ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 401/2556
หารือกับคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โรงแรมปรินซ์พาเลซ มหานาค - นายจาตุรนต์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ดร.กิตติ ลิ่มสกุล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงศึกษาธิการ และศาสตราจารย์พิเศษ ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา หารือความร่วมมือกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2556 ในประเด็นเกี่ยวกับการสนับสนุนความร่วมมือนวัตกรรมเชิงพาณิชย์ผ่านการวิจัยร่วม และแนวทางการออกแบบพัฒนาระบบการทดสอบ/วัดผลภาษาของประเทศ
ศาสตราจารย์ บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กล่าวว่า ได้ขอเข้าหารือเพื่อต้องการให้ ศธ.สนับสนุนโครงการความร่วมมือระหว่างคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับกระทรวงศึกษาธิการ และภาคอุตสาหกรรม ในการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมและสร้างคนเพื่อพัฒนาประเทศ โดยมีเป้าหมาย เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศ โดยการสร้างนวัตกรรมที่มีศักยภาพในเชิงพาณิชย์และผลิตบัณฑิตที่มีความเป็นเลิศ และมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำงานวิจัยต่อยอดที่นำไปสู่นวัตกรรมและการพัฒนาเชิงพาณิชย์ ยกระดับการวิจัยและพัฒนาเพื่อพึ่งพาตนเองทางเทคโนโลยีและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งลดภาระค่าใช้จ่ายในการลงทุนด้านเครื่องมือและบุคลากรวิจัยในภาคอุตสาหกรรมผ่านความร่วมมือกับจุฬาฯ เป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติงานจริงในหน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนเปิดโอกาสให้หน่วยงานที่เข้าร่วมได้รู้จักและมีโอกาสคัดเลือกนิสิตนักศึกษาเข้าทำงานหลังสำเร็จการศึกษาได้อย่างมั่นใจ
ผลที่คาดว่าจะได้รับ จะได้นวัตกรรมเชิงพาณิชย์ผ่านการวิจัยร่วมระหว่างภาคอุตสาหกรรม และจุฬาฯ โดยการสนับสนุนจาก ศธ. ภาคเอกชนจะเห็นคุณค่าในการลงทุนวิจัยเชิงพาณิชย์ ทั้งยังช่วยขับเคลื่อนประเทศให้หลุดออกจาก Middle Income Trap ก้าวข้ามขีดจำกัดในการสร้างนวัตกรรม เพราะทีผ่านมาเราขาดการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ ต่างจากประเทศชั้นนำ เช่น เกาหลี หรือญี่ปุ่น ที่มีการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา หากเราไม่พัฒนาก็จะกลายเป็นผู้ซื้อเทคโนโลยีตลอดไป
รมว.ศธ. กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ มีความพร้อมและศักยภาพในเรื่องขององค์ความรู้ บุคลากร รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ ซึ่งโครงการที่มีความร่วมมือลักษณะนี้ในต่างประเทศก็ได้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ซึ่งหากมีความร่วมมือในการร่วมทุนกับเอกชน เพื่อทำการวิจัยค้นคว้าและพัฒนา ภาคเอกชนก็สามารถนำนวัตกรรมใหม่ๆ ไปใช้ต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ศธ.จึงเห็นว่าโครงการที่เสนอมานี้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศ และจะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้และสร้างนวัตกรรมทีสอดคล้องกับการผลิตและพัฒนา จึงยินดีที่จะให้การสนับสนุน พร้อมทั้งจะให้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันต่อไป โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาร่วมศึกษารายละเอียด การคัดเลือกโครงการ ประสานและหารือกับภาคเอกชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณต่อไป
นอกจากนี้ จะมีโครงการความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ในการบ่มเพาะการสร้างและพัฒนานวัตกรรม เพื่อให้เกิดการวิเคราะห์ออกแบบ และสามารถนำผลการวิเคราะห์ออกแบบไปใช้ในเชิงพาณิชย์อีกด้วย
นายแพทย์ภิรมย์ กมลรัตนกุล กล่าวว่า ความร่วมมือการวิจัยดังกล่าว จะช่วยต่อยอดในเรื่องของนวัตกรรมเพื่อนำนวัตกรรมที่ได้จากการวิจัยไปสร้าง แทนที่จะต้องไปซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเป็นการประหยัดงบประมาณของประเทศ และสามารถใช้ประโยชน์ได้ร่วมกัน โดยภาคเอกชนจะอาศัยบุคลากร คณาจารย์ นิสิตทั้งระดับปริญญาโทและเอกที่มีศักยภาพสูง มาคิดโจทย์ร่วมกัน เป็นความร่วมมือในการผลิตและพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของภาคอุตสาหกรรมร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย คือ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ กับรัฐบาล และภาคอุตสาหกรรม โดยเริ่มต้นใน 4 กลุ่มหลักของอุตสาหกรรม คือ อุตสาหกรรมเคมี โลหะ อิเล็กทรอนิกส์ และปิโตรเคมีและพลังงาน
ศาสตราจารย์พิเศษ ทศพร ศิริสัมพันธ์ กล่าวว่า หลังจากการหารือในครั้งนี้ จะนำรายละเอียดจากการหารือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ เสนอ รมว.ศธ.เพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณในการสนับสนุนโครงการต่อไป
รมว.ศธ. กล่าวว่า นอกจากการหารือความร่วมมือเรื่องดังกล่าวแล้ว ได้ขอความร่วมมือในการออกแบบพัฒนาระบบการทดสอบ/วัดผลภาษาไทย ซึ่งจุฬาฯ โดยสถาบันสอนภาษาสิรินธร ได้สร้างการออกแบบทดสอบ/วัดผลภาษาไทยสำหรับชาวต่างประเทศที่ได้เรียนภาษาไทยมาแล้ว จึงต้องการเห็นการสร้างการออกแบบทดสอบ/วัดผลสำหรับผู้เรียนภาษาไทยซึ่งเป็นเจ้าของภาษาด้วย เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและได้ผลสิ่งที่พึงต้องการ เพราะที่ผ่านมาเราจัดการเรียนการสอนโดยไม่มีการทดสอบวัดผลให้เป็นมาตรฐานตามหลักวิชาการเลย หากมีการดำเนินการในเรื่องนี้ให้เป็นระบบ จะทำให้เราทราบผลการใช้ภาษาไทยในระดับต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมามีการสแกนนักเรียน ป.3 และ ป.6 ในการใช้ภาษาไทย ซึ่งพบว่ามีอาการน่าเป็นห่วงจำนวนมาก หากมีการทดสอบวัดผลในชั้นอื่นๆ เช่น มัธยมศึกษา ก็จะทำให้ทราบภาพรวมมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจจะน่าตกใจกว่าที่เป็นอยู่ก็ได้
นอกจากนี้ ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญของจุฬาฯ มาช่วยคิดและพัฒนาระบบการสอนภาษาต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีปัญหาน่าเป็นห่วงเป็นอย่างมาก เช่น เราสอนภาษาจีนในประเทศ ที่มีจำนวนผู้เรียนกว่า 7 แสนคน แต่มีจำนวนไม่เกิน 2 หมื่นคนเท่านั้นที่สามารถสื่อสารได้ จึงเหมือนเป็นการสูญเปล่าที่ใช้ครูจำนวนมหาศาลในการสอน แต่ผู้เรียนยังไม่สามารถสื่อสารหรือใช้ภาษาได้ ดังนั้นจึงควรมีการทบทวนกันอย่างจริงจังในการสอนภาษาของประเทศ โดยจุฬาฯ ยินดีและตอบรับที่จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมทั้งจะให้มีการประสานการทำงานร่วมกันต่อไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น