กลางดึกของวันที่ 22 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม พร้อมด้วย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รวมทั้งคณะ รมว.พาณิชย์ รมว.อุตสาหกรรม รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชุดใหญ่ ได้เหินฟ้าเยือนสหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐเบรารุส ในระหว่างวันที่ 23-27 กุมภาพันธ์นี้
การเดินทางเยือนในครั้งนี้ ถูกจับตามองมากกว่าภารกิจหลักคือ ข่าวการจัดซื้อเฮลิคอปเตอร์รุ่น เอ็มไอ 17 จำนวน 10 ลำ มูลค่ากว่า 3,000 ล้านบาท รวมถึงรถถัง T-90 A ตามแผนที่กองทัพบกไทยจะมีการจัดซื้อเพื่อมาทดแทนรถถังที่จะเตรียมปลดประจำการเกือบ 100 คัน โดยมีมูลค่าเกือบ 9,000 ล้านบาท
แต่แท้จริงแล้ว เป้าหมายของการเยือนครั้งนี้ ประเทศไทยและสหพันธรัฐรัสเซีย จะขยายความร่วมมือด้านความมั่นคง และด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งการค้า การลงทุน ระหว่างกันให้เกิดเป็นรูปธรรมมากขึ้น หลังจากการเยือนประเทศไทยของ นายดมิทรี เมดเวเดฟ นายกรัฐมนตรีรัสเซีย เมื่อเดือนเมษายน 2558 ที่ผ่านมา
อีกทั้งเป็นการเตรียมการก่อนการเดินทางของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน-รัสเซีย ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 ที่เมืองโซชิ ซึ่งถือเป็นโอกาสของการสถาปนาความสัมพันธ์รัสเซีย-อาเซียน ครบรอบ 120 ปี ตามคำเชิญของ ประธานาธิบดี วลาดิมีร์ ปูติน
ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซีย ที่มีมานาน แต่ไม่มีความใกล้ชิด เพราะรัสเซียมีข้อจำกัดในอดีตมากพอสมควรและไม่คุ้นเคยผู้นำอาเซียนจนถึงผู้นำไทย แต่ในทางการเรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและในภาคธุรกิจเอกชนเริ่มมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมากขึ้น ภาคประชาชนมีการแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยว การค้า มีมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ไม่ใกล้ชิดมากนัก ทั้ง 2 ประเทศจึงเห็นโอกาสมากขึ้นหลังจากมีการปรับความสัมพันธ์และขยายของมหาอำนาจในภูมิภาค ปรับนโยบายของสหรัฐอเมริกา ทางรัสเซียเองก็ต้องมีการปรับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้น
การหารือเรื่องดังกล่าวเริ่มขึ้นปีที่แล้ว ในช่วงประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค ที่ประเทศฟิลิปปินส์ พล.อ.ประยุทธ์ บอกกับนายกรัฐมนตรีรัสเซีย ว่าจะให้รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรองนายกรัฐมนตรีเศรษฐกิจ รวมถึงภาคเอกชนของไทย เดินทางไปรัสเซียเพื่อผลักดันให้ความร่วมมือทวิภาคีเกิดขึ้น และกลางปี 2559 พล.อ.ประยุทธ์จะเดินทางไปต่อยอด จึงประสานงานกันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
สำหรับการไปเยือนในครั้งนี้ ไทยมีเป้าหมายอยู่ 2 ประการ 1.ความต้องการด้านความมั่นคง จะมีการทบทวนข้อตกลงและมีการเซ็นบันทึกช่วยจำ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไป รวมถึงความต้องการแลกเปลี่ยนทางด้านข่าวสาร ข่าวกรอง การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรข้ามชาติ เป็นสิ่งที่สองประเทศต้องการ และมีเรื่องที่เป็นกังวลคือการขยายตัวของไอซิส ซึ่งเราจะหยิบยกเรื่องการดูแลความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยวรัสเซียมาพูดคุยกัน ซึ่งเมื่อมีการทบทวนเอ็มโอยูเสร็จ แล้วก็จะมีการเซ็นเอ็มโอยูใหม่หลังจากนั้นเดินหน้า
ดร.ปณิธาน กล่าวต่อว่า หลังจากที่สภาความมั่นคงแห่งชาติของรัสเซีย ร่วมประชุมกับ สภาความมั่นคงแห่งชาติของไทย เพื่อเป็นกรอบการเจรจาหลังจากที่ไม่ได้ประชุมกันมา 10 ปีแล้ว หลังจากประชุมเสร็จตกลงกันว่าจะมีการประชุมกันทุกปี คล้ายๆ ของสหรัฐ คือการประชุมสุดยอดผู้นำสหรัฐกับเอเซียนทุกปี เป็นข้อเสนอ แต่ของรัสเซียยังไม่มี ซึ่งทางฝ่ายความมั่นคงจะมีการพบปะกันมากขึ้น แต่ในส่วนของฝ่ายการเมือง คาดว่าหลังจากที่นายกรัฐมนตรีไปเยือน ทางรัสเซียจะมีข้อเสนอคล้ายๆ กัน คือปรับความสัมพันธ์อาเซียนให้ใกล้ชิดขึ้น
อย่างไรก็ตาม รัสเซียเองในกรอบของอาเซียน เป็นประเทศคู่หารือตั้งแต่ พ.ศ.2534 และเป็นคู่เจรจาเมื่อ 2539 และรัสเซียเป็นมหาอำนาจไม่กี่ประเทศที่ได้ลงนามและสัตยาบันในแง่ของจิตวิทยาไมตรีและความร่วมมือของอาเซียนเป็นกรอบใหญ่ เพียงแต่กรอบความร่วมมือด้านความมั่นคงภายในประเทศยังไม่มีการผลักดันอย่างจริงจังจนถึงทุกวันนี้
2.มองโอกาสใช้ประโยชน์จากรัสเซียเรื่องยุทโธปกรณ์ เป็นเรื่องที่คุยกันมาและมีประสบการณ์มาบ้างแล้ว เช่น เฮลิคอปเตอร์ แต่ยังไม่ได้คิดอย่างเป็นระบบ แต่ขณะนี้ข้อจำกัดของไทยกับสหรัฐมีความชัดเจนในเรื่องยุทโธปกรณ์ และเรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศอื่นที่ใช้ระบบเดียวกับรัสเซีย คือ ยูเครน มีปัญหาเพียงเรื่องการส่งมอบ โดยต้องรอดูแลการเจรจาที่จะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องเศรษฐกิจ ทางรัสเซียมีปัญหาเรื่องสินค้าเกษตร เพราะถูกปิดล้อมและคว่ำบาตรจากยุโรป เพราะเป็นปัญหาการเมืองของเขา รัสเซียต้องการสินค้าเกษตร เราก็ต้องการตลาดในการขายข้าวและยาง ดูเรื่องพลังงานที่รัสเซียมีศักยภาพ ตลอดจนถึงสินค้าอื่นๆ
นอกจากนี้ พล.อ.ประวิตร จะเลยไปเบรารุส เรื่องความมั่นคง เพราะเป็นประเทศที่ผลิตอาวุธและมีศักยภาพทางทหารมาก เพราะประเทศมีลักษณะเป็นสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 กับเยอรมนี และมีความเชี่ยวชาญด้านการรบของทหารราบ
ดร.ปณิธาน บอกด้วยว่า หากพิจารณาความสัมพันธ์ในภาพรวมแล้ว คงจะไม่เร็วนัก เพราะเราห่างเหินกับรัสเซียมานาน คล้ายๆ อินเดีย เริ่มต้นการฟื้นฟูบันทึกช่วยจำ การประชุมต่างๆ ตั้งคณะทำงาน ดูในบางส่วนเรายกระดับได้ไหม ถ้าไม่มีก็ต้องพัฒนา เช่น การค้าการลงทุน ความร่วมมือบางอย่างทางด้านความมั่นคง ถือว่าเป็นการเปิดศักราชใหม่ ที่เราให้ความสำคัญค่อนข้างชัดเจนและรองนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญด้านเศรษฐกิจและความมั่นคง ถือเป็นนโยบายปรับความสมดุลของไทย เพราะสหรัฐอเมริกายังมีนโยบายปรับสมดุล ไม่แปลกที่ไทยจะมีนโยบายปรับสมดุล แต่การปรับสมดุลครั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะเอารัสเซียมาแทนสหรัฐ หรือจีน แต่เรามีความสัมพันธ์ที่ทับซ้อนกับทุกประเทศ
“เราต้องระมัดระวังไม่ให้ความสัมพันธ์ตรงนี้ไปกระทบความสัมพันธ์กับสหรัฐเรื่องการทหารที่เป็นเบอร์ 1 อยู่ ส่วนความสัมพันธ์กับจีนทางด้านความมั่นคงก็ดีขึ้น เพราะเรายกระดับขึ้นมาแลกเปลี่ยนส่งผู้ร้ายข้ามแดน เพราะคนจีนเข้าเมืองไทยมากขึ้นใกล้ 10 ล้านคน หากไม่ปรับจะรองรับภัยคุกคามที่เข้ามาไม่ไหว ของรัสเซีย 1.7 ล้าน โดยศักยภาพมีแนวโน้มที่ดี แต่ต้องใช้การพัฒนาจริงจัง ซึ่งนายกรัฐมนตรีตั้งใจเพราะการส่งรองนายกรัฐมนตรีไป 2 ท่าน แต่อาจมีปัญหาค่าเงิน เพราะรัสเซียไม่สะดวกเงินดอลลาร์ ก็ต้องไปคุยกัน” ดร.ปณิธาน ระบุ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น