ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 48/2559
หารือการทดสอบระดับชาติกับ สทศ.
ศึกษาธิการ - พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ หารือแนวทางดำเนินการจัดการทดสอบระดับชาติ ของสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทศ. ร่วมกับ รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. และคณะ โดยมี รศ.นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นางสาวอาภรณ์ แก่นวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา, นายวณิชย์ อ่วมศรี รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, นายบุญรักษ์ ยอดเพชร ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายสุรพงษ์ จำจด เลขาธิการสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) พร้อมด้วยผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) และสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.สป.) เข้าร่วมหารือ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม 2559 ที่ห้องประชุม MOC
รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการ สทศ. ได้บรรยายสรุปในที่ประชุมเกี่ยวกับการดำเนินงานจัดสอบของ สทศ. ว่าปัจจุบันได้ดำเนินการจัดทดสอบหลัก ดังนี้
1) ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้แก่
การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน O-NET (Ordinary National Educational Test)เพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนชั้น ป.6 ม.3 และ ม.6 ตามมาตรฐานการเรียนรู้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ใน 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่ ภาษาไทย, คณิตศาสตร์, วิทยาศาสตร์, สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม และภาษาอังกฤษ
การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติการศึกษานอกระบบโรงเรียน N-NET (Non-Formal National Education Test) เพื่อวัดความรู้ให้แก่นักเรียนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอิสลามศึกษา I-NET (Islamic National Educational Test) เพื่อวัดความรู้ให้แก่นักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในปีสุดท้ายของหลักสูตรอิสลามศึกษาตอนต้น ตอนกลาง และตอนปลาย ในโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามควบคู่วิชาสามัญ ศูนย์การศึกษาอิสลามประจำมัสยิด (ตาดีกา) และโรงเรียนในสังกัด สพฐ.
การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา B-NET (Buddhism National Educational Test) เพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนตามหลักสูตรโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ในวิชาภาษาบาลี ธรรม พุทธประวัติ และวิชาวินัย
2) ระดับอาชีวศึกษา ได้แก่ การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านอาชีวศึกษา V-NET (Vocational National Educational Test) เพื่อวัดความรู้และความคิดของนักเรียนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 3 และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ชั้นปีที่ 2
3) ระดับอุดมศึกษา ในอนาคต สทศ.จะจัดให้มีการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา U-NET (University National Education Test) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการออกแบบการทดสอบ มีความก้าวหน้าในหลายส่วนแล้ว
ถ่ายภาพ : ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี
ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังการหารือว่า การหารือครั้งนี้เพื่อให้ สทศ.ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่และผลการจัดทดสอบ ซึ่ง รมว.ศึกษาธิการ ได้รับฟังข้อมูลต่างๆ แล้ว มีความเข้าใจตรงกันเกี่ยวกับกระบวนการและกลไกการทำงานด้านการทดสอบและประเมิน แต่ก็ยังพบว่ามีกระบวนการบางอย่างที่ไม่ตอบโจทย์เช่น การทดสอบการคิดวิเคราะห์ของเด็ก ซึ่งควรจะต้องมีการประสานให้มีความเข้าใจตรงกันระหว่างผู้ออกแบบหลักสูตร (สพฐ.) กับผู้จัดสอบ (สทศ.) นอกจากนี้การทดสอบต่างๆ ควรจะต้องเทียบเคียงกับการทดสอบระดับสากลได้
ดังนั้น รมว.ศึกษาธิการ จึงได้มอบให้ สทศ.รวบรวมข้อมูลผลการทดสอบ เพื่อนำไปเทียบเคียงกับผลการทดสอบระดับนานาชาติ เช่น เด็กที่ได้คะแนน PISA ร้อยละ 70 จะได้คะแนน O-NET ในระดับเท่าใด เพื่อพิจารณาว่าผลการทดสอบทั้งสองส่วนเป็นไปในทิศทางเดียวกันหรือไม่ เพราะหากสามารถเทียบเคียงกันได้ ก็จะเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับการทดสอบ O-NET มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้มอบนโยบายเกี่ยวกับการออกข้อสอบเพื่อการคิดวิเคราะห์ของเด็กด้วยว่า ควรมีสัดส่วนของข้อสอบอัตนัยมากขึ้น เพื่อให้เด็กสามารถคิดวิเคราะห์ได้และส่งเสริมให้มีความคิดสร้างสรรค์ โดยมอบให้ สพฐ.จัดทำข้อสอบอัตนัยให้มีสัดส่วนมากขึ้น โดยเริ่มจากวิชาภาษาไทยก่อนในทุกช่วงชั้นปีที่มีความเป็นไปได้ จากนั้นจึงเพิ่มในวิชาอื่นๆ ต่อไป ซึ่งขณะนี้ สพฐ.จะเริ่มใช้ข้อสอบอัตนัยประมาณร้อยละ 30 แล้ว ในส่วนของ สทศ.ก็ต้องนำข้อสอบแบบอัตนัยมาใช้ร้อยละ 20 ในทดสอบ O-NET วิชาภาษาไทยแก่นักเรียนชั้น ป.3 ในปีการศึกษา 2559 เช่นกันด้วย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น