29 มกราคม 2559 วันเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ตามโรดแม็พกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มีเนติบริกรอย่าง “มีชัย ฤชุพันธ์ุ” นั่งกุมบังเหียน ออกแบบกติกาประเทศ
หากดูปฏิทินที่วางไว้แล้ว ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ.2558 มาตรา 39/1 บัญญัติว่า เมื่อ กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ และให้คณะรัฐมนตรีแจ้ง กกต.ทราบโดยเร็ว โดยให้เป็นหน้าที่ของ กกต.ในการดำเนินการให้มีการออกเสียงประชามติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่ กกต.ประกาศ กำหนดโดยความเห็นชอบของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และประกาศในราชกิจจานุเบกษา
อีก 6 เดือนข้างหน้า คือกรกฎาคม 2560 ประชามติ “รับ-ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กำลังจะเกิดขึ้น นับเป็นครั้งที่ 2 ของประเทศ ภายหลังที่เราสร้างประวัติศาสตร์ให้จารึกมาแล้ว เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2550 ในการออกเสียงประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 นับเป็นการออกเสียงประชามติครั้งแรกของคนไทย
และเพียงแค่หนึ่งวันก่อน กรธ.เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญนั้น “5 เสือ กกต.” ได้เห็นชอบและจัดส่ง "ร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาในการออกเสียงประชามติ พ.ศ...." ให้สนช. พิจารณา
ผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงาน กกต. “ธนิศร์ ศรีประเทศ” อธิบายว่า ร่างประกาศนี้มีเนื้อหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1.หลักการเผยแพร่ จัดพิมพ์ การแสดงความคิดเห็นของฝ่ายที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบ การจัดสรรเวลาออกอากาศ ซึ่งการจัดพิมพ์บัตรออกเสียง ร่างรัฐธรรมนูญ ทาง กกต.ให้นโยบายกับสำนักงานให้ใช้วิธีการประกวดราคาตามปกติ การจัดส่งก็จะให้บริษัทไปรษณีย์เป็นผู้ดำเนินการจัดส่งไปยังครัวเรือนของผู้มีสิทธิออกเสียง เบื้องต้น กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ระบุว่า มีทั้งหมด 19 ล้านครัวเรือน และ 2.รูปแบบหลักเกณฑ์และวิธีการออกเสียงประชามติ ที่จะคล้ายกับการเลือกตั้ง ส.ว. ซึ่งใช้จังหวัดเป็นเขตออกเสียงที่เป็นกระบวนการตามปกติอยู่แล้ว
“กกต.กังวลว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดบทลงโทษกับผู้ที่อาจกระทำผิดในการออกเสียงประชามติ ทั้งฉีกบัตร ขัดขวางการออกเสียงฯ เปิดเผยผลสำรวจความเห็นประชาชนก่อนวันออกเสียง และการซื้อเสียง รวมไปถึงปัญหาต่อการทำประชามติ มาตรา 37 วรรคเจ็ด ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำหนดเกณฑ์ออกเสียงประชามติว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติต้องได้เสียงข้างมากของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด” นายธนิศร์ ระบุ
ด้านแหล่งข่าววงใน กกต.เล่าว่า การทำประชามติครั้งนี้ต่างจากครั้งแรก เพราะประชามติเมื่อปี 50 กกต.มีหน้าที่แค่เป็นผู้ดำเนินการจัดและควบคุมการออกเสียงประชามติเท่านั้น นอกนั้นเป็นหน้าที่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น
“แต่การทำประชามติครั้งนี้ กกต.มีอำนาจเบ็ดเสร็จ ตั้งแต่การจัดพิมพ์ จัดส่ง เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญและกระบวนการขั้นตอนการออกเสียงประชามติ การดีเบตจัดเวทีแสดงความคิดเห็น การรณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิ ตลอดจนการกำหนดวันออกเสียงและดำเนินการควบคุมการจัดทำประชามติให้สงบเรียบร้อย ถือเป็นงานหนักที่ 5 เสือ กกต.ชุดนี้ต้องเผชิญ” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวรายเดิม อธิบายว่า สาระสำคัญของร่างประกาศ กกต.เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การทำประชามติครั้งนี้ อาทิ ได้กำหนดให้เขตจังหวัดในการลงคะแนนออกเสียงประชามติ ซึ่งจะคล้ายกันกับการลงคะแนนเลือกตั้งส.ว. และกำหนดให้ ผอ.กกต.จังหวัดและกกต.จว.เป็นผอ.ประจำเขตออกเสียงและกกต.ประจำเขตออกเสียงด้วย เพื่อความเรียบร้อยในการบริหารจัดการ
“นอกจากนี้การออกเสียงประชามติครั้งนี้ กกต.ได้ขยายเวลาในวันออกเสียง เริ่มตั้งแต่ 08.00-18.00 น. โดย กกต.เห็นว่าเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในการเดินทางมาลงคะแนน เพราะการลงคะแนนจากเดิมได้ถึงเวลา 15.00 น. ซึ่งมีเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และในแต่ละหน่วยมีผู้มีสิทธิถึง 800 คน ซึ่งหากประชาชนผู้มีสิทธิออกมาลงคะแนนครบร้อยเปอร์เซ็นต์เวลาเพียงแค่ 7 ชั่วโมง คงไม่เพียงพอ” แหล่งข่าวระบุ
ขณะที่ กกต.ฝีปากกล้า ผู้ดูแลด้านบริหารงานเลือกตั้ง อย่าง “สมชัย ศรีสุทธิยากร” ระบุว่า การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่ กกต.จะใช้เครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ ในหน่วยต้นแบบ 2 หน่วย ภายในเขตราชเทวี กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประมาณ 1,600 คน ซึ่งจะทำให้ผู้มาใช้สิทธิได้มีโอกาสเลือกรูปแบบการออกเสียง และเป็นการทดสอบระบบเครื่องลงคะแนนอิเล็กทรอนิกส์ว่าสามารถตรวจสอบได้ และให้เกิดความไว้ใจ ซึ่งจะเป็นการโชว์ศักยภาพของหน่วยเลือกตั้งในอนาคต
“สำหรับการรายงานผลการนับคะแนน ระบบเดิมจะนับผลจากหน่วยเลือกตั้งส่งมายังเขต ก่อนส่งมายังจังหวัด จึงค่อยออกผลรายงานมายังส่วนกลาง ซึ่งจะใช้เวลาเป็นวัน แต่ครั้งนี้จะให้รับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้งแล้วส่งมายังส่วนกลาง โดยจะใช้แอพพลิเคชั่นอีกตัวหนึ่งที่ใช้ในการส่งคะแนน ซึ่งเป็นความลับป้องกันไม่ให้ผู้ไม่หวังดีมาสร้างความวุ่นวาย อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะรายงานอย่างไม่เป็นทางการให้ประชาชนทราบไม่เกิน 3 ชั่วโมง หรือ เวลา 21.00 น. หลังจากปิดการลงคะแนน” นายสมชัย กล่าว
ทั้งหมดนี้คือ กฎกติกาการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ร่างออกเสียงประชามติของ กกต.
ทั้งหมด 53 ข้อ ที่สำคัญ มีดังนี้ิ
ข้อ 6 ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ กรธ.ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ ครม.ทราบ ให้ ครม.ส่งร่างรัฐธรรมนูญ และให้ กรธ.ส่งสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก่ กกต.
ข้อ 11 การจัดทำประชามติให้ กกต.กำหนดวันออกเสียง และต้องกระทำภายในวันเดียวกันทั่วประเทศ
การกำหนดวันออกเสียงประชามติ ต้องไม่เร็วกว่า 30 วัน และไม่ช้ากว่า 45 วันนับแต่วันที่ กกต.ส่งร่างรัฐธรรมนูญให้แก่ผู้มีสิทธิออกเสียงได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของครัวเรือนทั้งหมดที่ผู้มีสิทธิออกเสียงมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน
ข้อ 13 ในการออกเสียงประชามติให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
(1) ให้ ผอ.การเลือกตั้งประจำจังหวัด มีหน้าที่เกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการออกเสียง และดำเนินกิจการที่จำเป็นเกี่ยวกับการออกเสียงให้เป็นไปตามประกาศนี้
(2) ให้ กกต.ประจำจังหวัด มีหน้าที่เกี่ยวกับการกำหนดหน่วยออกเสียง การจัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิออกเสียง กำกับดูแลการนับคะแนนออกเสียงและการประกาศผลการออกเสียง
ข้อ 19 การออกเสียงให้ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตออกเสียง
ข้อ 28 การลงคะแนนออกเสียงให้กระทำได้ โดยวิธีการดังต่อไปนี้
(1) การลงคะแนนด้วยบัตรออกเสียง
(2) การลงคะแนนด้วยเครื่องลงคะแนน
ข้อ 32 ในวันออกเสียงให้เปิดการลงคะแนนออกเสียง ตั้งแต่ 08.00- 18.00 น.
ข้อ 37 ในกรณีที่การลงคะแนนออกเสียงในหน่วยใด ไม่สามารถกระทำได้เนื่องจากเกิดจลาจล อุทกภัย อัคคีภัย เหตุสุดวิสัย หรือเหตุจำเป็นอย่างอื่น ให้คณะกรรมการการประจำหน่วยออกเสียงประกาศงดลงคะแนนออกเสียงในหน่วยนั้น
ข้อ 42 เมื่อเสร็จสิ้นการลงคะแนนออกเสียง ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงดำเนินการนับคะแนนออกเสียงจากบัตรออกเสียง หรือประมวลผลการออกเสียงด้วยเครื่องลงคะแนนของแต่ละหน่วยออกเสียง โดยให้กระทำ ณ ที่ออกเสียงของแต่ละหน่วยออกเสียงและให้กระทำโดยเปิดเผย ห้ามมิให้เลื่อนหรือประวิงเวลาการนับคะแนน
ข้อ 45 เมื่อการนับคะแนนออกเสียง ณ ที่ออกเสียงเสร็จสิ้นแล้ว ให้คณะกรรมการประจำหน่วยออกเสียงรายงานผลการนับคะแนนออกเสียง จำนวนบัตรออกเสียงที่มีอยู่ทั้งหมด จำนวนบัตรออกเสียงที่ใช้ และจำนวนบัตรออกเสียงที่เหลือจากการลงคะแนนออกเสียงของหน่วยออกเสียงนั้น ทั้งนี้ ให้กระทำโดยเปิดเผย
ข้อ 53 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งได้รับรายงานผลการนับคะแนนออกเสียงจากหน่วยออกเสียงทุกหน่วยทั้งประเทศ ให้ กกต.ประกาศผลออกเสียงและจำนวนผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น