เรื่องใหม่น่าสนใจ (ทั้งหมด ที่ )
(เนื้อหา-ข้อสอบ 1,000 ชุุด หมื่นข้อ ภาค กข
+ 40 วิชาเอก) ที่ ห้องสอบด้านขวา หรือ
ติวสอบดอทคอม คลิ๊ก www.tuewsob.com
-คู่มือ 4 ชุด นโยบาย บริบริหาร ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้
-เกณฑ์ประเมินคุณภาพภายนอกรอบสี่ โดย สมศ.
- พรบ.เงินเดือนใหม่ข้าราชการครูฯ พ.ศ.2558
ข้อสอบออนไลน์ ( พัฒนาความรู้ครู - ผู้บริหาร - บุคลากรการศึกษา) ชุดใหม่
ข้อสอบออนไลน์ ( พัฒนาความรู้ครู - ผู้บริหาร - บุคลากรการศึกษา) ชุดใหม่
เตรียมสอบ บน ยูทูป ทั้งหมด ได้ที่
ระบบเลือกตั้ง กรธ.ยัน ตอบโจทย์แล้ว
บีบพรรคคัดคนดี-เก่งลงชิง บิ๊กตู่โต้ไม่ได้สั่งเลื่อนกาบัตร ‘จตุพร’ท้าอยากเห็นฉบับโหด
กรธ.หัวชนฝาโมเดลเลือกตั้งใหม่ตอบโจทย์แล้ว บีบพรรคการเมืองส่งคนดีคนเก่งลงสนาม “นรชิต” สวนไม่ชอบคนนอกอย่าใส่ชื่อเป็นตัวแทนพรรค สนช.-สปท.ประชุมร่วมสแกนร่างแรก 3 ก.พ. “พรเพชร” เผย สนช.ข้องใจล็อกเป้าซักถาม “บัตรใบเดียว-ที่มา ส.ว.-แจ้งชื่อนายกฯล่วงหน้า” “บิ๊กตู่” ยันไม่สั่งแก้ร่าง รธน. โบ้ยไม่ใช่คนสั่งเลื่อนกาบัตร บี้ กรธ.แจงขยายโรดแม็ป พท.ชำแหละเนื้อหาฟ้อง ปชช. “วรชัย” สับ ปชป.ตีสองหน้า ท้าโชว์จุดยืนอยู่ข้าง ปชช. หรือเผด็จการ ฟันธง คสช.ซ่อนไว้แล้ว รธน.รวมมิตรติดหนวดเลิกซ่อนรูป “จตุพร” เย้ยขอชมฉบับโหดกว่านี้ ปชป.หนุนยาแรงมีของดีอยู่มาก “จุรินทร์” ติงเบาๆเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯจำกัดทางเลือก ปชช. ห่วงแก้รธน.ยากวงจรอุบาทว์หวนคืน “นิพิฏฐ์” ผวา ส.ส. 2 พรรคใหญ่หดวูบ เข้าทางพรรคขนาดกลางรับงานชงชื่อนายกฯคนนอก
จากกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ อาจต้องเจอรัฐธรรมนูญที่โหดกว่าฉบับของ กรธ. ขณะที่พรรคเพื่อไทยและกลุ่ม นปช.เตรียมรณรงค์ให้ประชาชนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมร่างรัฐธรรมนูญฉบับรวมมิตรที่มีเนื้อหาเข้มงวดยิ่งกว่าไว้ล่วงหน้าแล้ว
โฆษก กรธ.โต้ระบบ ลต.ตอบโจทย์แล้ว
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 1 ก.พ. ที่รัฐสภา นายอมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญร่างแรกจากพรรคการเมืองว่า เรื่องระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ที่มีคนบอกว่าไม่ตอบโจทย์ อาจยังเข้าใจผิดกันอยู่ ระบบการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมรวมทุกคะแนน ทั้งผู้แพ้และผู้ชนะแต่ละเขตเลือกตั้ง ทำให้คะแนนของผู้แพ้ไม่ได้ถูกทิ้งเหมือนการเลือกตั้งระบบเก่า และ กรธ.คิดว่า ระบบใหม่นี้จะกดดันพรรคการเมืองให้คำนึงถึงประชาชนเป็นหลัก ส่งคนดีคนเก่งลงสมัครรับเลือกตั้งให้ประชาชนมีทางเลือก ไม่ใช่ส่งใครก็ได้ ส่วนการให้เปิดเผยรายชื่อผู้ที่จะมาเป็นนายกฯก่อนการเลือกตั้ง กรธ.คิดว่า ระบบแบบนี้โปร่งใส ดีกว่าไปหมกเม็ด ให้ทุกคนเห็นหน้าผู้ที่จะมาเป็นนายกฯก่อน คิดว่าตอบโจทย์และคำนึงถึงเสียงของประชาชนเป็นอย่างดี
พร้อมแจงทุกพรรคถ้าเชิญไปคุย
นายอมรกล่าวอีกว่า ส่วนการลงพื้นที่รับฟังความเห็นของ กรธ.เรามีเวลาและงบประมาณจำกัด ต้องลงพื้นที่แบบเป็นตัวแทนแต่ละภาค ไม่สามารถไปได้ทุกจังหวัด โดยคัดสรรตัวแทนแต่ละภาคที่มีอำนาจและความรู้ไปอธิบายแก่ประชาชนในพื้นที่ให้เข้าใจได้ให้เข้าร่วมรับฟัง ส่วนการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมือง กรธ.คงไม่ไปเปิดเวทีเฉพาะเพื่อรับฟัง แต่จะรับฟังผ่านช่องทางที่ กรธ.เปิดไว้ ทั้งทางเว็บไซต์ จดหมาย หรือมายื่นข้อเสนอให้ถึงมือ กรธ.ได้เลย ไม่ปิดกั้น พร้อมรับฟังทุกข้อเสนอ หรือพรรคการเมืองแต่ละพรรคอยากจะเชิญ กรธ.ไปอธิบายร่างรัฐธรรมนูญให้ฟังก็ยินดี และพร้อมจะไปร่วมอธิบายให้ได้ ทั้งนี้ การประชุมของ กรธ. หลังจากนี้จะทบทวนเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
สวนอ่านให้ละเอียดก่อนวิจารณ์
เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานการประชุม วาระทบทวนเสียงสะท้อนจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญ ต่อมาเวลา 15.00 น. นายนรชิต สิงหเสนี โฆษก กรธ. แถลงหลังการประชุมว่า นายมีชัยย้ำว่า หลังจากที่ร่างแรกออกไปแล้ว หากใครมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมสามารถส่งมายังที่ กรธ.ได้ภายในวันที่ 15 ก.พ. ขอให้บอกรายละเอียดและเหตุผลมาด้วย ทั้งนี้ วันที่ 11-12 ก.พ. กรธ.จะจัดสัมมนารับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ ที่ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ ส่วนข้อวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นที่มานายกฯอยากให้กลับไปอ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด จะเห็นว่าไม่ได้ให้คนนอกมาเป็นนายกฯ แต่พรรคการเมืองจะเป็นผู้เสนอรายชื่อนายกฯก่อนการเลือกตั้งและให้รัฐสภาเป็นผู้เลือก ดังนั้นหากพรรคการเมืองไม่ชอบคนนอกก็อย่าเสนอชื่อคนนอกเข้ามา หากเสนอชื่อคนนอกเข้ามาจะถูกสื่อมวลชนจับตามองแน่นอน สำหรับกรณีศาลรัฐธรรมนูญ กรธ.ขอยืนยันว่าไม่ได้ไปเพิ่มอำนาจให้มากขึ้น เพียงแต่ระบุหน้าที่ให้ชัดเจนมากกว่าเดิม เพราะศาลต้องเป็นที่พึ่งให้กับประชาชน
“พรเพชร” ข้องใจบัตร ลต.ใบเดียว
เมื่อเวลา 12.20 น. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. แถลงกรณี สนช.จะให้ความเห็นร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งให้ กรธ.ภายในวันที่ 15 ก.พ.ว่า ในวันที่ 3 ก.พ. จะประชุมร่วมระหว่าง สนช.และ สปท. เพื่อรับฟังเนื้อหาร่างรัฐ-ธรรมนูญจาก กรธ. พร้อมซักถามประเด็นที่สงสัย โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นหลักการสำคัญ อาทิ บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ถูกทักท้วงว่า ไม่เขียนให้ชัดเจน แต่ส่วนตัวมองว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้ดีกว่าฉบับที่ผ่านมา เพราะระบุให้เรื่องสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหน้าที่ของรัฐต้องดูแลประชาชน หากมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชน จะเป็นความผิดของรัฐบาล สามารถส่งเรื่องให้องค์กรอิสระเอาผิดได้ ขณะที่เรื่องสภาผู้แทนราษฎรที่ให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือก ส.ส.เขต ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายกฯนั้น จากการหารือกับ สนช.หลายคนยังสงสัยเรื่องดังกล่าว คงต้องขอคำอธิบายเพิ่มเติม เพราะนายกฯเคยให้หลักการว่า ร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นสากล เข้ากับบริบทสังคมไทย สนช.คงต้องสอบถามว่ามีความเป็นสากลและเข้ากับบริบทของสังคมไทยอย่างไร
ซักที่มา ส.ว.-แจ้งชื่อนายกฯล่วงหน้า
นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนการได้มาของ ส.ว.ที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิ 20 กลุ่ม เลือกไขว้กันเองระหว่างกลุ่ม สนช. เป็นห่วงเรื่องการได้ผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละกลุ่ม และการฮั้วกัน รวมทั้งที่มาของ 20 กลุ่มอาชีพ อาจเป็นกลุ่มจัดตั้งขึ้นมา ขณะที่ที่มานายกฯที่ให้พรรคการเมืองเสนอชื่อนายกฯ 3 คนให้ทราบล่วงหน้า แม้จะอธิบายว่าประชาชนชอบประเด็นนี้ แต่ สนช.ต้องสอบถามว่าจะตอบโจทย์เรื่องอะไร ถือเป็นหลักสากลและเข้ากับบริบทของสังคมไทยหรือไม่ ตลอดจนการให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป ทั้งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง โดยไม่ยึดโยงประชาชน คงต้องสอบถามเช่นกัน หลังจากการหารือร่วมกันระหว่าง สนช.และ สปท.
วันที่ 3 ก.พ.แล้ว จากนั้นวันที่ 5 ก.พ. สนช.จะประชุมอภิปรายแสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญว่าควรเสนอหรือปรับปรุงแก้ไขอย่างไร โดยเชิญตัวแทน กรธ.ร่วมรับฟังด้วย แล้วจะส่งความเห็นให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.ที่มีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. เป็นประธาน ไปสรุปรวบรวมเป็นรายงานความเห็นส่งเข้าที่ประชุม สนช.ให้ความเห็นชอบรับรองในวันที่ 12 ก.พ. ก่อนส่งไปยัง กรธ.ภายในวันที่ 15 ก.พ. มั่นใจว่าหลังจาก กรธ.รับฟังข้อเสนอแนะจากหลายฝ่ายแล้ว นายมีชัยจะปรับปรุงแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญแน่นอน
จับสมาชิกขังเกาะปั๊ม 10 ก.ม.ลูก
นายพรเพชรกล่าวว่า ส่วนการยกร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ สนช.ต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 2 เดือนเป็นภาระหนักมาก ปกติกฎหมายแต่ละฉบับใช้เวลานานกว่า 2 เดือนอยู่แล้ว สนช.จะต้องพิจารณากฎหมายลูกอย่างรอบคอบ ถ้าจำเป็น กมธ.จะต้องไปประชุมนอกสถานที่ตามเกาะต่างๆ เช่น เกาะล้าน เกาะช้าง ที่ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้สะดวก เพื่อพิจารณากฎหมายลูกให้เสร็จโดยเร็ว แต่ สนช. จะไม่ขอให้เพิ่มเวลาการพิจารณากฎหมายลูก เพราะจะถูกครหาว่าต้องการต่ออายุให้ คสช. ยืนยันว่าสนช.จะพิจารณากฎหมายลูกเสร็จทันเวลา 2 เดือนแน่ เมื่อถามว่า นักการเมืองเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ใช้ยาแรงเกินเหตุ จะปลุกให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ นายพรเพชรตอบว่า อยากให้นักการเมืองเข้าใจ และกลับไปคิดให้ดีๆ อาจเปลี่ยนใจได้ บางเรื่องเมื่อใช้แรกๆ อาจจะต่อต้าน แต่เมื่อผ่านไปนานๆ คนส่วนใหญ่จะยอมรับและชื่นชม เมื่อถามว่า หากร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำในการทำประชามติจะทำอย่างไรต่อไป นายพรเพชรตอบว่า นายกฯพูดมาตลอดว่า เรื่องนี้มีทางออก แต่ถ้าพูดตอนนี้จะเป็นการชี้นำ ทางออกของนายกฯคือถึงอย่างไรต้องเลือกตั้งในปี 2560 ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไร ต้องปรึกษานักกฎหมาย อาทิ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หรือตนก็ได้
ระบบ ลต.ยาก องค์กรอิสระอำนาจล้น
ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน รองประธานคณะ กมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.กล่าวว่า สนช.จะประชุมในวันที่ 5 ก.พ. ให้สมาชิก สนช.แสดงความเห็นอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ. หลังจากนั้น กมธ.จะนำไปรวบรวมสรุปผลเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ให้ลงมติรับรอง ก่อนส่งให้ กรธ.ภายในวันที่ 15 ก.พ. ส่วนตัวมองว่าเนื้อหาภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญสามารถตอบโจทย์การแก้ปัญหาประเทศได้ แต่เนื้อหาบางส่วนควรปรับปรุงให้ชัดเจน อาทิ เรื่องการเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสมที่เข้าใจยาก อธิบายลำบาก น่าจะใช้วิธีอื่นที่เข้าใจง่ายกว่านี้ รวมถึงไม่มีความจำเป็นที่พรรคการเมืองต้องเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี 3 คนให้ประชาชนทราบล่วงหน้า ดูแล้วยุ่งยาก เพราะสภาผู้แทนราษฎรมีดุลยพินิจในการเลือกนายกฯได้อยู่แล้ว นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงการให้อำนาจองค์กรอิสระมากเกินไป ควรเขียนให้ชัดเจนว่า จะตรวจสอบเรื่องใดได้บ้าง ไม่ควรมีอำนาจตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ทุกเรื่อง แม้จะมีเหตุผลป้องกันไม่ให้รัฐบาลเหลิงอำนาจ แต่การให้อำนาจรัฐบาลแค่ครึ่งๆกลางๆ แบบกั๊กๆ จะทำให้เป็นอุปสรรคในการบริหารประเทศ
กมธ.การเมืองขอเปลี่ยนคนผ่าทางตัน
นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวว่า วันที่ 1-2 ก.พ. กมธ.จะประชุมรับฟังความเห็นสมาชิก ทั้งเรื่องที่มานายกฯ ที่มาและสัดส่วนของ ส.ส. ส.ว. องค์กรอิสระ รวมถึงบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญร่างแรก ก่อนเสนอคำถามต่อร่างรัฐธรรมนูญไปยัง กรธ. สำหรับการให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาดกรณีเกิดวิกฤติ จะหารือถึงความเหมาะสมว่าพอจะมีทางอื่นอีกหรือไม่ อาทิ ใช้ช่องทางมติ ส.ว.หาทางออกหรืออาจใช้องค์กรอื่น เช่น ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา เป็นต้น เรื่องที่มา ส.ส.น่าจะให้มีจำนวน ส.ส.เขตให้เยอะขึ้น สะท้อนเสียงประชาชนที่แท้จริง ให้ปัญหาถูกแก้ในสภาฯมากกว่าบนท้องถนน ที่มานายกฯคงต้องเขียนหาทางออกสำหรับนายกฯคนนอกไว้บ้าง ไม่เช่นนั้นปัญหาจะถึงทางตันแบบในอดีต ขอให้ กรธ.ใจกว้าง ลดเงื่อนไข เพื่อให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับ เชื่อว่าคงไม่มีใบสั่งมาจากทางรัฐบาลมาที่ กรธ. นายมีชัยเป็นผู้ใหญ่คงไม่มีทางมารับฟังความเห็นรัฐบาลฝ่ายเดียวและไม่ปรับแก้ทบทวนเลยแน่นอน ส่วนที่นักการเมืองกังวลเรื่องนายมีชัยบอกว่า ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่านจะมีฉบับที่โหดกว่าตามมาอีก อาจจะบอกเป็นนัยอะไรสักอย่างก็ได้ อยากให้นักการเมืองนำไปตรองดู เพราะวิจารณ์คนอื่นมามากเเล้ว
“บิ๊กตู่” ยันไม่สั่งแก้ร่าง รธน.
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ถึงการเตรียมเสนอความเห็นร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลไปยัง กรธ.ว่า ไม่เป็นไร ตอนนี้ปล่อยให้ทำกันไป ก่อน ในส่วนของตนคงไม่แก้อะไร รัฐบาลจะเสนอไปว่าปัญหาของรัฐบาลอยู่ที่ไหน ประเทศไทยติดปัญหาอยู่ที่ไหนอย่างไร สิ่งที่เป็นผลกระทบทำให้ประเทศไทยเดินหน้าไม่ได้อยู่ที่ไหนจะเสนอให้ไปพิจารณา ตนไม่บังอาจจะไปสั่งอะไรได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศว่าจะทำกันอย่างไรกับประเทศนี้ ในเมื่อบอกว่าประเทศนี้เป็นของทุกคนไม่อยากให้ไปฟังใครคนใดคนหนึ่งพูดข้างเดียว และตนจะไม่พูดอะไรตอนนี้ ขั้นตอนต่างๆมีกำหนดไว้อยู่แล้ว รัฐบาลเพียงแต่จะเสนอว่าปัญหาประเทศไทยรู้กันหรือยัง ลืมกันไปหรือยังว่าอยู่ตรงไหน จะแก้กันได้อย่างไรเป็นเรื่องของ กรธ.ต้องไปชี้แจงให้ชัดเจนขึ้นเท่านั้นเอง
เสียงดุโยน กรธ.แจงขยายโรดแม็ป
เมื่อถามว่า จากการดูร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกคิดว่าจำเป็นต้องขยายเวลาโรดแม็ปหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “พวกคุณดู แต่ผมไม่ได้ดู ผมก็วางไว้ตามโรดแม็ปของผม” เมื่อถามย้ำว่า แต่นายมีชัย ระบุว่าอาจจะต้องเลื่อนการเลือกตั้งเป็นปลายปี 60 พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า “แล้วใครว่าล่ะ ถ้าทางกรธ.พูดก็ต้องไปถามฝ่ายกฎหมายว่าทำไมมันถึงต้องเพิ่ม ผมก็ไม่รู้ก็เป็นเรื่องของฝ่ายกฎหมายที่เขาไปดูว่ามันอาจจะเยอะหรือเปล่า สื่อไปดูว่าที่ผ่านมาทุกรัฐธรรมนูญมีกฎหมายลูกกี่ฉบับ ไปดู ทะเลาะกันอยู่ได้เรื่องรัฐธรรมนูญ มันไม่เคยออกกฎหมายลูกอย่างไรเล่า ส่วนจะใช้เวลาเท่าไหร่ ไม่รู้” เมื่อถามว่า ระยะเวลาจะต้องเป็นไปตามที่ กรธ.เสนอใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบเสียงดุดันว่า ไม่รู้ก็ต้องไปดูว่ามันมากน้อยแค่ไหน เร่งได้หรือเปล่า ยังไม่รู้เหมือนกัน ถ้าเร่งมากก็มีปัญหาอีก พอช้าก็มีปัญหาอีก มันเป็นยังไง มันจะขาดใจตายกันหรืออย่างไร เคยอยากถามหรือไม่ว่าประชาชนอยากได้อะไรต้องการอะไร ไปถามกันบ้าง ไปถามประชาชน ไม่ใช่ไปถามแต่ไอ้คนบางคนบางพวก ถามตนทีถามไอ้พวกนั้นที ประเทศชาติติดอยู่ที่เดิมแหละ แล้วรับผิดชอบกันบ้างหรือเปล่า ที่ถามกันอยู่นี่ “พอผมเสียงดังก็เริ่มได้เรื่องแล้ว ไม่ถามต่อ”
โบ้ยไม่ใช่คนเลื่อนยังเลือกตั้งปี 60
เมื่อถามย้ำว่า อย่างไรก็ยืนยันว่าการเลือกตั้งจะมีขึ้นในปี 2560 ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอบด้วยเสียงดัง พร้อมเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าว่า ปี 60 เมื่อถามว่า จะเดือนไหนแล้วแต่ร่างกฎหมายลูกเสร็จตอนไหน พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า “ไม่รู้ๆ 60 ไม่รู้คนเลื่อนไม่ใช่ผม” เมื่อถามว่าวันที่ 2 ก.พ.จะนำร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ตอบว่า” ไม่รู้ๆมันจบขั้นตอนต่างๆแล้วหรือ ถึงขั้นตอนตรงนี้หรือยัง มันจบแล้วหรือยังในส่วนขั้นตอนของ กรธ.ถามอยู่ได้ ผมถามคุณได้อะไรประเทศชาติได้อะไร ประชาชนได้อะไร รังเกียจกันซะบ้าง ไอ้คนไม่ได้เรื่องเนี่ย”
อัดอ้าง ปชต.เพื่อประโยชน์ตัวเอง
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้หลายเรื่อง ส่วนพรรคการเมืองเสนอข้อคิดเห็นได้ แต่หากเสนอในลักษณะประณาม โจมตีกล่าวหาโดยไร้เหตุผลเชิงวิชาการรองรับก็อย่าทำ ที่มักอ้างกันประจำว่าต้องการประชาธิปไตยเป็นการอ้างเพื่อสมประโยชน์ของพวกตัวเอง เชื่อว่า กรธ.ร่างรัฐธรรมนูญเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ให้เกิดขึ้นอีก เช่น ที่มาของ ส.ส. และ ส.ว.ในอดีตมีฐานเดียวกันคือมาจากกลไกการเลือกตั้ง พอมีการอภิปรายในสภาฯลงมติแล้วก็ผ่านไป ทำให้ระบบการตรวจสอบถ่วงดุลไม่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายออกมาเดินถนนเป่านกหวีด ตีกันไม่เลิก ปัญหาวนกลับมาแบบเดิม
“วิษณุ” ชง ครม.หารือเนื้อหาร่างแรก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวว่า วันที่ 2 ก.พ.จะนำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกของกรธ.เสนอสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อหารือแนวทางต่างๆ แต่คงไม่ถึงขนาดถกเป็นรายมาตราว่าดีหรือไม่ดีอย่างไร มาตราไหนควรแก้ หรือกำหนดแนวทางว่าจะส่งไปที่ กรธ.อย่างไร ส่วนจะเรียกประชุมร่วมกันระหว่างรัฐมนตรีกับ คสช.เมื่อไหร่นั้นไม่ทราบต้องไปถามโฆษกฯ จะพูดแต่ส่วนของ ครม.ถ้านายกฯเห็นว่าควรพูดพร้อมกันในที่ประชุมร่วม ครม.คสช.ต้องนัดกันอีกที ซึ่งต้องเร็วเพราะต้องส่งความเห็นให้ กรธ.ในวันที่ 15 ก.พ.ตนได้เห็นร่างแล้วแต่ไม่แสดงความคิดเห็นตอนนี้ ส่วนนายมีชัยระบุหากร่าง รธน.นี้ไม่ผ่าน ร่างต่อไปจะโหดกว่าเดิมต้องไปถามนายมีชัย แต่การตีความหมายนายมีชัยคงพูดทำนองคนไม่รู้ ทำไมไม่คิดบ้างว่าอาจมีอะไรดีกว่าเดิม
เมื่อถามว่า หากไม่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ต้องให้ชัดเจนก่อนว่าจะใช้วิธีปฏิบัติอย่างไร แล้วค่อยบอก คงเปิดเผยวิธีใดๆตอนนี้ไม่ได้ ครม.ต้องพิจารณา ความชัดเจนเรื่องประชามติยังมีเวลาอยู่ ไม่จำเป็นต้องพูดตอนนี้ อีกไม่กี่วันจะหารือกับ กกต.สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะเตรียมการเรื่องประชามติอย่างไร สมัยคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้พูดคุยกันแต่ถูกคว่ำไปก่อน ถือว่ามีคำตอบแล้ว
พท.จ่อชำแหละ รธน.ฟ้องชาวบ้าน
นายสามารถ แก้วมีชัย ฐานะคณะทำงานติดตามการร่างรัฐธรรมนูญพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า หลังจากพรรคเพื่อไทยออกแถลงการณ์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.แล้ว ต่อไปจะชี้แจงลงรายละเอียดว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ประกาศใช้แล้ว จะส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างไร กระทบกับสภาพเศรษฐกิจอย่างไร และกระทบต่อเสถียรภาพรัฐบาลจากการเลือกตั้งอย่างไร ทั้งนี้จะไม่ทำหนังสือเสนอแนะต่อ กรธ.แล้ว เพราะทำไปก็ไม่รับฟัง
“วรชัย” ซัด ปชป.ตีสองหน้า
นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงท่าทีของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เริ่มหนุนร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องยอมรับว่าก่อนยึดอำนาจ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ลาออกไปเข้าร่วมกับ กปปส. มีส่วนได้ส่วนเสียกับการยึดอำนาจ ตอนนี้พรรคประชาธิปัตย์กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตย โดนกระแสสังคมต้าน ในฐานะผู้เคยร่วมอุดมการณ์กับการยึดอำนาจ จะตีแรงก็ไม่ได้ ต้องสงวนท่าที หยิกเล็บเจ็บเนื้อ จึงต้องเล่นสองหน้าคือ ด้านหนึ่งให้คนออกมาตีรายละเอียด เช่น นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ หรือนายวิรัตน์ กัลยาศิริ แต่ไม่ได้ตีหลักการ ภาพรวมไม่ได้ค้านรัฐธรรมนูญ ส่วนอีกด้านให้ออกมาหนุนบางประเด็น เช่น นายจุรินทร์ พูดเอาใจนายกฯและนายมีชัย พฤติกรรมประชาธิปัตย์ใจโลเลเอาตัวรอด ชิ่งไปวันๆ ใครชนะอยู่ข้างนั้น ถ้า พล.อ.ประยุทธ์แข็งประชาธิปัตย์ก็อ่อน เหมือนเทียนโดนไฟลน
จะเลือกข้าง ปชช.หรือใฝ่เผด็จการ
“ขอเรียกร้องให้ประชาธิปัตย์ประกาศให้ชัดเจนว่าจะยืนหยัดอยู่กับข้างประชาชนหรือเผด็จการ แต่การออกมาหนุนรัฐธรรมนูญไม่มีผลกับการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ เพราะประชาชนตัดสินแล้วว่าไม่รับ เพราะคิดได้ว่ารัฐธรรม-นูญจะทำให้ประเทศต้องพบกับวิกฤติและสืบทอดอำนาจ ไม่ได้ดูว่าประชาธิปัตย์จะรับหรือไม่ พรรคเพื่อไทยยืนบนหลักประชาธิปไตย ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเผด็จการสุดๆ ย้อนยุค เขียนเพื่อรักษาสภาพระบบเผด็จการ คงอำนาจ คสช.อย่างฉบับนี้แน่นอน” นายวรชัยกล่าว
รู้ไต๋ซ่อน รธน.รวมมิตรรอไว้แล้ว
นายวรชัยกล่าวอีกว่า มองว่ามีการเขียนรัฐธรรมนูญเตรียมไว้อีกฉบับ เมื่อถึงจุดหนึ่งจะมีการอ้างเงื่อนไขสถานการณ์ อ้างว่าคนไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ หรือฉบับนายมีชัยแล้ว พล.อ.ประยุทธ์จะใช้มาตรา 44 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับที่ซ่อนไว้คาดว่าจะนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 57 ฉบับนายบวรศักดิ์และนายมีชัยมายำรวมกัน เป็นรัฐธรรมนูญฉบับรวมมิตร เริ่มเห็นชัดเจนขึ้นแล้วจากการที่นายมีชัยประกาศว่าอาจเจอฉบับโหดกว่านี้ จะมีการลิดรอนอำนาจ สิทธิเสรีภาพประชาชนไปเรื่อยๆ โดยจะมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการเปิดเผย ไม่ใช่เผด็จการซ่อนรูปแล้ว เชื่อว่าประชาชนต้องเจออย่างนี้จริงๆ
จวกบัตรเดียวข่มขืนชำเรา ปชช.
นายอดิศร เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น และบัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การให้ประชาชนกาบัตรใบเดียวไม่เคารพเสียงประชาชน ทำลายผู้ชนะ เอาใจผู้แพ้ แย่ที่สุดเท่าที่มีการเลือกตั้งมาในประเทศไทย การที่นายมีชัยและคณะกำลังทำการข่มขืนกระทำชำเราเจตนารมณ์ในการเลือกตั้งของประชาชน โดยนำเอาคะแนนเสียงของผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส.เขต คือ คะแนนของผู้แพ้ ไปคิดคำนวณ เพื่อให้ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ไม่เคารพคะแนนเสียงของผู้ชนะ อ้างว่าคะแนนผู้แพ้เป็นคะแนนที่ถูกทิ้งน้ำหายไป ไร้ตรรกะ ตีความแบบศรีธนญชัย ตีความแบบบักเซียงเหมี่ยงเอาหัวล้านเข้าถู เป็นวาทกรรมที่เลวที่สุด ไม่เป็นธรรมกับผู้ได้คะแนนมากหรือผู้ชนะ ขอให้ล้มเลิกวิธีเลือกตั้งแบบนี้ กลับไปแบบเดิมที่ประชาชนเคยชินจะดีกว่า นายมีชัยแก่แล้วขอให้คิดให้เป็นประชาธิปไตยด้วย
แนะดึงอดีตผู้นำบูรณาการทางออก
นายประชา ประสพดี อดีต รมช.มหาดไทย และอดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายมีชัยควรเปิดใจกว้างหากไม่มีเจตนาแอบแฝง เปิดโอกาสเชิญชวนอดีตนายกฯถึงปัจจุบัน อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานวุฒิสภา อดีตผู้นำฝ่ายค้านทุกคนที่ยังมีชีวิตอยู่ อดีตหัวหน้าพรรค หัวหน้าพรรคการเมืองต่างๆ อดีตหัวหน้าคณะปฏิวัติทุกคน อดีตประธาน ส.ส.ร.ถึงปัจจุบัน มาร่วมบูรณาการระดมข้อเสนอแนะว่า รัฐธรรมนูญร่างแรกนั้นจะจรรโลงป้องกันแก้ไขการโกงได้จริง หรือจะเป็นเชื้อปะทุนำไปสู่วิกฤติที่ย่ำแย่บอบช้ำหลายส่วน ถอยได้ก็ถอย เสียสละเพื่อชาติ ยอมเสียฟอร์มวันนี้ดีกว่าหายนะในวันข้างหน้าให้แจก รธน.ทุกบ้านก่อนซาวเสียง
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ กรธ.ทำรัฐธรรมนูญแจกทั่วประเทศ ครอบครัวละ 1 เล่ม เพื่อประโยชน์ในการทำประชามติให้ประชาชนได้อ่านและตัดสินใจ และขอให้ กรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่หลายฝ่ายเสนอ ภาพรวมเรื่องการทุจริตอยากให้ข้าราชการทุกภาคส่วนทั้งทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระ ศาล อบจ. อบต. รัฐวิสาหกิจ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยยื่นต่อจังหวัดแล้วส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง จะเป็นการปฏิรูปทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ จะเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ขอให้ทำเรื่องนี้ด้วย
นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า อยากให้ กรธ.ทำรัฐธรรมนูญแจกทั่วประเทศ ครอบครัวละ 1 เล่ม เพื่อประโยชน์ในการทำประชามติให้ประชาชนได้อ่านและตัดสินใจ และขอให้ กรธ.ปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญตามที่หลายฝ่ายเสนอ ภาพรวมเรื่องการทุจริตอยากให้ข้าราชการทุกภาคส่วนทั้งทหาร ตำรวจ องค์กรอิสระ ศาล อบจ. อบต. รัฐวิสาหกิจ ยื่นบัญชีทรัพย์สิน โดยยื่นต่อจังหวัดแล้วส่งข้อมูลมายังส่วนกลาง จะเป็นการปฏิรูปทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ จะเป็นรัฐธรรมนูญปราบโกง ขอให้ทำเรื่องนี้ด้วย
“จตุพร” ท้าอยากชมฉบับโหดกว่านี้
นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการมองไกลผ่านทางยูทูบ ถึงกรณีนายมีชัยระบุถ้ามีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ จะได้รัฐธรรมนูญฉบับที่โหดกว่าเดิมว่า จะยิ่งทำให้ฝ่ายประชาธิปไตยต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น เพราะอยากเห็นรัฐธรรมนูญใหม่ที่โหดกว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าไม่เป็นประชาธิปไตย ร่างรัฐธรรมนูญ 100 ครั้ง จะคว่ำทั้ง 100 ครั้ง เป็นจุดยืนของฝ่ายประชาธิปไตย ขอประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่ออยากดูร่างใหม่ที่โหดกว่านี้ ตามคำขู่ของนายมีชัย ร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ แม้พวกตนไม่ออกมาต่อต้านก็จะชนะเลือกตั้งอยู่ดี แต่ชนะไปเพื่ออะไร เมื่อร่างรัฐธรรมนูญใช้บริหารประเทศไม่ได้ เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย อ้างว่าปราบโกง แต่ปัญหาอยู่ที่คนมาปราบไม่สุจริตเอง ทำหน้าที่ไม่เป็นธรรม แม้แต่ร่างรัฐธรรมนูญยังโกงประชาชน
ลั่นไม่เป็น ปชต.ก็ไม่ต้องเลือกตั้ง
นายจตุพรกล่าวต่อว่า ส่วนการเลือกตั้งถ้าไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ต้องเลือกตั้ง ประชาชนตกผลึกกันมากแล้ว เหลือเพียงนักอยากเลือกตั้งบางฝ่ายเท่านั้น ที่ยังสนับสนุนการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐธรรมนูญเผด็จการ จึงกลายเป็นคนเก่งของฝ่ายผู้มีอำนาจ แต่ฝ่ายประชาธิปไตยจะไม่ยอมรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มีความเชื่อทางการเมืองต่างกับพวกตน แต่ไม่จำเป็นต้องเผชิญหน้ากัน เมื่อ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นฉบับปราบโกง ขอให้คนในชาติใช้โอกาสนี้กีดกันไม่ให้คนเลวมาสร้างปัญหาอีก จึงเป็นเพียงปฏิกิริยาของพวกเป็นเครื่องมือเผด็จการออกมาขานรับ เพื่อจะได้มีอำนาจรับใช้เผด็จการกันอีกยืนนาน แต่เมื่อเผด็จการหมดอำนาจ คนพวกนี้ย่อมไม่มีที่ยืนในสังคม
“เต้น” ขู่ชะล่าใจเสียงค้านถล่มทลาย
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีการออกระเบียบการรณรงค์ประชามติว่า ไม่จำเป็น เพราะการรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ทำตรงไปตรงมา ไม่สร้างความวุ่นวายแน่ แม้จะมีระเบียบเชื่อว่า กกต.ในฐานะผู้รักษากติกา ไม่สามารถดำเนินการอย่างเป็นอิสระเป็นธรรมได้ แค่นึกภาพฝ่ายสนับสนุนมีสิทธิ์ใช้งบฯและทรัพยากรของรัฐเต็มที่ แต่ฝ่ายคัดค้านอาจไม่มีสิทธิขึ้นเวทีอภิปราย ส่วนที่นายมีชัยระบุ ถ้าร่างนี้ถูกคว่ำจะได้ร่างที่โหดกว่า เท่ากับไม่ได้สำนึกเลยว่าการร่างรัฐธรรมนูญขัดหลักการ แล้วใช้อำนาจและความเจ้าเล่ห์ให้ประชาชนยอมรับว่าเป็นประชาธิปไตย ถือว่าโหดที่สุดแล้ว ขอเตือนนายมีชัยและผู้ใช้บริการว่า อย่าชะล่าใจเพราะถ้าประชาชนลงมติคว่ำอย่างถล่มทลายเหมือนผลเลือกตั้งในประเทศเมียนมา แล้วจะมาหาว่าประชาชนโหดไม่ได้
ปชป.หนุน รธน.ยาแรงมีข้อดีมาก
เมื่อเวลา 14.00 น.ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ คณะทำงานด้านพิจารณากฎหมายรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า ดูเนื้อหาแล้วต้องยอมรับว่ามีข้อดีอยู่มาก โดยเฉพาะการใช้ยาแรงกับการซื้อสิทธิ์ขายเสียงและการทุจริตคอร์รัปชัน ถึงขั้นกำหนดโทษห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต ขอสนับสนุนเพราะการซื้อเสียงเป็นต้นตอของการทุจริตถอนทุนคืน และเป็นมะเร็งร้ายของประเทศและระบบการเมือง แต่ยังมีประเด็นที่เป็นข้อทักท้วงจากฝ่ายต่างๆ อาทิ การใช้บัตรใบเดียวเลือกทั้งพรรคและคน อาจทำให้การนำไปสู่การซื้อเสียงมากขึ้นและง่ายขึ้น เพราะซื้อคะแนนเดียวจะได้ทั้งคนและพรรค
ติงเบาๆจำกัดทางเลือก ปชช.
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ร่างฉบับนายมีชัย และฉบับของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ต่างกัน ที่ร่างของนายบวรศักดิ์กำหนดว่า จะต้องมีเสียงมากกว่าการเอาคนใน หรือคนที่มาจากการเลือกตั้งมาเป็นนายกฯ แต่ร่างของนายมีชัยเปิดช่องให้คนนอกมาเป็นนายกฯ โดยให้พรรคการเมืองเสนอชื่อไม่เกิน 3 คน เป็นข้อจำกัดทางเลือกของประชาชนที่จะเลือกคนที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะเมื่อให้พรรคเสนอชื่อไม่เกิน 3 คน กลายเป็นว่าประชาชนมีทางเลือกเฉพาะคนที่มีรายชื่ออยู่ในบัญชี วันหนึ่งสมมติว่าเกิดอุบัติเหตุใดๆขึ้นมา ปมนี้อาจเป็นเงื่อนตาย ทำให้ไม่สามารถเลือกคนที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งอยู่นอกบัญชีขึ้นมาทำหน้าที่นายกฯได้
ห่วงแก้ยากเสี่ยงฟื้นวงจรอุบาทว์
นายจุรินทร์กล่าวอีกว่า ส่วนการกำหนดเงื่อนไขให้แก้รัฐธรรมนูญยากมาก ต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งและเสียงข้างมากของสองสภารวมกันแล้ว และเสียงข้างมากนั้นต้องประกอบด้วย เสียงของรัฐบาล ฝ่ายค้านและเสียง ส.ว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ด้วย และถ้าเป็นประเด็นที่เข้าเงื่อนไขกำหนดในรัฐธรรมนูญที่จะต้องนำไปทำประชามติก่อนด้วย หากเป็นรัฐธรรมนูญที่ยังมีข้อท้วงติง ถ้าผ่านไปแล้วกำหนดแก้ไขได้ยากเช่นนี้ สุดท้ายเมื่อไม่มีทางออกจะนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญ ประเทศไทยจะกลับสู่วงจรอุบาทว์อีก ขอฝากให้ กรธ.พิจารณาเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้กำลังรวบรวมความเห็นจากสมาชิกพรรคเพราะอยากเห็นรัฐธรรมนูญออกมาสมบูรณ์ครบถ้วนที่สุด เมื่อมาบังคับใช้จะได้ยั่งยืน ประเทศไม่ย้อนรอยมานับหนึ่งใหม่ ขอให้รับฟังความเห็นฝ่ายการเมืองในฐานะผู้ปฏิบัติด้วย
“นิพิฏฐ์” โวยสูตรเพื่อนายกฯคนนอก
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับ 15 วันอันตรายก่อนร่างสุดท้ายจะออกมา วันที่ 15 ก.พ.ถ้าไม่ยอมลดราวาศอกในประเด็นที่ถูกท้วงติง โดยเฉพาะเรื่องนายกฯคนนอกกับระบบเลือกตั้งใหม่จะสุ่มเสี่ยง เร็วๆนี้ตนมีฐานข้อมูลที่จะบอกว่าถ้านำระบบเลือกตั้งใหม่ของนายมีชัย มาคิดคำนวณโดยนำคะแนนจากการเลือกตั้งใหญ่ปี 54 มาเปรียบเทียบ น่าตกใจมากพรรคที่ถูกลดคะแนนเยอะที่สุดคือพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่ประชาธิปัตย์ยังไม่ถูกลดเท่าพรรคเพื่อไทย ขณะที่พรรคขนาดกลางได้อานิสงส์เต็มกระบุง ทำให้เข้าสูตรการเปิดทางให้พรรคขนาดกลางเสนอชื่อคนนอกเข้ามาเป็นนายกฯได้
“สาธิต” ทวงคืนเนื้อหาสิทธิชุมชน
นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ภาคกลาง กล่าวว่า เบื้องต้นเป็นห่วงเรื่องสิทธิชุมชนที่ถูกตัดสิทธิจากหมวดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้เป็นหน้าที่ของรัฐแทน ทำลายสมดุลความสุขของคน ไปให้ความสำคัญกับตัวเลขทางเศรษฐกิจมากกว่า ในรัฐธรรมนูญปี 50 เดิม มาตรา 66-67 ให้สิทธิชุมชน มีสิทธิฟื้นฟู อนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรเพื่อรักษาสมดุลทางชีวภาพและมีสิทธิฟ้องศาลได้ มีตัวอย่างชาวมาบตาพุด จ.ระยอง ถูกโรงงานอุตสาหกรรมเอาเปรียบสร้างมลพิษจนรวมตัวใช้สิทธิชุมชนร้องศาลปกครองจนชนะคดี ประกาศให้มีเขตควบคุมมลพิษเพื่อปกป้องสุขภาพคนในชุมชน จึงขอให้กรธ.ปรับเพิ่มสิทธิชุมชนนี้ให้ประชาชนให้ชัดเจน แทนการเป็นหน้าที่ของรัฐจัดให้ เพราะข้อเท็จจริงข้าราชการส่วนใหญ่มักเข้าข้างกลุ่มทุน ไม่เกิดขึ้นจริงตามที่ กรธ.กำหนด
“ถาวร” ติงอย่าปิดล็อกตายแก้กติกา
นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า อยากจะให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้มงวดให้ถึงที่สุด จึงขอให้ กรธ.เพิ่มแนวทางความรับผิดชอบองค์กรอิสระที่ชัดเจน กรณีปล่อยปละละเลยให้คดีหมดอายุความเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ เพราะที่ผ่านมามีคดีความที่ ป.ป.ช.ปล่อยให้หมดอายุความกว่า 1,000 คดี โดยไม่มีผู้รับผิดชอบ อย่าไปเขียนไว้ในกฎหมายลูก เพราะอาจไม่ชัดเจนและวิ่งเต้นได้ ในส่วนระบบเลือกตั้ง ที่นายกฯคนนอก ที่มา ส.ส. และ ส.ว.ไม่ติดใจ แม้บางกระบวนการอย่างเช่น ที่มา ส.ว. จะมีที่มาซับซ้อนโดยการให้เลือกไขว้ แต่ในฐานะผู้เล่นเราต้องรับกติกาให้ได้ อยากฝากไปยัง กรธ.เรื่องกติกาการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า อย่าล็อกกติกาจนแก้ยาก เพราะบางครั้งรัฐธรรมนูญต้องถูกปรับปรุงแก้ไขเพื่อช่วยสังคม การล็อกจนแก้ยาก อาจทำให้มีปัญหาในอนาคตได้
“เอกนัฏ” เชียร์ข้อดีมีเพียบ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ เลขานุการมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย (มปท.) กล่าวว่า แกนนำ กปปส.เดิมยังไม่ได้หารือกัน คงจะคุยกันเร็วๆนี้ เพราะต้องปรับเปลี่ยนก่อนทำประชามติ แต่เห็นว่ามีจุดเด่นเน้นปราบทุจริตโดยเพิ่มคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้าสู่อำนาจการเมือง เพิ่มโทษรุนแรงขึ้น มีกลไกการใช้งบประมาณและป้องกันการทุจริตชัดเจนขึ้น ต้องรับผิดชอบผลเสียหายด้วย ส่วนกติกาเลือกตั้งในฐานะผู้เล่นทุกคนคงไม่มีปัญหากับกติกาที่ตอบโจทย์ป้องกันการโกงเลือกตั้ง ถือว่ามีข้อดีมากกว่า เชื่อว่า กรธ.จะปรับแก้ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
โยนรัฐบาลชี้ผิดรณรงค์คว่ำ รธน.
นายธนิศร์ ศรีประเทศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กกต.กล่าวถึงร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติว่า ประกาศนี้เปิดช่องให้สามารถรณรงค์ได้ทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญ โดยต้องเป็นเหตุเป็นผลเพื่อให้ประชาชนตัดสินใจ ต้องไม่รณรงค์ผิดไปจากข้อเท็จจริง ปลุกระดม ใช้คำหยาบคาย เหล่านี้จะทำให้มีความผิดได้ แต่ในร่างประกาศฯนี้ ไม่สามารถระบุความผิดไว้ได้ เพราะเป็นเพียงประกาศ และรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับแก้ไขเพิ่มเติมไม่ได้ระบุความผิดไว้ การจะระบุความผิดได้ ต้องออกเป็น พ.ร.บ. ซึ่ง กกต.ได้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อกำหนดให้ชัดเจนแล้ว
“สมบัติ” เหน็บ รธน.ฉบับลิ้นหัวใจรั่ว
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อดีตประธานคณะกมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญร่างแรกมีจุดดีน่าพอใจหลายเรื่อง คือ 1.การป้องกันการทุจริตตัดสิทธิพวกเคยโกงลงเลือกตั้ง 2.ให้ สตง. ป.ป.ช.และ กกต.ท้วงติงการใช้งบฯของรัฐบาลได้ 3.กำหนดต้องปฏิรูปตำรวจภายใน 1 ปี ส่วนจุดอ่อนคือการกำหนดแก้ไขรัฐธรรมนูญยาก บัญญัติว่าต้องใช้เสียงเกินครึ่งของรัฐสภา ตั้งใจเขียนให้แก้ยาก หรือแก้ไม่ได้เลย หากยามเกิดวิกฤติอาจเป็นปัญหา ส่วนการเปิดช่องให้มีนายกฯคนนอก ถ้าการเลือกตั้งไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง หากพรรคขนาดกลางยื่นคำขาดกับสองพรรคใหญ่ ให้เอาคนนอกขึ้นเป็นนายกฯจะทำอย่างไร เอาระบบล้าหลังมาใช้ทำไม แม้รัฐธรรมนูญจะมีส่วนดีแต่ภาพรวมโครงสร้างที่เป็นหัวใจยังใช้ไม่ได้ ถอยหลังมากกว่าฉบับก่อนๆ ต้องเรียกฉบับลิ้นหัวใจรั่ว เอาชีวิตไม่รอด
“คมสัน” สับเละเผด็จการชัดๆ
ด้านนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า แค่ดูหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยก็รับไม่ได้แล้ว เพราะตัดหลักการสำคัญๆ และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมเหลือมาตราเดียว สิทธิความเป็นส่วนตัวตัดหลักการสำคัญการคุ้มครองเพื่อประโยชน์สาธารณะ ต้องรอออกกฎหมายก่อน เสรีภาพการนับถือศาสนาถูกลิดรอน เสรีภาพทางวิชาการลดลง สื่อถูกเซ็นเซอร์ และยังตัดสิทธิต่างๆ อีกมากมาย อาทิ สิทธิชุมชน สิทธิได้รู้ข้อมูลข่าวสารของราชการ สิทธิมีส่วนร่วมในกระบวนการพิจารณาของรัฐ สิทธิติดตามตรวจสอบ ส่วนใหญ่ไปเขียนเป็นหน้าที่ของรัฐ และแนวนโยบายแห่งรัฐ แก้ไขการทำสนธิสัญญา การมีส่วนร่วมของประชาชนถูกตัดออก เป็นรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการชัดๆ แถมยังดูถูกประชาชนจริงๆ
ร้อง กกต. “มาร์ค” พ้น หน.ปชป.
ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคเพื่อไทยยื่นคำร้องต่อประธาน กกต.ในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้วินิจฉัยว่านายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขาดคุณสมบัติการเป็นหัวหน้าพรรคและต้องพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ โดยนายเรืองไกร ระบุว่า คำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 1163/2555 ที่ให้ปลดนายอภิสิทธิ์ออกจากนายทหารสัญญาบัตรประจำการ เหตุหลักฐานเข้ารับราชการเป็นเท็จและศาลแพ่งมีคำพิพากษารับรองความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวย่อมมีผลให้นายอภิสิทธิ์พ้นจากความเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตาม พ.ร.บ.ว่าพรรคการเมือง นายอภิสิทธิ์ขาดคุณสมบัติหัวหน้าพรรคตั้งแต่ปี 2555 หลังคำสั่งกระทรวงกลาโหมมีผลบังคับใช้ในวันที่ 8 พ.ย.2555 อีกทั้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นรับรองคำสั่งดังกล่าว จึงมีผลบังคับใช้มาโดยตลอด แต่นายอภิสิทธิ์อาจมีสิทธิลงสมัคร ส.ส.ได้ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด หลังปรับข้อความจากรัฐธรรมนูญปี 2550 จากเคยถูกปลดออก เป็นเคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ
“วิษณุ” ไม่เห็นผลสอบละเมิดคดีข้าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดจากโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่มีนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกฯเป็นประธาน สรุปผลสอบเรียบร้อยแล้วว่า ขณะนี้ยังไม่เห็น แต่ถ้าส่งสำเนาเรื่องมาแล้ว ขั้นตอนต่อไปต้องส่งเรื่องไปที่ รมว.คลังและนายกฯพิจารณา จากนั้นถึงจะส่งไปยังคณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่ง ที่มีอธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นประธาน ทั้งนี้ข้อมูลที่ส่งมาเป็นเพียงความผิดในส่วนบุคคลเท่านั้น ส่วนตัวเลขค่าความเสียหาย คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งเป็นผู้พิจารณา โดยอายุความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะหมดอายุความเดือน ก.พ.60 ไม่จำเป็นต้องลากยาวถึง ก.พ.60 พิจารณาเสร็จเมื่อไร ออกคำสั่งความรับผิดทางแพ่งได้ทันที
ศาลอาญาให้ประกันแกนนำ พธม.
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 704 ศาลอาญา ศาลนัดตรวจพยานหลักฐานคดีที่อัยการฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นโจทก์ ฟ้อง พล.ต.จำลอง ศรีเมือง กับพวกแกนนำและแนวร่วมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ร่วมเป็นจำเลยที่ 1-97 ในความผิดฐานร่วมกันก่อการร้ายและฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 กรณีบุกเข้าไปในสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อเดือน พ.ย.-ธ.ค.ปี 51 ศาลอนุญาตให้นำพยานเข้าสืบ 565 ปาก ส่วนจำเลย 97 คน ศาลให้นำพยานเข้าสืบ 364 ปาก นัดสืบพยานโจทก์ครั้งแรกวันที่ 20 ต.ค. เวลา 09.00 น.
บ่ายวันเดียวกันที่ศาลอาญา น.ส.พวงทิพย์ บุญสนอง ทีมทนายความกลุ่ม พธม.ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เงินสดเพื่อขอปล่อยชั่วคราวจำเลยที่ 1-9 อาทิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นายสนธิ ลิ้มทองกุล นายพิภพ ธงไชย นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข ในคดีที่อัยการฟ้องฐานร่วมกันทำให้เพื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลและความปั่นป่วนในหมู่ประชาชนฯ กรณีเมื่อวันที่ 25 พ.ค.51 จำเลยร่วมปลุกระดมประชาชนไม่ยอมรับการบริหารของรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช มีการปิดถนน บุกรุกสถานที่ราชการ ศาลนัดสอบคำให้การจำเลยวันที่ 3 ก.พ. เวลา 09.00 น. โดยพิจารณาคำร้องและหลักทรัพย์อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวทั้ง 9 คน ตีราคาประกันคนละ 2 แสนบาท
“บิ๊กตู่” ใช้ ม. 44 ออกคำสั่งประเมิน ขรก.
ช่วงค่ำ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คําสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 5/2559 เรื่องมาตรการปรับปรุงประสิทธิภาพในการปฏิบัติราชการ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว หัวหน้ามีคําสั่งให้มีการประเมินส่วนราชการและข้าราชการพลเรือนในความรับผิดชอบของฝ่ายบริหาร โดยยึดหลักการประเมินประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานประจําหรืองานตามหน้าที่ปกติ เพื่อประเมินบางหน่วยงานหรือข้าราชการบางตําแหน่งหน้าที่ เช่น ภารกิจในการปฏิรูป การสร้างความปรองดอง การแก้ปัญหาสำคัญ ผู้ประเมินประกอบด้วยนายกฯ รองนายกฯ หรือ รมต.ประจําสํานักนายกฯ ที่ได้รับมอบหมาย โดยให้สํานักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) และสํานักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ร่วมกันจัดทําแบบประเมิน และให้รองนายกฯรายงานผลการประเมินต่อนายกฯ ภายในสัปดาห์ที่สองของเดือน เม.ย.และ ก.ย. เพื่อทราบ หรือประกอบการพิจารณาแต่งตั้ง โยกย้ายหรือพิจารณาความดีความชอบหรือลงโทษ
เปิด 50 อัตราให้นายกฯโยกย้าย
คำสั่งดังกล่าวระบุด้วยว่า การประเมินข้าราชการทหารและข้าราชการตํารวจ ให้กระทรวงกลาโหมและสํานักงานตรวจแห่งชาติแล้วแต่กรณี จัดให้มีการประเมิน นอกจากนี้ ให้มีกรอบอัตรากําลังชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษในสํานักงาน ก.พ.จํานวน 50 อัตรา เพื่อรองรับการบรรจุและแต่งตั้งข้าราชการพลเรือน ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการระดับสูง หรือประเภทบริหารระดับต้น หรือข้าราชการอื่นที่มิใช่ข้าราชการพลเรือน แต่ดํารงตําแหน่งเทียบเท่า โดยนายกฯมีอํานาจออกคําสั่งให้โอนหรือย้ายมา หรือเลื่อนให้ดํารงตําแหน่งสูงขึ้นในระดับดังกล่าวโดยขาดจากตําแหน่งหน้าที่และอัตราเงินเดือนเดิม ไม่ว่าจะมีความผิดหรืออยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบหรือไม่เมื่อหมดความจําเป็นแล้ว นายกฯอาจมีคําสั่งให้ยุบเลิกกรอบอัตรากําลังชั่วคราวทั้งหมดหรือบางส่วนได้ คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ที่มา ; เว็บ นสพ.ไทยรัฐ
( คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้
( คลิ๊ก ) สมัครพัฒนาความรู้
เตรียมสอบผู้บริหารสถาน+การศึกษา
เตรียมสอบครูผู้ช่วย
เตรียมสอบผู้บริหารสถาน+การศึกษา
เตรียมสอบครูผู้ช่วย
ฟรี... ห้องเตรียม-ครูผู้ช่วย
-ผู้บริหาร-บุคลากรการศึกษา ที่
ฟรี... ห้องเตรียม-ครูผู้ช่วย
-ผู้บริหาร-บุคลากรการศึกษา ที่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น