หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์

หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์
หน้าหลัก ติวสอบดอทคอม เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์

พัฒนาความรู้ สู่ รอง./ผอ.รร. ปี 2567

พัฒนาความรู้ สู่ รอง./ผอ.รร. ปี 2567
พัฒนาความรู้ สู่ รอง./ผอ.รร. ปี 2567

คลิ๊ก "สมัครพัฒนาความรู้สู่ผู้บริหาร / ครูผู้ช่วย

คลิ๊ก... สมัคร พัฒนาความรู้ สู่ ครูผู้ช่วย
คลิ๊ก... สมัคร พัฒนาความรู้ สู่ ผู้บริหาร

ติวสอบดอทคอม (เตรียมสอบครูผู้ช่วย-ผู้บริหาร-บุคลากร การศึกษา)

ติวสอบดอทคอม (เตรียมสอบครูผู้ช่วย-ผู้บริหาร-บุคลากร การศึกษา)
ติวสอบดอทคอม (เว็บฟรีข้อสอบออนไลน์ สอบครู ผู้บริหาร บุคลากร)

วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

ร่างเบื้องต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ

เรื่องใหม่น่าสนใจ  (ทั้งหมด ที่ )


(เนื้อหา-ข้อสอบ 1,000 ชุุด หมื่นข้อ ภาค กข


40 วิชาเอก) ที่ ห้องสอบด้านขวา หรือ 


ติวสอบดอทคอม คลิ๊ก www.tuewsob.com 



-คู่มือ 4 ชุด นโยบาย บริบริหาร ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

-เกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ โดย สมศ.

- พรบ.เงินเดือนใหม่ข้าราชการครูฯ พ.ศ.2558  


              ข้อสอบออนไลน์ ( พัฒนาความรู้ครู - ผู้บริหาร - บุคลากรการศึกษาชุดใหม่

 เตรียมสอบ บน ยูทูป ทั้งหมด ได้ที่

เปิดร่างแรกรัฐธรรมนูญฉบับ กรธ.

 เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคารรัฐสภา 3 นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้แถลงเปิดตัวร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ผ่านทางเว็บไซต์รัฐสภาไทย www.parliament.go.th ซึ่งเป็นร่างรัฐธรรรมนูญเบื้องต้น มีทั้งหมด 270 มาตรา 15 หมวด รวมบทเฉพาะกาล มีหมวดหลักๆ ได้แก่ การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ใหม่ และสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการปกครองท้องถิ่น
       
       คลิกอ่าน ร่างเบื้องต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
       
       โดยคณะอนุกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้สรุปหลักการสำคัญร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้น หลักการสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ดังนี้
       
       “รูปแบบของรัฐ
       ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
       
       รูปแบบการปกครอง
       ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
       
       ที่มาและผู้ใช้อำนาจอธิปไตย
       อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้
       หลักการใช้อำนาจอธิปไตย ,องค์กรผู้ใช้อำนาจอธิปไตย องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และหลักนิติธรรม เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติและความผาสุกของประชาชนโดยรวม
       
       หลักความเสมอภาคของประชาชนชาวไทย
       ปวงชาวไทยย่อมได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนี้เสมอกัน
       
       หลักความเป็นกฎหมายสูงสูดของรัฐธรรมนูญ
       รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้น ใช้บังคับมิได้
       
       สถาบันพระมหากษัตริย์
       ไม่เปลี่ยนแปลง – เพียงเพิ่มหลักการให้สอดคล้อง รธน. ชั่วคราว ว่า - "การถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย พระมหากษัตริย์จะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้กระทำต่อพระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือต่อผู้แทนพระองค์ก็ได้ และในระหว่างที่ยังมิได้ถวายสัตย์ปฏิญาณ ให้ผู้ซึ่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณปฏิบัติหน้าที่ที่จำเป็น ไปพลางก่อนได้"
       
       หลักประกันสิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย
       เปลี่ยนวิธีการรับรองและคุ้มครองใหม่ จากเดิมที่รับรองและคุ้มครองเฉพาะสิทธิและเสรีภาพเฉพาะที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเท่านั้น – เป็นว่า "นอกจากสิทธิและเสรีภาพสำคัญ ๆ ที่มีบทบัญญัติคุ้มครองไว้เป็นการเฉพาะในรัฐธรรมนูญแล้ว การใดที่มิได้ห้ามหรือจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญหรือในกฎหมาย บุคคลย่อมมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำได้และได้รับการคุ้มครอง ตามแนวมาตรา 5 ของคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง 1789 ของฝรั่งเศส และหลักสากล (ใหม่)" ,กำหนดหลักเกณฑ์การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลให้ชัดเจนว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพต้อง (1) ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อ ความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ (2) ไม่กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคมและประชาชน และ (3) ไม่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น – "ไม่ใช่ใช้สิทธิเสรีภาพกันอย่าง ไม่มีขอบเขต ไม่คำนึงถึงสังคมและผู้อื่นเหมือนที่ผ่าน ๆ มา"
       
       กำหนดให้รัฐจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนได้เฉพาะกรณี ที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น และกฎหมายที่จะตราขึ้นต้องจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลนั้น ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขไว้เป็นการเฉพาะ ก็ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดเท่านั้น แต่ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเงื่อนไขไว้ กฎหมายนั้นต้อง (1) ไม่เพิ่มภาระหรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และ (2) จะกระทบกระเทือนต่อศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ ,สำหรับหลักการตรากฎหมายนั้น กำหนดให้กฎหมายต้องมีผลใช้บังคับ เป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง และต้องระบุเหตุผลความจำเป็นในการจำกัดสิทธิและเสรีภาพไว้ด้วย , ประกันสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานตามที่ได้รับรองไว้ในปฏิญญาสากล ว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ประเทศไทย เป็นภาคี
       
       หน้าที่ของปวงชนชาวไทย 10 ประการ
       พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ,ป้องกันประเทศ และรักษาเกียรติภูมิ ผลประโยชน์ของชาติ รวมตลอดทั้งสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ,ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ,เข้ารับการศึกษาอบรมในการศึกษาภาคบังคับ ,รับราชการทหารตามที่กฎหมายบัญญัติ ,เคารพและไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น และไม่กระทำการใด ที่อาจก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม (ใหม่) ,ไปใช้สิทธิเลือกตั้งหรือลงประชามติอย่างอิสระโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมของประเทศเป็นสำคัญ ,ร่วมมือและสนับสนุนการอนุรักษ์ และคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (ใหม่) , เสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ,ไม่ร่วมมือหรือสนับสนุนการทุจริตและประพฤติมิชอบทุกรูปแบบ (ใหม่)
       
       กำหนดให้มี “หน้าที่ของรัฐ” ขึ้น (ใหม่)
       ประกอบด้วย (1) หน้าที่พื้นฐาน และ (2) หน้าที่ในการทำให้สิทธิของประชาชนเป็นสิ่งที่ “จับต้องได้” ไม่ใช่เขียนให้เป็นสิทธิของประชาชนลอย ๆ เหมือนที่ผ่าน ๆ มา 1. หน้าที่พื้นฐาน
       รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย ความมั่นคงแห่งชาติ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน ,รัฐต้องดูแลให้มีการปฏิบัติตามและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด
       
       2. หน้าที่ในการทำให้สิทธิของประชาชนเป็น “สิ่งที่จับต้องได้” รัฐต้องดำเนินการหรือจัดให้มีการศึกษาก่อนวัยเรียนสำหรับประชาชนอย่างทั่วถึง และเมื่อถึงวัยที่ต้องได้รับการศึกษาภาคบังคับ รัฐต้องดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาภาคบังคับที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย และในการจัดการศึกษาทุกระดับนั้น รัฐต้องมุ่งพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ และสามารถเชี่ยวชาญได้ตามความถนัดและศักยภาพของผู้เรียนซึ่งแตกต่างกัน เพื่อให้สามารถประกอบอาชีพได้จริง ไม่ใช่เรียนเพื่อ “ใบปริญญา” และให้เป็นผู้ซึ่ง สามารถสร้างสังคมผาสุก และตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตได้อย่างเท่าทัน ,รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับบริการสาธารณสุขที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง - ไม่ใช่เพียงทั่วถึง แต่ไม่มีคุณภาพ
       
       รัฐต้องจัดหรือดำเนินการให้มีสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตของประชาชนอย่างทั่วถึงตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน ต้องมีการวางแผนล่วงหน้า ต้องคิดยาว ๆ ถึงลูกหลาน ไม่ใช่หวังผลระยะสั้นตามที่ทำ ๆ กันมา ,รัฐต้องคุ้มครองและบำรุงรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน โดยต้องสอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน และหลักการกระจายอำนาจ (สิทธิมีส่วนร่วมของประชาชนเดิม) ,ในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติไม่ว่าในทางใด รัฐต้องระมัดระวัง ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และถ้าเกิดผลกระทบขึ้น รัฐต้องเยียวยาความเดือดร้อนหรือความเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า (สิทธิมีส่วนร่วมของประชาชนเดิม)
       
       ในการดำเนินการต่าง ๆ ของรัฐ ถ้าการนั้นอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข วิถีชีวิตหรือสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน หรือสิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและต้องรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เกี่ยวข้องนั้น เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาด้วย ตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ (สิทธิมีส่วนร่วมของประชาชนเดิม) ,รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวโดยสะดวกตามที่กฎหมายบัญญัติตามหลัก Open Government Doctrine เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และป้องกันการทุจริต (สิทธิมีส่วนร่วมของประชาชนเดิม)
       
       รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในวงโคจรของดาวเทียมอันเป็นทรัพยากรของชาติ ให้เป็นประโยชน์ของชาติและประชาชน โดยการจัดให้มีการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่หรือสิทธิในวงโคจรตามวรรคหนึ่ง ไม่ว่าจะใช้เพื่อส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือเพื่อประโยชน์อื่นใด ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ รวมตลอดทั้งการให้ประชาชนมีส่วนได้ใช้ประโยชน์ด้วยตามที่กฎหมายบัญญัติ ,รัฐต้องจัดให้มีมาตรการหรือกลไกในการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคและต้องส่งเสริมสนับสนุนให้มีการรวมตัวกันเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เพราะประชาชนทุกคนเป็นผู้บริโภค ,รัฐต้องรักษาวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ฐานะทางการเงินการคลังของรัฐ มีเสถียรภาพและมั่นคงอย่างยั่งยืน ไม่สร้างภาระรุงรัง หนักหนาสาหัสแก่ลูกหลานในอนาคต ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ รัฐต้องใช้มาตรการและกลไกเพื่อขจัดการทุจริตและประพฤติมิชอบ ในวงราชการทุกรูปแบบ
       
       "ถ้ารัฐไม่ทำตามหน้าที่ข้างต้น ประชาชนฟ้องศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง"
       
       แนวนโยบายแห่งรัฐ
       ยังคงแนวนโยบายแห่งรัฐไว้เพื่อช่วยรักษาไว้ซึ่งความต่อเนื่องกันโดยสม่ำเสมอ ในการบริหารราชการแผ่นดิน และเพื่อเป็นแนวทางให้รัฐดำเนินการตรากฎหมายและกำหนดนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดิน โดยไม่ก่อให้เกิดสิทธิในการฟ้องร้องรัฐ ที่สำคัญคือ จัดให้มี “ยุทธศาสตร์ชาติ” เป็นแนวทางเป็นเป้าหมายการพัฒนาของประเทศที่ชัดเจนเหมือนประเทศอื่น ๆ เขา โดยยุทธศาสตร์ชาตินี้กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) และยุทธศาสตร์ (Strategy) เรื่องที่ทุก ๆ คนในชาติ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนของชาติในระยะยาว เช่น ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนและเป็นสากล ไม่ใช่กำหนดตัวชี้วัดเอาเอง เช่น ต้องทำให้คนไทยทุกคนมีรายได้ต่อหัวของประชากรไม่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของรายได้ต่อหัวของประชากรของประเทศที่พัฒนาแล้วภายใน 20 ปี เป็นต้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ ต่างรัฐบาลต่างทำ ต่างหน่วยงานต่างทำ เปะปะไปมาเหมือนที่ผ่าน ๆ มา
       
       และที่สำคัญที่สุดคือประชาชนต้องเห็นดีเห็นงามไปกับยุทธศาสตร์ชาติ และต้องร่วมมือกันกับรัฐเพื่อให้เกิดเป็นพลังผลักดันร่วมกันไปสู่เป้าหมายดังกล่าว และยุทธศาสตร์ชาตินี้จะได้เป็นกรอบในการจัดทำแผนงานโครงการต่าง ๆ ของทุกรัฐบาลและทุกหน่วยงาน ให้สอดคล้องและบูรณาการกัน มีการกำหนดเป้าหมาย ระยะเวลาที่จะบรรลุเป้าหมาย และตัวชี้วัดความสัมฤทธิ์ผลที่ชัดเจนและเป็นสากลด้วย เช่น ใช้ลำดับของประเทศในดัชนีของ WEF หรือ IMD เป็นตัวชี้วัด เพราะเป็นสากล ไม่ใช้ดัชนีหรือตัวชี้วัดแบบไทย ๆ เป็นต้น และไม่ใช่มีเพียงวิสัยทัศน์ที่เป็นนามธรรมแต่จับต้องไม่ได้อย่างที่ผ่านมา โดยการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และกฎหมายดังกล่าวต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมและการ รับฟังความคิดเห็นของประชาชนทุกภาคส่วนอย่างทั่วถึงด้วย
       
       รัฐพึงส่งเสริมสัมพันธไมตรีกับนานาประเทศโดยถือหลักความเสมอภาค ในการปฏิบัติต่อกัน และไม่แทรกแซงกิจการภายในของกันและกัน ให้ความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศ และคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติและของคนไทยในต่างประเทศ , รัฐพึงจัดระบบการบริหารงานในกระบวนการยุติธรรมทุกด้านให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ และให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้โดยสะดวก รวดเร็ว และไม่เสียค่าใช้จ่ายสูงเกินสมควร ,รัฐพึงมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐในกระบวนการยุติธรรม ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเคร่งครัดปราศจากการแทรกแซงหรือครอบงำใด ๆ ,รัฐพึงให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายที่จำเป็นและเหมาะสมแก่ผู้ยากไร้หรือผู้ด้อยโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม และพึงเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายในคดีอาญา ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       
       อุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น โดยในการคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมา ช้านาน รัฐต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในทุกกรณี และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วม ในการดำเนินมาตรการหรือกลไกป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาดังกล่าวด้วย ,จัดให้มีและส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาศิลปวิทยาการให้เกิดความรู้ การพัฒนาการ และนวัตกรรม เพื่อความเข้มแข็งของสังคมและเสริมสร้างความสามารถของคนในชาติ
       
       อนุรักษ์และส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และจารีตประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นและของชาติ และพึงจัดให้มีพื้นที่สาธารณะสำหรับกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้ใช้สิทธิและมีส่วนร่วมในการดำเนินการด้วย ,ส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้ เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย ,เสริมสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวอันเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของสังคม รวมตลอดทั้งส่งเสริมและพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีจิตใจเข้มแข็ง รวมตลอดทั้งส่งเสริมและพัฒนาการกีฬาให้ไปสู่ความเป็นเลิศและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน
       
       ให้ความช่วยเหลือเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ และผู้ยากไร้ ให้สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณภาพ และคุ้มครองป้องกันมิให้บุคคลดังกล่าวถูกใช้ความรุนแรงหรือปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม รวมตลอดทั้งให้การบำบัด ฟื้นฟูและเยียวยาผู้ถูกกระทำการดังกล่าว ,จัดให้มีมาตรการหรือกลไกที่ช่วยให้เกษตรกรประกอบเกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลผลิตที่มีปริมาณและคุณภาพสูง มีความปลอดภัย โดยใช้ต้นทุนต่ำ และสามารถแข่งขันในตลาดได้ ,ส่งเสริมให้ประชาชนมีความสามารถในการทำงานโดยเหมาะสมกับศักยภาพและวัย และพึงคุ้มครองผู้ใช้แรงงานให้ได้รับความปลอดภัยในการทำงาน โดยได้รับสวัสดิการ รายได้ และสิทธิประโยชน์อื่นที่เหมาะสมแก่การดำรงชีพ และพึงจัดให้มีหรือส่งเสริมการออมเพื่อการดำรงชีพเมื่อพ้นวัยทำงาน
       
       จัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไปพร้อมกันอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน (Inclusive Growth) อันเป็นแนวทางการพัฒนาที่เป็นสากล สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ขจัดการผูกขาดทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม และพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประชาชนและประเทศ ,ไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ การรักษาผลประโยชน์ส่วนรวม การจัดให้มีสาธารณูปโภค หรือการจัดทำบริการสาธารณะ ,พัฒนาระบบการบริหารราชการแผ่นดินและงานของรัฐอย่างอื่น รวมตลอดทั้งการบริการประชาชน ให้มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว และไม่เลือกปฏิบัติ ตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (Good governance)
       
       การบริหารงานบุคคลของหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามระบบคุณธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวอย่างน้อยต้องมีมาตรการป้องกันมิให้ผู้ใดใช้อำนาจหรือกระทำการโดยมิชอบที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ หรือกระบวนการแต่งตั้งหรือการพิจารณาความดีความชอบของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ,จัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพที่ไม่จำเป็นโดยเร็ว เพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน
       
       ระบบเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร – กาบัตรเดียว
       ส.ส. เขต 350 คน/สส. บัญชีรายชื่อ 150 คน รวม 500 คน ,วาระ 4 ปี ,เลือกตั้งโดยตรงและลับ ,ผู้มีสิทธิเลือกตั้งกาบัตรเดียว (ใหม่) ,ที่ต้องให้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อเพราะ ส.ส. เขตใช้ระบบใครได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ได้รับเลือกตั้ง (First Passes the Post) ดังนั้น คะแนนของผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งจำนวนมากจึงถูกทิ้งน้ำไป ซึ่งไม่เป็นธรรม เพราะในหลายกรณี คะแนนของผู้ที่ไม่ได้รับเลือกตั้งทุกรายรวมกันแล้วกลับมากกว่าคะแนน ผู้ได้รับเลือกตั้งเสียอีก คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้มี ส.ส. บัญชีรายชื่อขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาความไม่เป็นธรรมที่ว่านี้
       
       เพื่อความเป็นธรรม คะแนนเสียงทุกคะแนนจะถูกนำไปใช้ในการคำนวณจำนวนผู้แทนราษฎรทั้งหมดที่แต่ละพรรคพึงมี (แต่ไม่ใช่ทุกเสียงจะต้องได้ผู้แทน) โดยใช้วิธีบัญญัติไตรยางค์ธรรมดา หากพรรคใดได้ ส.ส. เขตเกินจากจำนวน ส.ส. ที่จะพึงมีแล้ว ให้ถือว่ามี ส.ส. เท่านั้น - ไม่ได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่ออีก - แต่ถ้าได้ ส.ส. เขต น้อยกว่าจำนวน ส.ส. ที่พึงมี ก็จะได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อจนครบจำนวน ส.ส. ที่พึงมี ปัญหาคะแนนเสียงตกน้ำก็หายไป
       
       • ในระบบนี้ พรรคการเมืองต้องเฟ้นหาผู้สมัครที่ดีที่สุดในแต่ละเขตเพราะ มีผลกระทบต่อคะแนนรวมที่แต่ละพรรคจะได้รับจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่คิดแบบเดิม ๆ ว่าถ้าไม่มีลุ้นในเขตใด จะส่งหมูเห็ดเป็ดไก่ที่ไหนไปสมัครก็ได้ อันเป็นการดูหมิ่นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และทำให้ผู้คนเบื่อการเมืองและการเลือกตั้ง และขาดความเชื่อมั่นและความศรัทธาในประชาธิปไตย , ยกเลิกการกาบัตรสองใบเพื่อความสะดวกแก่ประชาชน ไม่ใช่เพื่อเอื้อเฟื้อหรือกีดกันพรรคการเมืองใด แต่เป็นเพราะการเลือกตั้งหลายครั้งที่ผ่านมาที่ใช้บัตร 2 ใบ ชาวบ้านจำนวนมากสับสน กาผิดกาถูกจนมีบัตรเสีย เป็นจำนวนมากเป็นล้านบัตร ซึ่งทำให้ผลการเลือกตั้งเบี่ยงเบนไป
       
       คุณสมบัติของผู้สมัคร ส.ส. – ต้องเข้มเพื่ออนาคตของชาติ
       บุคคลดังต่อไปนี้ต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ติดยาเสพติดให้โทษ , เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต , เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ , เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง , อยู่ระหว่างถูกระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตามคำพิพากษาแม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุดหรือตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ , ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล , เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ , เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่ หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
       
       เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ ,เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตหรือประพฤติมิชอบ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนัน ในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (เกณฑ์นี้ถือเป็นขั้นต่ำของคุณสมบัติผู้ใหญ่บ้านตามกฎหมายลักษณะปกครองท้องที่ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน)
       
       เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง ,เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำนอกจากข้าราชการการเมือง ,เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น , เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลง ยังไม่เกินสองปี , เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจหรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ , เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ , อยู่ในระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
       
       หน้าที่ ส.ส
       พิจารณาร่างกฎหมาย ,ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของคณะรัฐมนตรีให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ,ปีหนึ่งมีประชุม 2 สมัย สมัยละไม่น้อยกว่า 120 วัน ,ส.ส. 1/5 สามารถเสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลหรือทั้งคณะได้ (เดิมเปิดอภิปรายทั้งคณะไม่ได้) แต่ให้ทำได้เพียงปีละครั้งเพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านเกเรใช้เป็นช่องทางในการป่วนการทำงานของรัฐบาล , ส.ส. 1/10 สามารถเสนอญัตติเพื่อขอให้เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการ ลงมติได้ เพื่อเป็นช่องทางให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้
       
       เพื่อให้รัฐสภาเป็นเวทีในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองอย่างแท้จริง - ไม่ลงไปในถนนอีก - ถ้าผู้นำฝ่ายค้านเห็นว่ามีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ซึ่งการปรึกษาหารือร่วมกันระหว่างรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีจะเป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ผู้นำฝ่ายค้านจะแจ้งไปยังประธานรัฐสภาขอให้มีการเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมรัฐสภาก็ได้ ในกรณีนี้ คณะรัฐมนตรีมีหน้าที่ต้องเข้าร่วมประชุม แต่รัฐสภาจะลงมติในปัญหาที่อภิปรายมิได้ วิธีประชุมให้ประชุมลับ เพราะต้องการให้ฝ่ายการเมืองทุกฝ่ายรับผิดชอบร่วมกันแก้ไขปัญหาของชาติ ไม่ใช่ใช้การถ่ายทอดสดเป็นเวทีหาเสียงและอภิปรายโจมตีกันไปมา (ใหม่)
       
       ในเรื่องงบประมาณ ส.ส. จะแปรญัตติเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพิ่มเติมรายการหรือจำนวนในรายการไม่ได้ แต่อาจแปรญัตติในทางลดหรือตัดทอนรายจ่ายได้ เว้นแต่รายการ (1) ส่งใช้ต้นเงินกู้ (2) ส่งใช้ดอกเบี้ยเงินกู้ (3) ใช้จ่ายตามที่กฎหมายกำหนด , ห้าม ส.ส. แปรญัตติหรือการกระทำด้วยประการใด ๆ ที่มีผลให้ตนมีส่วน ในการใช้งบประมาณรายจ่าย (งบแปรญัตติ) ถ้ามีการกระทำดังกล่าว สส. 1/10 อาจเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณา ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาวินิจฉัยภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นดังกล่าว ถ้าวินิจฉัยว่ามีการกระทำดังกล่าว ให้การเสนอ การแปรญัตติ หรือการกระทำดังกล่าวนั้นไม่มีผล และให้ สส. นั้นพ้นจากสมาชิกภาพ นับแต่วันที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น หากรัฐมนตรีกระทำการดังกล่าวเสียเอง ให้คณะรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของรัฐมนตรีผู้กระทำการหรือไม่ยับยั้งการกระทำนั้น (ใหม่)
       
       ทำไมยังต้องมี สมาชิกวุฒิสภา
       เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ส.ว. ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น พี่เลี้ยงแก่ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งในพื้นที่ แต่เนื่องจากสมัยนั้นการศึกษาของประชาชนยังไม่ทั่วถึงและการเปลี่ยนแปลงเป็นประชาธิปไตยเกิดขึ้นรวดเร็วมาก ส.ส. ส่วนใหญ่จึงยังขาดความรู้ความเข้าใจในการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยและในการตรากฎหมาย จึงมีการสร้าง ส.ว. ขึ้นเพื่อเป็น “สภาพี่เลี้ยง” ของ ส.ส. โดยจะแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ต่อมา มีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว. จาก ส.ว. แต่งตั้ง เป็น ส.ว. เลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน อย่างเดียวกับ ส.ส. การเลือกตั้ง ส.ว. โดยตรงนี้เอง ที่ทำให้ ส.ว. ต้องอิงกับระบบการเมืองเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาได้ให้อำนาจแก่ ส.ว. ในการ “ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” ด้วย จึงมีความพยายามจากฝ่ายการเมืองที่จะเข้า “ครอบงำ” ส.ว. ดังที่เห็น ๆ กันอยู่ จึงยากเย็นนักที่ ส.ว. จะมีความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่
       
       แม้หลังจากนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงที่มาของ ส.ว. โดยใช้ระบบผสม กล่าวคือ มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนส่วนหนึ่ง กับ ส.ว. สรรหา อีกส่วนหนึ่ง ก็เกิดปัญหาใหม่ขึ้น เพราะ ส.ว. เลือกตั้ง ยังคงอิงกับระบบการเมือง ส่วน ส.ว. สรรหานั้นขาดความยึดโยงกับประชาชน จึงไม่อาจแก้ไขความเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ของ ส.ว. ได้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า ส.ว. ยังคงมีความสำคัญสำหรับประเทศไทย แต่มิใช่ในฐานะสภาพี่เลี้ยงอย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” หรือ “สภาพลเมือง” โดยจะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส. ให้รอบด้าน ตามหลักการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ของสังคมในการตรากฎหมาย เพราะ ส.ส. เป็นตัวแทนพื้นที่และเป็นตัวแทนพรรค การพิจารณาร่างกฎหมายจึงยังขาดมุมมองของภาคส่วนอื่น ที่หลากหลายของสังคมอันจะทำให้กฎหมายต่าง ๆ มีความรอบคอบ รอบด้านมากขึ้น
       
       นอกจากนี้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นว่า การให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพ้นจากตำแหน่งนั้น ควรให้ศาลเป็นผู้วินิจฉัยเพราะจะมีผลเป็นการเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งหรือสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง แล้วแต่กรณี ของบุคคลด้วย อีกทั้งการให้อำนาจเช่นนั้นแก่ ส.ว. ที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นว่าเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการแทรกแซง ส.ว. ในรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น จึงมิได้กำหนดให้ ส.ว. มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกต่อไป
       
       ระบบการเลือก ส.ว.
       ส.ว. 200 คน เดิมใช้เลือกตั้งโดยตรงกับแต่งตั้งมีปัญหามาก เพราะที่มาจากการเลือกตั้งเกือบทั้งหมดจะอิงกับพรรคการเมืองเพราะต้องหาเสียง ต้องใช้หัวคะแนน การเมืองแทรกแซงได้ แต่ถ้ามาจากการแต่งตั้งก็ถูกกล่าวหาว่าขาดความ ยึดโยงกับประชาชน เปลี่ยนใหม่ ให้มาจากการเลือกกันเองของประชาชนพลเมืองผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือมีสถานะต่าง ๆ เช่น ผู้พิการ ฯลฯ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากทุกภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม (All walks of life) (ใหม่) “เปิดกว้าง” ให้ประชาชนพลเมืองทุกคนซึ่งมีคุณสมบัติสมัครเข้ารับการเลือกได้โดยสะดวก เพื่อเปิดช่องให้ประชาชนพลเมืองเข้ามา “มีส่วนร่วม โดยตรง” ในการใช้อำนาจอธิปไตย แล้วให้ผู้สมัครแต่ละด้านเลือกกันเองให้ได้ 200 คน โดยให้เลือกไขว้กลุ่มเพื่อป้องกันการฮั้วกัน (ใหม่)
       
       หน้าที่ ส.ว.
       ไม่ใช่สภาพี่เลี้ยงของ ส.ส. อย่างเดิม หากแต่เป็น “สภาเติมเต็ม” โดยจะช่วยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ ส.ส. ให้รอบด้าน เพราะเป็น ผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือเคยทำงานในด้านต่าง ๆ จากภาคส่วนที่หลากหลายของสังคม, เห็นชอบการแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
       
       ที่มานายกรัฐมนตรี
       ในการหาเสียง พรรคต้องแจ้งชื่อผู้ที่พรรคจะเสนอเป็น นายกรัฐมนตรี ต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้วย พรรคละไม่เกิน 3 รายชื่อ และในการหาเสียง ต้องประกาศให้ประชาชนทราบรายชื่อดังกล่าวด้วย (ใหม่) , รายชื่อที่เสนอ พรรคเป็นผู้คัดเลือกและเสนอ จะเสนอจากผู้เป็นหรือไม่เป็นสมาชิกพรรคก็ได้ และจะเป็น สส หรือไม่ก็ได้ เป็นเอกสิทธิ์ของพรรคที่จะตัดสินใจ และพรรคต้องรับผิดชอบต่อสมาชิกพรรคและประชาชนในการตัดสินใจนั้น (ใหม่) , ผู้ซึ่งได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ทั้งต้องมีหนังสือยินยอมให้พรรคเสนอชื่อ – การยินยอมให้เสนอชื่อเกินหนึ่งพรรค การยินยอมนั้นเป็นโมฆะ (เพิ่มขึ้นใหม่) ,ส.ส. เป็นผู้เลือก นายกรัฐมนตรี จากรายชื่อในบัญชีของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็น ส.ส. ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของจำนวน ส.ส. ทั้งหมด (อย่างน้อย 25 คน)
       
       คุณสมบัติ นายกรัฐมนตรี
       1. นอกจากต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับ ส.ส. ดังกล่าวข้างต้นแล้ว นายกรัฐมนตรี ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม “เพิ่มเติม” ดังต่อไปนี้ด้วย มีสัญชาติไทยโดยการเกิด , มีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี , สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า , มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ , ไม่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนจริยธรรมอย่างร้ายแรง , ไม่เป็นผู้ต้องคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีนั้นจะยังไม่ถึงที่สุด หรือมีการรอการลงโทษ เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท , ไม่เป็นผู้เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุกระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือเพราะเหตุแทรกแซงราชการมาแล้วยังไม่ถึงสองปีนับถึงวันแต่งตั้ง 2. ถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้าม ศาลรัฐธรรมนูญเป็น ผู้วินิจฉัย ซึ่งก็เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่เดิมแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่
       
       คณะรัฐมนตรี
       นายกรัฐมนตรี 1 ตำแหน่ง และ รัฐมนตรี อื่นอีกไม่เกิน 35 คน จะเป็น ส.ส. หรือไม่ก็ได้ ครม. ต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน 15 วัน นับแต่วันเข้ารับหน้าที่ โดยไม่มีการลงมติความไว้วางใจ นโยบายของ ครม. ต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และสถานะทางการเงินการคลังของประเทศ ในการบริหารราชการแผ่นดิน ครม. ต้องดำเนินการตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ด้วย (เพิ่มขึ้นใหม่) (1) ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ เปิดเผย และมีความรอบคอบและระมัดระวังในการดำเนินกิจการต่าง ๆ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศและประชาชนส่วนรวม (2) ใช้จ่ายเงินแผ่นดินตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด (3) ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี (4) สร้างเสริมให้ทุกภาคส่วนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างผาสุก
       
       รัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตน รวมทั้งต้องรับผิดชอบร่วมกันต่อรัฐสภาในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการตามนโยบายของ ครม. ในกรณีที่มีปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินที่ ครม. เห็นสมควรจะฟังความคิดเห็นของ ส.ส. และ ส.ว. นายกรัฐมนตรีจะขอให้ประธานรัฐสภาเปิดอภิปรายทั่วไปในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาโดยไม่มีการลงมติก็ได้ ครม. อาจจัดให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใด ๆ อันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ,ครม. พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ เมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลง (2) อายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร (3) คณะรัฐมนตรีลาออก (4) พ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการ แปรญัตติงบประมาณ (ใหม่)
       
       ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป (ครม. รักษาการ) ตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้ (ใหม่) (1) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะความเป็นรัฐมนตรีของ นรม. สิ้นสุดลงหรือ ครม. ลาออก และเป็นกรณีที่ไม่เกี่ยวกับการทุจริต ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ - แต่หากเป็นกรณีที่เกี่ยวกับการทุจริต หรือพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแปรญัตติงบประมาณ - ครม. ที่พ้นจากตำแหน่งจะอยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปมิได้ ในกรณีเช่นนี้ ให้ให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงนั้น ๆ เฉพาะเท่าที่จำเป็นไปพลางก่อน โดยให้ปลัดกระทรวงคัดเลือกกันเองให้คนหนึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี (2) ในกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะอายุสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงหรือมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม. ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่
       
       ครม. รักษาการ ต้อง (1) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติงานหรือโครงการ หรือมีผลเป็นการสร้างความผูกพัน ครม. ชุดต่อไป เว้นแต่ที่กำหนดไว้แล้วในงบประมาณรายจ่ายประจำปี (เพิ่มขึ้นใหม่) (2) ไม่แต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ หรือพนักงานของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากการปฏิบัติหน้าที่หรือพ้นจากตำแหน่ง หรือให้ผู้อื่นมาปฏิบัติหน้าที่แทน เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน (3) ไม่กระทำการอันมีผลเป็นการอนุมัติให้ใช้จ่ายงบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจาก กกต. ก่อน (4) ไม่ใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง และไม่กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนข้อห้ามตามระเบียบที่ กกต. กำหนด
       
       ครม. มีอำนาจตรา พรก. ตามหลักการเดิม แต่ พรก. เกี่ยวกับการเงินและภาษีอากรที่ต้องพิจารณาเป็นการด่วนและลับนั้น กระทำได้ทั้งในและนอกสมัยประชุม (เปลี่ยนแปลงใหม่) ,ครม. ต้องไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามหลักการเดิมของ รธน. 50 ,ในการทำหนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา ในการนี้ รัฐสภาต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง หากรัฐสภาพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่ารัฐสภาให้ความเห็นชอบ
       
       นอกจากนี้ ให้รัฐสภามีอำนาจตราข้อบังคับเพื่อกำหนดให้หนังสือสัญญาอื่นที่อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวาง ต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาเพิ่มเติมด้วยก็ได้เพื่อความโปร่งใสและแก้ปัญหาในทางปฏิบัติในปัจจุบัน โดยต้องระบุประเภทหรือขอบเขตของหนังสือสัญญาดังกล่าวให้ชัดแจ้ง และต้องกำหนดวิธีการที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นด้วย (เพิ่มขึ้นใหม่) ,พระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกา การประกาศสงคราม ฯลฯ ยังคงเดิมทุกประการ
       
       ศาลรัฐธรรมนูญ
       จำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มาจากศาลฎีกา 3 คน ศาลปกครองสูงสุด 2 คน ศาสตราจารย์สาขานิติศาสตร์ 1 คน ศาสตราจารย์สาขารัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์ 1 คน ผู้มีประสบการณ์ในการบริหารราชการแผ่นดินระดับอธิบดีขึ้นไป 2 คน วาระ 9 ปี
       
       หน้าที่หลัก (1) วินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างรัฐธรรมนูญและร่างกฎหมาย (2) วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระ (ใหม่) (3) วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ (4) วินิจฉัยการสิ้นสุดสมาชิกภาพของ สส และ สว และการสิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีของรัฐมนตรี (5) วินิจฉัยการกระทำอันเป็นการแปรญัติติกฎหมายงบประมาณที่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ (6) วินิฉัยว่าร่างกฎหมายที่เสนอใหม่มีหลักการซ้ำกับร่างกฎหมายที่ถูกยับยั้งหรือไม่ (7) วินิจฉัยว่าหนังสือสัญญาใดเป็นหนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม หรือการค้าการลงทุนของประเทศอย่างกว้างขวางหรือไม่ (ใหม่) (8) วินิจฉัยว่าบุคคลใดถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรรมนูญคุ้มครองไว้หรือไม่
       
       หน้าที่ในการวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระนั้น เพิ่มขึ้นเพื่อเป็นอีกทางออกหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤติรัฐธรรมนูญ (ใหม่) ,กำหนดกระบวนการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจน โดยให้เป็นไปตามตัวอักษร (Literal Rule) หรือตามความมุ่งหมาย (Golden Rule) ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยกรณีนั้นตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (ใหม่) , ไม่ใช่ยักษ์ใหญ่ - ถูกตรวจสอบโดย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหมือนกับองค์กรอื่น ๆ – โดยถ้ามีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจใช้หน้าที่และอำนาจโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัย (ใหม่)
       
       องค์กรอิสระ
       ก่อนปี 2540 รัฐธรรมนูญไทยไม่มีองค์กรอิสระมาก่อน แต่ในรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ประชาชนชาวไทยชูธงเขียวสนับสนุนกันทั้งประเทศ ได้กำหนดให้มีองค์กรอิสระขึ้น และรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ผ่านการประชามติก็รับรองความี อยู่และหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระสืบมา กล่าวได้ว่า องค์กรอิสระเกิดขึ้นและการดำรงอยู่ตามความต้องการของประชาชน จึงยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่สิ่งใหม่ และไม่ใช่ว่าไม่มีความยึดโยงกับประชาชนตามที่มีการกล่าวอ้าง ,องค์กรอิสระเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นให้มีความอิสระในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อดำเนินการหรือตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐให้เป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และร่วมกันกำหนด “มาตรฐานทางจริยธรรม” ที่จะนำไปใช้บังคับแก่ สส. สว. และ ครม. ด้วย (ใหม่)
       
       การใช้อำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอิสระต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรม และปราศจากอคติทั้งปวงในการใช้ดุลพินิจ (ใหม่) ,มาจากการสรรหาหรือคัดเลือก แล้วแต่กรณี ,ในการสรรหาจะมีคณะกรรมการสรรหามีประธานศาลฎีกาเป็นประธาน (คล้ายกับ รธน. 50 ) ,ผู้ได้รับการสรรหาต้อง (1) มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (2) มีความรับผิดชอบสูง (3) มีความกล้าหาญในการปฏิบัติหน้าที่ (กล้าตัดสินใจ) และ (4) มีพฤติกรรมทางจริยธรรมเป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม (Role model) (ใหม่) ,ถ้าองค์กรอิสระแห่งใดไต่สวนกรณีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของตนแล้วพบว่า มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการกระทำนั้นอยู่ในอำนาจหน้าที่ขององค์กรอิสระแห่งอื่นด้วย ให้องค์กรอิสระนั้นส่งเรื่องให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องทราบเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ไปพร้อม ๆ กัน (ใหม่) ,องค์กรอิสระแต่ละแห่งมีหน่วยงานที่รับผิดชอบงานธุรการโดยเฉพาะ โดยให้มีผู้บังคับบัญชาสูงสุดคนหนึ่งซึ่งแต่งตั้งโดยความเห็นชอบขององค์กรอิสระแต่ละแห่ง เป็นผู้รับผิดชอบการบริหารงานของหน่วยงานนั้น (ใหม่)
       
       คณะกรรมการการเลือกตั้ง
       จำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มาจากการสรรหา 5 คน มาจากการคัดเลือกของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 2 คน วาระ 7 ปี มีหน้าที่จัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการเลือกตั้ง สส และการเลือก สว ให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม จัดหรือดำเนินการให้มีการจัดการออกเสียงประชามติให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย และดูแลการดำเนินงานของพรรคการเมืองให้เป็นไปตามกฎหมาย ,ก่อนการเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้สมัคร สส หรือ สว คนใดมีพฤติการณ์ที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้มีอำนาจสั่งระงับสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นเป็นการชั่วคราว และให้ผู้นั้นพ้นจากการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือการเลือกในครั้งนั้น รวมทั้งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย (ใหม่)
       
       ก่อนการประกาศผลการเลือกตั้งหรือการเลือก ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่ามีการทุจริตในการเลือกตั้งหรือการเลือก หรือมีการกระทำที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้มีอำนาจสั่งระงับการเลือกตั้งหรือการเลือกในเขตหรือหน่วยเลือกตั้งที่ปรากฏเหตุดังกล่าว และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ในเขตหรือหน่วยเลือกตั้งนั้น (ใหม่) ,สั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ภายใน 1 ปี นับแต่วันเลือกตั้ง ถ้ามีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการเลือกตั้งนั้นไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม (ใหม่)
       
       ผู้ใดกระทำการอันมีผลทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อมีคำสั่งเพิกถอน “สิทธิเลือกตั้ง” ของผู้นั้นชั่วคราว – แต่ถ้าปรากฏว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือผู้สมัครรับเลือก หรือ สส หรือ สว รายใดมีพฤติการณ์ดังกล่าว ให้ กกต. ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง (ถ้าเป็น สส หรือ สว อยู่) และให้ตัด “สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” ของผู้นั้นตลอดชีวิต และให้เพิกถอน “สิทธิเลือกตั้ง” ของผู้นั้นตามระยะเวลาที่ศาลเห็นสมควร เพื่อลงโทษผู้ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของการเลือกตั้งอันเป็นพื้นฐานสำคัญของประชาธิปไตย (ใหม่)
       
       มีอำนาจสั่งงดการลงคะแนนหรืองดการออกเสียงประชามติในหน่วยเลือกตั้งที่ กกต. พบเห็นว่าอาจทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม หรือการออกเสียงประชามติไม่เป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย (ใหม่) ,ต้องทำงานเชิงรุก ,ต้องประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อมีผู้ได้รับเลือกแบบแบ่งเขตถึงร้อยละ 95 ไม่ใช่ประกาศกระปริบกระปรอยแบบเดิม ๆ และเมื่อประกาศแล้ว
       
       ผู้ตรวจการแผ่นดิน
       จำนวนไม่เกิน 3 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มาจากการสรรหา วาระ 6 ปี หน้าที่ (1) สืบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมอันเนื่องมาจากการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือนอกเหนือหน้าที่และอำนาจตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อขจัดหรือระงับความเดือดร้อนหรือความไม่เป็นธรรมนั้น หน้าที่ (2) เสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อให้มีการปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ บรรดาที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนหรือไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน
       
       ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้เมื่อเห็นว่า (1) บทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยโดยไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ หรือ (2) กฎ คำสั่ง หรือการกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครอง และให้ศาลปกครองพิจารณาวินิจฉัยโดย ไม่ชักช้า ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง
       
       คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
       จำนวน 9 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มาจากการสรรหา วาระ 9 ปี มีหน้าที่ทำนองเดียวกับ ป.ป.ช. ปัจจุบัน กำหนดเวลาดำเนินการกรณีไต่สวนข้อเท็จจริงที่มีการกล่าวหาว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปีนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ขอขยายเวลาครั้งละไม่เกิน 4 เดือน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 2 ปี เพื่อให้การทำงานเร็วขึ้น (ใหม่)
       
       ป.ป.ช. จะมอบอำนาจให้ กรรมการ ป.ป.ช. เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. หรือ ป.ป.ท. ไต่สวนหรือรวบรวมพยานหลักฐานแทนได้เพื่อให้การทำงานรวดเร็วขึ้น (ใหม่) กรณีใดมีมูลความผิดอาญา ให้ ป.ป.ช. ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ้าศาลพิพากษาว่าผิดจริง ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต ทรัพย์สินที่ได้มาหรือที่ได้มาแทนทรัพย์สินนั้น ให้ริบเสียทั้งสิ้น (ใหม่) , กรณีใดไม่มีมูลความผิดอาญา แต่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ถูกกล่าวหา มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ ใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม อย่างร้ายแรง ให้ ปปช. เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต (ใหม่)
       
       ถ้าผู้ถูกกล่าวหาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในทุกกรณี (ใหม่) , ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องต่อศาลใด เมื่อศาลรับเรื่องไว้พิจารณาหรือประทับ รับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที ถ้าต่อมาผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาล ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันที่หยุดปฏิบัติหน้าที่ (ใหม่) , การปกปิดบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ถ้าเป็นกรณีที่ที่ทรัพย์สินหรือหนี้สินนั้นมีมูลค่าสูงอย่างมีนัยสำคัญ ให้ ป.ป.ช. ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ใหม่)
       
       ป.ป.ช. ก็ต้องถูกตรวจสอบได้ – โดยต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเหมือนกับองค์กรอิสระและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น นอกจากนี้ ส.ส. ส.ว. หรือสมาชิกของทั้งสองสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1/5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา หรือประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาต่อประธานรัฐสภาว่า กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ใดร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจใช้หน้าที่และอำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องต่อประธานศาลฎีกาเพื่อขอให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตั้ง “คณะผู้ไต่สวนอิสระ” จากผู้ซึ่งมีความเป็นกลางทางการเมืองและมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ เพื่อไต่สวน หาข้อเท็จจริง
       
       ให้คณะผู้ไต่สวนอิสระดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนพร้อมเสนอความเห็นภายใน 90 วันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง ถ้าคณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่ากรรมการ ป.ป.ช. ไม่มีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ให้มีคำสั่งยุติเรื่อง คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด แต่ถ้าคณะผู้ไต่สวนอิสระเห็นว่า กรรมการ ป.ป.ช. ผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่ง ในกรณีเช่นนี้ ให้องค์คณะของศาลฎีกาประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จำนวนเก้าคน เมื่อศาลฎีการับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำพิพากษา เว้นแต่ศาลฎีกาจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
       
       ในกรณีที่ศาลฎีกามีคำพิพากษาว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำการตามที่ถูกกล่าวหา ให้ผู้ต้องพิพากษาพ้นจากตำแหน่งนับแต่วันหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ไม่กระทบต่อกิจการที่ผู้นั้นได้กระทำไปก่อนพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหา และให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้ถูกกล่าวหาเป็นเวลาสิบปีด้วย ,ในกรณีที่กรรมการ ป.ป.ช ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และมีกรรมการ ป.ป.ช. เหลืออยู่ไม่ถึงกึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด ให้ประธานศาลฎีกาและประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกันแต่งตั้งบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเช่นเดียวกับกรรมการ ปปช. ทำหน้าที่แทน
       
       คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน
       จำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา มาจากการสรรหา วาระ 9 ปี มีหน้าที่วางนโยบายการตรวจเงินแผ่นดินและกำหนดหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ ให้คำปรึกษา แนะนำ และเสนอแนะให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และวินิจฉัยอุทธรณ์ของหน่วยงานของรัฐที่ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน ให้มี ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา โดยได้รับการเสนอชื่อจาก คตง. ทำหน้าที่ตรวจเงินแผ่นดินตามนโยบายและหลักเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดิน และกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐ โดย ผู้ว่าการฯ ต้องรับผิดชอบต่อ คตง. ในการปฏิบัติหน้าที่
       
       หน่วยรับตรวจสามารถอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการตรวจเงินแผ่นดินได้ โดยยื่นต่อ คตง. ถ้า ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินตรวจพบว่าการใช้จ่ายเงินแผ่นดินใดไม่เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังหรือส่อไปในทางทุจริตและอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติ ให้แจ้ง คตง. เพื่อพิจารณา ถ้า คตง. เห็นด้วย ให้ประชุมร่วมกับ กกต. และ ป.ป.ช. เพื่อพิจารณา ถ้าเห็นพ้องต้องกันก็อาจเตือนไปยังรัฐบาลได้ เพื่อช่วยกันดูแลมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมือง – ไม่ใช่ให้จ้องจับผิดกัน - ซึ่งรัฐบาลจะทำตามคำเตือนหรือไม่ก็ได้
       
       คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
       จำนวน 7 คน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภามาจากการสรรหา ผู้ซึ่งได้รับการสรรหาต้องมีความรู้และประสบการณ์ด้านการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน เป็นกลางทางการเมือง และมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ โดยผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนต้องมีส่วนร่วมในการสรรหาด้วย มีหน้าที่ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงที่ถูกต้องเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกกรณีโดยไม่ล่าช้า และเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางที่เหมาะสมในการป้องกันหรือแก้ไขการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมทั้งการเยียวยาผู้ได้รับผลร้ายจากการละเมิดสิทธิมนุษยชน ต่อหน่วยงานของรัฐหรือเอกชนที่เกี่ยวข้อง
       
       หน้าที่จัดทำรายงานผลการประเมินสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศเสนอต่อรัฐสภาและคณะรัฐมนตรีเพื่อดำเนินการป้องกันแก้ไขและเยียวยาต่อไป หน้าที่เสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมตลอดทั้งการแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ระเบียบ หรือคำสั่งใด ๆ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน หน้าที่ชี้แจงแถลงข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในกรณีที่มีการรายงานสถานการณ์เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนในประเทศโดยไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม หน้าที่สร้างเสริมทุกภาคส่วนของสังคมให้ความตระหนักถึงความสำคัญของสิทธิมนุษยชน ไม่กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการแต่งตั้งไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติซึ่งต้องสอดคล้องกับหลักการปารีส (Paris Principles) ว่าด้วยองค์กรสิทธิมนุษยชนระดับชาติ
       
       ศาล และอัยการ
       หลักการเดิม เขียนให้สั้นลง แยกศาลรัฐธรรมนูญเป็นหมวดใหม่ หมวดศาลคงมีเพียงศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร รับรองว่าผู้พิพากษาและตุลาการย่อมมีอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดีตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ซึ่งต้องให้เป็นไปโดยรวดเร็ว เป็นธรรม และปราศจากอคติทั้งปวง ,วางหลักประกันความเป็นอิสระว่า การบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับ ผู้พิพากษาหรือตุลาการต้องมีความเป็นอิสระ และดำเนินการโดยคณะกรรมการตุลาการตามที่กฎหมายบัญญัติ, รับรองความมีอยู่และความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ขององค์กรอัยการ และเพื่อให้พนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเต็มที่ และปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ได้กำหนดให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเพื่อให้มีมาตรการป้องกันมิให้พนักงานอัยการกระทำการหรือดำรงตำแหน่งใดอันอาจมีผลให้การสั่งคดีหรือการปฏิบัติหน้าที่ หรืออาจทำให้มีการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวต้องกำหนดให้ชัดแจ้งและใช้เป็นการทั่วไป โดยจะมอบอำนาจให้มีการพิจารณาเป็นกรณี ๆ ไปมิได้
       
       มาตรการป้องกันการขัดกันแห่งผลประโยชน์
       1. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาต้องไม่ดำเนินการดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญ เงินปีพระบรมวงศานุวงศ์ หรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกัน และมิให้ใช้บังคับในกรณีที่ สส หรือ สว รับหรือดำรงตำแหน่งกรรมาธิการของรัฐสภา สภาผู้แทนราษฎร หรือวุฒิสภา หรือกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งในการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวกับกิจการของสภา หรือกรรมการตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ
       
       ไม่ดำรงตำแหน่งหรือหน้าที่ใดในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ,ไม่รับหรือแทรกแซงหรือก้าวก่ายการเข้ารับสัมปทานจากรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเข้าเป็นคู่สัญญากับรัฐ หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจอันมีลักษณะเป็นการผูกขาดตัดตอน หรือเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่รับสัมปทานหรือเข้าเป็นคู่สัญญาในลักษณะดังกล่าว ทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม , ไม่รับเงินหรือประโยชน์ใด ๆ จากหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษนอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ปฏิบัติต่อบุคคลอื่น ๆ ในธุรกิจการงานปกติ , ไม่กระทำการใด ๆ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการขัดขวางหรือแทรกแซง การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนโดยมิชอบ
       
       2. กรณีตาม 1. ใช้แก่คู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภา และบุคคลอื่นซึ่งมิใช่คู่สมรสและบุตรของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภานั้น ที่ดำเนินการในลักษณะผู้ถูกใช้ ผู้ร่วมดำเนินการ หรือผู้ได้รับมอบหมายจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภาให้กระทำการตามมาตรานี้ด้วย
       
       3. ส.ส. และ ส.ว. ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็น ส.ส. หรือ ส.ว. กระทำการ ใด ๆ อันมีลักษณะที่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องดังต่อไปนี้ การปฏิบัติราชการหรือการดำเนินงานในหน้าที่ประจำของข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น , กระทำการในลักษณะที่ทำให้ตนมีส่วนร่วมในการใช้จ่ายเงินงบประมาณหรือให้ความเห็นชอบในการจัดทำโครงการใด ๆ ของหน่วยงานของรัฐ เว้นแต่เป็นการดำเนินการในกิจการของรัฐสภา ,การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือนหรือการให้พ้นจากตำแหน่งของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำและมิใช่ข้าราชการการเมือง พนักงาน หรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือราชการส่วนท้องถิ่น
       
       4. กรณีตาม 1. และ 2. ใช้บังคับแก่รัฐมนตรีด้วย เว้นแต่ การดำรงตำแหน่งหรือการดำเนินการที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นหน้าที่หรืออำนาจของรัฐมนตรี ,การกระทำตามหน้าที่และอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดินตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภา หรือตามที่กฎหมายบัญญัติ 5. นอกจากกรณีตาม 4. รัฐมนตรีต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งกระทำการใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม อันเป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพื่อประโยชน์ของตนเอง ของผู้อื่น หรือของพรรคการเมืองโดยมิชอบตามที่กำหนดในมาตรฐานทางจริยธรรม
       
       6. รัฐมนตรีต้องไม่เป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัท หรือไม่คงไว้ซึ่งความเป็นหุ้นส่วนหรือผู้ถือหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทต่อไปตามจำนวนที่กฎหมายบัญญัติ และต้องไม่เป็นลูกจ้างของบุคคลใด ถ้าประสงค์จะได้รับประโยชน์จากกรณีดังกล่าว ให้แจ้งประธาน ปปช. ทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และให้โอนหุ้นในห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทดังกล่าว ให้แก่นิติบุคคลซึ่งจัดการทรัพย์สินเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       
       การปกครองส่วนท้องถิ่น
       กำหนดให้มีการจัดการปกครองส่วนท้องถิ่นตามหลักแห่งการปกครองตนเองตามเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่นตามวิธีการและรูปแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่กฎหมายบัญญัติ ,การจัดตั้ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) รูปแบบใดให้คำนึงถึงความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ จำนวนและความหนาแน่นของประชากร และพื้นที่ที่ต้องรับผิดชอบ ประกอบกัน , อปท. มีหน้าที่และอำนาจดูแลและจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามที่กฎหมายบัญญัติ ไม่ใช่คิดถึงการหารายได้อย่างเดียว ,รัฐต้องดำเนินการให้ อปท. มีรายได้ของตนเองให้สามารถจัดทำบริการสาธารณะได้อย่างเพียงพอ
       
       การจัดทำบริการสาธารณะใดที่สมควรให้เป็นหน้าที่โดยเฉพาะของ อปท. แต่ละรูปแบบ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติโดยสอดคล้องกับรายได้ของท้องถิ่น ซึ่งต้องกำหนดขั้นตอนในการกระจายอำนาจของส่วนราชการให้แก่ท้องถิ่นด้วย ,อปท. ต้องมีอิสระในการบริหาร การจัดบริการสาธารณะ และการเงินและการคลัง ,การกำกับดูแล อปท. ให้ทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อการคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นหรือประโยชน์ของประเทศเป็นส่วนรวม การป้องกันการทุจริต และการใช้จ่ายเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ,การบริหารงานบุคคลของ อปท. ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
       
       สมาชิกสภาท้องถิ่นต้องมาจากการเลือกตั้ง ผู้บริหารท้องถิ่นให้มาจากการเลือกตั้งหรือมาจากความเห็นชอบของสภาท้องถิ่น หรือวิธีอื่นตามที่กฎหมายกำหนดสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่วิธีอื่นดังกล่าวต้องคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย (เพิ่มขึ้นใหม่) ในการดำเนินงาน อปท สภาท้องถิ่น และผู้บริหารท้องถิ่นต้องเปิดเผยข้อมูลและดำเนินการให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ (เพิ่มขึ้นใหม่) ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน อปท ยังคงมีสิทธิเข้าชื่อกันเพื่อเสนอข้อบัญญัติหรือเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นได้ตามที่กฎหมายบัญญัติ
       
       การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
       ห้ามแก้เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ , รัฐสภาเป็นผู้พิจารณาญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เสนอโดยสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน ,การรับหลักการ ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ซึ่งในจำนวนนี้ต้องมีสมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกวุฒิสภาทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ (ใหม่) ,การพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เข้าชื่อเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมด้วย
       
       การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่สามขั้นสุดท้าย ให้ใช้วิธีเรียกชื่อและลงคะแนนโดยเปิดเผย และต้องมีคะแนนเสียงเห็นชอบด้วยในการที่จะให้ออกใช้เป็นรัฐธรรมนูญมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา และในจำนวนนี้ต้องมี ส.ส. จากพรรคการเมืองทุกพรรค ที่มีสมาชิกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าสิบคน เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวน ส.ส. ของแต่ละพรรค และ ส.ส. ของพรรคการเมืองทุกพรรคที่มีสมาชิกอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรน้อยกว่าพรรคละ สิบคนถ้ารวมกันทุกพรรคแล้วมีจำนวนตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ต้องเห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ ทุกพรรคดังกล่าว และมี ส.ว. เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 1/3 ของจำนวน ส.ว. ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ กล่าวคือ ทุกฝ่ายต้องเห็นดีเห็นงามกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ใช้เสียงข้างมากลากอย่างเดียว แต่ไม่จำต้องเห็นด้วย ทุกคน
       
       เมื่อมีการลงมติวาระ 3 แล้ว ให้รอไว้ 15 วันแล้วจึงนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ,ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 หรือหมวด 15 หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับอำนาจหรือหน้าที่ของศาลหรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามอำนาจหรือหน้าที่ได้ ก่อนนำขึ้นทูลเกล้า ฯ ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียงประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงให้ดำเนินการต่อไป
       
       ก่อนนายกรัฐมนตรีนำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ส.ส. หรือ ส.ว. หรือสมาชิกทั้งสองสภารวมกัน มีจำนวนไม่น้อยกว่า 1/10 ของสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของแต่ละสภา หรือของทั้งสองสภารวมกัน แล้วแต่กรณี มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอความเห็นต่อประธานแห่งสภาที่ตนเป็นสมาชิกหรือประธานรัฐสภา แล้วแต่กรณี ว่าร่างรัฐธรรมนูญมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญได้ และให้ประธานแห่งสภาที่ได้รับเรื่องดังกล่าวส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญ และให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง ในระหว่างการพิจารณาวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีจะนำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยมิได้ (ใหม่)”

ที่มา ; เว็บ นสพ.ผู้จัดการ


 คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้   

เตรียมสอบผู้บริหารสถาน+การศึกษา 
เตรียมสอบครูผู้ช่วย

ฟรี... ห้องเตรียม-ครูผู้ช่วย
-ผู้บริหาร-บุคลากรการศึกษา  ที่ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

พัฒนาความรู้ครูผู้ช่วย 4 ภาค

พัฒนาความรู้ครูผู้ช่วย 4 ภาค
พัฒนาความรู้ครูผู้ช่วย 4 ภาค

ห้องสนทนา บน facebook

ห้องสนทนา บน facebook
ห้องสนทนาติวสอบดอทคอม

ข้อสอบออนไลน์ "ติวสอบดอทคอม" ชุดใหม่

คู่มือเตรียมสอบผู้บริหาร ภาค ก ข ค

แจ้งย้ายเว็บไปที่ www.tuewsob.com

คู่มือเตรียมสอบผู้บริหาร ภาค ก ข ค (ปรับปรุงใหม่)

รวม เล่ม + แผ่นพับ + ชีตช่วยจำ + DVD เนื้อหา + เสียงบรรยาย + EMS = 800 บาท
สนใจ คู่มือ ภาค ก ข ค ผู้บริหาร คลิ๊กเลย

สั่งจอง... โอนเงินเข้าชื่อบัญชี นายนิกร เพ็งลี ธนาคารกรุงไทย สาขาจอหอ บัญชีเลขที่ 341-1-38912-5 โอนเงินแล้วกรุณาโทรแจ้ง
0872494141 หรือ 0839660030

คู่มือ เตรียมสอบผู้บริหาร

คู่มือ เตรียมสอบผู้บริหาร
คู่มือ เตรียมสอบผู้บริหาร

ติวสอบออนไลน์ บน facebook

ติวสอบออนไลน์ บน facebook
ติวสอบออนไลน์ บน facebook

คลังหนังสือ ติวสอบดอทคอม

คลังหนังสือ ติวสอบดอทคอม
คลังหนังสือ ติวสอบดอทคอม

ติวสอบดอทคอม

ติวสอบดอทคอม
ติวสอบดอทคอม