบทเรียนและพบปัญหาการจัดการศึกษาที่จะต้องแก้ไขปรับปรุง รวมทั้งขอฝากให้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์การยกระดับผลสัมฤทธิ์การประเมินผลนานาชาติ ไม่เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องหรือนักเรียนที่จะต้องทดสอบ PISA ครั้งต่อไปเท่านั้น แต่ต้องประชาสัมพันธ์กับสาธารณชนในวงกว้างมากขึ้น เพื่อให้คนทั้งสังคมและคนวงการศึกษาได้เรียนรู้ เกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทดสอบ PISA และการใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงการศึกษาต่อไปด้วย
● แผนยุทธศาสตร์การดำเนินงานการเร่งรัดการอ่านออก เขียนได้ และทวิภาษา โดยมีเป้าหมายให้นักเรียนชั้น ป.3 และ ป.6 ทุกคน สามารถอ่านรู้เรื่อง สื่อสารได้ ภายในปีการศึกษา 2556 และนักเรียนทุกระดับชั้น อ่านรู้เรื่องและสื่อสารได้ ภายในปีการศึกษา 2557 ซึ่งมีข้อเสนอจากการประชุมระดมความคิดเห็นแก้ไขปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทยของครูผู้มีประสบการณ์สอนภาษาไทยมากกว่า 25 ปี คือ นักเรียนที่อ่านไม่ออก ให้ใช้เพลง บทร้องเล่นสระพาเพลิน นิทานและแบบฝึกหัดประกอบการสอนภาษาไทย เพื่อทำให้นักเรียนจำได้ง่าย สนุกสนาน เสริมการคิดตามความเหมาะสมกับวัย ส่วนนักเรียนอ่านรู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง ควรใช้แบบฝึกเสริมความคิด เขียนประโยค เพื่อใช้ภาพในการฝึกแต่งประโยค รวมทั้งใช้แบบฝึกทักษะการอ่านจับใจความ ทั้งจากประโยค ข้อความ เรื่องสั้น นิทาน บทร้อยกรอง การตอบคำถาม และการเขียนแสดงความคิดเห็นด้วย
● แผนการดำเนินงานด้านภาษาจีน ภาษาอังกฤษและภาษาต่างประเทศที่สองอื่นๆ
- ภาษาจีน มีข้อเสนอในการปรับปรุงการเรียนการสอนภาษาจีน กำหนดเป้าหมายรวมและมาตรฐานในแต่ละช่วงชั้น และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการหลักสูตร โดยเพิ่มความรู้และความสามารถของผู้บริหารสถานศึกษาและผู้สอนและยกระดับคุณภาพการจัดทำหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญภายนอก
- ภาษาอังกฤษ มีข้อเสนอแนะให้ปรับวิธีเรียนเปลี่ยนวิธีสอน การพัฒนาครู การใช้ ICT ในการเรียนการสอน การขยายโครงการพิเศษ การสอบวัดความรู้ความสามารถ การเพิ่มเวลาเรียน การจัดกลไกขับเคลื่อนที่เข้มงวด และการประกาศเป็นนโยบายภาษาอังกฤษ
- ภาษาต่างประเทศที่สองอื่นๆ มีแผนดำเนินการยกระดับคุณภาพการเรียนการสอนภาษาต่างประเทศที่สองสำหรับคนไทย โดยส่งเสริมและพัฒนาครูผู้สอน การพัฒนาการเรียนการสอน การพัฒนาระบบบริหารจัดการและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ และการส่งเสริมสนับสนุนทางวิชาการ
ทั้งนี้ การเรียนการสอนภาษาต่างประเทศทุกภาษา ต้องมีการส่งเสริมให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง และพัฒนาทั้งหมด ทุกภาษาจะต้องปรับปรุงการเรียนการสอน เช่น ภาษาจีนที่มีเด็กไทยเรียนจำนวนมากแต่ใช้งานจริงได้จำนวนน้อย ภาษาอังกฤษที่บังคับให้เด็กทุกคนต้องเรียน จะต้องช่วยกันคิดว่า ประเทศไทยต้องการให้เด็กเรียนภาษาอังกฤษอย่างไร เด็กต้องรู้ในระดับใด จะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน รวมทั้งภาษาต่างประเทศที่สองอื่นๆ ที่จะต้องมีการระบุว่าต้องรู้ภาษาอะไร เพียงใด นำไปใช้ประโยชน์อย่างไร สิ่งสำคัญของการเรียนภาษาคือ จะต้องมีการเรียนสนทนา (Conversation) ไม่ใช่ให้เรียนเฉพาะไวยากรณ์เท่านั้น เช่น ภาษาจีน จะเลิกการเรียนแบบบังคับหรือกึ่งบังคับทั้งห้องเรียนได้หรือไม่ ให้เด็กได้เรียนตามความสนใจ ให้มีชั่วโมงเรียนสนทนาอย่างต่อเนื่อง โดยจำกัดนักเรียนไม่เกิน 20 คนต่อห้อง หากเป็นเช่นนี้ได้ การเรียนภาษาจีนก็จะประสบความสำเร็จมากขึ้น ทำให้ผู้เรียนสามารถสื่อสารได้และสามารถนำภาษาจีนไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือใช้ประกอบอาชีพได้
ส่วนการเรียนภาษาอังกฤษ จะใช้วิธีการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนแบบใดแบบหนึ่งกับทุกโรงเรียนไม่ได้ เพราะแต่ละโรงเรียนมีบริบทและมีทรัพยากรต่างกัน จึงจำเป็นต้องแบ่งโรงเรียนเป็นกลุ่มต่างๆ ดังนี้ 1) โรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนที่มีห้องเรียน English Program และ Mini-English Program ซึ่งมีความถนัดด้านภาษาอังกฤษอยู่แล้ว อาจจะขอรับการสนับสนุนเรื่องสื่อหรือวิธีการเรียนการสอน 2)โรงเรียนที่มีครูผู้สอนที่จบเอกภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีการเรียนแบบสนทนา จะต้องจัดให้มีเวลาในการเรียนสนทนาอย่างเข้มข้น 3) โรงเรียนที่ไม่มีครูที่จบเอกภาษาอังกฤษ ไม่สามารถพูดภาษาอังกฤษแบบเจ้าของภาษาได้ ซึ่งเป็นโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ จะต้องมีการอบรมครูแบบเข้ม จัดหาสื่อ/แบบเรียน/นำเทคโนโลยีทางการศึกษามาช่วยสอนเพื่อให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน
สิ่งเหล่านี้เป็นการปรับเปลี่ยนการเรียนการสอนภาษาที่ตรงกับบริบทของแต่ละกลุ่มโรงเรียน รวมทั้งเพื่อส่งสัญญาณให้สังคมรู้ว่า การเรียนภาษาต้องเรียนแบบเข้มข้นจึงจะได้ผล และจะต้องมีเป้าหมายทั้งเชิงปริมาณ คือจำนวนผู้รู้ภาษาต่างๆ ตามความต้องการของประเทศและการใช้งาน และเชิงคุณภาพคือ รู้ภาษาใดบ้าง รู้เพียงใด และรู้เพื่ออะไร
● แผนการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้คิด วิเคราะห์ เรียนรู้ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์และทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษ 21 มียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน คือ การผลักดันการคิดสู่ห้องเรียน การพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องด้านการคิดในทุกระดับ รวมทั้งเครือข่ายความร่วมมือระดับเขตพื้นที่การศึกษา (Area-Based Collaborative Network)
● แผนการพัฒนาการวัดและประเมินสมรรถนะของผู้เรียน เพื่อให้นักเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานทุกคนทุกสังกัด ได้รับการทดสอบวัดผลและประเมินผลด้ายข้อสอบกลางที่มีคุณภาพ นำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งมีแผนการดำเนินงาน ดังนี้
- การพัฒนาระบบการวัดและประเมินผลในระดับสถานศึกษา โดยมีข้อสอบกลางร่วมเป็นส่วนหนึ่ง ได้แก่ การทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการประกันคุณภาพการศึกษา การกำหนดให้ใช้ข้อสอบกลางใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และกำหนดสัดส่วนของข้อสอบส่วนกลางกับข้อสอบเขตพื้นที่การศึกษาเป็น 30 : 70 ในปีการศึกษา 2557 และเป็น 50 : 50 ในปีการศึกษา 2558
- พัฒนาคลังข้อสอบ ที่สามารถวัดผู้เรียนได้รอบด้านที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ได้แก่ กำหนดแผนผังการจัดทำข้อสอบ ออกและคัดเลือกข้อสอบที่มีคุณภาพ รวมทั้งพัฒนาคลังข้อสอบ
- พัฒนาความรู้ความสามารถของครูผู้สอนเกี่ยวกับการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียน ได้แก่ การพัฒนานักวัดผลที่สามารถพัฒนาข้อสอบและเครื่องมือวัด จัดทำหลักสูตรการพัฒนาครูผู้สอนในการสร้างเครื่องมือวัดและประเมินคุณภาพ
ภาพ สถาพร ถาวรสุข
รมว.ศธ.กล่าวฝากให้ช่วยคิดเกี่ยวกับการทดสอบวัดผลกลาง ว่าเมื่อมีข้อสอบวัดผลกลางก็จะต้องมีเด็กจำนวนหนึ่งที่สอบไม่ผ่าน จะมีวิธีการรองรับและจัดการอย่างไร เช่น เรียนซ้ำหรือเรียนซ่อมเสริมบางวิชาที่สอบไม่ผ่านจะได้หรือไม่ หรือหากเด็กอ่อนทุกวิชาจะปล่อยเด็กเรียนชั้นต่อไปเรื่อยๆ หรือจะให้เด็กซ้ำชั้น อาจเปรียบเทียบว่าอย่างใดจะดีกว่ากันระหว่างการให้เด็กเสียโอกาสซ้ำชั้นอีก 1 ปี กับการปล่อยให้เด็กเสียโอกาสถึง 6 ปี คือ จบ ป.6 แล้วก็ยังอ่านหนังสือไม่ออก ซึ่งก็จะทำให้เรียนวิชาอื่นๆ ไม่รู้เรื่องด้วยเช่นกัน ขอให้ช่วยกันแลกเปลี่ยนและคิดหาวิธีรองรับด้วย นอกจากนี้ การที่ให้มีระบบการทดสอบวัดผลกลาง ก็เพื่อประโยชน์ในการจัดการศึกษาของประเทศ เพื่อให้รู้ว่าประเทศเราจัดการศึกษาอย่างไร รวมทั้งในระดับโรงเรียนเองก็จะเห็นผลของการจัดการศึกษาของตนเองเช่นกันด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น