23 พ.ย.56 ที่ห้องประกอบ หุตะสิงห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 14.00 น. คณะนิติราษฎร์ นำโดยนายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แถลงกรณีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา โดยระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้ทำให้เกิดปัญหาตามมาทันทีเกี่ยวกับข้อสงสัยในสถานะร่างกฎหมายฉบับนี้ ผลในทางกฎหมาย และผลทางการเมืองจากนี้เป็นอย่างไร โดยทางคณะนิติราษฎรได้ศึกษารายละเอียดในคำวินิจฉัยแล้วเห็นว่า มีปัญหาอย่างร้ายแรงหลายประการ โดยเฉพาะปัญหาเขตอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สะท้อนให้เห็นจากความบกพร่องในคำวินิจฉัยนี้
นายวรเจตน์ ชี้ถึงขอบเขตอำนาจศาลรัฐธรรมนูญว่า เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งบุคคลที่ทรงอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ คือรัฐสภา โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญจะทำงานพิจารณาคดี จะไม่สามารถตัดสินคดีได้ตามอำเภอใจ และการพิจารณาคดีจะทำได้เฉพาะเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น บนพื้นฐานอำนาจวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตามบทบัญญัติของกฎหมาย อ้างหลักการคุ้มครองเสียงข้างน้อย แท้ที่จริงแล้วเป็นแค่คำกล่าวอ้างสร้างความถ่วงดุล ก็เพียงหวังคุ้มครองอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญเอง
นายวรเจตน์ ระบุว่า การอ้างอิงในคำวินิจฉัย มีความคลาดเคลื่อนหลายประการ ซึ่งสาระสำคัญในระบบประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดคือประชาชน ผ่านการออกเสียงลงมติและมีการใช้อำนาจผ่านองค์กรต่างๆที่มีความชอบธรรมประชาธิปไตย
นายวรเจตน์ กล่าวอีกว่า ศาลรัฐธรรมนูญต้องตระหนักและสำนึกว่าการออกแบบโครงสร้างทางการเมืองเป็นอำนาจของประชาชน ผ่านองค์กรทางการเมืองที่มีความชอบธรรม ไม่ใช่หน้าที่ของศาลรธน. การอ้างหลักนิติธรรมหลายแห่ง เป็นการอ้างเพื่อสร้างอำนาจให้กับตนเอง เป็นการอ้างที่เลื่อนลอย การอ้างอย่างนี้ผลของคำวินิจฉัยเข้าควบคุมขัดขวางเสียงข้างมาก ทำให้เสียงข้างน้อยบรรลุผลจึงไม่ใช่หลักนิติธรรม การทำอย่างนี้ เป็นการรังแกเสียงข้างมาก ทำให้เสียงข้างมากต่างหากที่ไม่มีที่อยู่ที่ยืน และมีผลเป็นเผด็จการเสียข้างน้อยในที่สุด
นายวรเจตน์ กล่าวว่า การอ้างถึงหลักนิติธรรมเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญเองมีอำนาจที่จะพิจารณาตามมาตรา 68 ซึ่งรัฐสภา ไม่ใช่ความหมายตามมาตรา 68 ไม่ใช่พรรคการเมือง หรือ บุคคล และการยื่นเรื่องไม่ได้ยื่นผ่านอัยการสูงสุด แต่ไปยื่นที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง แสดงให้เห็นว่าศาลรธน.ไม่ได้ทำตามขั้นตอนการพิจารณา แต่ศาลรัฐธรรมนูญสถานปนาอำนาจขึ้นมาเองผ่านการตีความมาตรา 68 อย่างกว้างขวางเท่ามหาสมุทร มาตรานี้เป็นเหมือนแก้วสารพัดนึกซึ่งไม่ชอบด้วยการจัดโครงสร้างรัฐ และการถ่วงดุล ถ้าปล่อยให้เป็นแบบนี้เรื่องทุกเรื่องที่แพ้เสียงข้างมากจะมีคนยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้ตีความโดยอ้างมาตรา 68 และศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจรับพิจารณาคดีต่างๆจำนวนมาก กลายเป็นซุปเปอร์องค์กร หรือเป็นองค์กรที่อยู่เหนือองค์กรทั้งปวง และจะกลายเป็นว่าศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ให้กำเนิดรธน.เอง ทั้งนี้เห็นว่าคำวินิจฉัยนี้เสียเปล่าและไม่มีผลทางกฎหมาย
"การที่ศาลใช้อำนาจ มากำหนดหน้าที่โครงสร้างทางการเมือง เป็นการเข้ามาแทรกแซง โดยเฉพาะการกำหนดคุณสมบัติที่มาของ สว. ไม่ใช่กิจหน้าที่ของศาล ส่วนการที่ศาล ระบุว่า ที่มา สว. จะต้องมาจากการแต่งตั้ง โดยรากฐานก็ขัดกับระบอบประชาธิปไตยอยู่แล้ว ถ้าเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ต้องการให้ที่มาของ สว. ต้องมาจากการสรรหาตลอดไป จะต้องบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ที่ระบุไว้ชัดเจนว่า ห้ามมีการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทำให้เห็นว่าการวินิจฉัยของศาล เป็นไปตามอำเภอใจและไม่อยู่ภายใต้หลักการใด ถ้าศาลยังพิจารณาอยู่ในลักษณะนี้ ยังเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามประชาชน ที่เป็นสิทธิประชาชน โดยวิจารณญานของประชาชนเอง โดยที่ศาลจะไม่มีสิทธิเข้ามาชี้นำ อย่างไรก็ตาม นิติราษฎร์ เห็นว่าประเด็นนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญอย่างชัดแจ้ง ซึ่งการวินิฉัยนี้เหมือนกับการสงวนอำนาจศาลไว้นั่นเอง" นายวรเจตน์ กล่าว
ขณะที่ นายปิยบุตร แสงกนกกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหา ส.ส. เสียบบัตรแทนกัน ที่มีการนำเรื่องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถพิจารณาเรื่องนี้และเอาผิดได้ ทำให้เห็นว่า การดำเนินการเอาผิด ส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกันจะได้มีการกำหนดบทลงโทษ แต่ว่าไม่ใช่อะไรก็นำเรื่องฟ้องศาลรัฐธรรมนูญเสียทุกเรื่องไป
นสพ.คมชัดลึก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น